parallax background
 

เกมไพ่ไขชีวิต ที่ บ้านโพรงกระต่าย

ผู้เขียน: วรรณวิภา มาลัยนวล หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

บรรยากาศยามเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2560 ทีมงานโครงการ “ความตาย พูดได้” เดินทางไกล ไปเปิดวงเกมไพ่ไขชีวิต ถึงที่ร้านบ้านโพรงกระต่าย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่



ที่นี่ทีมงานเราได้พบกับแนท อดีตอาจารย์หนุ่ม ที่ผันตัวเองมาสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่นอกห้องเรียน เพราะเห็นว่าในระดับอุดมศึกษา ยังขาดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้ามศาสตร์ ข้ามอายุ ข้ามอาชีพ ที่จะมีส่วนช่วยให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงเป้าหมายให้เกิดการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม อาจารย์แนทจึงได้เปิดร้านบ้านโพรงกระต่ายขึ้น ด้วยการใช้ Social Enterprise Model ผสมด้วยอารมณ์ขันเล็กๆ ว่า ยังมี หนังขายยาโมเดลร่วมด้วย คือ ทั้งให้ความรู้และขายของเพื่อให้ร้านมีรายได้ไปด้วยในตัว

ก่อนเริ่มวงไพ่ เราแนะนำตัวกันด้วยกิจกรรมเล็กๆ เบาๆ ที่ช่วยทำให้เกิดความเป็นกันเอง “เราชื่อกระต่าย...”. พร้อมท่าทางประกอบ ตามด้วยกิจกรรมย่อยๆ จากทีมงาน ที่พาให้รู้สึกได้ถึงพื้นที่ปลอดภัยทางใจต่อกันมากขึ้น



วงไพ่วันนี้เปิดขึ้นมาเป็นสองวง ซึ่งในแต่ละวงก็มีคนนำวง ที่ชวนให้สมาชิกได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเอง ทั้งเจ้าของสถานที่และทีมงาน ก็ได้ร่วมวงไพ่ไขชีวิตด้วย เกมดำเนินไปด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากคำถามต่างๆ ที่อยู่ในไพ่ ชวนให้ผู้ร่วมเล่น ได้ผลัดเปลี่ยนกันเล่าคำตอบของตนเอง ยิ่งคำถามผ่านไป ความเป็นกันเอง ความรู้สึกดีต่อกันก็ยิ่งเพิ่มพูน อรรถรสในการพูดคุยก็เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ

ไพ่คำถามแต่ละใบ ยังคงทำงานได้ดี หลายๆ คำถามแม้จะเคยเล่นมาแล้ว ครั้นพอถึงวันนี้ เรากลับพบว่า บางคำตอบของเรานั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป ประสบการณ์เพิ่มขึ้น การทำงานของคำถามไม่เคยสิ้นสุด ทุกครั้งที่ได้มีการทบทวนตัวเองใหม่ ด้วยไพ่คำถามเหล่านี้ทำให้เราได้สอบทานดูว่า การใช้ชีวิตช่วงที่ผ่านมาของเรา ยังอยู่บนวิถีและเคลื่อนเข้าใกล้สู่เป้าหมายหรือไม่ และถึงแม้ว่าเป้าหมายจะยังอยู่อีกไกล แต่การได้ค้นพบคำตอบของตัวเองก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า คำถามเหล่านี้มีพลังเพียงพอ ที่จะไขชีวิตของเราให้เปิดกว้างออก แล้วพบมุมมองใหม่ของเราเองที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

เมื่อช่วงท้ายของกิจกรรมมาถึง สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องราวดีๆ ก็เกิดขึ้นให้ได้ประทับใจ คนแปลกหน้าเมื่อประมาณ 2 ชั่วโมงที่แล้ว กลับกลายเป็นเพื่อนที่รับฟังกันและกัน และมีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ราวกับรู้จักกันมาแรมปี โดยมีสื่อกลางคือ ความตาย เป็นหัวข้อหลักที่พูดคุยกันในวง



