parallax background
 

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
สร้างชุมชนที่เอื้อต่อผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุแล้ว พื้นที่ที่เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้ดี ประชาชนย่อมได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและทันการณ์ หนึ่งในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่โดดเด่นด้านนี้คือเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลระดับประเทศจากองค์กรชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ จนถูกเรียกขานว่า “เทศบาลนักล่ารางวัล” หรือ “เทศบาลแห่งนวตกรรม”

สองวันที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต ซึ่งเป็นโครงการที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ร่วมกับกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำร่วมกันทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการวางแผนชีวิตในระยะสุดท้ายและตั้งกลุ่มเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่อยู่ภาวะพึ่งพิง สรุปได้ว่าความสำเร็จนี้มิใช่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่เกิดขึ้นเพราะวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่เทศบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำงานทั้งในหน้าที่และงานจิตอาสาอย่างแข็งขัน จนทำให้เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เป็นเมืองต้นแบบหรือเมืองในฝันของผู้สูงอายุและผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง

อปท.นักบุกเบิก

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนมากให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง แต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ และหากใช้งบประมาณจากส่วนอื่นก็หวั่นเกรงความผิดเมื่อมีการตรวจสอบ

หลายปีที่ผ่านมาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เป็นหนึ่งใน อปท. ที่แสวงหาช่องทางการใช้งบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่ทยอยออกมาเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็น อปท. แรก ที่สมัครเข้ารับเงินกองทุนกองทุนหลักประกันสุขภาพส่วนท้องถิ่นและกองทุนผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงที่เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ด้วยการจัดสรรเงินดูแลสุขภาพในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวให้แก่ประชากรเป้าหมายในพื้นที่

จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เล่าว่าก่อนการประกาศใช้กองทุนฯ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้เตรียมความพร้อมด้วยการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) จากนั้น เชิญ อผส. มาอบรมการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ดังนั้นอาสากลุ่มนี้จึงเป็นผู้ดูแล หรือ แคร์กีฟเวอร์ (care giver)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำรวจสถานภาพผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง/ติดเตียง/ติดบ้านในเขตเทศบาล ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้กองทุน เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ก็สมัครและได้รับกองทุนเป็นรายแรกๆ และวางระบบการใช้เงินกองทุนที่เอื้อต่อการทำงานของอาสาสมัคร เช่น การให้ผลตอนแทนแก่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมการดูแลผู้อยู่ในภาวะพิ่งพิง

“ตอนยังไม่มีเงินกองทุน เขาก็ทำอยู่แล้ว ทั้งอาบน้ำสระผมตัดเล็บและแนะนำการดูแลสุขภาพให้ผู้ป่วยและญาติ และจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ซ้ำเติมคนป่วย พอมีผลตอบแทนก็สร้างแรงจูงใจมากขึ้น” จารุวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ยังเป็นผู้บุกเบิกบริการรถฉุกเฉินเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยเรื้อรังไปโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ออกระเบียบให้กองทุนสุขภาพตำบลของแต่ละ อบต. และเทศบาลจัดรถรับส่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังได้

ในรายงานองค์กรอนามัยโลกเรื่อง “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ: ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” ได้หยิบยกกรณีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เป็นกรณีตัวอย่างเผยแพร่ไปทั่วโลก

ส่วนโครงการ “สุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต” ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 เป็นโครงการที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์สนับสนุนงบประมาณและกำลังคนในการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เทศบาล จิตอาสา อสม. ประชาชนในชุมชนต่างๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนชีวิตในระยะสุดท้าย และการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครลงเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ถือเป็นนวัตกรรมและรูปธรรมของการสร้างชุมชนที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ซึ่งพื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้

