parallax background
 

เยี่ยมไข้สไตล์ถุงผ้ารินน้ำใจ

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เมื่อพูดถึงถุงผ้า คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการลดโลกร้อน ทว่าถุงผ้ารินน้ำใจทำหน้าที่มากกว่า ในฐานะเครื่องมือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ส่งมอบและโอบรับความปราถนาดีที่มนุษย์พึงมีด้วยกันในห้วงสุดท้ายของชีวิตระหว่างผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายกับผู้มาเยี่ยม

ในฐานะผู้ป่วย เราไม่อยากให้ใครมาเห็นสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เราอาจเหนื่อยล้าและหงุดหงิดกับคำถามเรื่องความเจ็บป่วยที่เคยตอบมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หรืออยากพักผ่อนแต่จำต้องฝืนยิ้มและพูดคุยเพราะเกรงใจผู้มาเยี่ยม

ในฐานะผู้เยี่ยม เราอาจอึดอัดกับภาพความเจ็บป่วยอันแสนบีบคั้นที่ปรากฎตรงหน้าจนไม่รู้จะวางสีหน้าหรือพูดคุยอะไร และบ่อยครั้งลืมตัวแนะนำสั่งสอนเรื่องราวที่เคยได้ยินได้ฟังมาราวกับเป็นกูรูสุขภาพ

นี้เป็นบรรยากาศการเยี่ยมไข้ผู้ป่วยมะเร็งที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยของมุจริน อรุณเลิศสกุล หรือพี่ริน หญิงวัย 55 ปี สุขภาพแข็งแรงกินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นนิจ และชอบทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ที่จู่ๆ แพทย์ก็วินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย

เธอจากไปหลังรับรู้อาการป่วยได้เพียงเดือนเศษ ทว่าท่ามกลางการเจ็บป่วยที่รวดเร็วและรุนแรงนั้น เธอและผู้คนรอบข้างได้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือการเยี่ยมไข้ที่ทำให้ทั้งผู้ป่วยและผู้เยี่ยมได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

บทความนี้เขียนจากการบอกเล่าของอรทัย ชะฟู หรือจิ๋ม อดีตผู้ป่วยมะเร็งปอดและพี่รินเคยดูแล ซึ่งคราวนี้เธอผลัดเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ดูแลบ้าง การพูดคุยนี้เกิดขึ้นหลังจากพี่รินเสียชีวิตไม่นานนัก

จุดเริ่มต้น...เปลี่ยนโฟกัสไปจากกาย

เราต้องหาอะไรทำ สิ่งที่พี่รินชอบ เพื่อเปลี่ยนโฟกัส เพราะเรายังไม่แข็งแรงมากพอที่จะไปดูกาย เราต้องออกจากตรงนั้นก่อน เพื่อไม่ไปโฟกัสที่กายว่าทำไมเป็นอย่างนั้น

อรทัย ชะฟู หรือจิ๋มให้คำแนะนำหลังจากเห็นพี่รินถอนหายใจบ่อยๆ และมีท่าทีหงุดหงิดกับอาการเจ็บป่วยของตัวเอง

เป็นคำแนะนำผ่านประสบการณ์ตรงของตัวเอง เมื่อครั้งเจ็บป่วยเธอเปลี่ยนโฟกัสไปจากกายด้วยการทำงานศิลปะ

“อยากทำถุงผ้า” พี่รินบอก เธอชอบงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และก่อนหน้านั้นเธอเคยขับรถไปส่งอรทัยทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และรู้ว่าทางโรงพยาบาลกำลังรณรงค์ยกเลิกใช้ถุงพลาสติก โดยให้ผู้มาใช้บริการนำถุงมาใส่ยาเอง

