สุนทรียะกับความตายจากมุมมองพุทธวัชรยานแบบทิเบต

เรียบเรียง: ดิเรก ชัยชนะ หมวด:ในชีวิตและความตาย


 

พุทธวัชรยานแบบทิเบตได้นำคุณลักษณะของพระพุทธเจ้ามาดำรงอยู่ไว้ในจิตและขันธ์ห้า ธรรมชาติของจิตคือธรรมกาย เมื่อพุทธะอยู่ในจิต จิตของสรรพสัตว์จึงบรรลุพุทธะได้ ในบาร์โด(ช่วงเวลาระหว่าง) แห่งความตายพุทธเจ้าทั้งห้าในขันธ์ห้าได้สลายและสำแดงสภาวะแสงสีปรากฏอยู่ในจิต ถ้าหากบุคคลตรึกรู้ได้ว่าแสงสีใดเป็นสำแดงของพุทธเจ้าย่อมไปสู่การหลุดพ้นหรือไปเกิดในสุขาวดี แต่หากไม่รู้ย่อมตามแสงสีที่เป็นมายาลวงล่อสู่ภพภูมิอื่น การตายดีตามสุนทรียะแบบวัชรยานจึงแนบสนิทกับประสบการณ์สุนทรียะที่เที่ยงตรงแม่นยำต่อปรากฏการณ์ของเหล่าพุทธเจ้าและเทวะในบาร์โด และช่วยให้บุคคลเปิดรับความตายได้อย่างเข้าใจในความหมายและความงดงามในฐานะประตูสู่การหลุดพ้น

 

ระบบตรีกายของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบต

                    ก่อนเข้าสู่เนื้อหาบาร์โดแห่งการตายที่อธิบายกระบวนการตายไว้อย่างละเอียดไว้ในคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต เบื้องต้นควรทำความเข้าใจก่อนว่าระบบพุทธศาสนาของมหายานและวัชรยานถือว่าพระพุทธเจ้ามี “ตรีกาย” หนึ่ง ธรรมกาย เป็นกายที่เป็นธรรม เป็นสภาวะ ความว่าง ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีหน้าตา และเป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ โดยศิลปินจะวาดภาพกายเปลือยเปล่าของพระพุทธเจ้าที่ไม่ปรุงแต่งอะไรเลยเพื่อสื่อสารสภาวะนี้กับผู้คน สอง สัมโภคกาย เป็นกายของความเบิกบาน ปีติ ความสุข ความสมบูรณ์ เป็นกายของพระพุทธเจ้าทั้งห้า (พระไวโรจนะ พระรัตนสัมภวะ พระอมิตาภะ พระอโมฆสิทธิ และพระอักโษภยะ) ที่ประทับอยู่ที่พุทธเกษตรเทศนาสั่งสอนพระโพธิสัตย์ต่างๆ และสาม นิรมานกาย เป็นกายเนรมิต กายเนื้อที่ปรากฏอยู่บนโลก เช่น พระศากยมุนีพุทธเจ้าที่เชื่อว่าเป็นนิรามนกายของพระอมิตภะ เป็นต้น

ภาพ สัมโภคกายของพระพุทธเจ้าทั้งห้าในพุทธเกษตร (Five Buddhas)

ทุกอย่างอยู่ที่จิต

แนวคิดเรื่องตรีกายของพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าทั้งห้าในพุทธเกษตรเข้มแข็งมากในฝ่ายมหายานและวัชรยาน นอกจากนี้ ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า พุทธเกษตรไม่ได้เป็นดินแดนทางกายภาพ ไม่มีพรมแดน ไม่อาจระบุสถานที่จริงได้และเหนือกาลเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายทิเบตถือว่า “พุทธเกษตรอยู่ที่จิต” ถ้าเราเข้าถึงพุทธเกษตรตรงใจได้เราจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ในพุทธเกษตร ที่มากกว่านั้นพระพุทธเจ้าทั้งห้าสุดท้ายแล้วก็อยู่ในขันธ์ห้าหรือจิตเช่นเดียวกัน กล่าวคือ พระไวโรจนะคือรูป พระรัตนสัมภวะคือเวทนา พระอมิตาภะคือสัญญา พระอโมฆสิทธิคือสังขาร และพระอักโษภยะคือวิญญาณ นั่นคือฝ่ายทิเบตดึงเอาคุณลักษณะของพระพุทธเจ้ามาสู่ที่จิต และจิตนั่นแหละคือธรรมกายหรือความว่าง(ศูนยตา)  เพราะถ้าธรรมกายไม่อยู่ในจิตแล้ว จิตของสัตว์โลกจะบรรลุเป็นพุทธะไม่ได้ การที่ครูบาอาจารย์ฝ่ายทิเบตได้ดึงทุกอย่างมาไว้ที่จิต ทำให้ช่วงบาร์โดเป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้เป็นช่วงของบรรลุพุทธภาวะหรืออย่างน้อยไปเกิดในสุขาวดี (พุทธเกษตร)

 

บาร์โดคือช่วงโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ในคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตอธิบายว่า ในช่วงระหว่างความตายและการเกิดใหม่ เรียกช่วงสภาวะนี้ว่า “บาร์โด” อัตรภพ หรือช่วงเวลาระหว่าง ซึ่งมี “บาร์โดแห่งชาตินี้” และ “บาร์โดแห่งความตาย” โดยบาร์โดแห่งชาตินี้มี 3 บาร์โด ได้แก่ บาร์โดแห่งการเกิดถึงตาย บาร์โดแห่งการหลับฝัน และบาร์โดแห่งสมาธิ  ในขณะที่บาร์โดแห่งความตายมี 3 บาร์โด ได้แก่ บาร์โดในขณะแห่งความตาย บาร์โดแห่งธรรมดา และบาร์โดแห่งการกลับคืนโดยฝั่งทิเบตเน้นย้ำบาร์โดแห่งความตายซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เริ่มสลาย และช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นช่วงสำคัญของการปฏิบัติเพื่อบรรลุพุทธภาวะหรือการหลุดพ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วบาร์โดเกิดจากจิต และแก่นแท้ของจิตคือความว่าง ในความว่างจึงปราศจากบาร์โด ไม่ว่าบาร์โดดีหรือร้ายล้วนขึ้นอยู่กับจิตของเราเอง แต่สัตว์โลกไม่รู้ในสิ่งนี้จึงบังเกิดเป็นมายาปรากฏในบาร์โดต่างๆอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ที่ว่ายวนอยู่ในสังสารวัฏฏ พระพุทธองค์จึงสอนสั่งเพื่อให้สัตว์โลกทำลายความเห็นผิดนี้

 

ช่วงแห่งการหลุดพ้นในบาร์โดในขณะแห่งความตาย

               บาร์โดในขณะแห่งความตายใช้เวลาสามวันครึ่ง ร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ที่ลำดับการสลายของธาตุในร่างกายตามคำอธิบายฝ่ายทิเบตบอกไว้ว่า ธาตุดิน (เนื้อ กระดูก และส่วนแข็งต่างๆ) จะสลายลงสู่ธาตุน้ำ อาการทางร่างกายคือขยับไม่ได้ อาการภายในจิตคือเห็นภาพนิมิตคล้ายพยับแดด  ธาตุน้ำ (เลือด เสมหะ และของเหลวในร่างกาย) สลายลงสู่ธาตุไฟ อาการทางร่างกายคือปากแห้ง คอแห้ง อาการภายในจิตคือเห็นเป็นควันรอบตัวและเหนือตัวเรา ธาตุไฟ (อุณหภูมิ) สลายลงสู่ธาตุลม อาการทางกายคืออุณหภูมิร่างกายลดลง จากที่เคยอุ่นจะเย็นลง และความเย็นวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางของร่างกาย อาการภายในจิตคือเห็นแสงวูบวาบ ธาตุลม (ลมหายใจ ลมต่างๆ)  สลายลงสู่วิญญาณธาตุ (อากาศหรือพื้นที่ว่าง) อาการทางกายคือหมดลมหายใจ อาการภายในจิตคือเห็นเปลวไฟลิบหรี่  เมื่อธาตุทั้งสี่สลายลงจะเกิดปรากฏสามทางแห่งขั้นตอน ได้แก่

