parallax background
 

“สันติภาวัน”
แนวคิด ฮอสพิซพระแห่งแรกของไทย

ผู้เขียน: ปองกมล สุรัตน์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

หากกล่าวถึงบทบาทพระสงฆ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เราอาจนึกถึงการสวดมนต์นำทาง เทศนาธรรมให้ผู้ที่ใกล้เสียชีวิต ปลอบโยนให้กำลังใจ ประกอบพิธีกรรมกุศล ทำบุญให้ผู้ล่วงลับ เหล่านี้เป็นภาพจำของคนในสังคมต่อพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พระสงฆ์มักอยู่ในฐานะที่พึ่งทางใจ เป็นตัวแทนความเชื่อความศรัทธาทางศาสนากับมิติสุขภาพและจิตวิญญาณของฆราวาสอย่างแนบแน่น

ในทางกลับกัน หากพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย คำถามที่ตามมาคือ ระบบการดูแลแตกต่างจากฆราวาสในแง่มุมใด ใครจะเป็นผู้ดูแล จะทำอย่างไรให้พระใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างสงบ โดยไม่ขัดหลักพระวินัยในการดูแลพระสงฆ์ที่ป่วย หากพระสงฆ์ที่ป่วยระยะท้ายต้องการกลับวัดหรือบ้านต้องทำอย่างไร และถ้าวัดหรือบ้านไม่พร้อมจะทำอย่างไรต่อ ที่สำคัญคือสังคมไทยพร้อมแค่ไหนกับการดูแลพระสงฆ์ที่ป่วย สิ่งเหล่านี้ คนในสังคมอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ด้วยความที่ได้ศึกษาด้านสังคมกับสุขภาพ และบวชเป็นภิกษุจนเห็นปัญหาเหล่านี้ ทำให้พระวิชิต ธัมมชิโต เห็นช่องโหว่สำคัญในการดูแลพระสงฆ์ที่ป่วยระยะท้าย และมีแนวคิดสร้าง ฮอสพิซพระร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ที่เหมาะกับการดูแลพระสงฆ์ป่วยระยะท้ายหรือป่วยเรื้อรังโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานและสร้างระบบให้เกิดขึ้นจริง

ฮอสพิซพระ คืออะไร
Hospice หรือ บ้านพักสุดท้าย เป็นสถานที่จัดไว้เฉพาะเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและเป็นที่อยู่สุดท้ายก่อนตาย (โดยทั่วไปจะเป็นช่วง 6 เดือนสุดท้ายหรือน้อยกว่า) ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว บรรเทาความเจ็บปวดและดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคม

พระสงฆ์ที่อาพาธระยะท้ายก็เป็นผู้ป่วยเช่นกัน แต่เป็นผู้ป่วยที่ครองสมณเพศซึ่งต้องการการดูแลและมีวัตรปฏิบัติส่วนหนึ่งที่ต่างจากคนทั่วไป ฮอสพิซสำหรับพระสงฆ์ จึงเป็นสถานที่ที่จัดไว้ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะสุดท้ายหรืออาพาธเรื้อรัง รักษาโรคไม่หายขาด ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยมีระบบที่สอดคล้องกับการดูแลพระสงฆ์โดยเฉพาะ “ฮอสพิซพระเป็นแนวคิดเพื่อรองรับพระที่เจ็บป่วยเรื้อรังระยะท้าย ปฏิเสธการรักษา แต่ทางบ้านและวัดไม่พร้อมดูแล จึงควรมีสถานที่คล้ายวัด เกื้อหนุนให้พัฒนาจิตให้เต็มที่ มีระบบที่สอดคล้องกับธรรมวินัย การปลงอาบัติต่างๆ ให้มากที่สุด โดยให้พระเณร หรืออุบาสกเป็นผู้ดูแล คนดูแลก็จะได้เรียนรู้ทางธรรมด้วย ทำให้พระมีความรู้สึกว่า ทำงานเพื่อศาสนา กรรมดีที่ทำมาก็ได้ส่งผลดูแลในระยะสุดท้าย และจากไปแบบที่มีการเตรียมพร้อม” พระวิชิตเอ่ยเปิดประเด็น

