parallax background
 

ร้านเกื้อกูล
ธุรกิจเพื่อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์

ผู้เขียน: สรนันท์ ภิญโญ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

โรงพยาบาลพุทธชินราช เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลกที่เริ่มขับเคลื่อนงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นระบบ เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าสนใจสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานด้วยกัน เพราะไม่เพียงแต่มีบุคลากรสุขภาพที่เป็นแพทย์และพยาบาลหลากหลายสาขามาทำงานร่วมกันจนได้รับการชื่นชมจากโรงพยาบาลอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วยในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการสนับสนุนผ่านร้านเกื้อกูล

ร้านเกื้อกูล คือร้านขายสินค้ามือสองที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนกับโรงพยาบาล โดยนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการจนเกิดผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เป็นรูปธรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนงานบริการสุขภาพที่ตอบโจทย์ มิใช่เฉพาะเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าอีกด้วย

จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นของร้านเกื้อกูล ย้อนกลับไปไม่ไกลมากนัก เมื่อเริ่มมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพงานการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลพุทธชินราช เมื่อปี 2559 อันเป็นจุดเริ่มต้นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบ

จากที่ต่างคนต่างทำตามความสนใจส่วนตัวมาระยะหนึ่ง ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาทำให้คณะทำงานมองเห็นร่วมกันว่า ลำพังบุคลากรสุขภาพไม่สามารถพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จำต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วย เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรในการทำงานบางตำแหน่ง ไม่สามารถรองบประมาณจากส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียวได้ จำต้องคิดนอกกรอบเรื่องการหาทุน โรงพยาบาลจึงเริ่มก่อตั้งกองทุนพุทธรักษ์ขึ้นในปีเดียวกัน โดยได้รับเงินบริจาคก้อนแรก 4 แสนบาทจาก ดร.ปิยรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ผู้ซึ่งบิดาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ ท่านจึงมองเห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

กว่าจะตกผลึกความคิดมาเป็นร้านเกื้อกูล มีความพยายามจากบุคลากรสุขภาพตามหน่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลที่คิดและทำเรื่องการระดมทรัพยากรและกระจายไปช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชมรมจริยธรรมที่รับบริจาคเสื้อผ้าใช้แล้วเพื่อส่งต่อให้ผู้ยากไร้ หรือฝ่ายงานจัดการความรู้ที่ริเริ่มตลาดนัดผลัดกันชม ให้บุคลากรนำของเหลือใช้มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเดือนละครั้ง ก่อนจะก่อรูปมาเป็นความคิดเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่ยังไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ เพราะเงื่อนไขต่างๆ เงื่อนไขสำคัญคือ ยังไม่มีคนที่จะมาขับเคลื่อนเป็นหลัก

จนกระทั่งเมื่อคณะทำงานได้มาพบกับคุณวิชุตา สิมะเสถียร อดีตนายกสโมสรโรตารีพิษณุโลก รหัส 3306 ที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมด้วยการขายของมือสองอยู่แล้วและต้องการสนับสนุนการทำงานเรื่องสุขภาพพอดี นับเป็นจังหวะที่เหมาะสม ทางคณะทำงานจึงโทรศัพท์ติดต่อไปในช่วงที่สโมสรโรตารีกำลังจะมีการขายของมือสองประจำปีในช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2560) และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ขายของมือสองตามงาน สู่ร้านเกื้อกูลในโรงพยาบาล

ผลการขายของมือสองในคราวนั้น ได้เงินเข้ากองทุนพุทธรักษ์มากถึงประมาณ 8 หมื่นบาท พร้อมกับเสื้อผ้าที่เหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ทางสโมสรโรตารีจึงมอบให้คณะทำงานนำมาขายต่อที่โรงพยาบาลพุทธชินราชโดยยังไม่มีการวางแผนใดๆ เพียงเริ่มจากนำมาวางขายกลางแจ้งแล้ววางตู้บริจาคไว้ให้คนหยอดเงิน ปรากฏว่าขายได้ประมาณวันละพันกว่าบาท ต่อมามีการจ้างคนมานั่งเฝ้าได้เงินวันละ 3,000-10,000 บาท ทำให้คณะทำงานมองเห็นโอกาสในการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างยั่งยืน จึงนัดประชุมหารือกันและคิดว่าถึงเวลาที่ควรจะทำร้านขายสินค้ามือสองในโรงพยาบาลเพื่อหาเงินเข้ากองทุนพุทธรักษ์ และเป็นการเผยแพร่แนวคิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองผ่านร้านค้าดังกล่าวไปด้วย

