ผู้เรียบเรียงโดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
สิงหาคมเป็นเดือนแห่งการเกิดและมรณภาพของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต วัดท่ามะไฟหวาน และวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) จังหวัดชัยภูมิ พระสงฆ์นักปฏิบัติและพระสงฆ์ที่ทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรูปแรกๆ ของเมืองไทยเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ซึ่งวันที่ 23 สิงหาคม 2566 นี้ เป็นวันมรณภาพครบรอบ 9 ปี
ต้นสิงหาคม ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าสุคะโตและวัดป่ามหาวัน ได้เห็นผืนป่าฤดูฝนอันอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบให้เห็นเป็นระยะๆ สมชื่อ “วัดป่า” ที่ซึ่งหลวงพ่อคำเขียนเป็นผู้ริเริ่มอนุรักษ์ไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
เห็นป้าย “รู้ซื่อๆ” และ “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ที่สุวัณโณอนุสรณ์ กุฏิที่หลวงพ่อคำเขียนเคยพำนักที่วัดป่ามหาวัน และป้าย “ขอสั่งลาทุกๆ ท่าน ธาตุขันธ์คงอยู่อีกไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรยังคงอยู่ตลอดไป” บริเวณลานหินโค้ง ในผืนป่าอันร่มรื่น สถานที่เดินจงกรมและรำลึกถึงครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อคำเขียน รวมทั้งได้เดินเยี่ยมชมกุฏิไม้ใต้ถุนสูงที่เรียบง่ายอยู่ภายใต้ดงไผ่และต้นไม้ใหญ่ กุฏิหลังสุดท้ายที่เป็นที่รักษาตัวและมรณภาพที่วัดป่าสุคะโต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่คงสภาพที่เคยเป็นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
สิ่งเหล่านี้ชวนให้นึกถึงชีวิตและคำสอนของพระนักปฏิบัติธรรมและพระนักปฏิบัติการทางสังคม มุมมองความเจ็บป่วย และการมรณภาพของท่าน ซึ่งล้วนตอกย้ำว่าธรรมะกับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน สติหรือความรู้สึกตัวในปัจจุบันคือกัลยาณมิตรตลอดกาลของมนุษย์ ซึ่งจะอยู่กับเราแม้ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต
ภาพ: "คำสั่งลา" ภาพจัดแสดงบริเวณพิพิธภัณฑ์ วัดป่าสุคะโต
มีสติ รู้ซื่อๆ ถึงป่วยก็สนุก
เราอยู่ในยุคกระแสแห่งการฝึกตนเพื่อ “ตายดี” กำลังเบ่งบาน ความรู้เกี่ยวกับการฝึกกายใจเพื่อรับมือความเจ็บป่วยและความตายอันหลากหลายเดินสายมาให้ “ชิมลอง” ทั้งแบบออนไลน์ออนไซต์ ทั้งสายเถรวาท วัชรญาณ สายพระ สายพลังงาน สายผี สายมู บางครั้งชวนสงสัยและสับสนว่าเราควรจะจับยึดสิ่งใดกันแน่
“เครื่องมือ” หรือ “อาวุธ” ในการรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายของหลวงพ่อคำเขียนนั้นแสนเรียบง่าย คือ “สติ” หรือ “ความรู้สึกตัว”…รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจนึกคิดด้วยใจเป็นกลาง ไม่ตัดสินว่าเป็นบวกหรือลบ รู้โดยไม่เข้าไปเป็น ซึ่งนำมาสู่แก่นคำสอนของหลวงพ่อคำเขียนที่ว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร”