พระวิชิต ธัมมชิโต ผู้ริเริ่มสันติภาวัน

ที่มาของภาพ https://program.thaipbs.or.th/Lui/episodes/35701

ทำไมต้องมี ฮอสพิซพระ
ในสังคมไทย พระสงฆ์ที่อาพาธระยะท้ายส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่โรงพยาบาล เพราะขาดคนดูแลทั้งที่วัดและบ้าน ในขณะที่เตียงโรงพยาบาลอาจไม่เพียงพอต่อการดูแล อีกทั้งวิถีของพระก็มีข้อปฏิบัติที่ต่างจากคนทั่วไป ทำให้พระวิชิตมองว่า Hospice สำหรับพระ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อรองรับพระอาพาธโดยเฉพาะ

“ปัญหาที่พบ ถ้าพูดสั้นๆคือพระไม่ได้ตายดีเท่าที่ควร มีพระที่ถูกทิ้งตามโรงพยาบาลเยอะพอสมควร บางรูปควรที่จะให้กลับได้แล้ว แต่ไม่มีใครมารับ ทั้งที่บ้านและที่วัด ทำให้ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง 3 ปี แสดงว่าวิกฤตมากนะ หรือโรงพยาบาลชุมชนติดต่อส่งพระอาพาธกลับไปดูแลต่อที่วัด แต่วัดบอกว่าไม่มีคนดูแล ดูแลไม่ได้

“การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในทางเทคโนโลยีการแพทย์มันซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ พอวัดไม่พร้อม ท่านก็ต้องกลับไปที่บ้าน ตัวพระท่านเองก็ไม่อยากกลับหรอก กลับไปอยู่มันไม่สามารถครองความเป็นพระได้ เพราะคนดูแลหลักคือเป็นผู้หญิง พอติดต่อไปที่สังคมสงเคราะห์จังหวัด เขาบอกว่าไม่รับพระ ถ้าจะส่งมาจริงๆ ก็ต้องสึกก่อน ท่านก็ไม่อยากสึก เพราะต้องการอุทิศให้ศาสนา ทีนี้ปัญหามันก็เลยรุมเร้า” พระวิชิต กล่าวถึงปัญหาที่เจอกับพระหลายรูปที่รู้จัก

นอกจากนี้ แม้โรงพยาบาลจะมีแพทย์ พยาบาลดูแล และมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยรักษาโรค แต่สภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยเครื่องมือการแพทย์ คนทำงานเดินไปมา ก็ไม่เหมาะกับการรักษาวินัยหรือปฏิบัติธรรมเท่าใดนัก “พระสงฆ์สายภาวนา พอไปอยู่โรงพยาบาล สภาพแวดล้อมมันไม่เหมาะที่จะมีศีลให้บริสุทธิ์ได้หรอก รวมทั้งกระบวนการรักษาเอง ไม่เอื้อให้การภาวนา พัฒนาจิต พระจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นสายปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะปฏิเสธการรักษา ถ้ายังกลับวัดได้ ก็กลับมาอยู่ที่วัดตามสภาพ”

ความรู้และระบบการจัดการ คือสิ่งสำคัญ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้าง ฮอสพิซพระ ให้เกิดขึ้นได้ก็คือ ความรู้ในการดูแลพระอาพาธในระยะสุดท้ายและระบบการดูแล พระวิชิตกล่าวว่า “สำคัญที่สุดคือระบบและความรู้ เทคนิควิธีการดูแลพระในระยะท้าย จะทำยังไงให้ส่งท่านให้ไปดีที่สุด อันนี้สำคัญที่สุด ส่วนองค์ประกอบอื่น คือสถานที่ที่ง่ายในการดูแล สุขอนามัย ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