 (๑) ธาตุวิญญาณสลายสู่การปรากฏ พินธุสีขาวที่อยู่กลางกระหม่อมจะฉายแสงเข้าไปสู่จิต (ทางสีขาว)

(๒)  การปรากฏสลายสู่การเพิ่มพูน พินธุสีแดงที่อยู่ฐานของกระดูกสันหลังจะปรากฏฉายแสงไปสู่จิต (ทางสีแดง)

(๓) พินธุขาวและแดงวิ่งมารวมกันที่จิต จิตจะพบกับความว่างชั่วขณะ แล้วร่วงลงสู่ความดำสนิท (ทางสีดำ) แล้วสว่างวาบและจะเกิดภาพและปรากฏการณ์แปลกๆต่างๆ

บาร์โดในขณะแห่งความตายนี้ หากเราไม่ล่วงรู้และคุ้นชินถึงมันจะเกิดความสับสนและความกลัวต่อปรากฏการณ์ แต่หากเรารู้จักและคุ้นชินกับการทำนิมิตตามการฝึกของวัชรยานในขณะมีชีวิตเราจะไม่กลัวและสามารถตามแสงแห่งพุทธะ นอกจากนี้ หากมองเห็นสภาวะที่แท้จริงว่าธาตุต่างๆล้วนคือศักติแห่งพุทธะ (พุทธเจ้าฝ่ายหญิงที่เป็นกำลังของพุทธเจ้าทั้งห้าในร่างกาย ได้แก่ โลจนาคือธาตุดิน มามกิคือธาตุน้ำ ปาณฑราคือธาตุไฟ สมยตารา (อารยตารา) คือธาตุลม และวัชรธาตุวิศวรีคือธาตุอากาศ) ถ้าหากเราตรึกรู้เช่นนี้ช่วงขณะแห่งการตาย เรายังมีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้

ในขณะเข้าสู่สามทางแห่งขั้นตอน หากตระหนักรู้ได้ว่าแท้จริงคือ “ตรีกาย” พินธุสีขาวคือนิรมานกาย พินธุสีแดงคือสัมโภคกาย แล้วมารวมกันเป็นสีดำคือธรรมกาย แล้วสว่างวาบ ในขั้นตอนแห่งทางสามนี้ก็ไม่มีสิ่งใดต้องหวาดกลัว หากตรึกได้ดังนี้และตระหนักชัดว่าจุดสิ้นสุดของทางสีดำก็คือการปรากฏแสดงแห่งแสงกระจ่างเดิมแท้คือ สภาวะธรรมชาติของจิตอันปราศจากการปรุงแต่งด้วยความคิด และการตระหนักรู้ในแสงกระจ่างนี้ก็คือการกลายเป็นธรรมกายในขณะแห่งความตาย หากวางใจและตระหนักรู้ได้ก็จะหลุดพ้น แต่หากเราเกิดความกลัวกับปรากฏการณ์เหล่านี้ก็จะเข้าสู่บาร์โดแห่งธรรมดา

 