ฉันเกิดความรู้สึกชัดเจนขึ้นมาในช่วงท้ายถึงคำว่า มิตรภาพ ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนนั้นงดงามเสมอ การมานั่งล้อมวงกัน อ่านคำถามในไพ่ที่เชื่อมโยงกับความตาย แล้วตอบให้เพื่อนๆ ฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในบรรยากาศสุนทรียสนทนาแบบนี้ ทำให้สัมพันธภาพของผู้ร่วมวงดีขึ้นอย่างน่าสนใจ ทำให้นึกเลยเถิดไปถึงว่า ถ้าทุกบ้าน ทุกครอบครัว ได้มีโอกาสใช้เวลารับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ฟังแบบที่ไม่มีบทบาทเดิมมาสวมอยู่ เช่น ความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ หรือความเป็นลูก แล้วพูดคุยเรื่องความตายกัน สัมพันธภาพระหว่างกันจะดีขึ้นมากขนาดไหน

ช่วงท้ายก่อนจบกิจกรรม เราได้มีโอกาสบอกผ่านความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมวง ด้วยการเขียนตัวหนังสือลงบนแผ่นหลังของเพื่อน การโอบกอดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในลักษณะของความเป็นมิตร อบอวลไปด้วยรอยยิ้มที่ช่วยปลอบโยนคราบน้ำตาที่เกิดขึ้นในระหว่างเกมไพ่ได้เป็นอย่างดี

เราไม่รู้เลยว่า สำหรับเราแล้ว นี่อาจจะเป็นการกอดกันครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตนี้ของกันและกัน เพราะเมื่อสองชั่วโมงที่แล้วเราคือคนแปลกหน้า ที่ไม่ได้บังเอิญมาพบกันเท่านั้นเอง และ ‘ความตาย’ คือสิ่งที่นำเรามาพบกันบนโลกใบนี้ วันนี้ เวลานี้ และกอดร่ำลากันตรงนี้.

ประเด็นเรียนรู้

  • คนเราทุกคนล้วนกลัวตาย หรือกลัวสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความตายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
  • เมื่อเราเรียนรู้ว่าทุกคนมีความกลัวเป็นพื้นฐานเดียวกัน ความเป็นเพื่อนจะเกิดขึ้นได้ง่าย
  • ความตายเป็นทุกข์สามัญก็จริง แต่ท่าที่ต่อความตายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระดับความทุกข์จึงไม่เท่ากัน
  • ความสัมพันธ์ทั้งด้านบวกและลบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการห่วงกังวลก่อนตายเสมอไม่มากก็น้อย
  • ความคุ้นเคยช่วยลดช่องว่างของความกลัวทุกรูปแบบ เช่น กลัวเรื่องความสัมพันธ์ก็สร้างความคุ้นเคย กลัวตายก็สร้างความคุ้นเคยกับความตาย กลัวเจ็บก็สร้างความคุ้นเคยกับความเจ็บ กลัวอะไรก็ทำความคุ้นเคยกับสิ่งนั้นความกลัวจะค่อยๆ หายไป
[seed_social]
3 มกราคม, 2564

ชุมชนกรุณาห้วยยอด

พระกฤษดา ขันติกโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยยอดและผู้ก่อตั้งชมรมชายผ้าเหลืองเพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย
13 เมษายน, 2561

เยียวยาผู้ดูแล

พรเป็นสาวพม่า ลักลอบเข้าเมืองไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างตามบ้านอย่างผิดกฎหมาย พรอาศัยอยู่กับบ้านนายจ้างที่เป็นครอบครัวคนจีน ที่มีอาแปะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ระยะสี่ อาแปะและครอบครัวได้มาเข้าค่ายมะเร็ง
25 มีนาคม, 2562

ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย: ช่องว่างและแนวทางเติมเต็ม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มเห็นความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งทำให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในฐานะที่พึ่งทางใจหรือจิตวิญญาณของผู้ป่วยชาวพุทธ