นอกจากนี้ พระแต่ละรูปก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ระบบต้องมีความยืดหยุ่นและคำนึงถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรมของพระด้วย ดังใจความตอนหนึ่งจากหนังสือ “การดูแลภิกษุอาพาธในโรงพยาบาล” ที่ท่านได้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลพระอาพาธให้สังคมเข้าใจว่า “หากเป็นพระที่สนใจศึกษาปฏิบัติมาพอควรแล้ว ท่านมักปล่อยวางภาระทางโลก ทางครอบครัวได้มาก ยอมรับการป่วยและความตายที่จะมาถึงได้ง่าย แต่ท่านอาจมีภาระอื่นอยู่บ้าง หากเป็นไปได้ควรช่วยแบ่งเบาภาระท่าน อาจเป็นงานในวัดที่คั่งค้าง ห่วงค่ารักษา ห่วงเรื่องการแจ้งข่าวอาพาธแก่ญาติโยม ห่วงสัตว์เลี้ยงที่กุฏิ ส่วนพระที่ไม่ค่อยสนใจศึกษาปฏิบัติมากนัก มักมีภาระมากกว่านี้ และปลดเปลื้องได้ยาก ซึ่งอาจเลือกใช้เทคนิคในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายทั่วไป มาปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม”

สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่พบในดูแลพระอาพาธระยะท้ายในโรงพยาบาลทั่วไปคือ การละเลยที่จะดูแลมิติทางจิตวิญญาณของพระสงฆ์เหล่านี้ เพราะบุคลากรในโรงพยาบาลมองข้ามความสำคัญ ขาดความรู้ หรือคิดว่าพระจะมีมิติจิตวิญญาณที่ดีหรือยอมรับความตายได้อยู่แล้ว ดังผลการวิจัยเรื่อง “การดูแลพระภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย” (เววัฒน์ เอกวุฒิวงศา; ภาสกร เงางาม; ปริญญา วุฒิสาร; และ วรารัตน์ สุนทราภาม, 2558) ที่ศึกษาการดูแลพระอาพาธระยะท้ายในหออภิบาลภิกษุ ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่าบุคลากรคิดว่าพระน่าจะยอมรับความตายได้ มีภูมิรู้ และปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว จึงไม่คิดว่าต้องดูแลเรื่องนี้

ที่มาของภาพ https://pixabay.com/en/hospice-monk-and-patient-1794912/

เราจะช่วยให้ฮอสพิซพระ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ขณะนี้ ฮอสพิซพระ ยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการประสานงาน วางแผนสถานที่ งบประมาณ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความคิดเห็นจากพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย บุคลากรทางการแพทย์ในระบบการดูแลแบบประคับประคอง ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดต่อ คือจะทำอย่างไรให้พระสงฆ์อยากเข้ามาเรียนรู้วิธีการดูและพระที่อาพาธด้วยกันเอง และจะประยุกต์ใช้หลักพุทธศาสนามาเยียวยาพระอาพาธอย่างไร ในรูปแบบที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ความคิดนามธรรม

“ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น เท่าที่คุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือเขาก็เห็นด้วย มีคนเสนอ(บริจาค)พื้นที่ให้ การระดมทุนที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตั้งแต่แรก เรื่องประสานงานเป็นไปด้วยดี แต่ที่ยังกังวลคือเรื่องพระจิตอาสาที่จะมาดูแล เราจะทำยังไงให้พระอยากมาดูแลพระป่วย และท่านก็ได้ปฏิบัติธรรมเรียนรู้ไปด้วย ในทางการแพทย์อาจใช้ยาระงับปวด แต่ในทางพุทธ เราก็จะประยุกต์ธรรมะเข้าไปดูแลว่าจะอยู่กับความปวดหรือร่างกายอย่างไรในลักษณะรูปธรรม ตรงนี้ถ้าทำได้ก็จะเป็นการสร้างแนวทางดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแนวพุทธ สร้างประโยชน์ให้สังคม เสริมคุณค่าของศาสนา”

สิ่งที่พระวิชิต ต้องการจากผู้ที่สนใจ ทั้งพระและญาติโยมก็คือ การสนับสนุนให้โมเดลนี้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่เดียว แต่เป็นการเอาหลักไปประยุกต์ให้สอดรับกับพื้นที่ ทำให้พระในพื้นที่ต่างๆมีทางเลือกในการดูแลตนเองในวาระสุดท้าย รวมทั้ง หากเป็นไปได้ก็อาจปรับระบบให้เข้ากับแม่ชี และภิกษุณี ด้วย

