เขียนโดย ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

ตุลาคม 2565

“ชอบฟังเสียงลำธาร เสียงธรรมชาติหนะ..”

คุณลุงเจ้าของเสียงขยับริมฝีปากอย่างช้าๆ เปล่งเสียงแหบพร่าเบาบาง ชายชรานอนนิ่งอยู่บนเตียงมาหลายปีแล้ว แขนขาไร้เรี่ยวแรง การเปล่งเสียงบอกความประสงค์ย่อมยากลำบากพอควร คนข้างเตียงหรือผู้ดูแลกลายเป็นกำลังหลักที่จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาอันแสนยากลำบากไปได้ในแต่ละวัน

เราอยู่ในยุคที่การฟังเสียงที่ต้องการไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในวันที่ทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต ลูกหลานเพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟน สัมผัสหน้าจอแค่ไม่กี่ครั้ง ก็เหมือนได้ประคองคุณลุงเจ้าของเสียงลุกจากเตียง แล้วเดินเข้าป่าไปนั่งฟังเสียงลำธารได้อย่างใจหมาย นี่คงเป็นหนึ่งในช่วงเวลาแสนสุขที่ผู้ป่วยได้รับ กิจกรรมง่ายๆแต่เพิ่มพลังใจให้ต่อสู้กับโรคร้ายและร่างกายที่ไม่เป็นใจ และลดทอนความเบื่อหน่ายได้เป็นอย่างดี

เสียงในความทรงจำ
ทุกคนล้วนมีเสียงที่อยู่ในความทรงจำเสมอ เสียงที่ช่วยกระตุ้นให้เราหวนถึงช่วงเวลาในอดีต นำมาซึ่งความรู้สึกบางอย่างที่เราไม่ได้พบเจอมานานแสนนาน แม้จะโหยหาแต่ก็เปี่ยมสุข เสียงสายลมกระทบยอดหญ้า เสียงนกร้องก่อนกลับเข้ารัง หรือเสียงทำกับข้าวยามเช้าที่พาเราหวนกลับไปวัยเด็ก ในวันที่ได้ยินเสียงแม่ผัดข้าวให้กินก่อนไปโรงเรียน ทุกเสียงล้วนนำพาบรรยากาศที่อบอุ่น เปี่ยมสุข และอดีตที่งดงามย้อนคืนกลับมา แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้อารมณ์และจิตใจของเราเบิกบานไปทั้งวัน

แม้แต่ในกลุ่มเด็กทารกเอง ปัจจุบันมีการใช้เสียงที่เรียกว่า White noise หรือเสียงบำบัดสีขาว เป็นเสียงที่มีความถี่เสถียรเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ คล้ายคลึงกับเสียงแห่งความทรงจำของทารกขณะอยู่ในท้องแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเลือดไหลผ่านรก หรือเสียงอัตราการเต้นของหัวใจแม่ การใช้เสียงที่ทารกมีความคุ้นชินนี้จะช่วยกล่อมให้ทารกสงบนิ่ง ผ่อนคลาย มีสมาธิ และนอนหลับง่ายขึ้น เช่น เสียงน้ำไหลตามธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งเสียงไดร์เป่าผมและเสียงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ดังเกินไป

สื่อเสียงบำบัด – เสียงเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย (และเพื่อพวกเราทุกคน)

เราอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เรายินยอมพร้อมใจรับฟังมันหรือไม่ ทุกหนทุกแห่งที่เราไปล้วนเต็มไปด้วยเสียง จนกระทั่งหลายคนแสวงหาสิ่งที่เรียกว่าความเงียบ ในขณะที่ศาสตร์การใช้เสียงบำบัดกลับแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

งานวิจัยเรื่อง “Structure and Process of Palliative Care Provision: A Nationwide Study of Public Hospitals in Thailand” มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า สื่อเสียงและเทปธรรมมะเป็นองค์ประกอบสำคัญและมีผลมากในการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยในระยะท้าย พวกเขาล้วนมีความเจ็บป่วยและไม่สะดวกสบายทางกายอยู่มาก เมื่อร่างกายควบคุมได้ยาก บริบทของชีวิตย่อมถูกจำกัด เสียงจึงสามารถนำพาเขาไปสู่โลกกว้าง สร้างจินตนาการ และไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป เรามักจะได้เห็นผู้สูงอายุชอบฟังรายการวิทยุยามเช้า นอกจากจะเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงตัวตนของพวกเขาเข้ากับใครบางคนหรือโลกที่แปรเปลี่ยนไปได้ ทั้งยังสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยแข็งแรง บรรเทาความขุ่นมัว แปรเปลี่ยนความเจ็บป่วยเป็นความเบิกบาน