ช่วงแห่งการหลุดพ้นในบาร์โดแห่งธรรมดา

บาร์โดแห่งธรรมดา เกิดขึ้นหลังจากการตายสามวันครึ่ง ขันธ์ห้าแห่งพุทธเจ้าทั้งห้าสำแดงสภาวะและปรากฏการณ์ในวันแรก พระไวโรจนะพุทธเจ้า (องค์สีขาว) จะปรากฏเป็นสีน้ำเงินสว่าง ขณะแสงน้ำเงินสว่างปรากฏจะมีแสงขาวแทรกขึ้นมา แสงขาวนี้คือภพภูมิเทวดา หากเราจำได้ว่าแสงน้ำเงินคือพระไวโรจนะก็จะหลุดพ้น หากเรากลัวและไปตามแสงสีขาวจะไปเกิดในภพภูมิเทวดา เมื่อเห็นแสงสีน้ำเงินสว่างควรมีทัศนะที่ถูกต้องดังนี้ (๑) ตระหนักรู้ว่าแสงน้ำเงินนั้นคือการเนรมิตปรากฏของพระไวโรจนะและสวดขอให้พระองคง์ขจัดทุกข์ในบาร์โดนั้น (๒) ให้ตระหนักรู้ว่าที่ปรากฏนั้นไม่ได้มีอยู่จริงเป็นเพียงการจำแลงของพุทธะที่สำแดงอยู่ภายในจิตของเราเองจากกาลอันไม่มีจุดเริ่มต้น การตระหนักว่าแสงและจิตนั้นเป็นหนึ่งเดียวจะทำให้เราพ้นจากทุกข์แห่งบาร์โด ทว่าโดยการล่อหลอกของแสงขาวจะนำเราไปเกิดในเทวภูมิหรือภพภูมิเทวดา ในวันที่สอง พระอักโษภยะ ปรากฏด้วยแสงสีขาว และมีแสงสีดำแห่งนรกภูมิปรากฏคู่กัน ในวันที่สาม พระรัตนสัมภาวะ ปรากฏด้วยแสงสีเหลือง และมีแสงสีน้ำเงินแห่งมนุษยภูมิปรากฏคู่กัน ในวันที่สี่ พระอมิตาภะ ปรากฏด้วยแสงสีแดง และมีแสงสีเหลืองแห่งเปรตภูมิปรากฏคู่กัน ในวันที่ห้า พระอโมฆสิทธิ ปรากฏด้วยแสงสีเขียว และมีแสงแดงแห่งเดรัจฉานภูมิและอสูรกายภูมิปรากฏคู่กัน หลังจากนั้นในวันต่อมาพระปัญจพุทธะปรากฏพร้อมกัน พร้อมด้วยแสงจากหกภูมิ ทวยเทพปางสันติและปางพิโรธปรากฏขึ้นพร้อมกัน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาสามสัปดาห์ หากเราตระหนักรู้ว่าพุทธะ และเหล่าเทพทั้งหลาย แสงทั้งหลายแท้จริงคือจิต เราก็จะหลุดพ้นจากทุกข์แห่งบาร์โดนี้ หากไม่ต้องไปสู่บาร์โดสุดท้ายคือบาร์โดแห่งการกลับคืน

 

ช่วงแห่งการเกิดในบาร์โดแห่งการกลับคืน

                    บาร์โดแห่งการกลับคืน ในบาร์โดนี้เราจะคิดถึงญาติมิตรที่เราผูกพัน จิตจะวิ่งไปหาสิ่งที่ผูกพัน  เมื่อจิตพุ่งไปจะเกิดเสียงแสงที่น่าสะพรึงกลัว หากรู้ว่าเป็นสภาวะจิตและถ้าเราไม่กลัวบาร์โดนี้เราจะไปเกิดในภพภูที่ดี และถ้าหากว่าในบาร์โดนี้เราสวดมนตร์ถึง “อมิตภะ” เราจะไปเกิดในสุขาวดี แต่ถ้าเราไม่สามารถทำได้จะถูกผลักไปเกิดใหม่ด้วยการเห็นพ่อแม่ของเราในอนาคต ในสภาวะนี้ให้เราตรึงว่า พ่อแม่ของเราเป็นเทวดาประจำตัวหรืออิสตะเทวดาสมสู่กันเพื่อจะเกิดนี้เป็นอิสตะเทวดาของผู้ปฏิบัติที่ฉายมาจากจิตเอง เราจะไปเกิดเป็นมนุษย์ในที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติธรรม  ทั้งหมดนี้ใช้เวลายี่สิบสี่วัน

 