ในหนังสือ “สนุกป่วย” หลวงพ่อคำเขียนเล่าถึง “อาการปางตาย” จากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกำเริบลุกลาม
ไปถึงตับ ทำให้เจ็บปวดถึงขั้นหมดสติไป 4 วัน จนลูกศิษย์ต้องพาส่งโรงพยาบาลว่า “ตอนนั้นอยู่กับความไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร” และ “มีปัจจุบันเป็นที่ตั้ง”
“ตายไป 4 วัน หายใจไม่ได้เราก็มีที่อยู่ของเรา เอาทิ้งซะ เมื่อหายใจไม่ได้ก็เอาทิ้งซะ ไม่ต้องเอามัน ไม่ต้องเอาล่ะตัวนี้ เอาอะไร ไม่ต้องเอาอะไรเลย อยู่เฉยๆ ก็อยู่กับความไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร สนุกแหละตอนนี้ แทนที่จะเป็นทุกข์นะ”
สติหรือความรู้สึกตัวอยู่กับตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่เรามักจะเอาใจไปอยู่กับสรรพสิ่งภายนอกจนลืม “รู้เนื้อรู้ตัว” และการมีสติหรือความรู้สึกตัวได้นั้นต้องอาศัยการฝึก ซึ่ง “อุบาย” หรือ “แนวทาง” ที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คือการฝึกปฏิบัติแนวเคลื่อนไหวแบบหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ด้วยการเคลื่อนมือ 14 จังหวะและการเดินจงกรม “นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้มีปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เคลื่อนความรู้สึกนึกคิดไปที่อดีตหรืออนาคต
เมื่อความเจ็บป่วยมาเยือน สติหรือความรู้สึกตัวนี้เองจะเป็นตัวดึงให้เราเป็นเพียง “ผู้เห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น” คือเห็นความเจ็บปวด เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่ใช่ตัวตน
“หมอตรวจเป็นก้อนเนื้อในตับอ่อน ปวดท้องอย่างแรง ถ้าไปอยู่กับความปวดเราก็ไม่ได้ (ประโยชน์) เราอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่ไม่เป็นอะไร ปวดมีไหม มี มีเหมือนกัน ปวดท้องจนล้ม แต่ว่าเราก็ยิ้มได้ ไม่เป็นไร…มันปวดมันก็ปวด ไปเสียเปรียบมัน ไปดิ้นไปร้องทำไม ก็อยู่นิ่งๆ เนี่ย มันถูกต้องแล้ว ถ้าไปร้องไห้ ไปร้องหาหมอ ไม่ใช่เรื่องแล้ว เสียเปรียบมันแล้ว อยู่นี่อยู่กับทุกข์เหรอ ไม่ทุกข์เลย ความปวดแทนที่เป็นเรื่องทุกข์ เอ้า…เป็นเรื่องสนุก มีใครมาถามว่า…สนุกป่วยเกือบปี” หลวงพ่อคำเขียนกล่าว
“เมื่อก่อนก็เข้าใจรู้ 40 ปีมาจากประสบการณ์การเจริญสติแล้ว เมื่อถึงคราวที่มันเจ็บ มันจะตายเข้าไป มันก็มีทาง พบทาง ทางที่เราพบมันไม่ลืมไปไหน”
กรงซี่เดียวขังเสือหกปาก…ความมหัศจรรย์ของสติ
หลวงพ่อคำเขียน “สนุกป่วย” อยู่ 2 ปี แล้วหายป่วย ในการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา ท่านก็มีสติเป็น "ทาง" อยู่นั่นเอง
ตอนมะเร็งลุกลามทำให้พูดไม่ได้ ท่านเขียนคำสั่งเสียไว้ว่า “ขอสั่งลาทุกๆ ท่าน ธาตุขันธ์คงอยู่อีกได้ไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรคงอยู่ตลอดไป” และในคำสั่งเสียต่อมาได้เฉลยว่า กัลยาณมิตรในที่นี้คือสตินั่นเอง ดังว่า “ธาตุขันธ์ไม่มีวันที่จะอยู่ได้นาน ขอให้เป็นสติปัญญาแทน”