ทำถุงผ้า เติบโตด้านใน

ในยามแข็งแรงพี่รินมักอาสาทำงานเพื่อสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เธอจึงเป็นที่รักของคนรอบข้าง ยามเจ็บป่วยจึงมีคนมากมายอยากมาเยี่ยม แต่สภาพร่างกายและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับท่าทีและปฏิกิรยาของผู้มาเยี่ยม ทำให้ช่วงแรกเธอไม่อนุญาตให้บอกเล่าเรื่องการเจ็บป่วยแก่คนทั่วไปและปฏิเสธการเยี่ยม

“ตอนแรกพี่รินกังวลว่าคนมาเยี่ยมจะมาร้องไห้ บางคนมาเยี่ยมแล้วโพสต์ในเฟสบุคว่าเศร้า เลยไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม แต่พออนุญาตให้มาและมีคนเห็นพวกเราทำถุงผ้า เขาก็อยากทำบ้างและตั้งใจทำจริงๆ เวลามีคนมาเยี่ยม แทนที่จะพูดอะไรไร้สาระ ก็ให้มานั่งเย็บถุง ก็เหมือนภาวนาไปด้วย ทุกคนนั่งทำงานของตัวเองไป ถ้าพี่รินเหนื่อยก็นอนพัก มันช่วยได้จริงๆ ช่วยตัวเองด้วย พี่รินก็แฮปปี้ และช่วยคนอื่นด้วยทั้งคนที่มาเยี่ยมและคนที่ได้รับถุงผ้าใส่ยากลับบ้าน” อรทัยเล่าบรรยากาศการทำถุงผ้าที่บ้านหลังเล็กที่มุจลินรักษาตัวในห้วงสุดท้ายของชีวิต

แม้บ้านจะคับแคบมีพื้นที่ว่างต้อนรับคนครั้งไม่ละไม่เกิน 5 คน แต่ก็มีการนัดแนะจัดคิวล่วงหน้า แวะเวียนมาทำถุงผ้าเพื่อเป็นทั้งเพื่อนทางกายและเป็นกำลังใจให้พี่รินอยู่ไม่ขาด

“บางคนรู้ว่าที่บ้านไม่สะดวก เขาก็เอาถุงผ้าไปทำที่บ้าน ก่อนส่งมอบให้โรงพยาบาลก็เอามาให้พี่รินดู มีคนใหม่แวะมาทำถุงผ้าเรื่อยๆ ตอนมาเยี่ยมก็จะมีประสบการณ์ทำร่วมกัน พี่รินก็รู้สึกดี เพราะคนทำตั้งใจและมีประโยชน์ ตอนนอนโรงพยาบาล คนทำก็เอาถุงผ้ามาห้อยไว้ที่ที่แขวนน้ำเกลือให้แกเห็น แกก็ยิ้ม”

“ทุกคนได้เรียนรู้และเติบโต พี่รินได้เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับความรู้สึกของอีกฝ่าย คนมาเยี่ยมก็รู้สึกเติบโต พี่คนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังในเชียงราย พอปิดร้านก็มานั่งทำที่บ้าน บอกว่าหายกลัวผีไปเลย เพราะเห็นตั้งแต่พี่รินแข็งแรง จนร่างกายทรุดโทรม” อรทัยเล่า

ส่งถุงผ้า ส่งต่อน้ำใจ

กิจกรรมทำถุงผ้าไม่ได้ทำเฉพาะที่บ้านพี่รินเท่านั้น ตอนเริ่มทำถุงผ้า อรทัยได้พูดคุยกับเภสัชกรในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่รู้จักพี่รินดี นำมาสู่โครงการทำถุงผ้าเพื่อส่งกำลังให้พี่รินและนำถุงผ้าไปบริจาคแก่ผู้มารับยาที่ไม่ได้นำถุงมาเอง ภายใต้ชื่อ “ถุงผ้ารินน้ำใจ”

ที่โรงพยาบาลมีการตั้งโต๊ะและจัดเตรียมอุปกรณ์ เช่นถุงผ้า สีและด้ายให้ผู้ป่วยและญาติในอาคารผู้ป่วยในบางแผนกร่วมทำถุงผ้า

“พอทำเสร็จ น้องที่ทำโครงการก็จะเอาจดหมายที่คนทำเขียนให้พี่รินมาให้ หรือถ่ายรูปมาให้พี่รินดู แล้วเอาถุงไปมอบให้เภสัช แล้วเภสัชก็เอาไปขยายทำต่อกับคนที่มารอรับยาที่อยากจะเพ้นท์ถุงของตัวเองก็ทำเอง บางคนเอาถุงผ้าไปนั่งปักลายที่บ้านแล้วเอามาให้โรงพยาบาล” อรทัยเล่า

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถมาทำถุงผ้าที่โรงพยาบาลได้ ก็ทำที่บ้าน นอกจากนี้กลุ่มคนที่รู้จักอรทัยและพี่รินยังรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมถุงผ้ารินน้ำใจในตลาดประชารัฐ จังหวัดเชียงราย และนำมาถุงผ้าให้พี่รินดูที่บ้านหรือส่งรูปและจดหมายส่งกำลังใจจากผู้ทำมาให้ดูผ่านไลน์หรือเฟสบุค แล้วนำไปบริจาคให้โรงพยาบาล

ปัจจุบันแม้พี่รินจะเสียชีวิตมากว่า 3 เดือนแล้ว แต่โครงการถุงผ้ารินน้ำใจยังคงดำเนินต่อไปและยังมีคนบริจาคถุงผ้ารินน้ำใจแก่โรงพยาบาลอยู่เนืองๆ ทั้งเพื่อส่งความระลึกถึงถึงพี่ริน และยังเป็นการส่งต่อน้ำใจสู่ผู้เจ็บป่วยและผู้ต้องการความช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกด้วย

“เราเป็นแค่จุดเริ่มต้น แล้วมีคนทำต่อ ตอนนี้โครงการก็ยังขยายต่อไปอีก นี่คือการส่งต่อพลัง ถุงนี้เป็นถุงวิเศษ ที่คนทำตั้งใจเพื่อส่งพลังงานดีๆ และเรามอบแบบตั้งใจ คนรับก็เห็นคุณค่า มันมีความหมายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม” อรทัยกล่าวในตอนท้าย

ถุงผ้ารินน้ำใจเป็นกรณีตัวอย่างที่บ่งบอกว่าเมื่ออาการของโรคดำเนินมาถึงขั้นสุดท้าย การดูแลด้านจิตใจสำคัญกว่าด้านร่างกาย การซักถามอาการเจ็บป่วยหรือแนะนำเรื่องหมอเด่นยาดีไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับตอกย้ำให้ผู้ป่วยกังวลและจดจ่อกับสภาพร่างกายมากขึ้น ส่วนการเยี่ยมไข้แบบมีกิจกรรมทำร่วมกันซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดึงความสนใจออกไปจากความเจ็บปวดทางกายและเป็นกิจกรรมที่มีความหมายและมีคุณค่า เช่น การทำเพื่อผู้อื่น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น และอำลาโลกนี้ไปอย่างมีสงบ

ขอบคุณภาพประกอบจาก อรทัย ชะฟู

[seed_social]
12 เมษายน, 2561

ยายนิ

เรื่องนี้ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกถึงเลย ความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว การเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บป่วยของญาติ
28 กันยายน, 2560

ท่องโลกกว้างกับสล็อต

ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีอารมณ์ฉุนเฉียว ขี้โมโห ถึงขั้นลงไม้ลงมือเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี บางคนเคยอารมณ์ดี
25 เมษายน, 2561

ความตาย : ธรรมดา

เดิมรู้สึกว่าความตายเป็นของที่ไม่น่าพิสมัย เหมือนการพลัดพราก การจากกัน มีแต่ด้านลบ เป็นเรื่องที่ไม่พึงมานั่งคิด คือเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องพวกนี้ เราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมแบบคนไทยโบราณ