parallax background
 

ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย
: ช่องว่างและแนวทางเติมเต็ม

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“พระธรรมวินัยบัญญัติเรื่องการดูแลพระอาพาธ เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ไม่มีญาติ มีแต่เพื่อนพระภิกษุ อุปัชฌาย์ต้องดูแลลูกศิษย์เมื่อป่วยได้ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ว่าง เพื่อนร่วมอุปัชฌาย์เดียวกัน เพื่อนร่วมอาวาสต้องดูแล ถ้าไม่มีใครดูแลเลย ต้องปรับอาบัติ” - พระวิชิต ธัมมชิโต ผู้บุกเบิกสันติภาวัน สถานดูแลพระอาพาธระยะท้ายแห่งหนึ่งของไทย

สิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มเห็นความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งทำให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในฐานะที่พึ่งทางใจหรือจิตวิญญาณของผู้ป่วยชาวพุทธ แต่ในขณะที่การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายสำหรับคนทั่วไปพัฒนาไปไกลแล้ว การดูแลพระสงฆ์ที่ป่วยระยะท้ายกลับมีช่องโหว่ เนื่องจากโรงพยาบาลขาดความพร้อมในการดูแลพระอย่างสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ในขณะที่วัดเองและบ้านก็ไม่พร้อมที่จะดูแล จึงทำให้พระสงฆ์ที่อาพาธอยู่ในระยะท้ายจำนวนมากถูกทอดทิ้ง

พระวิชิต ธัมมชิโต และเครือข่าย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเพื่อรองรับพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายโดยเฉพาะ (ดู “สันติภาวัน” แนวคิดฮอสพิซพระแห่งแรกของไทย) โดยหวังว่าจะเป็นต้นแบบสำหรับพระสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ นำไปปรับใช้เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลตนเองและเพื่อนพระในอนาคต พร้อมกับเชิญชวนพระสงฆ์ แม่ชี และฆราวาส กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 15 ท่านที่สนใจและมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยมาร่วมทำความเข้าใจภาพรวมของการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายกับพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และคุณพรทรัพย์ เตชะกุลเจริญ หัวหน้าหอผู้ป่วยที่ดูแลพระภิกษุสงฆ์อาพาธระยะท้าย จากโรงพยาบาลสงฆ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นกับเพื่อนพระด้วยกัน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการดูแลพระสงฆ์อาพาธที่แต่ละท่านประสบอยู่ การแก้ปัญหาและแนวทางการดูแลที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ที่สำคัญคือสร้างความคุ้นเคยเพื่อสานต่อเป็นเครือข่ายการดูแลพระสงฆ์อาพาธในระยะยาวร่วมกัน

พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงความสนใจของสังคมไทยต่อการตายดีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีการให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเตรียมใจแต่เนิ่นๆ ดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ฝึกจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง เท่าทันอารมณ์ที่สามารถรบกวนจิตใจในยามอยู่และตาย การสร้างสิ่งแวดล้อม สถานที่ และกระบวนการดูแลร่างกายและจิตใจในวาระสุดท้ายที่ส่งเสริมต่อการตายดี กระทั่งในบางพื้นที่ของประเทศเช่นภาคอีสาน หน่วยงานเล็กๆ อย่างศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ริเริ่มจัดอบรมเรื่องการแพทย์แบบประคับประคองให้แก่แพทย์พยาบาลในภาคอีสานทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จนปัจจุบันสามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายถึงบ้านได้แทบทุกตำบล ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการตายดีที่บ้านได้ แต่น่าเสียดายที่ความสนใจดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงของฆราวาส แวดวงพระสงฆ์ยังมีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวน้อย