สิ่งที่อยากได้คือความร่วมมือในการไปขยายผลต่อในอนาคต อยากให้พระเห็นว่า เออ แบบนี้มันทำได้ มันเป็นประโยชน์ แล้วเขาก็หยิบเอาแนวทางนี้ไปใช้ในพื้นที่ของเขา อยากให้เกิดในที่ใหม่ๆ ซึ่งแต่ละวัดก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จะได้สอดคล้องกับพื้นที่นั้น เช่น อาหารการกิน บทสวดมนต์ในวัด เราต้องเผื่ออาสาสมัครผู้หญิงที่มาช่วยงานด้วย เช่น แม่ครัว คนงาน ซึ่งถ้าเขาเกิดป่วยหรืออยู่จนวาระสุดท้าย เราจะช่วยดูแลเขาอย่างไร รวมทั้งอาจจะวางระบบการดูแลแม่ชีกับภิกษุณีที่ป่วยระยะท้ายด้วย เพื่อที่เขาจะเอาแนวคิดไปใช้ได้” พระวิชิตกล่าวเสริม

ฮอสพิซพระ เป็นแนวคิดเพื่อรองรับพระที่เจ็บป่วยเรื้อรังระยะท้าย ปฏิเสธการรักษา แต่ทางบ้านและวัดไม่พร้อมดูแล ถ้าสำเร็จได้ฮอสพิซสำหรับพระจะกลายเป็นชุมชนกรุณาที่เกื้อกูลเพื่อให้พระได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในสถานบริบาลที่มีการดูแลองค์รวม ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ มีระบบการดูแลที่สอดคล้องกับวิถีพระสงฆ์ เอื้อต่อการจากไปอย่างสงบตามวิถีผู้ครองเพศสมณะ นอกจากนี้ผู้ดูแล ทั้งพระอาสาหรืออาสาสมัครเองก็ได้เรียนรู้หลักการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และปฏิบัติธรรมผ่านการบ่มเพาะความกรุณาไปพร้อมกัน

บุคคลสำคัญ : พระวิชิต ธัมมชิโต

อ้างอิง
พระวิชิต ธัมมชิโต. (2560). การดูแลภิกษุอาพาธในโรงพยาบาล. กรุงเทพฯ: เครือข่ายพุทธิกา.
วรชัย ทองไทย. (2553). บ้านพักสุดท้ายของชีวิต. ใน สุชาดา ทวีสิทธิ์ และ สวรัย บุณยมานนท์ (บรรณาธิการ). ประชากรและสังคม 2553: คุณค่าผู้สูงอายุในสายตาสังคมไทย. เอกสารวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หมายเลข 372. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม: สำนักพิมพ์ประชากรและสังคม.
เววัฒน์ เอกวุฒิวงศา; ภาสกร เงางาม; ปริญญา วุฒิสาร; และ วรารัตน์ สุนทราภาม. (2558).การดูแลพระภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ. 38(3): 110-119. National Institute on Aging. (2017). What are Palliative Care and Hospice Care? Retrieved January 10, 2019, from https://www.nia.nih.gov/health/what-are-palliative-care-and-hospice-care#hospice

25 เมษายน, 2561

Love / Language

แต่ทว่า ตอนนี้เขากำลังจะตาย ลมหายใจที่รวยรินและร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันตอกย้ำความจริงนี้แก่เธอ อย่างไม่ปราณี เมื่อผมพบกับเขาเป็นครั้งแรก เราสามารถสื่อสารกันได้แค่การกระพริบตา และคำถาม ใช่/ไม่ใช่ แบบง่ายๆ เท่านั้น
24 มกราคม, 2561

มรดกจากพ่อ

หลังจากที่พ่อผมตาย ผมไม่เคยรู้ว่าพ่อได้ทิ้งมรดกอันมีค่าไว้ให้ หลังจากที่ผมค้นพบ มันทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป
20 เมษายน, 2561

พระเอทีเอ็ม

ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักได้รับการดูแลมิติทางกายจากสถานพยาบาลหรือครอบครัว การกินอาหาร ได้รับยาที่เหมาะสม พักผ่อนในบรรยากาศแวดล้อมที่เกื้อกูล อาจช่วยบรรเทาความทุกข์กายได้บ้าง