parallax background
 

DIY Before I die
ใคร่ครวญชีวิต
พินิจความตายด้วยตัวคุณเอง

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

“ถ่ายรูปให้ชัดๆ เลยนะ จะได้ให้ลูกๆ เห็น”

คุณป้าวัย ๗๐ ปีคนหนึ่งบอก หลังจากผู้เขียนขออนุญาตถ่ายรูปข้อความที่คุณป้าเขียนถึงความปรารถนาก่อนตายของตัวเอง และจะอัพโหลดรูปไปไว้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ peacefuldeath หลังจากจบงาน

คุณป้าท่านนี้เป็นเพียงหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนความปรารถนาก่อนตาย ในบู๊ธ DIY Before I die ที่โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนผู้คนให้กลับมาใคร่ครวญตัวเองผ่านการพินิจพิจารณาในเรื่องความตาย

หลังจากที่เคยทดลองนำ “กำแพง Before I die” ไปจัดวางไว้กลางห้างสรรพสินค้าระดับประเทศอีกแห่งหนึ่งเมื่อกลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนทำให้โครงการฯ มั่นใจว่า สังคมไทยบางส่วนเริ่มเปิดรับการนำเรื่องความตายมาพูดคุยและเรียนรู้กันในที่สาธารณะได้

เมื่อมีการจัดงานวัดลอยฟ้าในวันที่ ๓-๗ เมษายน ๒๕๕๗ ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โครงการฯ จึงแนวคิดดังกล่าวมาสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยปรับรูปแบบให้เหมาะกับสภาพการจัดงาน จากกำแพงขนาดใหญ่มาเป็นป้ายกระดาษเขียน “ก่อนฉันจะตาย ฉันความปรารถนาที่จะ........” แล้วนำมาตกแต่งบนผนังรอบบู๊ธเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาใคร่ครวญ พูดคุย ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องและความตายจากกันและกัน

ตลอดการจัดงาน ๕ วัน มีผู้คนแวะเวียนกันเข้ามาใช้เวลาในบู๊ธ DIY Before I die ทุกเพศทุกวัย มีทั้งที่มาคนเดียว มากันเป็นครอบครัวบ้าง เช่น คุณแม่พาลูกสาววัยรุ่นเข้ามาบ้าง หรือมากันเป็นกลุ่มกับเพื่อนบ้าง บางคนสนใจเข้ามานั่งพูดคุยกับจิตอาสานานนับครึ่งชั่วโมง หลายคนยอมรับว่าไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย ต้องใช้เวลาค่อยๆ คิด และเขียนออกมา จนปรากฏเป็นข้อความหลายเรื่องราวหลากสีสันประดับรอบๆ บู๊ธอย่างน่าชม

เมื่อมองไปรอบๆ ค่อยๆ อ่านค่อยๆ พิจารณาว่าความปรารถนาของแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง

เราพอจะแบ่งได้คร่าวๆ ออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก เป็นเรื่องของฝันเฉพาะตัว

แนวการขัดเกลาตนเอง เช่น อยากเป็นคนขยัน เรียนเก่ง พัฒนาตนเอง, แนวความสุข เช่น ขอให้มีความสุขสบาย มีความรักในทุกวัน หรือแนวทำตามความฝัน ความต้อง เช่น ถูกรางวัลที่ ๑ ไปล่องเรือท่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น

กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องความต้องการเห็นและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างหรือสังคม

แนวสร้าง/ปรับปรุงสัมพันธภาพ เช่น อยากให้ลูกทุกคนรักใคร่สามัคคีกัน เห็นครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกัน, แนวส่งลูกหลานให้ถึงฝั่ง เช่น ขอให้ลูกๆ จบปริญญาตรี อยากเห็นความสำเร็จของลูก แนวสังคมดีงาม เช่น ลดการเบียดเบียน เพิ่มความรักและเมตตา เห็นคนไทยรักกัน บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ไม่มีใครแบ่งแยกชิงดีกัน, แนวช่วยเหลือผู้อื่น/ทำประโยชน์ ทำความดี เช่น แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนทุกๆ คน ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น เป็นต้น

กลุ่มที่สาม เป็นเรื่องการตายดีทางจิตใจ

แนวภาวนา/ปฏิบัติธรรมในรูปแบบ (เผยแพร่) เช่น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงและเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ได้บวชตลอดชีวิตก่อนสิ้นลม, แนวปล่อยวาง เช่น ปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ฉันไปอย่างหมดห่วง, แนวละกิเลส เช่น ละกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง พยายามที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ได้หมดไปจากจิตใจ และแนวให้อภัย/อโหสิกรรม เช่น ให้อภัยกับทุกคนที่เคยล่วงเกิน/โกรธเคือง ขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร เป็นต้น

DIY Befor I die เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เครือข่าวพุทธิกาพยายามพัฒนาเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้คนในสังคมวงกว้างให้หมั่นระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ เพื่อให้แต่ละคนได้กลับมาทบทวนการใช้ชีวิตให้มีคุณค่า อย่างเช่นที่ สตีฟ จ็อบส์ อดีตผู้บริหารของแอปเปิลอันเลื่องชื่อเคยกล่าวก่อนเสียชีวิตไม่นานว่า“การระลึกว่า “ฉันจะต้องตายในไม่ช้า” เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมเคยพบซึ่งช่วยผมในการตัดสินใจสำคัญๆ ของชีวิต เพราะว่าเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากภายนอก ความภาคภูมิใจ ความกลัวขายหน้าหรือความล้มเหลว ล้วนไม่มีความหมายเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น”

แล้วคุณล่ะ รู้แล้วหรือยัง สิ่งสำคัญในชีวิตของคุณที่จะต้องทำให้ได้ก่อนตายคืออะไร

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

ก้าวต่อไปของกฎกระทรวง เรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ

จากกรณีความเคลื่อนไหวในการผลักดันกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน
17 เมษายน, 2561

ความเคลื่อนไหว เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมาเลเซีย

รากฐานเริ่มแรกของขบวนการฮอสพิซในมาเลเซีย เป็นผลงานการบุกเบิกของ ดาโต๊ะ ศรี จอห์น คาร์โดซา (John Cardosa) ในช่วงทศวรรษที่ ๗๐ และ ๘๐ เมื่อจอห์นพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งใน ปี ค.ศ.๑๙๗๒ ทำให้เขาประสบกับการบำบัดโรคร้ายที่คุกคามชีวิต
12 ธันวาคม, 2563

สุนทรียะกับความตายจากมุมมองพุทธวัชรยานแบบทิเบต

เมื่อกล่าวถึง “สุนทรียะกับความตาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตอบคำถามที่ว่า ความงามของศิลปะที่สื่อสารเรื่องความตายคืออะไร