จากตัวอย่างผลงานข้างต้น ส่งผลให้เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและแม่แบบการใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น จน อปท.ทั่วประเทศมาดูงาน และยืนยันความสำเร็จด้วยรางวัลชนะเลิศประดับประเทศจากองค์กรต่างๆ เช่น รางวัลพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาชน ติดต่อกัน 3 ปี นำมาสู่รางวัลพระปกเกล้าทองคำในปี พ.ศ. 2561 และรางวัลที่ 1 กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 จังหวัดขอนแก่น และเป็น 1 ใน 20 อปท. ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดีประเภทดีเลิศ พ.ศ. 2562

ปัจจุบันเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นับเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีศูนย์พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุและคนพิการเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ดูแลประชาชน 36 ชุมชน ซึ่งมีประชากรประมาณ 4 หมื่นคน และผู้สูงอายุประมาณ 4.5 พันคน คิดเป็น 11.2 % ส่วนโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์มีอาคารสถานสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประชุม ออกกำลังกาย เปิดบริการทุกวัน และเปิดสอนกิจกรรมพัฒนากาย-จิตแก่ผู้สูงอายุทุกวันพฤหัสบดี ถูกจัดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

เจ้าหน้าที่ผู้มีจิตอาสา คือปัจจัยความสำเร็จ

หากพิจารณาบุคลากรในกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำจะพบว่า จิตอาสาและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์มีความสัมพันธ์ที่ซ้อนไขว้กัน โดยมิอาจกล่าวได้ว่าสิ่งใดมาก่อนกัน จิตอาสาบางคนทำงานในกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำก่อนมาเป็นเจ้าที่เทศบาล ในทางกลับกันบางคนก็ทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาลแล้วเข้ามาเข้ากลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำในภายหลัง

จ๊ะเอ๋ เริ่มก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อระดมทุนสร้างห้องสมุดในตลาดโต้รุ่ง ช่วงเดียวกับที่เธอเข้ามาทำงานที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณแก่โครงการ “สุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต”

แคท เป็นสมาชิกกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำรุ่นแรกๆ ก่อนหน้านั้นเขาทำงานอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบลเล็กๆ แคทเริ่มต้นทำงานจิตอาสาด้วยการอาสาทำความสะอาดหน้าบ้านตัวเอง แล้วขยับมาทำงานจิตอาสาในโครงการอุ่นกายไม่หนาวใจ เมื่อย้ายมาทำงานที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ก็รับตำแหน่งสังคมสงเคราะห์ ดูแลผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง

“โชคดีที่หน้าที่สายงานมันเสริมกัน ทำจนเดี๋ยวนี้ถ้าเจอคนเร่ร่อน เขาไม่โทรหาตำรวจหรือ พม. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) แต่โทรหาผม ให้ไปประสานงานกับหน่วยงานอื่น คุยกันแนวราบ ช่วยตามอำนาจหน้าที่ ไม่ต้องรอหนังสือราชการที่ต้องใช้เวลา ส่วนงานในโครงการจุติสุขาวดี ผมก็ช่วยได้เพราะผมลงพื้นที่บ่อย คัดครองได้ว่าใครยากจนหรือแค่อยากจน จะให้ความช่วยเหลือหรือไม่” แคทกล่าว

ก้อย เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เคยเป็นอาสาสมัครกู้ภัย มูลนิธิเมตตาธรรม และยังทำงานจิตอาสากับมูลนิธิมาจนถึงปัจจุบันจนได้ฉายา “ก้อยร้อยศพ” และยังอยู่ในกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำอีกด้วย

แอน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเคยเป็นอาสาสมัครค่ายเยาวชน ค่ายประชาธิปไตย ทำกระบวนการพัฒนาจิตใจเด็กในสถานพินิจ เมื่อกลับมาอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เริ่มมาทำงานจิตอาสาในมูลนิธิเมตตาธรรม โครงการอุ่นกายไม่หนาวใจและจุติสุขาวดี ต่อมาเมื่อเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลกาฬสินธุ์ ทำหน้าที่ดูแลประชาชน เธอเป็นผู้ริเริ่มทำโครงการพับดอกไม้จันทน์จากสลากกินแบ่งรัฐบาล และนำผลงานที่ได้ไปบริจาคในงานศพของผู้ยากไร้

นก นักกายภาพบำบัดประจำศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ที่ทำงานเยี่ยมบ้านในช่วงเวลาราชการ ต่อมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจิตอาสาเยี่ยมบ้าน ขณะที่ปุ้ม หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข ซอยน้ำทิพย์ก็เข้ามามีส่วนร่วมในงานจิตอาสาโดยเป็นผู้เชื่อมและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มจิตอาสาเยี่ยมบ้าน คนเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จของงานกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ ขณะเดียวกันก็ช่วยขับเคลื่อนให้งานสวัสดิการประชาชนของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมาย

พวกเขาล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าหากไร้การสนับสนุนจากคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โอกาสที่เจ้าหน้าที่เทศบาลจะมาทำงานจิตอาสาอย่างเต็มกำลังก็เป็นเรื่องยาก แม้ว่างานจิตอาสาและงานสงเคราะห์และบริการประชาชนของเทศบาลจะมีเนื้องานและเป้าหมายเดียวกันก็ตาม

เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ...ดูแลเหมือนญาติมิตร

หญิงวัยกลางคนบอกเล่าอาการของ “ลุงพุทธา” ชายวัย 74 ปีที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์มา 8 ปีและอยู่ในภาวะติดเตียงมา 3 ปีแล้ว พลางบีบนวดเท้าที่ผอมบางของผู้ป่วยที่นอนหลับอย่างเบามือและคล่องแคล่ว พลางพูดคุยกับ “ป้าน้อย” ภรรยาผู้ป่วยอย่างสนิทสนม บ่งบอกว่าเธอคุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างดี

สุพิชา บุญถูก หรือพี่หน่อยเป็นประธานอสม. และประธานชุมชนวัดหอไตร เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ (care giver) อีกตำแหน่ง

“ตอนแรกก็มาเยี่ยมโดยสมัครใจ แต่พอมีโครงการของทางเทศบาลก็มาเยี่ยมเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ทางเทศบาลมีค่าใช้จ่ายให้ชั่วโมงละห้าสิบบาท มาถามเรื่องสุขภาพ วัดความดัน ตัดเล็บ บีบนวด และแนะนำญาติเรื่องการดูแลผู้ป่วย บางทีก็ปรับสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยอยู่สบาย รายนี้ติดเตียงพูดไม่ได้ ไม่มีแผลกดทับ ความดันปกติ ภรรยาดูแลเป็นอย่างดี ไปเยี่ยมบ่อยๆ ไปให้กำลังใจญาติ ดูแลแบบนี้จนเสียชีวิตอย่างสงบไปสามรายแล้ว” พี่หน่อยเล่า

ภาพประกอบ กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ และภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

28 พฤศจิกายน, 2560

เบาใจ…สบายกาย

ความรักมักวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราเสมอ จะเรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายรักเขา ก็เป็นฝ่ายถูกรัก ยิ่งใครเป็นคนชอบเขียนไดอารีประจำวันและเกิดรักใครขึ้นมาสักคน รับรอง
12 เมษายน, 2561

เราควรจะบอกหรือไม่ เกี่ยวกับความจริงของอาการป่วย

พระไพศาล วิสาโล : ในสังคมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การบอกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สังคมตะวันออกเรามักต้องดูคนรอบข้างด้วย
12 เมษายน, 2561

อุดรอยรั่วหลังคามาดูแลผู้ป่วย

แสงแดดที่ร้อนแรงมาหลายวัน พลันมีมวลเมฆดำทาบบนท้องฟ้า เป็นสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนฤดูกาล ย่างเข้าสู่ฝนเดือนห้าแล้ว ทำให้หวนรำลึกย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่น้ำหลากมหานทีจู่โจมแทบทั่วทุกสารทิศ ยังขยาดความกลัว