parallax background
 

ฟังด้วยหัวใจ
กับเวิร์คช็อปการสื่อสารด้วยความกรุณาและสร้างสรรค์

ผู้เขียน: ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมานี้ กระบวนกรชุมชนกว่า 50 ท่าน ที่ได้รับคัดเลือกเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับ Peaceful Death ในกิจกรรม “อบรมกระบวนกรชุมชน เพื่อการสื่อสารด้วยความกรุณาและสร้างสรรค์ Workshop for Community Facilitators: Communication to Others with Compassion and Creativity”

ตลอด 2 วันเต็มที่กิจกรรมหลากหลายถูกดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ทว่าเปี่ยมความหมาย ซึ่งล้วนมีจุดประสงค์ให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำเครื่องมือและแนวคิดที่ได้รับไปปรับใช้กับภาระงานที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายดีในชุมชนหรือในงานของตนเองได้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีหลากหลายวัยและอาชีพ เราได้เลือกสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมบางส่วนที่ล้วนมีแง่มุมและแนวคิดในการนำกิจกรรมต่างๆที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเองได้อย่างน่าสนใจ

ดาบตำรวจชัยการ วาทะขาม

“ผมชื่อเสือครับ เป็นตำรวจ”

ชายหนุ่มคมเข้มร่างสันทัดตรงหน้าเราแนะนำตัวเองสั้นๆอย่างสุภาพอ่อนโยนก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไปของตนเองได้อย่างน่าสนใจ

ดาบตำรวจชัยการ วาทะขาม หรือ พี่เสือ ปัจจุบันรับราชการตำรวจและยังเป็นผู้ฝึกอบรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ ตลอด 26 ปีของการรับราชการตำรวจ พี่เสือคลุกคลีกับผู้ต้องหาทั้งในและนอกเรือนจำมานับไม่ถ้วน นอกจากร่างกายและจิตใจที่ต้องฝึกฝนให้สมบูรณ์พร้อมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่เป็นทักษะและสัญชาติญาณสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือทักษะ”การฟัง”

“บางครั้งผู้ต้องหาตอบเราอย่างหนึ่ง แต่มันมีความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ใต้คำพูดเหล่านั้น มันก็เหมือนภูเขาน้ำแข็งนั่นแหละ เราต้องแสวงหาความจริง ความต้องการของเขาที่อยู่ภายใต้คำพูดนั้น”

พี่เสือเล่าว่า กิจกรรมการสื่อสารอย่างสันติ (NVC :Non Violent Communication) สอนให้ตนรู้จักการฟังด้วยหัวใจ ฟังเพื่อให้รับรู้ความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายโดยไม่ตัดสิน แน่นอนว่าบ่อยครั้งเราอาจเผลอไปตัดสินเขาจากคำพูดหรือพฤติกรรมของเขา โดยที่ไม่เข้าใจเขาจริงๆว่าภายใต้คำพูดของเขาเหล่านั้นมีอะไรซ่อนอยู่ และความต้องการจริงๆของเขาคืออะไรกันแน่

นอกจากการฟังแล้ว ”การสัมผัส” ก็เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในอาชีพตำรวจ กิจกรรม “การเรียนรู้สัมผัส” จึงเป็นอีกสิ่งที่ตรงกับความสนใจของตนเองมากเป็นพิเศษ พี่เสือเล่าว่าการสัมผัสเป็นพื้นฐานของวิชาพฤติกรรมศาสตร์ บ่อยครั้งที่ตนเองต้องสื่อสารกับผู้ต้องหา การพูดคุยหรือการฟังเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทักษะที่จำเป็นมากคือการสัมผัส การหมั่นสังเกตเขา มองเขา และต้องสัมผัสตัวเขาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ งานของตำรวจจำเป็นต้องใช้ทักษะและสัญชาติญาณนี้ในการทำงานกับผู้ต้องหาอยู่เสมอ แม้ว่าการสัมผัสตัวผู้ต้องหาอาจหมายถึงการบ่งบอกพิรุธได้ แต่ในหลายๆครั้ง การสัมผัสร่างกายกลับไม่ได้ทำไปเพื่อการค้นหาความจริงเท่านั้น ในบางบริบท มันคือการให้กำลังใจ การส่งมอบพลังงานชีวิตต่างหาก ดังเช่นในการทำหน้าที่ฝึกอบรมให้แก่ผู้ต้องหาในเรือนจำ ตนเองจะคอยชี้นำแนวทาง ให้กำลังใจ และไปดึงศักยภาพในตัวผู้ต้องหาออกมา เพื่อให้พวกเขาออกไปแล้วกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“ผมเป็นเด็กเกเรมาก่อนนะ มีร่องรอย บาดแผลเต็มเนื้อตัวไปหมด แต่วันนี้ผมดึงตัวเองกลับมาได้ ผมเกเรเท่าไหร่ก็มุเรียนหนังสือเท่านั้น เราทุกคนเบนเข็มทิศชีวิตของตัวเองได้ ผมอยากบอกว่าพวกเขา (ผู้ต้องหาในเรือนจำ) ว่าพวกเขาก็ทำได้เหมือนกัน ผมจะเข้าไปจับตัวเขา สัมผัสเขา ให้เขารู้ว่าเราไม่รังเกียจเขา ชื่นชมเขา แล้วการสัมผัส และการให้กำลังใจนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า ให้เขากล้าตั้งเป้าหมายในชีวิตตัวเองใหม่ เพราะการสัมผัส ไม่ใช่แค่การจับมือ แต่เป็นการจับไปถึงหัวใจ ส่งมอบพลังงานชีวิตให้แก่กัน” ดาบตำรวจหนุ่มกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

หากเรานึกย้อนไปถึงคาบวิชาภาษาไทยเมื่อราวสิบปีก่อน การสะกดคำ แต่งประโยค จับใจความสำคัญ หรือแม้กระทั่งการยืนพูดหน้าชั้นเรียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองอันแสนง่วงนอนคงอยู่ในความทรงจำของทุกคน แต่ปัจจุบัน การเรียนวิชาภาษาไทยก้าวไปไกลกว่าที่เคย

ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้เราฟังถึงการเรียนภาษาไทยในรั้วมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ว่าแตกต่างจากในอดีตมาก ในชั้นเรียนภาษาไทย นอกจากนักเรียนจะได้เรียนเรื่องการใช้ภาษาไทยเป็นพื้นฐานแล้ว พวกเขาจะถูกสอนเรื่อง “การพูดและการฟัง” ด้วย โดยการพูด ไม่ใช่การยืนพูดหน้าชั้นเรียนอย่างฉะฉานคล่องแคล่ว และการฟังก็ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเพื่อจับใจความสำคัญอีกต่อไป

ดร.ชนกพร เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า ราวสิบปีมานี้ มหาวิทยาลัยส่งเสริมแนวคิดเรื่องการฟังอย่างใคร่ครวญ แม้ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ในภายหลังผู้ที่เคยผ่านกระบวนการเหล่านี้ได้กระจายเข้าไปอยู่ในคณะต่างๆของมหาวิทยาลัย เช่น แพทย์ พยาบาล ทำให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องการพูดและการฟังในวิชาชีพเหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งมหาลัยมหิดลเองมีศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ที่สอนด้านการฟังอย่างลึกซึ้ง (NVC) ศาสตร์นี้จึงถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตนเองเป็นครูในโรงเรียนแพทย์ จึงเลยอยากมีส่วนช่วยเชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้เข้าสู่วิชาชีพแพทย์ให้มากขึ้น

วิชา “ศิลปะการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร” เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคณะต้องเข้าเรียน ตนเองจึงพยายามสอดแทรกเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งเข้าไปในหลักสูตร โดยวิชาชีพหนึ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นประโยชน์มากคือ แพทย์ เนื่องจากนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ต้องเผชิญกับผู้คนมากมายและหลากหลายทั้งที่ยังอายุยังน้อย ยังขาดประสบการณ์ และวุฒิภาวะ นอกเหนือจากการรักษาโรคแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องพูดรื่องยากๆ ทั้งกับทั้งคนไข้และญาติ การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำอย่างไรจะทำให้เข้าใจตรงกันได้ทุกฝ่ายอย่างสันติ

“หมอคุ้นชินกับความตายของคน แต่คนไข้ไม่ได้เจอเรื่องพวกนี้ทุกวัน ความตายของพวกเขาเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งที่สำคัญ คนหนึ่งมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนหนึ่งมองเป็นเรื่องวิกฤติของชีวิต สิ่งสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้สองฝั่งจูนกันได้มากขึ้น”

กิจกรรมการสื่อสาร NVC หรือการฟังอย่างสันติ เพื่อค้นหาความต้องการภายใน และทำความเข้าใจผู้พูด จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตนเองคาดว่าจะนำไปปรับใช้ โดยออกแบบให้เข้ากับนักศึกษาแพทย์และพยาบาล อาจชวนให้คิดถึงประโยคที่คนไข้พูดแล้วพวกเขาสะเทือนใจ และชวนมองย้อนไปว่าเพราะอะไรคนไข้จึงพูดแบบนั้นกับหมอ มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดนั้นกันแน่

"เมื่อก่อนเราเอาแค่คิดหาสูตรสำเร็จ ว่าถ้าคนไข้พูดแบบนี้ ทำแบบนี้ เราจะรับมือยังไง แต่ตอนนี้เราควรสำรวจความต้องการและความรู้สึกภายใจของพวกเขาด้วย”

ดร.ชนกพร ยังเล่าเสริมอีกว่า ตอนนี้มีการออกแบบกระบวนการหนึ่งในการเรียนการสอน คือ ในชั้นเรียนจะให้นักศึกษาแพทย์เล่นบทบาทสมมุติเป็นคนไข้-ญาติคนไข้ และสร้างเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างแพทย์-คนไข้-ญาติคนไข้ จากนั้นให้ลองหาความต้องการและความรู้สึกของผู้พูดแต่ละฝ่าย อย่างน้อยก็เพื่อให้พวกเขาเข้าใจหัวอกของทุกฝ่ายมากขึ้น

“เราหวังว่าอีก 5-6 ปี เมื่อเราไปโรงพยาบาล เราจะเจอหมอที่เข้าใจหัวจิตหัวในคนไข้ และดูเป็นมนุษย์มากกว่านี้ (หัวเราะ)” ดร.ชนกพร กล่าวทิ้งท้าย

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล

เมื่อโรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กอีกต่อไป เมื่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยา มศว. จัดตั้งโครงการ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ขึ้น นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เล่าถึงจุดประสงค์ของโครงการว่าเป็นการชักชวนผู้สูงอายุมาเข้าชั้นเรียนเพื่อให้ความรู้บางเรื่องที่จำเป็นในวัยชรา เช่น กฏหมาย ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยที่เปลี่ยนไป รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างเหมาะสมกับวัย และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้ชีวิตและความต้องการของตนเองในวัยชรา เช่น การจัดการชีวิตในวันสุดท้าย ตนเองอยากตายอย่างไร มีความกังวลอะไรในชีวิตที่เหลือ ตลอดจนอยากจัดงานศพอย่างไร หรือต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ เป็นต้น การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ตนเองได้เครื่องมือหลายชิ้นไปใช้ในงานได้อย่างตรงประเด็น เช่น “เกมไพ่ไขชีวิต” ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้ความต้องการของตน พร้อมจะเตรียมตัวและจัดการความตายของเขาเองได้อย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมา การพูดถึงความตายกับคนชราอย่างตรงไปตรงมาย่อมเป็นเรื่องน่าลำบากใจ

"คำถามต่างๆในไพ่มีความเป็นมิตรสูง มันทำให้ทุกคนในวงสามารถร่วมพูดคุยเรื่องเดียวด้วยกันได้ เมื่อเกมไพ่พาไป ก็ทำให้เราคุยกันอย่างราบรื่น ไม่เคอะเขินที่จะถามเหมือนอย่างที่เคย” นพ.สุธีร์ กล่าวทิ้งท้าย.


 
จากงานอบรมกระบวนกรชุมชน เพื่อการสื่อสารด้วยความกรุณาและสร้างสรรค์ Workshop for Community Facilitators: Communication to Others with Compassion and Creativity จัดขึ้นในวันที่ 10-11 สิงหาคม 2562 ณ ห้อง De Montfort Hall ชั้น 3 มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ทองหล่อ 25 [seed_social]
25 เมษายน, 2561

สุขหรือทุกข์กับสิ่งที่เรามี

เรื่องราวของคนบ้าที่หอบข้าวของพะรุงพะรังที่พบเจอทำให้ได้กลับมาคิดทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราสะสมข้าวของเหล่านี้ไปเพื่ออะไร ?
19 เมษายน, 2561

เฮือนเย็น

สังคมไทยโชคดีที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลาย และยังคงรักษาไว้ได้ แม้ในทางปฏิบัติจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เป็นการปรับให้เข้ายุคสมัยโดยรักษาหลักการไว้มากกว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของที่นั้นๆ เป็นสำคัญ
28 พฤศจิกายน, 2560

เบาใจ…สบายกาย

ความรักมักวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราเสมอ จะเรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายรักเขา ก็เป็นฝ่ายถูกรัก ยิ่งใครเป็นคนชอบเขียนไดอารีประจำวันและเกิดรักใครขึ้นมาสักคน รับรอง