ฝึกให้เด็กคิดถึงความตายอยู่เนืองๆ

เรื่อง: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“ครูครับ วันนี้จะพาทำกิจกรรมอะไรหรือครับ?” เด็กชายตัวเล็กๆ ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันดีวิ่งเข้ามาถามเมื่อเห็นพวกเรา(ทีมงานห้องสมุดแมวหางกิ้นส์)ขนกันมาที่โรงเรียนบ้านยางกะเดา ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์กับโรงเรียนบ้านยางกะเดาเป็นเครือข่ายเรียนรู้และจัดกิจกรรมเด็กร่วมกันมาหลายครั้ง เด็กๆ ที่มาเรียนที่นี่หลายคนเป็นเด็กในหมู่บ้านที่พวกเราอาศัยอยู่ ดังนั้นเราจึงคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ ทำให้สิ่งที่เราจะมาจัดขึ้นในวันนี้มีความพิเศษ พิเศษจากบรรยากาศที่เป็นกันเอง และพิเศษมากกว่านั้นคือครั้งนี้เรามีทีมเป็นนักศึกษาฝึกงานสองคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมีพี่วิทยากรรับเชิญอีกหนึ่งคนมาร่วมสร้างสีสันในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

“มาเล่านิทานให้เด็กฟัง น่ะสิ” ผมตอบเด็กชายตัวเล็ก ซึ่งตอนนี้มีเพื่อนของมาสมทบอีก สาม-สี่คน

“เย้ เย้ เย้..ครูจะมาเล่านิทานให้พวกเราฟัง” เด็กชายอีกคนทำท่าดีใจวิ่งไปเรียกเพื่อนๆที่เพิ่งทานอาหารกลางวันเสร็จพอดี

เราเริ่มกิจกรรมกันในบ่ายวันนั้น (วันที่ 23 มีนาคม 2564) เด็กๆ ชั้น ป.1และ ป.3 มาร่วมกันที่ห้องประชุมของโรงเรียนอย่างพร้อมเพรียง เด็กเล็กวิ่งเจี้ยวจ้าวส่วนเด็กโตนั่งนิ่งรอคอย เราเริ่มกิจกรรมง่ายๆ ด้วยการละลายพฤติกรรม เด็กๆ ที่นี่เล่นอะไรก็สนุกยิ่งผู้นำเกมเป็นพี่นักศึกษาฝึกงานหน้าใหม่ยิ่งได้ใจพวกเด็กกลุ่มนี้

“นับหนึ่ง ให้ชูนิ้วชี้ขวาขึ้นมา นับสองให้แบมือซ้ายตั้งไว้ระดับบ่า นับสามให้จิ้มนิ้วชี้ลงมือเพื่อนที่แบไว้ แล้วถ้านับสี่ ให้มือที่แบรีบกำงับนิ้วเพื่อนให้ได้ พร้อมกับรีบยกนิ้วชี้ตัวเองอย่าให้เพื่อนงับได้...”

ผู้นำเกมทวนกติกา ก่อนเสียงฮาจะดังขึ้นเป็นระยะ จริงๆ เกมนี้ผมเคยพาพวกเขาเล่นไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ตอนที่น้องนักศึกษาฝึกงานพาเล่นก็สนุกไม่แพ้กัน เล่นแบบนี้อยู่หลายรอบก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการเล่าเป็นเรื่องแทน

“ถ้านิทานที่เล่ามีคำว่า หนึ่ง –สอง-สาม-สี่ ที่ใดก็ใช้กติกาเดิม” เราตั้งใจใส่กิจกรรมนี้ให้เด็กๆเริ่มคุ้นเคยกับเรื่องเล่าและได้เล่าเรื่องด้วยตัวเองผ่านเกม เป็นเหมือนกิจกรรมนำเข้าเรื่องราวที่เราตั้งใจจะนำมาเป็นกิจกรรมเรียนรู้หลักของวันนี้ เรียนรู้เรื่องความตายผ่านนิทาน *แมวน้อย 100 หมื่นชาติ

