ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า (Grief Literacy) ข้อเสนอหลักการและแนวทางการผลิตสื่อ จัดกิจกรรม และพัฒนาเครือข่ายดูแลใจผู้สูญเสียในช่วงวิกฤตโควิด 2564
Key Message
ในช่วงวิกฤตโควิด ประเทศไทยเผชิญความสูญเสียในวงกว้างอย่างฉับพลัน หลายครอบครัวสูญเสียคนใกล้ชิดด้วยโรคโควิดรวมทั้งโรคอื่นๆ ความสูญเสียดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิกิริยาที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือความโศกเศร้า (Grief)
ความโศกเศร้ามองได้หลายแง่มุม ในมุมจิตวิทยา เราอาจมองว่าความโศกเศร้าคือปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังความสูญเสียของปัจเจกบุคคล ผู้สูญเสียจะใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อรับมือกับความเศร้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีปลายทางคือการฟื้นคืนสมดุลชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความเศร้าที่ผิดปกติ เรื้อรัง หรือซับซ้อน จำเป็นต้องรักษาหรือได้รับความช่วยเหลือโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา นักบำบัด
ในทางการแพทย์ อาจมองความโศกเศร้าในมุมของชีววิทยา หรือประสาทวิทยา ความโศกเศร้าอาจรักษาได้ด้วยยาต้านเศร้า เพื่อคืนสมดุลเคมีในสมอง และกลับมาดำเนินชีวิตและทำงานได้ตามปกติ
การมองความเศร้าทั้งสองแง่มุมมีส่วนถูก แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะในสถานการณ์โรคระบาดที่คนในสังคมเผชิญความสูญเสียขนานใหญ่ ระบบบริการสาธารณสุขไม่สามารถให้บริการรักษาความเศร้าด้วยนักจิตวิทยา นักบำบัด จิตแพทย์ และยาต้านเศร้าได้เท่านั้น การมองความเศร้าด้วยโมเดลจิตวิทยาและการแพทย์ ยังทำให้ภาระในการดูแลความเศร้าเป็นของ “ผู้ประสบความเศร้า” และ “นักวิชาชีพ” เท่านั้น
จุดยืนของ Compassionate Communities (ชุมชนกรุณา) และ Public Health Palliative Care (สาธารณสุขแห่งการดูแลแบบประคับประคอง) มองว่า การตายและความสูญเสีย เป็นความรับผิดชอบของทุกคน (Everybody’s bussiness) ในชุมชน มิใช่บทบาทของนักวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะฝากไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล จากการวิจัยยังพบว่า ผู้สูญเสียมักแสวงหาแหล่งสนับสนุนในโมงยามแห่งความสูญเสียจากครอบครัว เพื่อน และผู้ช่วยจัดงานศพ มากกว่านักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรืออาสาสมัครหลายเท่า (Aoun, Breen et al. 2015) สมาชิกในชุมชนที่สามารถดูแลความโศกเศร้าของตนเองและผู้อื่นได้ ย่อมทำให้ชุมชนของสมาชิกมีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการดูแลการตาย ความสูญเสียมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณค่าที่เอื้อต่อการดูแลความสูญเสีย จำเป็นจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลความโศกเศร้า เช่น มีการเรียนรู้ในระบบการศึกษา มีกลุ่มและองค์กรในชุมชนที่ทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในเรื่องการตายและความสูญเสีย มีนโยบายและทรัพยากรสนับสนุนการดูแลความสูญเสียในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ นี่คือรูปธรรมของการทำให้การดูแลความสูญเสียเป็นความรับผิดชอบของทุกคน
จุดยืนอีกประการหนึ่งของการดูแลความโศกเศร้า คือการมองว่า ความโศกเศร้าสามารถสร้างความทุกข์ทรมานและผลกระทบทางลบทางสุขภาพได้ในทุกมิติ ขณะเดียวกัน หากบุคคลมีความรู้ ทักษะ และคุณค่าสนับสนุนการดูแลความเศร้า ความโศกเศร้านั้นก็จะไม่ก่อทุกข์ที่รุนแรง เรื้อรัง และซับซ้อนมากนัก นอกจากนี้ การรับมือกับความเศร้าที่มีสุขภาวะ ยังช่วยให้บุคคลเติบโตทางวุฒิภาวะ มีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับความสูญเสียและความไม่แน่นอนของชีวิตได้ การดูแลความโศกเศร้าจึงคลายกับการดูแลความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ชุมชนสามารถช่วยกันป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูได้ มากไปกว่านั้น ผู้ที่สามารถผ่านพ้นและรับมือความโศกเศร้าได้ ย่อมจะมีความเข้าอกเข้าใจผู้โศกเศร้าอื่นๆ และสามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
แนวทางการดูแลความโศกเศร้าเช่นนี้ มิใช่การขจัดความโศกเศร้าให้ปราศนาการไป ซึ่งอาจทำให้เราตกอยู่ในกับดักอีกรูปแบบหนึ่งคือการปฏิเสธความเศร้า การตีตราความเศร้า การเก็บกดความโศกเศร้า ซึ่งยังเป็นรูปแบบการรับมือที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะ และอาจมักจะก่อผลข้างเคียงในรูปแบบอาการทางจิตเวชหรือความเจ็บป่วยทางกายในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ สังคมสมัยใหม่ก็มักปฏิเสธความเศร้าอยู่แล้ว เพราะสังคมที่ให้คุณค่ากับความมั่งคั่ง ความสุข ความเยาว์วัย ย่อมจะปฏิเสธการเรียนรู้เกี่ยวกับความตายและการสูญเสีย การดูแลความโศกเศร้า ไม่ได้เป็นความรู้ทั่วไปที่นักเรียนและประชาชนจะได้เรียนรู้ พื้นที่สำหรับเยียวยาและดูแลความเศร้าในสังคมมีอยู่น้อยมาก จำกัดวงแคบในมุมของการปฏิบัติทางศาสนา หรือการให้บริการบำบัดทางจิตวิทยา
ก่อนที่การดูแลความโศกเศร้าจะเป็นประเด็นทางสุขภาพจิตในสังคมสมัยใหม่ ชุมชนเคยมีบทบาทอย่างมากต่อการดูแลความโศกเศร้าผ่านรูปแบบของการมีส่วนร่วมในการจัดงานศพ ซึ่งเป็นกิจกรรมสังคมที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่่มทางสังคมและสนับสนุนทุนทางสังคม (Social Capital) เพื่อช่วยดูแลผู้สูญเสียให้ข้ามพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิตไปได้ ประเพณีไว้ทุกข์ การจัดงานบุญอุทิศและงานรำลึก ก็เป็นตัวช่วยทางวัฒนธรรมที่มีพลังมากเช่นกันในการดูแลความโศกเศร้า
แต่ในช่วงวิกฤตโควิด ข้อจำกัดเรื่องการเว้นระยะหว่างทางสังคม (Social Distancing) พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ภาวะว่างงานขนาดใหญ่ ความแตกต่างระหว่างวัย ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ความแตกต่างด้านรสนิยมการใช้ชีวิต ได้ท้าทายการดูแลความโศกเศร้ามากขึ้น จำเป็นยิ่งที่สังคมควรจะพัฒนาความรู้ ทักษะการดูแล และชุดคุณค่าเกี่ยวกับการดูแลความสูญเสียที่คำนึงถึงความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ อายุ เพศภาวะและเพศวิถี ศาสนา และวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ภายใต้ข้อจำกัดของชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
การพัฒนาชุดความรู้ ทักษะการดูแล และคุณค่าที่เอื้อต่อการดูแลความสูญเสียน้ีเอง คือการพัฒนา “ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า” (Grief Litercy) ในระดับสังคม ซึ่งมิใช่เพียง “วิธีแก้ปัญหาความโศกเศร้า” (Grief intervention) ในระดับบุคคล
การรู้เท่าทันความโศกเศร้า คือกระแสความเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นงานในระดับสาธารณสุข ซึ่งสนับสนุนคุณค่าที่เกี่ยวเนื่องกับ สุขภาวะ การสร้างความร่วมมือ ความยึดโยงของชุมชนและสังคม การถักทอทางสังคม การพัฒนาทักษะทางอารมณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความเหงา ความโดดเดี่ยว การตีตรา การฆ่าตัวตาย (Breen, Kawashima et al. 2020)
การรู้เท่าทันความโศกเศร้า (Grief Literacy) มีจุดยืนในลักษณะเดียวกับ “การรู้เท่าทันความตาย” (Death Litercy)
เอกสารอ้างอิง
Aoun, S. M., Breen, L. J., Howting, D. A., Rumbold, B., McNamara, B., & Hegney, D. (2015). Who Needs Bereavement Support? A Population Based Survey of Bereavement Risk and Support Need. PLOS ONE, 10(3), e0121101. doi:10.1371/journal.pone.0121101
Breen, L. J., Kawashima, D., Joy, K., Cadell, S., Roth, D., Chow, A., & Macdonald, M. E. (2020). Grief literacy: A call to action for compassionate communities. Death Studies, 1-9. doi:10.1080/07481187.2020.1739780
การสร้างความรู้เท่าทันความโศกเศร้า เป็นเรื่องเดียวกับ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลความโศกเศร้า ดังนั้น ผู้ทำงานสนับสนุนความรู้เท่าทันความโศกเศร้า ควรตระหนักว่า ภาพดังต่อไปนี้อาจเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าสังคมมีความรู้เท่าทันความโศกเศร้าแล้ว
Bibliography
Aoun, S. M., L. J. Breen, D. A. Howting, B. Rumbold, B. McNamara and D. Hegney (2015). "Who Needs Bereavement Support? A Population Based Survey of Bereavement Risk and Support Need." PLOS ONE 10(3): e0121101.
Breen, L. J., D. Kawashima, K. Joy, S. Cadell, D. Roth, A. Chow and M. E. Macdonald (2020). "Grief literacy: A call to action for compassionate communities." Death Studies: 1-9.