เรื่องเล่าวันเบาใจ ปีที่ 3 กรุณา...รักษาใจ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

วาเลนไทน์ที่ผ่านมา Peaceful Death ได้จัดกิจกรรม “วันเบาใจ” ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธชินราช จ. พิษณุโลก งานวันเบาใจปีนี้ นับเป็นปีที่สาม แต่ละปีจะมีชื่อตอนที่แตกต่างกัน เช่น ปีแรกเสนอเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ปีที่สองเสนอตอน 'เพราะรักจึงบอก' และปีนี้เสนอตอน 'กรุณา...รักษาใจ' จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2563

แนวคิดหลักของปีนี้คือ การนำเสนอแนวคิดและปฏิบัติการ "ชุมชนกรุณา" ให้ขยายตัวออกจากงานทางคลินิกและการให้บริการในโรงพยาบาล ไปสู่ชุมชนและสังคม

ด้วยเหตุนี้ รูปแบบของงานวันเบาใจจึงเปลี่ยนจากเวทีเสวนาวิชาการ

สู่การนำเสนอตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน และบริเวณรอบงาน จัดให้มีลักษณะเป็นแนวราบ มีสีสัน สร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้คนพูดคุยเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น โต๊ะสนทนาเรื่องประสบการณ์ดูแลผ่านไพ่ฤดูฝน โต๊ะญี่ปุ่นเปิดไพ่ดูใจเพื่อการโค้ชการตัดสินใจครั้งสำคัญของบุคลากรสุขภาพ โต๊ะศิลปะรำลึกและดูแลความสูญเสีย รวมถึงชิ้นงานศิลปะที่กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้มองเห็นและสัมผัสความปรารถนาดีหรือความกรุณา ทั้งภายในตนเอง และความกรุณาที่ผู้คนรอบข้างหยิบยื่นให้

ชุมชนกรุณาห้วยยอดโมเดล


เนื้อหาบนเวทีชุมชนกรุณา พูดถึงรูปแบบการทำงานชุมชนกรุณา หรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชนที่หลากหลาย ดังเช่น พระกฤษดา ขนฺติกโร แห่งชมรมชายผ้าเหลือง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ท่านเน้นย้ำว่า การสร้างการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ต้องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นเงื่อนไขประการแรกและประการสำคัญของการทำงานชุมชนกรุณา เมื่อท่านต้องการทำงานเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล พระกฤษฎาก็ขอโอกาสแนะนำตัว แจ้งเจตนาในการช่วยเหลือและการเยี่ยมผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยอาศัย

ความสะดวกของโรงพยาบาลเป็นที่ตั้ง ท่านให้ทีมนำอาหารจากการบิณฑบาตมาให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกวัน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เมื่อความสัมพันธ์ต่อกันตั้งมั่นดีแล้ว ความร่วมมือในระดับที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นไปได้

การทำงานของท่านเน้นความโปร่งใสในการทำงาน เช่นในฐานะพระสงฆ์ ท่านรับบริจาคเพียงสิ่งของเพื่อส่งมอบต่อให้โรงพยาบาลหรือครอบครัวผู้ป่วย ความโปร่งใส เชื่อใจได้ ทำให้ทีมงานได้รับความน่าเชื่อถือ ดึงดูดจิตอาสาและผู้มีศรัทธาเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น การผลักดันกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมชุมชนกรุณาก็ทำได้มากขึ้นตามไปด้วย

ทีมงานสร้างสุขที่ปลายทาง จ.กาฬสินธุ์

ทีมงานจิตอาสาและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมือง จ.กาฬสินธุ์ เข้าร่วมงานและร่วมเป็นวิทยากรในหลายประเด็น ทีมนี้เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครเยาวชน อาสาช่วยเหลืออุบัติภัย อาสาช่วยเหลือจัดงานศพผู้ป่วยไร้ญาติ การเริ่มงานอาสาใหม่ๆ เกิดจากการมองเห็นความทุกข์และไม่นิ่งดูดายที่จะให้ความช่วยเหลือ งานอาสาใหม่ๆ มักเกิดจากการให้ความช่วยเหลือที่ทำได้ง่ายและทำได้เลย

เมื่อเครือข่ายชุมชนกรุณาได้ยินการทำงานของกลุ่มจุติสุขาวดี ซึ่งกำลังต้องการขยายงานอาสาจากการสงเคราะห์งานศพผู้เสียชีวิตไร้ญาติ สู่การให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ผู้ป่วยยังมีชีวิต เครือข่าย ฯ จึงได้สนับสนุนการอบรมแนวทางการเยี่ยมผู้ป่วย ทำให้เกิด “กลุ่มอาสาสร้างสุขที่ปลายทาง” ขึ้น โดยทีมงานได้เยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายร่วมกับโรงพยาบาล และพระสงฆ์ ในกระบวนการเยี่ยมยังมีการเตรียมและการสะท้อนบทเรียนในแต่ละครั้ง ทำให้การเยี่ยมดูแลครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ทีมงานก็ได้สัมผัสถึงความสุขอันลึกล้ำจากความกรุณาที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนจากการทำงานนี้

ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย สู่พื้นที่แห่งกรุณา

ขณะที่โรงพยาบาลน่าน พญ.วาลิกา รัตนจันทร์ กล่าวถึงระบบสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้านว่า เป็นรูปธรรมหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและชุมชน ดังเช่น การเกิดขึ้นของแบรนด์คิดดีโปรเจกต์ ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากถุงน้ำเกลือ ของโรงพยาบาลน่าน

โครงการนี้เริ่มจากการมองเห็นปัญหาขยะของผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ทำให้บุคลากรทุกภาคส่วนต้องพัฒนาแนวทางลดขยะในโรงพยาบาล ขยะที่มีมากประเภทหนึ่งคือถุงน้ำเกลือ ซึ่งผลิตจากพลาสติกเกรดดี แข็งแรงทนทาน แต่กลับต้องทิ้งเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย การสังเกตและหารือปัญหานี้กับนักออกแบบ ทำให้เกิดโครงการพัฒนากระเป๋าผ้ารีไซเคิลถุงน้ำเกลือ สามารถขายกระเป๋าได้ในราคาสูง รายได้ที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้าน เช่น เตียง ถังออกซิเจน และอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ที่ผ่าน จากงานวิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าว

กรุณาผู้อื่น อย่าลืมกรุณาตนเอง

เวทีเสวนา "เยียวยารักษาใจ" และ "วิชาใจ" ของพระจิตร์ จิตตสังวโร และคณะจิตอาสา ยังพูดถึงการดูแลความทุกข์ ความสูญเสีย ทั้งจากการทำงานงานดูแล รวมทั้งประสบการณ์การรับรู้ความสูญเสียจากโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช พระจิตร์ให้คำแนะนำที่จะยอมรับความจริงว่าความทุกข์ ความป่วย ความสูญเสียได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ควรที่จะผลักไสปฏิเสธ เพราะการไม่ยอมรับและปฏิเสธความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเสริมความบีบคั้นให้มีมากขึ้น

ควรที่จะ "กลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์" ด้วยการกลับมารู้สึกตัว เช่น กลับมารับรู้ลมหายใจ รับรู้การเคลื่อนไหว กลับมาตั้งหลักใหม่ที่สติ ด้วยวิธีนี้ จะตัดวงจรแห่งการคิดอันก่อให้เกิดทุกข์ แล้วจึงตัดสินใจกระทำการด้วยใจที่นิ่ง สงบ ไม่หวั่นไหว ควรที่จะ "ไฟในไม่นำออก" กล่าวคือ เมื่อมีเสียงบ่นพร่ำ ความไม่พอใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราไม่ควรที่จะโหมกระพือความโกรธด้วยการเป็นผู้โกรธ เพราะนั่นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ได้แต่เพิ่มผู้โกรธอีกคนบนโลกใบนี้ ขณะเดียวกัน "ไฟนอกไม่นำเข้า" กล่าวคือ เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวางปัญหาที่เป็นของคนอื่นไว้ที่เขาคนนั้น ไม่ด่วนนำปัญหาที่มิใช่ของเราเข้ามาในใจ ผู้คนมีกรรมเป็นของตน ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่การสนับสนุนให้วางเฉยหรือใจดำ แต่เพราะการรักษาใจให้มีความมั่นคง มีสันติ ปราศจากความโกรธแค้นเท่านั้น จึงจะช่วยให้เราดำรงสติปัญญา และอยู่ในฐานะที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

บทบาทของศิลปะในงานประชุมวิชาการ "วันเบาใจ"

ศิลปะมีบทบาทอย่างมากที่จะส่งผ่านความรู้สึกดีต่อการทำงานชุมชนกรุณา รวมทั้งสร้างบรรยากาศต่อการใคร่ครวญความสูญเสีย

