parallax background
 

กลุ่มมะเร็งบำบัด...
พื้นที่ “ปล่อยของ”
ของคนหัวอกเดียวกัน

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งจึงควรเข้ากลุ่มมะเร็งบำบัด? การอยู่ในวงล้อมของคนเจ็บป่วยยิ่งรับพลังลบมากขึ้นใช่ไหม?

บทความชิ้นนี้มีคำตอบผ่านประสบการณ์ของอรทัย ชะฟู หรือจิ๋ม ผู้เริ่มเกี่ยวข้องกับมะเร็งเมื่อเธอเป็นมะเร็งปอดช่วงอายุยี่สิบตอนปลาย หลังการรักษาและอาการมะเร็งสงบลง เธอเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยมะเร็งแบบตัวต่อตัวในโรงพยาบาลและในหมู่คนรู้จัก แล้วพัฒนามาสู่การเป็นผู้นำกลุ่มมะเร็งบำบัดในปัจจุบัน

ประสบการณ์ตรงของเธอทั้งในฐานะผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และคนนำกลุ่มมะเร็งบำบัดสรุปได้ว่าหากมีการดำเนินการที่ดี กลุ่มมะเร็งบำบัดคือ “พื้นที่ปล่อยของ” และ “พื้นที่รับพลังเชิงบวก” ขณะที่การรักษาทางการแพทย์ทำหน้าที่เยียวยาร่างกาย กลุ่มบำบัดทำหน้าที่เยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติได้อย่างดีเลิศ เพราะนี่คือพื้นที่แห่งความเข้าใจซึ่งกันและกันของ “เพื่อนร่วมทุกข์” หรือ “คนหัวอกเดียวกัน”

บทความชิ้นนี้จะถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนของอรทัยว่ากลุ่มมะเร็งบำบัดที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วยและญาติควรมีลักษณะอย่างไร

กลุ่มบำบัด...ดีต่อใจคนไข้และญาติ

ผู้ป่วยมะเร็งไม่น้อยเก็บงำความทุกข์กังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยไว้กับตัว เพราะเกรงว่าการแสดงอารมณ์จะส่งผลต่อความรู้สึกของคนใกล้ชิด ยิ่งเก็บกักยิ่งทุรนทุราย ผันกลายเป็นความหงุดหงิดฉุนเฉียวหรือซึมเศร้า ส่วนญาติหรือผู้ดูแลที่เต็มไปด้วยความห่วงใยและหวังดีแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยตามความคาดหวังก็ตกอยู่ในภาวะเครียดเช่นกัน

การเข้ากลุ่มมะเร็งบำบัดคือการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เปิดเผยความในใจที่เก็บกักไว้ เรื่องราวของผู้ป่วยและผู้ดูแลคนหนึ่งอาจคล้ายกับเรื่องของอีกคน เมื่อผู้ป่วยเล่าถึงความรู้สึกและความสัมพันธ์กับผู้ดูแลของตนเอง ก็อาจทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยอีกคนหนึ่งเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยที่ตนเองดูแลได้ เป็นการเรียนรู้และเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายได้ดียิ่ง

“คนที่ผ่านประสบการณ์เดียวกันมา จะเชื่อมกันได้เร็ว ผู้ป่วยคนหนึ่งเคยบอกว่าเสียงของคนเป็นมะเร็งเป็นเหมือนเสียงตัวแทนของตัวเอง และญาติของผู้ป่วยคนนี้ก็เหมือนญาติที่ดูแลเขาอยู่ เช่น บอกให้กินๆๆๆ อยู่นั่นแหละ การเห็นภาพตัวแทนจะส่งผลกระเทือน ในกลุ่มเวลาโดนใจ เขาจะขานรับพร้อมกันว่า “ใช่ๆๆ” แล้วบอกว่าเข้าใจแล้วว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร” อรทัยเล่า

“ญาติหรือผู้ดูแลมีความทุกข์เดียวกันคือการที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือตามที่ตนเองคาดหวัง บางทีญาติก็ไม่เข้าใจ บอกว่าเราทำดีขนาดนี้ ตั้งใจขนาดนี้ ทำไมพูดกับเราแบบนี้ ทำไมไม่กินของดีๆ ที่หามาให้ หรือเวลาอยู่กับคนอื่นพูดดี๊ดี ดูเข้มแข็งจังเลย พออยู่กับเราทำเป็นอ่อนแอ ทำไมไม่สู้ ทำไมไม่เข้มแข็ง พอได้ฟังผู้ป่วยเล่าถึงความรู้สึกต่อผู้ดูแลของตัวเองก็ได้รับฟังมุมมองหรือโลกในใจของผู้ป่วย ได้ตระหนักรู้ว่าบางทีความห่วงใยของตนเองก็สร้างทุกข์ให้คนป่วย เช่น บังคับให้เขากินเพราะคิดว่าเขาจะหิว ไม่กินจะไม่มีแรง ทั้งๆ ที่เขาอยากกินแต่กินไม่ได้เพราะร่างกายไม่รับ”

ผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อผู้เข้ากลุ่มบำบัดแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละคนมีโจทย์และต้นทุนชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจคลี่คลายประเด็นที่สงสัย บางคนอาจรู้ว่าจะเลือกรักษาแบบไหน แต่สิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือพลังชีวิต เมื่อรู้ว่ามีคนเข้าใจและรับรู้ความทุกข์ของตัวเองผ่านการพูดคุยและแสดงความรักต่อกัน

เคล็ดลับนำกลุ่มให้สำเร็จ

การนำกลุ่มโดยผู้ร่วมกลุ่มรู้สึกพึงพอใจและได้รับประโยชน์ตามเป้าประสงค์ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการนำกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทั้งร่างกายและจิตใจยิ่งยากกว่า อรทัยบอกว่า “ต้องใช้ทั้งศาสตร์ ศิลปะ และประสบการณ์” จากประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลมากว่าสิบปี เธอสรุปเคล็ดลับหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้นำกระบวนการกลุ่มไว้ดังนี้

มีศรัทธา ศรัทธาว่าแต่ละคนมีภูมิปัญญาที่จะค้นหาทางออกให้ชีวิต แต่อาจมีกำแพงหรือเงาที่ทำให้มองไม่เห็น เราต้องวางใจว่าแต่ละคนมีกุญแจอยู่ในมือแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะไปหาคำตอบหรือข้อสรุปให้เขา หรือโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อเหมือนตัวเอง

ช่างสังเกต สังเกตว่ามีการโน้มน้าวกลุ่ม ดึงพื้นที่ หรือต่อว่าผู้อื่นแรงๆ หรือไม่ บางคนเข้ามากลุ่มมาแรกๆ อยากให้คนอื่นเชื่อแบบตัวเอง เราจะคอยบอกว่าประสบการณ์ของเราเป็นแค่หนึ่งประสบการณ์ ไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทั้งหมด พอมีคนพูดเรื่องของตัวเองก็จะบอกว่านี้คืออีกหนึ่งประสบการณ์นะ พอเตือนแบบมีศิลปะ เขาจะมีสติมากขึ้น

เวทีนี้ไม่มีพระเอก เวลาเปิดวงจะเริ่มบอกว่าทุกคนสำคัญและทุกคนเป็นครูและนักเรียน ถ้าวางตัวว่าเราสำคัญ ทุกคนจะโฟกัสที่ตัวเรา เราต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคน คนไหนที่ยังไม่ได้พูดหรือไม่กล้าพูดก็สนับสนุนและให้ความมั่นใจ ควรจัดที่นั่งเป็นวงกลม หากนั่งอยู่ข้างหน้าแล้วพูดไป มันอันตราย เพราะเดี๋ยวเขายึดเรา ต้องทำให้กลุ่มเป็นพื้นที่ที่เรียนรู้ซึ่งกันและกันจริงๆ ไม่ใช่พื้นที่คนมาเอาเราเป็นแบบอย่างหรืออยากหายแบบเรา

จัดกลุ่มตามบริบท การจัดกลุ่มผู้ดูแลและคนไข้ขึ้นอยู่กับบริบทและเวลา บางทีให้แยกกันเพราะบางเรื่องคนป่วยและญาติอยู่ด้วยกันแล้วพูดไม่ได้ เช่น เรื่องความทุกข์หรืออึดอัดใจ บางกรณีให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลนั่งคุยกันโดยมีเราเป็นคนกลาง กรณีที่มีเวลามากก็อาจแยกกลุ่มคนไข้และผู้ดูแล ไม่มีสูตรสำเร็จ ที่สำคัญท่ามกลางกลุ่มใหญ่จะเกิดกลุ่มย่อยโดยธรรมชาติ เช่น คนที่เป็นมะเร็งตับ หรือมีอาการของโรคคล้ายกันก็จะไปจับกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ของผู้เข้าร่วม

เต็มใจเข้าร่วมกลุ่ม ผู้เข้ากลุ่มต้องเต็มใจมา บางคนมาเพราะหมอหรือญาติบอกให้มา เมื่อเข้าร่วมกลุ่มมักแสดงท่าทีต่อต้านหรือเพิกเฉย เช่น ดูนาฬิกาบ่อยๆ หรือชวนผู้อื่นคุย ในฐานะผู้นำกลุ่มต้องใช้ทั้งศิลปะและประสบการณ์ บางทีมีคนคุยกันก็จะพูดแบบทีเล่นทีจริงหรือบอกตรงๆว่า “เราจะพูดเมื่อคนพร้อมที่จะฟัง” เขาก็เงียบและเริ่มสนใจ”

เสริมกิจกรรมสัมผัสประสบการณ์ตรง องค์กรที่จัดอบรมกลุ่มเพื่อดูแลคนป่วยมักใช้เวลาครึ่งวัน ซึ่งมักเป็นการพูดคุย แต่หากมีการจัดกิจกรรมที่ยาวขึ้น เช่น เวิร์กชอป 2 วัน จะมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรง เช่น การตั้งคำถามกับตัวเอง และฝึกทักษะดูแลสุขภาพ เช่น โยคะสำหรับผู้ป่วย

ตัวอย่างกลุ่มมะเร็งบำบัด

อรทัยมีส่วนเข้าร่วมกลุ่มมะเร็งบำบัดหลายกลุ่ม ตัวอย่างด้านล่างคือกลุ่มที่เธอเห็นว่าประสบความสำเร็จ ในเชิงสร้างการมีส่วนร่วมและมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม มีความต่อเนื่องและพัฒนาไปสู่กลุ่มฝึกทักษะความรู้เพื่อดูแลสุขภาพกายใจในเชิงลึกได้

กลุ่มมาเล็งความสุข เป็นกลุ่มสาธารณะที่พัฒนาจากกลุ่มมะเร็งในโซเชียลมีเดียมาเป็นกลุ่มที่เห็นหน้าค่าตากัน การนัดพบแต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยและญาติเข้าร่วม 12-20 คน โดยมีการสมัครเข้าร่วมล่วงหน้า สมาชิกเป็นผู้กำหนดเวลาเริ่มต้นและจบกันเอง มักเจอกันประมาณสิบโมงเช้า เลิกประมาณบ่ายสาม

กลุ่มเยียวยาหลังความสูญเสีย เป็นกลุ่มบำบัดสำหรับพยาบาลที่มีความทุกข์จากการให้บริการสุขภาพ เช่น เคยเห็นความตาย สมาชิกกลุ่ม 7-8 คน มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจจากความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของตนเองและการสูญเสียคนไข้

กลุ่มเยียวยาด้วยรักและศรัทธา เป็นกลุ่มบำบัดสำหรับผู้โรคเรื้อรังและญาติ จัดโดยโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้เข้ากลุ่มครั้งประมาณ 20 คน ระยะเวลาครึ่งวัน เป็นกลุ่มที่พัฒนาไปสู่การทำอบรมปฏิบัติการ 2 วัน แต่ปัจจุบันยุติกิจกรรมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของโรงพยาบาล

ภาพประกอบ เฟสบุ๊คอรทัย ชะฟู

18 เมษายน, 2561

ขอบคุณความเจ็บป่วย ขอบคุณความตาย

สำหรับเราความตายเป็นเหมือนของขวัญ เราโชคดีที่ความตายยังให้โอกาส ทำให้เรากลับมามองชีวิตเราว่าที่คุณใช้มานั้นไม่ใช่แล้วนะ ถึงได้มีความเจ็บป่วยมาเตือน
7 ตุลาคม, 2560

ของของเรา

เคยไหมเวลาที่มีคนเข้ามาขอคำปรึกษาจากเรา แล้วเราสามารถให้คำแนะนำ หรือมีข้อเสนอแนะมากมายเพื่อให้เขาหาทางออกหรือมีหนทางแก้ไขปัญหาของเขาได้