สื่อเสียงที่ใช้กับผู้ป่วยมีได้หลายรูปแบบ ทั้งเสียงเพลงที่ชื่นชอบ เสียงธรรมชาติ เสียงที่ช่วยนำทาง เสียงธรรมมะ หรือบทสวด แต่สิ่งสำคัญคือควรคำนึงถึงความชอบและความปรารถนาของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยระยะท้ายเท่านั้น สำหรับผู้เผชิญกับความสูญเสียทั่วไป เสียงยังทำหน้าที่ปลอบประโลม รักษาแผลใจและดึงความทรงจำงดงามกลับมาได้ด้วยเช่นกัน

เสียงที่ชอบ กับ เสียงที่ใช่-แบบไหนดีกว่ากัน?
“พ่อชอบฟังสุรพลมาก แต่ตอนนี้ป่วยหนัก น่าจะต้องฟังธรรมะมากกว่านะ..”

คำถามหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ดูแลและญาติ คือ ควรเปิดอะไรให้ผู้ป่วยฟังดี? หลายคนยึดติดว่าต้องเป็นเสียงธรรมะ หรือเสียงเพลงที่สบายสงบเท่านั้นที่เหมาะกับคนป่วย แม้จะเต็มไปด้วยความหวังดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเราควรยึดตามความชอบของผู้ป่วยเป็นหลัก ลองถามความต้องการของผู้ป่วย หากชอบเพลงไหน ให้ลองเปิดเพลงที่เขาชอบ หากพูดไม่ได้ ให้ลองสังเกตุสีหน้าท่าทาง เพราะการเลือกสื่อที่ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยจะเกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการดูแลศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าแม้เขาจะป่วย แต่ก็ยังมีสิทธิ์เลือกบางสิ่ง แม้ในวันที่ไม่สามารถเลือกชีวิตของเขาได้เองแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม บทเพลงบางเพลง สื่อเสียงบางแบบ อาจเหมาะกับแต่ละช่วงเวลาของการเจ็บป่วยเท่านั้น ตอนนี้ชอบฟังแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าความชอบนั้นจะอยู่ตลอดไป ผู้ดูแลจำเป็นต้องเช็คความรู้สึกผู้ป่วยไว้เป็นระยะ หรืออาจลองนึกสนุกจัด playlist ของตัวเองไว้ใช้ในช่วงความเจ็บป่วย หรืออารมณ์ต่างๆของตัวเองก็น่าสนใจไม่น้อย

อันนู้นก็ดี อันนี้ก็ใช่-เลือกสื่อเสียงแบบไหนให้ตรงใจผู้ป่วย
สื่อเสียงมีหลายรูปแบบ ลองเลือกตามความเหมาะสมของผู้ป่วย แต่หากยังเลือกไม่ถูก หรือไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี ลองพิจารณาจากหมวดหมู่ของเสียงที่อาจเหมาะสมกับผู้ป่วยเหล่านี้ดู

  1. เสียงช่วยให้ผ่อนคลายจิตใจ - เช่น นิทาน ธรรมะ ละคร หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายจิตใจ สนุก ชวนติดตาม เพื่อให้ผู้ป่วยมีพื้นที่ให้จิตใจได้เกาะเกี่ยว ผ่านพ้นความเบื่อหน่าย ไม่โฟกัสกับความเจ็บป่วยมากเกินไป
  2. เสียงสร้างบรรยากาศ – ควรเป็นเสียงที่ทำให้บรรยากาศของการดูแลดีขึ้น อาจเลือกเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงป่า เสียงนกร้อง งานวิจัยบ่งชี้ว่า เสียงน้ำตก ลำธาร น้ำหยด หรือหิมะที่กำลังละลาย ล้วนทำให้เราเข้าถึงความสงบเย็นได้ทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งเสียงสิ่งแวดล้อมที่เราชื่นชอบ เช่น เสียงบนรถไฟ หรือเสียง City Walk ก็กำลังเป็นที่นิยมมาก ทำให้เรารู้สึกเหมือนไปอยู่ในสถานที่ ได้รับกลิ่นอายและบรรยากาศราวกับว่าเรากำลังไปนั่งอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานดูแลอย่างโรงพยาบาล ผู้ดูแลอาจบันทึกเสียงบรรยากาศในบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องปรับอากาศ เสียงทำกับข้าว เสียงสัตว์เลี้ยง เสียงนกร้องในสวนหลังบ้านยามเย็น หรือเสียงของลูกหลาน ก็จะทำให้ผู้ป่วยคลายโดดเดี่ยวและเสมือนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นคุ้นชิน
  3. เสียงที่ให้มุมมองและแนวคิด - สำหรับผู้ป่วยชอบสายบรรยายธรรม ลองหาเสียงพระอาจารย์ที่ชื่นชอบ หรือหาน้ำเสียงและลีลาที่คุ้นเคยมาฟัง ปัจจุบันมีสื่อเสียงธรรมะที่สมัยใหม่ที่ฟังง่าย ไม่น่าเบื่อให้เลือกมากมาย เช่น ธรรมะข้างเตียง ธรรมมะสำหรับผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งธรรมะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางใจอื่นๆ
  4. เสียงเพื่อความผ่อนคลาย – เป็นเสียงพูดคลอบทเพลงที่นำให้ผู้ป่วยทำ body scan ร่างกายทีละส่วน เพื่อความผ่อนคลาย ช่วยให้ผู้ป่วยหลับง่ายขึ้นและไม่โฟกัสที่ความเจ็บป่วยแต่เพียงอย่างเดียว เสียงกลุ่มนี้เหมาะกับคนทุกกลุ่ม เพราะทุกวันนี้คนมีความเครียดและวิตกกังวลเยอะมากจนแทบนอนหลับอย่างมีคุณภาพไม่ได้ หากลองทำตาม แม้เพียงช่วงสั้นๆก็จะทำให้ตื่นนอนขึ้นมาอย่างสดชื่นแจ่มใสกว่าที่เคย
  5. เสียงเพื่อสร้างจินตภาพ – เป็นเสียงที่นำไปสู่การปฏิบัติทางใจ เช่น บทภาวนาก่อนตาย เพื่อให้ผู้ฟังลองกลับมาระลึกถึงสิ่งสำคัญจริงๆของชีวิต ได้กลับมาถามตัวเองว่าเราพร้อมจริงๆหรือยังกับความตาย หรือมีเรื่องใดติดค้างในใจแล้วต้องไปสะสาง เมื่อตระหนักรู้ถึงสิ่งสำคัญของชีวิตได้เร็ว ก็จะจัดการกับชีวิตได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่เจ็บป่วยล้มลง
  6. เสียงพัฒนาอารมณ์จิตใจ – เสียงบางแบบมีผลต่อการทำงานของคลื่นสมอง เช่น เสียง Singing Bowl ที่ก้องกังวาลแต่เปี่ยมไปด้วยความสงบอันทรงพลัง เสียง Healing music เสียงเรกิ ดนตรีบำบัด หรือแม้กระทั่งเสียงบทภาวนาเพื่อการเยียวยาอย่าง ทองเลน โพวา
  7. บทนำทางสู่ความตาย - สำหรับชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต อาจลองนำบทนำทางสู่ความตายมาเปิดให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ดูแลและญาติๆ หากว่าในนาทีนั้นอาจทำหน้าที่นี้ไม่ไหว ไม่อาจกลั้นเสียงเสียงสะอื้นหรือร้องไห้ที่อาจทำให้ผู้กำลังจากไปกังวลไว้ได้ ทาง Peaceful Death ได้ผลิตไว้ 3 เวอร์ชั่น ที่มีเนื้อหาเข้มข้นแตกต่างกันไปทั้งสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยที่สนใจธรรมมะ และผู้ป่วยที่เป็นนักปฏิบัติเพื่อเลือกให้เหมาะสมตามบุคลิกของผู้ป่วย