พระไพศาลเห็นว่าพระสงฆ์ควรต้องเตรียมตัวเตรียมใจในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเลือกว่าจะตายที่ไหน ไม่จำเป็นต้องไปมรณภาพที่โรงพยาบาลตามค่านิยมโดยไม่เคยถามว่าจะช่วยให้ตายดีได้หรือไม่ แม้ว่าทางเลือกดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อจำกัดหนึ่งของสังคมสงฆ์ในปัจจุบันคือ วัดไม่มีกำลังที่จะดูแลพระป่วยระยะท้าย เนื่องจากจำนวนพระในแต่ละวัดมีน้อยลงประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือพระไม่ช่วยเหลือดูแลกันเอง ต่างคนต่างอยู่ เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยในระยะท้าย จึงไม่มีทางเลือก ต้องกลับไปหาลูกหลานฆราวาสช่วยดูแลหรือไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีที่ไปอีกแล้ว ทำให้มีปัญหาเรื่องพระวินัย

พระสงฆ์ในวัดต้องกลับมาใส่ใจดูแลเพื่อนพระด้วยกันนับแต่เริ่มป่วยจนถึงระยะท้าย หากทำให้วัดเป็นสถานที่ดูแลได้จะยิ่งดี ทั้งยังควรมีทางเลือกให้กับพระสงฆ์ที่ตัดสินใจไม่ยื้อชีวิตที่โรงพยาบาล และไม่สามารถพึ่งพาพระในวัดเดียวกันได้มาพำนัก ดังนั้น การสร้างสถานที่ดูแลพระอาพาธระยะท้ายจึงมีความสำคัญ และเชื่อว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากคนเป็นจำนวนมาก เพราะในปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในฝ่ายฆราวาสพัฒนาไปไกลแล้ว มีเครือข่ายการจัดหาอุปกรณ์ ยา จิตอาสา แพทย์ พยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ต้องการช่วยผู้ป่วยระยะท้ายที่ประสงค์จะตายดีที่บ้าน

พระสงฆ์จึงควรจะร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ พัฒนาสถานที่ทำให้พระอาพาธระยะท้ายสามารถตายอย่างสงบ ไม่มีการยื้อชีวิต มีบรรยากาศที่ทำให้น้อมรำลึกถึงพระรัตนตรัยและการบำเพ็ญภาวนาในขณะเจ็บป่วย เอาความตายเป็นครู จนพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่ง และทำให้เห็นว่าการตายดีเป็นไปได้สำหรับทุกคน

โรงพยาบาลสงฆ์กับการดูแลพระสงฆ์อาพาธ

ทางด้านคุณพรทรัพย์ เตชะกุลเจริญ ที่ทำงานในโรงพยาบาลสงฆ์มานับแต่เรียนจบมากกว่าสามสิบปี กล่าวถึงแนวทางการดูแลพระสงฆ์อาพาธและตอบทุกข้อสงสัยคำถามที่ผู้เข้าร่วมถามว่า โรงพยาบาลสงฆ์เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง สังกัดกรมการแพทย์ ให้การดูแลพระอาพาธตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทุกแผนก ยกเว้นกุมารเวช และสูตินารีเวช หากพระอาพาธต้องได้รับการรักษาที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล ก็มีระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือข่าย เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดและหัวใจที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ จะส่งให้โรงพยาบาลราชวิถีดูแลต่อ

โรงพยาบาลสงฆ์รับรักษาพระภิกษุไทยทั่วประเทศไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาใดๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนมากกว่าเงินงบประมาณ จึงไม่ได้มองเรื่องสิทธิการรักษาตามกฎหมายเป็นหลัก แต่รักษาในฐานะของชาวพุทธ

สำหรับพระสงฆ์แล้ว ย่อมคาดหวังให้โรงพยาบาลสงฆ์เป็นสถานที่มีความเข้าใจในเรื่องการดูแลรักษาพระได้ดีที่สุด แต่คุณพรทรัพย์ยอมรับว่า โรงพยาบาลยังมีอุปสรรคเรื่องการดูแลที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยอยู่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีพยาบาลชายไม่เพียงพอ ทำให้การดูแลพระสงฆ์มีความไม่สะดวกหลายประการ ประกอบกับพระอาพาธที่เข้ามารักษาตัวมีหลายแบบ มีบางส่วนที่บวชเพื่อยังชีพหรือบวชเพื่อเข้ามาอาศัยสิทธิรับการรักษาฟรี ท่านเหล่านั้นลืมนึกไปว่าแม้จะเป็นผู้ป่วยแต่ท่านยังเป็นพระภิกษุอยู่ จึงประพฤติตัวไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ช่วยบางคนไม่ได้มองว่าคนไข้เป็นพระไปด้วย อาจจะใช้คำสั่งราวกับท่านเป็นคนไข้ฆราวาสจนลืมคำนึงถึงความเหมาะสมตามพระธรรมวินัย

ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดมานาน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์คนปัจจุบันเข้าใจดี จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลพระอาพาธตามพระธรรมวินัย พยายามชักชวนให้บุคลากรมองว่าคนไข้คือพระภิกษุ กำลังดูแลพระ ไม่ได้ดูแลคนไข้ในคราบของพระ จึงต้องให้การอุปัฏฐากตามพระธรรมวินัยนับแต่ท่านก้าวเข้ามาจนออกไปจากโรงพยาบาล จึงจะถือได้ว่าเป็นการทำบุญต่อท่าน

การดูแลพระอย่างไม่ทั่วถึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พระสงฆ์ผู้เข้าร่วมการเสวนาหลายรูปสนใจว่า ประเทศไทยมีพระสงฆ์อยู่ทั่วประเทศ แต่เหตุใดจึงไม่มีโรงพยาบาลสงฆ์ภูมิภาคเลย คุณพรทรัพย์ตอบว่า นั่นเป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องมีตึกสงฆ์อยู่แล้ว รวมถึงมีพระหลายรูปที่ความสำคัญของเรื่องดังกล่าวได้ไปสร้างอาคารสงฆ์ไว้หลายแห่งตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาว่าอาคารสงฆ์ส่วนใหญ่ที่สร้างไว้ พระสงฆ์ไม่ได้ใช้จริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีพระไปใช้บริการน้อย แต่คนไข้ฆราวาสล้นโรงพยาบาล จึงต้องฝากคนไข้ฆราวาสชายและหญิงมาพักรักษาตัวจนอยู่ปะปนกันมากเกินไป

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลสงฆ์กำลังจะมีนโยบายตรวจเยี่ยมหอผู้ป่วยสงฆ์ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยพัฒนา อันจะนำไปสู่การรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลที่ดูแลภิกษุอาพาธถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป เพื่อให้พระสงฆ์อาพาธที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรู้สึกอุ่นใจเมื่อเข้าไปรักษาตัว รวมถึงสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันระหว่างตึกสงฆ์ที่มีวิธีการดูแลพระสงฆ์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อทราบว่าหอผู้ป่วยสงฆ์ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการดูแลพระป่า ก็จะไปเยี่ยมเพื่อดูการจัดสถานที่ วิธีการดูแล และบุคลากร เพื่อนำมาปรับเพิ่มการดูแลของโรงพยาบาลสงฆ์ต่อไป รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลสงฆ์ เช่น นโยบายรับเฉพาะผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่เป็นผู้ชาย เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมกว่าเดิม เป็นต้น

การดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายในโรงพยาบาล

เนื่องจากโรงพยาบาลสงฆ์อยู่ภายใต้กรมการแพทย์ ซึ่งได้รับการมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้นำในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง จึงให้ความสำคัญกับการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยมีเตียงเฉพาะ และมีคณะกรรมการกำกับดูแลมาตั้งแต่ปี 2550

ช่องทางที่พระภิกษุอาพาธจะเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง ทางหนึ่งคือท่านที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสงฆ์และแพทย์ลงความเห็นว่าอาพาธอยู่ในระยะท้ายแล้ว หรือจากโรงพยาบาลอื่นที่ดูแลท่านจนถึงระยะท้าย แล้วไม่มีที่ไป เพราะวัดไม่รับกลับเพราะดูแลไม่ได้หรือไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากไม่มีผู้ดูแลหรืออุปสรรคอื่น จึงต้องส่งมาโรงพยาบาลสงฆ์ในท้ายที่สุด แต่ไม่ว่าท่านจะเข้าสู่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในรูปแบบใด ทางโรงพยาบาลจะดูแลท่านอย่างเต็มที่ ครอบคลุมทุกมิติตามหลักการดูแลอย่างเป็นองค์รวม