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงพ่อคำเขียนเขียนขยายความไว้ใน “รำลึกถึงหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ” ว่า “ถ้ามีสติหรือมีความรู้สึกตัว ก็แสดงว่าหลวงพ่อไม่ได้อยู่ไกลจากเราเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว จมอยู่ในความหลง ก็เท่ากับว่าเรากีดกันท่านออกไปจากความเป็นกัลยาณมิตรกับเรา
แล้ว”
ภาพ: พระไพศาล วิสาโล ดูแลหลวงพ่อคำเขียนในขณะป่วยครั้งสุดท้าย
หลวงพ่อคำเขียนเคยเล่าเรื่องความมหัศจรรย์ของสติไว้ใน “สนุกป่วย” เรื่อง “กรงซี่เดียวขังเสือหกปาก” ว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินทางเข้าป่า เขาเห็นแม่เสือถูกลูกศรตายจึงเก็บลูกเสือมาเลี้ยง เสือตัวนั้นมีหกปาก แต่ละปากกินอาหารไม่เหมือนกัน ทำให้ชายหนุ่มตกเป็นทาส หาอาหารมาให้เสือกินจนเหนื่อยอ่อน เขาคิดจะฆ่าเสือเสีย แต่อาจารย์บอกให้ทำกรงขังเสือไว้ เขาทำกรงขังเสือ ทั้ง 227 ซี่ 10 ซี่ และ 5 ซี่ก็ขังเสือไม่อยู่ เมื่ออาจารย์แนะนำให้ทำกรงซี่เดียว กลับขังเสือไว้ได้ ในพระสูตรอธิบายว่าตัวเลขต่างๆ คือศีล พระสงฆ์ถือ 227 ข้อ สามเณรและชีถือศีล 10 ข้อ และฆราวาสถือศีล 5 ข้อ ซึ่งศีลเหล่านี้ไม่สามารถสะกัดกั้นความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ แต่กรงซี่เดียวคือสติกลับขังเสือไว้ได้ “อุปมาคือสติตัวเดียวขังเสืออยู่ แม้มันมีตั้ง 6 ปากคืออะไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกินเหยื่อไม่เหมือนกัน ตาก็กินอันหนึ่ง หูก็กินอันหนึ่ง จมูกก็กินอันหนึ่ง ลิ้นก็กินหนึ่ง กายก็กินหนึ่ง เราก็หาเหยื่อป้อน พอมีสติขังมันลงไป ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด”
ฝึกสติจากธรรมชาติ
บ่ายคล้อยหลังฝนตกต่อเนื่องมาหลายชั่วโมง ผู้เขียนเดินจากกุฏิปฏิบัติธรรมผ่านทางเดินดินที่เปียกชุ่มขึ้นสู่เนินเขา ผ่านแนวทางเดินสั้นๆ สำหรับฝึกปฏิบัติธรรมไปสู่ลานหินโค้ง ซึ่งปูด้วยหินและแผ่นปูนเป็นวงกลมขนาดใหญ่
ที่บัดนี้ปกคลุมด้วยตะไคร่สีเขียวสด ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ ตรงกลางมีพระพุทธรูป และแท่นอนุสรณ์สถานสำหรับครูบาอาจารย์
การเดินวนรอบลานหินโค้งรอบแรกๆ สายตาสอดส่ายชื่นชมต้นไม้และธรรมชาติ เห็นแผ่นป้าย “ขอสั่งลาทุกๆ ท่าน ธาตุขันธ์คงอยู่อีกไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรยังคงอยู่ตลอดไป” รูปปูนปั้นการเคลื่อนไหวมือ 14 จังหวะ รูปถ่ายกุฏิยุคแรกๆ ของหลวงพ่อคำเขียนที่มีเพียงตั่งไม้ มุ้ง และเครื่องอัฎฐบริขารอยู่ในป่า และคำอธิบายว่าในยุคแรกๆ หลวงพ่อคำเขียนไม่มีกุฏิ จนต่อมาชาวบ้านท่ามะไฟหวานเห็นใจ มาสร้างกุฏิถาวรให้ภายหลัง…ดูไปก็ปรุงแต่งไป หลวงพ่อช่างสมถะ ต้นไม้เขียวดี ลานเดินนุ่ม เสียงลมพัดน่ากลัว
จนการเดินรอบหลังๆ จึงเริ่มรับรู้สิ่งที่มากระทบหรือสัมผัสกับร่างกาย ทั้งลมเย็นๆ สายฝนที่เริ่มโปรยปราย เสียงนกร้อง เสียงจั๊กจั่น เสียงกิ่งไม้ตกกระทบพื้น สัมผัสเหล่านี้ชวนให้ย้อนกลับมาที่เป้าหมายแรกที่เข้ามาเดินจงกรม นั่นคือความรู้สึกตัว เพียงแค่รับรู้รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส และตามรู้ความรู้สึกนึกคิดก็เพียงพอแล้ว ไม่ตัดสิน ไม่ปรุงแต่ง
จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน การฝึกสติผ่านการรับรู้สัมผัส (ผัสสะ) ต่างๆ ทั้งเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส และรับรู้ความคิด สามารถทำได้ง่ายเมื่ออยู่ในธรรมชาติป่าเขา
ขณะที่หลวงพ่อคำเขียนก็ให้ความสำคัญกับป่าเขาและธรรมชาติมาตั้งแต่เริ่มบวช โดยปวารณาตัวเป็นผู้อนุรักษ์ป่า จนทำให้มีวัดป่าที่สมบูรณ์ในปัจจุบัน
“พระพุทธเจ้าประสูติก็ที่ป่า ตรัสรู้ก็ที่ป่า แสดงธรรมก็ที่ป่า ปรินิพพานก็ที่ป่า พวกเราถึงเกี่ยวกับป่า ในชีวิตเพื่อบำเพ็ญภาวนา ซึ่งต้นไม้ก็แสดงธรรมให้เรา เวลาใดเราเดินจงกรมอยู่ใต้ร่มไม้ นั่งทำสมาธิอยู่ใต้ร่มไม้ ถ้ามันคิดฟุ้งซ่านมาก็ดูต้นไม้ เขาอยู่นิ่งๆ ท่านจะคิดไปอะไรมาก อยู่นิ่งๆ เหมือนเรานี่” หลวงพ่อคำเขียนเคยกล่าวไว้เกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้ที่มีต่อการปฏิบัติธรรม
ด้วยเหตุนี้ทุกวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของหลวงพ่อคำเขียน ศิษยานุศิษย์จึงรวมตัวกันทำ
กิจกรรมปลูกต้นไม้ที่วัดป่ามหาวัน ซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อคำเขียนไปจำพรรษาในช่วงสองพรรษา
สุดท้ายของชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าให้อุดมสมบูรณ์เหมือนกับวัดป่าสุคะโต
ภาพ: กุฏิหลวงพ่อคำเขียน ณ วัดป่ามหาวัน
นอกเหนือจากการมีสติ รู้เนื้อรู้ตัว รู้ความคิด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการใช้ชีวิตส่วนตัวและการงานแล้ว การอยู่ในธรรมชาติยังส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจอีกด้วย งานวิจัยสมัยใหม่ยืนยันว่าการอยู่ในป่าแม้เพียงหนึ่งชั่วโมงก็มีผลดีต่อสุขภาพกายใจ เช่น ทำให้ความดันโลหิต ฮอร์โมนความเครียดลดลง และทำให้คนๆ นั้นมีความสุขมากขึ้น
หากผู้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเข้าใจและเห็นความสำคัญของการมีสติและความรู้สึกตัวว่าเป็นพื้นฐานของชีวิตในทุกระดับตั้งแต่เกิดจนตาย ก็สามารถนำการฝึกแบบนี้ไปสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่ในรูปแบบและไม่เป็นรูปแบบในชีวิตประจำวันสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น ชักชวนให้นักเรียนและพนักงานฝึกสังเกตและรับรู้ธรรมชาติรอบตัวที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเมื่อไปท่องเที่ยว บางองค์กรที่มีกิจกรรมสังสรรค์หรือปฏิบัติธรรมประจำปีก็อาจพาไปปฏิบัติธรรมผ่านการอาบป่าโดยเสริมการฝึกความรู้สึกตัวผ่านการรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ เข้าไปด้วย
หาซื้อหนังสือ “รู้ซื่อๆ” “สนุกป่วย” และรำลึกถึงหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ได้โดย คลิกที่นี่
ร่วมกิจกรรมรำลึกและบูชาคุณหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ครั้งที่ 9 “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์”
ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2566 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ ที่นี่