ก่อนจะตกผลึกความคิดมาเป็นร้านเกื้อกูล มีความพยายามจากบุคลากรสุขภาพตามหน่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลที่คิดและทำเรื่องการระดมทรัพยากรและกระจายไปช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชมรมจริยธรรมที่รับบริจาคเสื้อผ้าใช้แล้วเพื่อส่งต่อให้ผู้ยากไร้ หรือฝ่ายงานจัดการความรู้ที่ริเริ่มตลาดนัดผลัดกันชม ให้บุคลากรนำของเหลือใช้มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเดือนละครั้ง ก่อนจะก่อรูปมาเป็นความคิดในเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่ยังไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ เพราะเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะยังไม่มีคนที่จะมาขับเคลื่อนเป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อคณะทำงานได้มาพบกับคุณวิ ประธานสโมสรโรตารีพิษณุโลก ที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมด้วยการขายของมือสองอยู่แล้วและต้องการสนับสนุนการทำงานเรื่องสุขภาพพอดี นับเป็นจังหวะที่เหมาะสม ทางคณะทำงานจึงโทรศัพท์ติดต่อไปในช่วงที่สโมสรโรตารีกำลังจะมีการขายของมือสองประจำปีในช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

คณะทำงานเห็นภาพตรงกัน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เริ่มด้วยหาตำแหน่งร้าน ติดต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เปิดไฟเขียวให้ ช่วยกันบอกบุญขอรับของบริจาค มีจิตอาสามาช่วยออกแบบร้านและหาวัสดุก่อสร้างในราคาทุน จนกลายเป็นร้านขนาด 8 X 12 เมตร “ตอนแรกจะใช้ชื่อร้านพุทธรักษ์ แต่ชื่อไม่ดึงดูด คนเดินผ่านไปมาไม่รู้ความหมาย จึงมีการประชุมจนได้ชื่อร้านเกื้อกูล เพราะสื่อความหมายได้ดี”

ร้านเกื้อกูลเริ่มเปิดทดลองขายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ก่อนจะเปิดร้านอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 จากการประเมินในตอนแรกคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 พันบาทต่อวัน แต่รายได้ในปัจจุบันกลับสูงกว่าที่คาดมาก เฉพาะเดือนมีนาคม 2561 ขายได้ถึงสองแสนกว่าบาท โดยกำไรที่ได้จะส่งเข้ากองทุนพุทธรักษ์เพื่อช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่อไป

ธุรกิจเพื่อสังคม

เป้าหมายในอุดมคติของร้านเกื้อกูลคือการดำเนินงานด้วยจิตอาสาล้วนๆ ในช่วงแรกๆ คณะทำงานจึงมีการอาสาแบ่งงานกันว่าใครจะทำเรื่องการตลาด การบัญชี แต่สุดท้ายพบว่าแต่ละคนไม่มีเวลามาช่วยงานเหมือนอย่างที่คิด จึงต้องจ้างคนทำงาน แล้วมอบหมายให้คุณวิชุตาที่อาสามาเป็นผู้จัดการร้านช่วยดูแลเป็นหลัก เนื่องจากเธอมีประสบการณ์ในการทำงานภาคธุรกิจมาอย่างยาวนาน โดยรับผิดชอบเรื่องวางระบบพื้นฐานต่างๆ และดูแลร้านให้เกิดความโปร่งใส มีการทำบันทึกว่าคนมาบริจาคทราบข่าวมาจากไหนอย่างละเอียด โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

แม้ว่าจะมีประสบการณ์ทำธุรกิจ โดยเฉพาะการวางระบบให้กับร้านค้าต่างๆ มาหลายสิบปี แต่คุณวิชุตากล่าวถึงการเป็นผู้จัดการร้านเกื้อกูลว่า “เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก มีปัญหาให้แก้ทุกวัน แม้ว่าจะเปิดร้านอย่างเป็นทางการมาถึงสามเดือน แต่ระบบยังไม่ลงตัว”

อย่างแรก ของบริจาคต้องนำมาลงทะเบียน จะไม่เปิดขายทันที แล้วแยกระหว่างหน้าร้านกับหลังร้าน คนขายของห้ามยุ่งกับการตั้งราคา เพื่อป้องกันการเอื้อประโยชน์ เมื่อคณะกรรมการคัดราคาแล้ว ค่อยมาแยกคุณภาพ สินค้าที่ไม่สามารถตั้งราคาได้ ทางร้านจะนำไปบริจาคต่อให้กลุ่มคนยากไร้หรือโรงเรียนต่อไป ส่วนสินค้าที่ตั้งราคาได้ทางฝ่ายหลังร้านต้องติดรหัส เพื่อใช้ตรวจสอบตัวเลขการขายต่อไป โดยของบริจาคจะมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สินค้ามือสอง ตุ๊กตา หมวก กระเป๋า แก้วน้ำ แต่ร้อยละ 90 เป็นเสื้อผ้า สินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าบางอย่าง เช่น มอเตอร์ไซค์ จะใช้วิธีประมูล เพราะถึงแม้จะราคาสูงแต่ได้บุญ โดยร้านจะนำสินค้ามาแสดงไว้ แล้วให้ผู้ประมูลฝากราคากับเบอร์โทรศัพท์ไว้ที่ร้าน พอถึงวันประมูลจริงประมาณหนึ่งเดือนหลังจากแสดงสินค้า ผู้ให้ราคาสูงสุดจะได้สินค้าไป