คุณพรทรัพย์เห็นว่าการดูแลร่างกายของพระสงฆ์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลจิตใจของพระสงฆ์จะยากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหลายรูปที่เคยสั่งสอนญาติโยมมาตลอด ท่านอาจนำสิ่งที่เทศน์สอนมาตอบผู้ดูแล เช่น ไม่กลัวตายหรอก ไม่วิตกกังวลอะไรเลย แต่ความจริงแล้วกลับมีพฤติกรรมตรงกันข้าม คือแยกตัว ไม่สนใจคนอื่น ตะแคงหน้าหนีพยาบาลที่ไปดูแล ทำให้เกิดการประเมินผิดพลาด ต้องใช้พยาบาลที่มีประสบการณ์เข้าไปรับฟังเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของท่าน จึงจะดูแลได้อย่างเหมาะสม

ส่วนการดูแลทางด้านสังคม พระบางรูปแยกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครมาตั้งแต่อยู่ที่วัดแล้ว พระร่วมวัดจึงไม่กล้าเข้าหา เวลาป่วย ต้องนอนติดเตียงอยู่คนเดียว มองแต่เพดาน บุคลากรโรงพยาบาลต้องใช้การสร้างสัมพันธภาพ เข้าไปนั่งเป็นเพื่อนคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ทุกวัน ไม่ว่าท่านจะพูดด้วยหรือไม่ เพื่อรอให้ถึงเวลาเหมาะสมที่ท่านจะเปิดใจออกมาเอง แต่การดูแลในลักษณะดังกล่าวมีข้อจำกัดเนื่องจากผู้ดูแลส่วนใหญ่จะมีงานเต็มมืออยู่ ต้องเป็นคนที่เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวจริงๆ จึงจะใช้เวลาว่างปลีกตัวมาดูแลได้

จะเห็นว่า การดูแลทางด้านจิตใจและสังคมดังกล่าว ถ้ามีพระสงฆ์จิตอาสาเข้ามานั่งเป็นเพื่อนคุยข้างเตียง เข้าใจมิติทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ ทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่พระจิตอาสากลุ่มคิลานธรรมไปช่วยเยียวยาใจให้ธรรมะข้างเตียงแก่ผู้ป่วยฆราวาสที่โรงพยาบาลหลายแห่ง จะช่วยแบ่งเบาภาระของพยาบาลได้มากโดยเฉพาะในเรื่องที่พยาบาลไม่ถนัดหรือทำไม่ได้ เช่นเรื่องการปลงอาบัติที่ต้องเป็นหน้าที่ของพระด้วยกัน

แม้ว่าเครือข่ายหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เช่น กรมอนามัย สสส. และมจร. จะร่วมกันพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจําวัด - อสว.) เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ทั่วประเทศ แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่ส่งผลการดูแลพระสงฆ์อาพาธในระยะท้ายอย่างชัดเจนนัก

ปัจจุบัน โรงพยาบาลสงฆ์อาจจะมีความตื่นตัวเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมากแล้ว แต่ยังมีปัญหาต่างๆ อยู่ไม่น้อยและยังไม่เพียงพอต่อการดูแลอย่างทั่วถึง สถานพำนักภิกษุอาพาธระยะท้ายอื่นๆ นอกเหนือจากในโรงพยาบาลที่เน้นให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาจิตของตนได้อย่างเต็มที่ มากกว่าการดูแลทางกายหรือโรค จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ดูแลกันเองคือทางออก

หลังจากฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายวิถีพุทธ ทำพินัยกรรมชีวิตและถอดบทเรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันแล้ว พระภิกษุที่เข้าร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า พระจะต้องดูแลกันเอง ก่อนจะปิดการเสวนา จึงเริ่มขยับมาถึงสิ่งที่แต่ละคนอยากจะทำเกี่ยวกับการดูแลพระอาพาธ ปัญหาที่เคยพบจากการดูแลผู้ป่วย ต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนจากกันอย่างไร

หลายรูปเริ่มจากการพัฒนาตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทลายกำแพงในใจเรื่องความสบาย จากที่เคยดูแลพระอาพาธนอนติดเตียงที่วัด แล้วทนกลิ่นเหม็นจากอุจจาระปัสสาวะของผู้ป่วยไม่ได้ บางรูปเคยดูแลคนไข้แล้วเบื่อ บางรูปรู้สึกรำคาญที่คนป่วยสมองเสื่อมเล่าเรื่องซ้ำๆ แต่ช่วงท้ายก่อนเสีย จากที่เคยรำคาญกลายมาเป็นเห็นใจเขาและเห็นใจตัวเองว่าไม่น่ารำคาญผู้ป่วยบ่อยๆ หลายรูปเกิดแรงบันดาลใจที่จะเอาเรื่องพินัยกรรมชีวิตไปคุยกับคนในครอบครัวกับเพื่อนพระในวัดด้วยกัน ค่อยๆ หาความรู้และเยี่ยมเยียนพระอาพาธในวัดตัวเองก่อน

ฆราวาสบางคนมองเห็นช่องทางที่จะไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดบางแห่งที่มีความสนใจและมีสถานที่พร้อมแล้ว ขาดแต่บุคลากร โดยพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนเติมเต็ม

แม้ว่าสิ่งที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันโดยเฉพาะปัญหาและวิธีออกจากปัญหาของแต่ละท่านจะไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพราะมาจากชีวิตจริงและใช้ได้จริง

ประเด็นหลักที่ทุกคนเห็นพ้องกันคือ พระสงฆ์จำเป็นต้องดูแลกันเอง เริ่มจากจุดเล็กๆ คือคนรอบข้างก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายการดูแลออกไป ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ การดูแลภิกษุอาพาธคือการปฏิบัติธรรม จิตอาสาไม่ใช่เป็นผู้ให้ แต่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการอาพาธของพระภิกษุ เปลี่ยนวิธีคิดจากการมองผู้ป่วยว่าเป็นภาระ มาเป็นครู และการดูแลคือโอกาสในการพัฒนาใจของผู้ดูแลเอง

+++
ข้อมูล
1. การประชุมเรื่อง “อุปัฏฐากภิกษุไข้ พัฒนาใจผู้ดูแล” เมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต กรุงเทพฯ
2. “สันติภาวัน” แนวคิดฮอสพิซพระแห่งแรกของไทย, https://peacefuldeath.co/santiphawan/
3. นอกจากสันติภาวันแล้ว ประเทศไทยยังมีสถานพยาบาลพระอาพาธแห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่พักสงฆ์ป่ามะขาม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งแม้จะไม่ได้มีลักษณะของ Hospice ที่เน้นการดูแลทางจิตใจ แต่ดูแล ให้ที่พำนักพักฟื้นไปจนหาย ดีขึ้น หรือมรณภาพ พระวิชิต ธัมมชิโต ได้เคยไปเรียนรู้งานและได้รับเมตตาให้ข้าวของเครื่องใช้สำหรับผู้ป่วยแทบทุกอย่างมาเปิดที่สันติภาวัน

บุคคลสำคัญ: พรทรัพย์ เตชะกุลเจริญ, พระไพศาล วิสาโล, พระวิชิต ธัมมชิโต

18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว
2 มกราคม, 2561

ภาษาต้นไม้

บทเรียนแห่งชีวิตของเรามักได้รับการกลั่นกรองมาจาก ‘ธรรมชาติ’ ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกชีวิตจะสามารถเรียนรู้และเห็นธรรมชาติได้อย่างถ่องแท้เสมอไป
19 เมษายน, 2561

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน