สัมภาษณ์/ เขียน ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ตามจารีตประเพณี พิธีศพและพิธีระลึกถึงพระสงฆ์มรณภาพมักไม่ต่างจากฆราวาส แต่พิธีระลึกถึงการมรณภาพของพระสันติชัย สติเวปุลโล (ยุศกระโทก) แห่งวัดน้อยนอก นนทบุรี และ “พระเยี่ยมไข้ข้างเตียง” แห่งกลุ่มอาสาคิลานธรรมมีความพิเศษตรงที่พิธีกรรมบ่งบอกถึงความคิดความเชื่อ แบบแผนการใช้ชีวิต และการวางแผนรับมือความตายที่ลุ่มลึกและสร้างสรรค์เหมาะแก่กาลยิ่งนัก
ในบทความชิ้นนี้เราได้พูดคุยกับพระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม เพื่อทำความรู้จักกับพระสันติชัย พระสงฆ์ที่บวชเณรมาตั้งแต่เด็กและนำแนวคิดเชิงพุทธมาช่วยเหลือผู้คนนับไม่ถ้วน รู้จักแนวคิดการรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายของพระสันติชัย รวมทั้งแนวคิดเบื้องหลังการพิธีระลึกถึงการมรณภาพด้วยการปลูกต้นไม้ “สติเวปุลโลโพธิ” หรือต้นโพธิแห่งสติของกลุ่มกัลยาณมิตร ที่ทำให้เราเห็นทั้งความมั่นคงใน “วิถีแห่งการดูแลกายใจตัวเอง” ที่พระสันติชัยยึดถือและปฏิบัติตนมากว่า 30 ปีนับตั้งแต่เป็นสามเณร รวมทั้งพลังความร่วมมือของกัลยาณมิตรและญาติโยมที่ลงมือทำความปรารถนาสุดท้ายของผู้วายชนม์ให้เป็นจริงอย่างมีความหมายและเหมาะสมกับ “ตัวตน” ของพระสันติชัยอย่างน่าทึ่ง
พระเยี่ยมไข้แห่งกลุ่มคิลานธรรม
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว “พระสันติชัย วัดน้อยนอก” ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักกิจกรรมทำค่ายเยาวชนและสอนวิปัสสนาได้เข้าร่วมการอบรมหลักสูตร “เยียวยาใจด้วยธรรมมะ” รุ่นที่ 3 ที่กลุ่มคิลานธรรมจัดให้แก่คณะสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นพระสันติชัยก็เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มคิลานธรรม โดยทำกิจกรรมเยี่ยมไข้ที่วัดชลประทานอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มคิลานธรรมเป็นกลุ่มพระนักทำกิจกรรมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรชีวิตและความตายของมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) เพื่อถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาเชิงพุทธด้านความเจ็บป่วย โดยมีกิจกรรมหลักคือการเยี่ยมไข้แบบ “ไม่เทศน์หรือรับสังฆทานอย่างเดียว มีการรับฟังและพูดคุยเยียวยาผู้คนด้วย”
“เมื่อพระสงฆ์และคฤหัสถ์ไปเรียนวิชาชีวิตและความตายของ มจร. เมื่อปี พ.ศ. 2550 เราได้ฝึกงานเป็นอาสาสมัครเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ป่วยในโรงพยาบาล พอเรียนจบแล้วชวนกันทำกิจกรรมเยี่ยมไข้ต่อ ในช่วง 2-3 ปีแรกยังไม่มีชื่อ ต่อมาใช้ชื่อคิลานธรรม คิลานะแปลว่าผู้เจ็บไข้ ผู้เจ็บป่วย คิลานธรรมหมายความว่าธรรมสำหรับผู้เจ็บไข้
นอกจากเยี่ยมไข้ เรายังมีมีกิจกรรมอบรมนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ การเรียนรู้ชีวิต การใช้ชีวิต รู้จักความสุขทุกข์ โดยใช้จิตวิทยาการสื่อสารแนวพุทธ ตอนนี้มีพระสงฆ์เป็นสมาชิกที่ยังติดต่อสื่อสารกันอยู่ประมาณ 30-40 รูป” พระมหาสุเทพ ประธานกลุ่มคิลานธรรมเล่า
ความตายออกแบบได้…เมื่อพระเยี่ยมไข้ป่วยเป็นมะเร็ง
เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วหรือก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19 ไม่กี่เดือน พระสันติชัยป่วยเป็นมะเร็งโพรงจมูก พลันเมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง พระสันติชัยเลือกวิถีดูแลตัวเองแบบแพทย์ทางเลือกตามหลักโภชนาการและสมุนไพรและปฏิบัติธรรม โดยยังคงไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้น แต่ปฏิเสธการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การให้ยาเคมี (คีโม) การฉายแสง
พระมหาสุเทพได้มีโอกาสไปเยี่ยมไข้พระสันติชัยหลายครั้ง จึงเห็นพัฒนาการการเจ็บป่วยและสภาพทางจิตใจของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
“ครั้งแรกที่ไปพูดคุยเห็นว่าท่านยังมีความกลัวอยู่ ตอนไปคุยครั้งที่ 3 ระยะเวลาผ่านไปปีกว่า รู้สึกได้ว่าถ้อยคำในการสนทนาเปลี่ยนไป ใจท่านเปลี่ยนไป รับรู้ได้ถึงการยอมรับ ความมั่นคงสงบเย็น ท่านมุ่งเน้นการปฏิบัติมากขึ้น เรารับรู้ถึงวิถีที่ท่านเลือก ทำให้ความเป็นห่วงที่มีต่อท่านคลายลง เราเชื่อว่าท่านมีที่พึ่งในใจคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และปฏิบัติธรรม หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปเยี่ยมเพราะโควิด”
ผู้ติดตามเฟสบุคของพระสันติชัยจะเห็นว่าตั้งแต่เป็นมะเร็ง พระสันติชัยเทศน์เรื่องชีวิต ความไม่ประมาท ความตายมากขึ้น และเมื่ออาการของโรคดำเนินมาสู่ช่วงท้าย พระสันติชัยเริ่มออกเดินทางไปที่ที่อยากไป เช่น ไปสักการะหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร ไปเยี่ยมบิดามารดาที่บ้านเกิดและทำบุญสร้างพระพุทธรูปให้พ่อแม่และตัวเอง รวม 3 องค์ ปรับปรุงอาคารที่พักที่วัดน้อยนอกให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม และสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมขนาดเล็กที่วัดบ้านเกิด
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการปูทางหรือเตรียมตัวไปสู่การมรณภาพทั้งสิ้น นั่นคือลงมือทำสิ่งที่ควรทำและชำระล้างสิ่งค้างคาใจ
“ท่านเตรียมตัวทางกายตั้งแต่เลือกวิธีการรักษา เตรียมตัวภายในโดยการปฏิบัติธรรม การสร้างพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนาเหมือนการสร้างเจดีย์ แม้ท่านจากไปพระพุทธรูปยังอยู่ โยมแม่พระสันติชัยบอกว่าพระลูกชายเอามือไปลูบพระพุทธรูปและยิ้มบอกว่า “งดงามมากเหลือเกิน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” พระพุทธรูปยังเป็นพุทธานุสติและเป็นเครื่องมือภาวนาภายใน ในภาวะนี้ท่านคงรักษาศีลอย่างมากและระลึกถึงพระรัตนตรัยอย่างเข้มข้น”
“หลังจากรู้ว่าจะอยู่ได้ไม่นานพระสันติชัยชวนพระครูใบฎีกาสันติ (กิตติโสภโณ) วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เพื่อนสนิททางธรรมไปโปรดโยมพ่อแม่ที่บ้านและสั่งเสียเรื่องการจัดงานศพที่วัดบ้านเกิด ท่านปรารถนาจะปลูก “โพธิอินเดีย” เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นอนุสรณ์ทางธรรมในวันวิสาขบูชาที่จะมาถึง”
ต่อมาในช่วงสงกรานต์พระสุเทพและกลุ่มพระคิลานธรรมได้ไปเยี่ยมพระสันติชัย เมื่อเห็นว่าอาการของพระสันติชัยทรุดลง จึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นพระสันติชัยจึงไปโรงพยาบาลและติดเชื้อโควิดหลังจากเข้าโรงพยาบาลเพียงหนึ่งวัน ทำให้กลุ่มพระที่ไปเยี่ยมพระสันติชัยในวันนั้นกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโควิดและต้องกักตัว ส่วนพระสันติชัยมรณภาพในวันที่ 10 เมษายน 2565 และเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่สามารถจัดพิธีศพตามประเพณีได้ ทางวัดน้อยนอกจึงจัดสวดอภิธรรม 1 คืนแล้วฌาปนกิจศพในต่อมา
ต่อมาช่วงปลายเดือนเมษายน พระครูใบฎีกาสันติได้จัดพิธีทำบุญ 15 วันที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิตร โดยนิมนต์เจ้าอาวาสวัดน้อยนอก พระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรม โยมพ่อโยมแม่ของพระสันติชัยมาร่วมงาน
“หลังฉันเพลเราเชิญโยมแม่โยมพ่อและญาติสนิทท่านสันติชัยนั่งสนทนาเพื่อดูแลใจซึ่งกันและกันเพราะวันเผาลูก พ่อกับแม่ของพระสันติชัยป่วยเป็นโควิดอยู่คนละห้อง เลยไม่ได้ดูแลกันอย่างใกล้ชิด แม่ไม่ได้ดูหน้าลูก มาเห็นอีกที่ก็เหลือแต่กระดูก ส่วนพระครูใบฎีกาสันติก็สะเทือนใจที่เพื่อนจากไป เราใช้เวลา 3 ชม.กว่าเพื่อให้กำลังใจกันและกัน” พระสุเทพเล่า
ในงานนี้เองที่พระครูใบฎีกาสันติได้ปรารถถึงการทำความปรารถนาสุดท้ายของพระสันติชัยให้เป็นจริง คือการปลูกต้นโพธิ์ที่วัดบ้านเกิดในวันวิสาขบูชา
“สติเวปุลโลโพธิ” อนุสรณ์แห่งพระสันติชัย สติเวปุลโต
เพื่อให้การออกแบบการมรณภาพของพระสันติชัยบรรลุตามความตั้งใจ การปลูกต้นโพธิอินเดียในวันวิสาขบูชาที่วัดหนองโสน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาจึงเกิดขึ้น ในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 แต่สิ่งที่ “เหนือ” “เกิน” ความตั้งใจของพระสันติชัยคือการทำให้โพธิต้นนี้และพิธีนี้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการจากไปของพระสันติชัยผู้ล่วงลับ
ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์แห่งการเติบโต ร่มเย็น และยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันในเชิงกายภาพก็ให้ร่มเงาและผลิตออกซิเจนแก่มนุษย์และโลกที่กำลังร้อน การปลูกต้นโพธิเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสันติชัยจึงเป็นพิธีระลึกถึงผู้วายชนม์ที่ร่วมสมัยและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง
“เช้าวันงานมีคนมาร่วม 200 กว่าคน มีพิธีแห่ต้นโพธิและแห่เถ้ากระดูกของพระสันติชัยไปประดิษฐานที่ที่จัดไว้ที่วัด เอาเถ้ากระดูกไปโปรยไว้ก้นหลุม และเอาต้นโพธิมาปลูกไว้ด้านบน เอาดินกลบ รดน้ำ แล้วนิมนต์อาตมาแสดงธรรม 1 กัณฑ์ แล้วเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นทำพิธีแห่ต้นโพธิ์ กระดูก และภาพถ่ายพระสันติชัยเวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ลักษณะเหมือนเวียนเทียน รอบแรกสวดอิติปิโตภควา รอบสองสวดสวากขาโต รอบสามสวดสุปะฏิปันโน” พระสุเทพ ซึ่งไปร่วมพิธีบรรยายบรรยากาศและความรู้สึก
“อาตมานึกถึงวันที่ท่านสันติชัยบวชซึ่งมีพิธีแบบนี้เกิดขึ้น วันนี้เป็นวันสัญลักษณ์ที่พระสันติชัยจะฝากความดีทั้งหมดไว้กับต้นไม้ต้นหนึ่ง “ต้นสติเวปุลโลโพธิ” สติเวปุลโลเป็นชื่อในทางธรรมของพระสันติชัย แปลว่า “ผู้มีสติอันไพบูลย์” ต้นโพธิต้นนี้จึงแปลว่าต้นโพธิ์แห่งความตื่นรู้”
“สังขารไม่แน่นอนแต่ความดีของพระสันติชัยจะฝากไว้กับต้นโพธิ์ต้นนี้เพื่อให้คนรุ่นหลังเห็น แล้วนึกถึงพระสงฆ์รูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่เป็นเณรน้อย เรียนนักธรรม เรียนวิปัสสนากรรมฐาน และเผยแพร่พระพุทธศาสนา จนป่วยไข้ก็ใช้วิถีของสมณะในการดูแลตัวเองและจากไปโดยวิถีของพระ ภายใต้การเจ็บป่วย ท่านก็ยังดำรงและวางท่าทีต่อสิ่งที่เผชิญได้อย่างดี ท่านคงพิจารณาธรรมด้วยสติปัญญามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คงมีไม่กี่คนที่จะมั่นคงในภาวะนี้ได้”
“อาตมานึกถึงเจดีย์ใหญ่ที่พระผู้ใหญ่สร้างปรากฎร้อยปีพันปี ความดีของพระสันติชัยทำให้ญาติธรรมมาปรากฏและปลูกต้นโพธิ์ให้เป็นเจดีย์ที่มีชีวิต เมื่อนึกถึงต้นโพธิ์ อาตมานึกถึงพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาที่ล้มแล้วแตกหน่อออกมา ตั้งตระหง่านถึงปัจจุบัน นึกถึงต้นโพธิ์อานนท์ที่วัดพระเชตวันที่ปลูกตั้งแต่พุทธกาล เช่นเดียวกับ สติเวปุโลโพธิที่อาจเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าหรือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มีใจฝักไฝ่ทางธรรม”
“สติเวปุโลโพธิยังเป็นวิถีของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้นไม้ต้นนี้มีความหมาย ต้นไม้ให้ความร่มเย็นแก่โลก แก่สัตว์เล็กน้อย แก่มนุษย์ ให้ออกซิเจนกับโลกใบนี้ และให้สติระลึกถึงความดีของบุคคลที่มั่นคงทั้งศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเป็นกัลยาณมิตร เวลานั่งใต้ต้นโพธิ์ตอนใกล้ค่ำลมจะพัดผ่านใบโพธ์ส่งเสียงเหมือนเสียงระฆัง ต้นโพธิต้นนี้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพภายนอกและภายใน ความเบิกบาน ความอดทน ความร่วมเย็นทั้งมวล” พระสุเทพกล่าว
เรื่องราวชีวิตของพระสันติชัยทำให้เห็นถึงการออกแบบและเตรียมดูแลตัวเองตั้งแต่ก่อนตายและหลังตาย ความมั่นคงในวิถีของตัวเอง และการมีกัลยาณมิตรที่ดูแลจนถึงวาระสุดท้ายและช่วยสืบสานปณิธานอันยิ่งใหญ่ของผู้วายชนม์ที่ถือเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสและชื่นชม เหนือสิ่งอื่นใดการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้วายชนม์ยังเป็นวิถีใหม่ร่วมสมัยยุคโลกร้อนที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างอย่างยิ่ง
ภาพถ่ายโดย พระครูใบฎีกาสันติ