แม้ว่าระบบการบริหารจัดการร้านเกื้อกูลในปัจจุบันจะยังไม่นิ่ง แต่เริ่มเป็นระบบมากขึ้นแล้ว จากที่เคยกังวลเรื่องประมาณสินค้าจะขาดตอนเนื่องจากไม่มีผู้บริจาคมากพอ กลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อผู้ซื้อสินค้ากลับเป็นผู้นำข้าวของมาบริจาคในวันต่อมาจนล้นสต๊อก เพราะเข้าใจในสิ่งที่ร้านกำลังทำ คือสร้างการมีส่วนร่วมกับกองทุนพุทธรักษ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจ

“ถ้ากองทุนสามารถสื่อสารภาพการทำงานให้ประชาชนเข้าเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เชื่อว่าจะมีผู้ที่พร้อมจะเข้ามาร่วมช่วยเหลืองานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในรูปแบบต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหรือการเป็นจิตอาสา”

ถึงจะเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ร้านเกื้อกูลเป็นรูปธรรมหนึ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการช่วยหนุนเสริมให้ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

 

ความประทับใจ

 

คุณวิชุตา สิมะเสถียร

“ประทับใจเครือข่ายของคนไทยที่ระดมกันมาช่วยเหลือ คุณหมอและพยาบาลนำร่องการเอาของมาบริจาค ส่วนญาติผู้ป่วยที่มาซื้อของไปแล้ว วันต่อมาก็เอาของมาบริจาค คนที่ให้คือคนที่กำลังทุกข์ ส่วนคนทั่วๆ ไป ช่วงแรกๆ อาจจะต้องร้องขอ แต่ตอนหลังของบริจาคจะหลั่งไหลมาเอง เพราะคนอยากจะปลดปล่อยความทุกข์และได้บุญ”

คุณชาญพัฒน์ มาประกอบ

“ประทับใจการสร้างเครือข่ายระดับบุคคลให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความเป็นกัลยาณมิตรกัน ถ้าเป็นเรื่องดี จะทำมากกว่ากำลังตัวเอง และความเป็นสังคมไทย ไม่น่าเชื่อว่าคนมาซื้อของไป อีกสองสามวันกลับมาเป็นผู้ให้ แสดงให้เห็นว่าถ้าหน่วยงานวางเป้าหมายให้ชัด บอกเล่าผู้คนในสังคมเข้าใจว่าสิ่งที่คุณช่วยไปไหน จะได้รับความช่วยเหลืออย่างดี และประทับใจทีมที่เวลาเถียงกัน แต่เมื่อจบคือจบ ทุกคนพยายามทำงานกับตัวเอง เป็นพื้นที่ของการทำงานร่วม”

คุณสุวรรณา ไกรคงจิตต์

“ประทับใจทีมที่ดึงจุดแข็งของแต่ละคนที่ดึงศักยภาพของแต่ละคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ และการยอมรับของสังคมที่มาช่วยเราอีกที เกื้อกูลกันสมกับชื่อร้านเกื้อกูล”

 
ผู้ให้สัมภาษณ์

นางสาวสุวรรณา ไกรคงจิตต์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพุทธชินราช
คุณชาญพัฒน์ มาประกอบ นักจัดการงานทั่วไป โรงพยาบาลพุทธชินราช
คุณวิชุตา สิมะเสถียร อดีตนายกสโมสรโรตารีพิษณุโลก รหัส 3306

[seed_social]
24 ตุลาคม, 2560

เด็กกำพร้าชื่อคูโบ้

คูโบ้เป็นเด็กชายอายุไม่ถึง 10 ขวบ อาศัยอยู่กับแม่ซึ่งป่วยกระเสาะกระแสะ เช่นเดียวกับจิตใจของเธอ ที่บางช่วงดูเลื่อนลอย อมทุกข์
31 มกราคม, 2561

Coco ความทรงจำ ความหมาย และความตายในโลกหลังความตาย

หนังเล่าเรื่องราวของ Miguel Rivera เด็กชายอายุ 12 ปี ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ซึ่งประกอบอาชีพช่างทำรองเท้ามาอย่างยาวนาน (ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ยาย ทวด และย่าทวด ทุกคนล้วนประกอบอาชีพเดียวกัน) และแน่นอน ทุกคนย่อมปรารถนาให้มิเกลได้สืบทอดอาชีพนี้ต่อไปด้วย
5 เมษายน, 2561

บูโต การเดินทาง “ระหว่าง” รอยต่อ

บูโต (Butoh) หรือระบำแห่งความมืด (Dance of Darkness) เป็นการแสดง avant-garde ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น จัดแสดงต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี 1959