“เริ่มกันเลยนะคะ” พี่แอน (ปรัชญานันต์ ทองกลม) วิทยากรเล่านิทานของเราเกริ่นชักชวนเด็กๆ หลังจากพี่อร (วลัยพร วังคะฮาต) ได้แนะนำโครงการของเราในวันนี้เรียบร้อยแล้ว “นิทานเรื่องนี้ชื่อเรื่องอะไร มีใครรู้มั้ย” พี่แอนแกล้งถามเด็กๆ ตอนชูปกหนังสือให้เด็กๆ ดู  “แมวน้อย 100 หมื่นชาติ” เสียงเด็กๆพูดพร้อมกัน

“ใช่แล้ว วันนี้เราจะมาฟังนิทานแมวน้อย 100 หมื่นชาติกัน” พี่แอนเริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงเนิบข้า ตามจังหวะและอารมณ์ของเรื่องราว “มีแมวตัวหนึ่ง มีชีวิตอยู่ถึง 100 หมื่นชาติ แมวน้อยเคยตายมาแล้ว 100 หมื่นครั้ง เคยเกิดมาแล้ว 100 หมื่นชาติ มันเป็นแมวลายเสือผู้เก่งกล้า คน 100 หมื่นคน เคยเลี้ยงดูแมวตัวนี้ คน 100 หมื่นคน เคยร้องไห้เมื่อแมวตัวนี้ตาย แต่แมวน้อยไม่เคยร้องไห้เลย แม้แต่ครั้งเดียว” เด็กๆหลายคนจากนั่งขยับขยุกขยิกเริ่มนิ่งฟังนิทานอย่างตั้งใจ

เล่ามาถึง ชาติหนึ่ง แมวน้อยเป็นแมวของยายเฒ่าผู้เหงาหงอย แล้วแมวน้อยก็จากยายเฒ่าไปด้วยความแก่ผมสังเกตเห็นเด็กบางคนเริ่มมีน้ำตาซึมออกมา ตอนที่พี่แอนเล่าว่า

“..ยายเฒ่าแก่หงำเหงอะ อุ้มร่างแมวที่แก่หง่อมจนตาย ร้องไห้ทั้งวัน ..”

นิทานยังมีพลังเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ไม่ว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยเพียงใด แต่สื่อนิทานยังทำหน้าที่ของมันได้ยอดเยี่ยมเสมอ ยิ่งได้ฝีมือนักเล่าที่มีลีลาการเล่าแบบพี่แอนยิ่งทำให้นิทานแมวน้อย 100 หมื่นชาติ จบลงด้วยอารมณ์แบบอยากฟังอีก อยากฟังอีก ผมรู้สึกว่าเด็กๆ ต้องรู้สึกแบบเดียวกันแน่นอน  แน่นอนว่านิทานจบแต่เรายังไม่จบแค่นั้น การพูดคุยหลังจากแมวน้อยไม่กลับชาติมาเกิดอีกแล้ว ก็เกิดขึ้นระหว่างพวกเรากับเด็กๆ

“เป็นยังไงบ้างเด็กๆ นิทานจบแล้วมีใครฟังแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างนะ” พี่แอนชวนคุย
“เศร้าค่ะ”
“สนุกครับ”
“สงสารแมวค่ะ”
“อยากฟังอีกครับ”

“เอ๊ะ... คนที่รู้สึกเศร้า ทำไมถึงเศร้าล่ะคะ” พี่แอนถามให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน คำตอบของเด็กๆ รู้สึกเศร้าเพราะเจ้าแมวต้องตายครั้งแล้วครั้งเล่า และครั้งสุดท้ายเขาไม่ยอมมาเกิดอีก “แล้วคิดว่าทำไมเจ้าแมวน้อยไม่ยอมมาเกิดอีกล่ะคะ” พี่แอนซักต่อ

“ผมรู้ครับ” เด็กชายยกมือเสนอความคิด “เพราะว่าเขามีความรักกับแมวขาวสีขาวครับ” ในนิทานเล่าว่า วันหนึ่ง แมวขาวนอนนิ่งไม่ติงไหวติงอยู่ข้างแมวน้อย แมวน้อยร้องไห้เป็นครั้งแรก กลางคืนก็ร้อง กลางวันก็ร้อง ตกค่ำก็ร้องอีก รุ่งเช้าก็ร้องอีก แมวน้อยร้องไห้ 100 หมื่นรอบ รุ่งเช้าก็ร้อง ตกค่ำก็ร้อง จนถึงเที่ยงวันของวันหนึ่ง แมวน้อยจึงหยุดร้องไห้ แมวน้อยนอนนิ่งไม่ติงไหวอยู่ข้างแมวขาว