ดังเช่น กิจกรรมร้องเพลงเล่านิทานของกลุ่มคิดแจ่ม ครูเบิร์ดได้นำนิทานเรื่อง "การเดินทางของส่วนที่หายไป" ของ เชล ซิลเวอร์สไตน์ มาเล่าผ่านบทเพลงและหุ่นเชิดที่ทำจากกล่องอะไหล่ฟอกอากาศ นิทานพูดถึงการเดินทางของวงกลมที่ตามหาชิ้นส่วนสามเหลี่ยมที่หายไป และพูดถึงการเดินทางของเจ้าสามเหลี่ยมที่ต้องการตามหาวงกลมที่เหมาะสม ชิ้นส่วนทั้งสองพูดถึง 'ความขาดหาย' ซึ่งแม้เป็นสภาวะที่ไม่น่าพึงใจ แต่ความขาดหายก็มีหน้าที่ของมัน ส่วน "การเติมเต็ม' นั้น แม้เป็นเป็นสภาวะที่น่ายินดี แต่บางครั้งการเติมเต็มก็กลับเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากและต้องพึ่งพาหาอะไรมาเติม จนลืมนึกไปว่าชีวิตนั้นอาจไม่ต้องเต็มก็ได้

ยังมีนิทาน "แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ" อีกเรื่องที่กลุ่มคิดแจ่มนำมาเล่า ชวนให้ใคร่ครวญความสูญเสีย ความรัก และการปล่อยวาง ผ่านนิทานเพลงอันไพเราะ นิทานเรื่องนี้มีความหม่นเศร้า ทว่าก็น่ารักและงดงาม ยากที่จะสะท้อนออกมาเป็นข้อคิดคำพูดที่ชัดเจน แต่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและมุมมองต่อชีวิตและความตาย

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจภายในงานคือ "ต้นไม้แห่งความสูญเสีย" ทีมจัดงานได้นำกิ่งไม้แห้งและอุปกรณ์ศิลปะมาเตรียมไว้ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้เขียนข้อความ กวี หรือสร้างผลงานศิลปะเพื่อรำลึกถึงผู้จากไป เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกภายใน หวนรำลึก ไว้อาลัย การขอบคุณ และความโศกเศร้าสูญเสีย เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสว่าทุกคนต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บตาย และต่างมีศักยภาพที่จะเผชิญความสูญเสียด้วยกันทั้งสิ้น

วันเบาใจ ปีต่อไป

งานวันเบาใจ เกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร บุคลากรโรงพยาบาล อาสาสมัครและตัวแทนจากภาคชุมชน ขอบคุณทีมจัดงานที่เปิดโอกาสให้ทาง Peaceful Death จัดกิจกรรมอบรมเขียนสมุดเบาใจ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงท้ายของชีวิต และจัดกิจกรรม Care Club กิจกรรมดูแลใจผู้ดูแลผู้ป่วย ผ่านการสนทนาและศิลปะสร้างสรรค์

เราหวังว่าหลังจากนี้จะมีงานวันเบาใจ อันเป็นรูปธรรมของการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเกิดขึ้นอีก เพราะจังหวัดใดที่เกิดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นได้ ย่อมรับประกันได้ว่า ชุมชนนั้นๆ มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการดูแลกันและกันในชุมชน ไม่ว่าจะทั้งยามอยู่ ยามป่วย หรือยามจากกันก็ตาม

[seed_social]
28 กุมภาพันธ์, 2561

เพราะรักไม่ใช่หน้าที่

วันตรุษจีน ลูกทั้งสี่คนนำซองอั่งเปามาให้แม่ พอช่วงบ่าย แม่โวยวายเพราะหาซองไม่เจอ และคิดว่าต้องมีคนแกล้งขโมยไป ในที่สุดก็พบซองในช่องฟรีซตู้เย็น ทุกคนหัวเราะชอบใจ แต่ภายใต้ความขำขันนั้นต่างก็เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไป
22 เมษายน, 2561

แรงอธิษฐาน

สายลมเย็นยามดึกปะทะเข้ากับใบหน้าและผิวกายของข้าพเจ้าขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางมาปฏิบัติงาน ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่นและผ่อนคลายความง่วงงุนไปได้มาก
12 เมษายน, 2561

เราควรจะบอกหรือไม่ เกี่ยวกับความจริงของอาการป่วย

พระไพศาล วิสาโล : ในสังคมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การบอกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สังคมตะวันออกเรามักต้องดูคนรอบข้างด้วย