เสียงเพื่อผู้ดูแล
สำหรับผู้ดูแลหรือญาติแล้ว ในช่วงเวลาที่ฟังสื่อเสียงไปด้วยกันกับผู้ป่วยย่อมเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย สื่อเสียงสามารถเป็นสื่อกลางให้ผู้ดูแลกับผู้ป่วยเข้าใจกันมากขึ้นและเรียนรู้ไปด้วยกันว่าคำพูดและวิธีการสื่อสารใดที่เขาชื่นชอบ (ในบางครั้งการแสดงออกถึงความเป็นห่วงใยแบบของเราอาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผู้ป่วยโดยที่ไม่รู้ตัว) นอกจากจะทำให้ผู้ดูแลเรียนรู้เรื่องมุมมองและความตายไปพร้อมๆกันแล้ว ยังสร้างทักษะสำคัญให้กับผู้ดูแลในการผู้ป่วยรายต่อๆไปได้ด้วยจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็งด้วย

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากมายไม่เว้นวัน บุคลากรทางการแพทย์ต้องปะทะกับความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน แม้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องเผชิญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมสร้างความสั่นไหวให้จิตใจไม่มากก็น้อย การดูแลหัวใจของตัวเองและเพื่อนร่วมงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเติมพลังกายใจให้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ

เสียงสุดท้ายก่อนจากลา

อย่างไรก็ดี สื่อเสียงทั้งหมดนี้เป็นเพียงทางเลือก ผู้ดูแลควรปรับใช้ให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้ป่วย หรือในวันที่ยังมีเรี่ยวแรง ผู้ป่วยและผู้ดูแลอาจรวมกันออกแบบเองได้ว่าชอบสื่อเสียงแบบไหน ความสั้น-ยาว หรือความละเอียดของเนื้อหาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเสียงที่ใช้ในวาระสุดท้าย ผู้ป่วยสามารถออกแบบไว้ล่วงหน้าได้ว่าอยากได้ยินสิ่งใดก่อนตาย หรืออาจจัด playlist เพลงที่ชอบเอาไว้ แล้วสอดใส่ไว้ในสมุดเบาใจ ก็จะช่วยให้ญาติและผู้ดูแลเข้าใจและช่วยให้บริการผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น

ในนาทีสุดท้ายของชีวิต ประสาทการได้ยินจะยังคงทำงานเป็นลำดับสุดท้ายก่อนสังขารแตกดับ การมีเสียงคอยนำทางให้ผู้กำลังจากไปค่อยๆปล่อยวาง ระลึกรับรู้ และน้อมนำจิตไปสู่เรื่องดีงาม หรือเรื่องที่เขาภาคภูมิใจในชีวิต ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดความกระสับกระส่าย หวาดกลัว ตื่นตกใจและจากไปด้วยดี.

 

เลือกสื่อเสียงที่ชอบและตรงใจ หากยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เราขอแนะนำกลุ่มอาสาสมัครวิทยุบุญ (https://www.radioboon.com) หรือสื่อเสียงจาก Peaceful Death ดังนี้

1.ลิงก์สื่อเสียงภาวนา เพื่อผู้ป่วยและผู้ดูแล เสียงเพื่อความผ่อนคลาย Playlist ห้องนิทานคิดแจ่ม

หนังสือเสียงของ Peaceful Death ประกอบด้วยหนังสือเรื่อง

  • ปทานุกรมความตาย
  • 9 วิธีพูดคุยเรื่องความตายกับแมว
  • Add ความตายเป็น Friend
  • กลับสู่ธรรมชาติแห่งกรุณา
  • วันนี้คือของขวัญของชีวิต
  • ความรักอยู่รอบตัวเรา
  • คุยเป็นยา
  • ล้อมวงสนทนา

 

2. บทน้อมนำเพื่อความผ่อนคลาย ประกอบด้วยสื่อเสียงเรื่อง

  • สายลม
  • สายน้ำ
  • ธาตุทั้งสี่
  • วางอย่างว่าง

 

3. บทภาวนา ตายก่อนตาย เพื่อการเจริญมรณานุสติ

 

4. บทภาวนาเพื่อการเยียวยาความเจ็บป่วย
ประกอบด้วย

  • โพวา
  • ทงเลน บทนำทางสู่ความตาย ประกอบด้วย

 

5. อื่นๆ

  • บทนำทางสู่ความตายสำหรับคนทั่วไป
  • บทนำทางสู่ความตายสำหรับชาวพุทธ
  • บทนำทางสู่ความตายสำหรับนักปฏิบัติ