แมวน้อยไม่กลับชาติมาเกิดอีกเลย

เด็กๆ ฟังนิทานแล้วเข้าใจถึงความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ตนเองรัก ถ้าเราผูกพันกับอะไรมากๆ เราก็เศร้าและเสียใจเวลาที่สิ่งนั้นจากเราไป ความตายก็เช่นกัน แมวน้อยตัวนี้เพิ่งรู้ซึ้งถึงความผูกพันและเขาเศร้ามากที่แมวขาวที่เขารักจากเขาไป เขาไม่อยากเสียใจแบบนั้นอีก ผมเองในฐานะผู้สังเกตการณ์มองดูและนั่งฟังเด็กคุยถึงเรื่องนี้แล้วรู้สึกทึ่งพวกเขาว่า เด็กขนาดนี้เข้าใจเรื่องแบบนี้ผ่านเรื่องเล่า ผ่านนิทานได้แล้วเหรอ แต่มันยังไม่ใช่ความเศร้าจริงๆ หรอก จนกว่าจะมันจะเกิดขึ้นกับพวกเขาจริงๆ ก็ไม่แน่ว่าพวกเขาจะรับมันได้ ยิ่งในโลกที่สุขก็สุขรุนแรง เศร้าก็เศร้ารุนแรง แบบนี้แล้ว ผมนึกถึงคำพูดของ นพ.ประสาน ต่างใจ ในวงเสวนาครั้งหนึ่งมีผู้ตั้งคำถามว่า เราจะสอนเด็กๆ ของเราอย่างไรในโลกแบบนี้ ท่านแลกเปลี่ยนกับคำถามนั้นว่า “เราต้องสอนเรื่องเวทนา ให้เขารู้จักเรื่องเวทนา” ผมมานึกถึงคำพูดนี้ขึ้นมาตอนนี้ก็เพราะว่าเรากำลังทำแบบที่ นพ.ประสาน ต่างใจ พูดไว้ในตอนนั้น ความสุขจากการได้ผูกพันและความทุกจากการพรากกับสิ่งที่เรารักเป็นธรรมดาของโลก มันเกิดขึ้นกับเราทุกวันแต่เราไม่เคยสังเกตและรู้ตัว

สุดท้ายของกิจกรรมวันนี้ เราชวนเด็กๆ วาดภาพสิ่งที่เขารัก..ถ้าวันหนึ่งเราต้องสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป

ผมและทีมจัดกิจกรรมนี้ คิดว่าเด็กๆ ต้องได้เรียนรู้เรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ เนืองๆ พวกเขาจะซึมซับและเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา

[seed_social]

16 พฤษภาคม, 2562

ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย วัดห้วยยอด (ตอนที่สอง) จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

การทำงานของชมรมชายผ้าเหลืองในปีแรกจะเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลหรือติดตามไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านในกรณีที่โรงพยาบาลร้องขอ
20 กุมภาพันธ์, 2562

กลุ่มมะเร็งบำบัด…พื้นที่ “ปล่อยของ” ของคนหัวอกเดียวกัน

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งจึงควรเข้ากลุ่มมะเร็งบำบัด? การอยู่ในวงล้อมของคนเจ็บป่วยยิ่งรับพลังลบมากขึ้นใช่ไหม?
31 สิงหาคม, 2561

ยาแก้ความเหงา

ยามเมื่อเราเข้าสู่วัยชรา เราจะเริ่มพบกับการมาเยือนของแขกพิเศษสามท่านด้วยกัน พวกเขา คือความรู้สึก : เหงา ไร้ค่า และเบื่อหน่าย บ่อยครั้งแขกทั้งสามนี้ มักมาเยี่ยมเยือนโดยพร้อมเพียงหรือทยอยมาพบปะ ยิ่งหากผู้สูงวัยมีชีวิตโดดเดี่ยว ขาดไร้เครือข่ายสังคมที่มาเชื่อมโยง