สามวิธีแห่งหลุดพ้นจากบาร์โดและสามวิธีแห่งการตายดี

ปรากฏการณ์ต่างๆที่เราประสบในบาร์โดก็คือรอยกรรมที่เราได้กระทำไว้ในชาตินี้ ปรากฏการณ์ต่างภายในบาร์โดจึงเป็นภาพสะท้อนของจิตที่ต่างกันไปตามบุคคล แต่ไม่ว่าจะมีกี่บาร์โดที่เราเผชิญให้รู้ว่าเราสามารถหลุดพ้นได้แม้ขณะที่อยู่ในบาร์โด สิ่งต่างๆที่ปรากฏในบาร์โด เทวะ แสง เสียง ล้วนคือภาพฉายจากจิตของเราเอง ในการปฏิบัติธรรมฝ่ายทิเบตหากผู้ปฏิบัติฝึกสร้างนิมิตถึงพุทธะและเทวะต่าง ทั้งฝึกสลายนิมิตลงสู่ความว่างจนเป็นปกติ จะคุ้นชินกับปรากฏการณ์ในบาร์โดอย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตได้เสนอสามวิธีแห่งการหลุดพ้นในบาร์โดดังนี้

  • ไม่ว่าเราจะเกิดความกลัว หวาดผวาใดๆ เราควรเห็นว่าความกลัวนั้นมาจากความสับสนและความบิดเบือนของทัศนะที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ เราเป็นอิสระจากมันได้หากเรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้แยกไปจากแก่นแท้แห่งจิตของเราอันเป็นความว่างโดยเนื้อแท้
  • ตระหนักว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในบาร์โดนั้นเป็นการสำแดงของพุทธะและเทวะทั้งหลาย
  • เรียนรู้เข้าใจในบาร์โด และปรารถนาที่จะบังเกิดในสุขาวดีของพระอมิตาภะพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในพุทธวัชรยานแบบทิเบตยังบอกถึง 3 วิธีแห่งการตายดี คือ (๑) การดำรงอยู่ในธรรมชาติเดิมแท้แห่งจิตในจิตว่าง (ศูนยตา) (๒) การฝึกให้และรับหรือทองเล็น ในขณะแห่งความตายเมื่อมีความทุกข์ทรมานเกิดขึ้น พึงคิดว่า “ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีความทุกข์ทรมาน สัตว์ทั้งหลายก็ประสบกับความทุกข์นี้เช่นกัน แม้ว่าไม่มีใครอยากเผชิญกับมัน แต่ก็ไม่มีใครอาจหลีกเลี่ยงได้” จากนั้นให้เราปลุกเร้าความกรุณาขึ้นในใจแล้วตรึกว่า “วันนี้เป็นโอกาสที่ฉันได้พบกับความทุกข์ทรมาน ฉันไม่อยากให้ใครต้องได้รับมัน ดังนั้นฉันขอรับเอาความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายที่กำลังจะตายลงไว้ในความทุกข์ของฉันทั้งหมด” โดยปฏิบัติตามนี้ ช่วงหายใจเข้า ให้นึกถึงแสงสีดำควันดำอันเป็นความทุกข์ของสรรพสัตว์เข้ามา แล้วหายใจเข้าดูดเอาควันดำเข้ามาสู่ตัวเรา ช่วงหายใจออก ให้หายใจส่งแสงสีขาว ความสุข และความรักให้สรรพสัตว์ ทองเล็นเป็นอุบายในการนำความทุกข์ความเจ็บปวดมาฝึกปฏิบัติให้เราหลุดพ้นเพื่อการตายอย่างสงบ และ (๓) หากในชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้ปฏิบัติธรรมมา ให้รู้ว่าจิตในขณะตายนั้นมีกำลังมากขอให้ตั้งจิตมั่นถึงอมิตภะพุทธเจ้าขอไปเกิดในสุขาวดี

 

สรุป

พุทธวัชรยานแบบทิเบตได้ดึงเอาทุกอย่างมาอยู่ที่จิต และจิตของสรรพสัตว์คือธรรมกาย ที่อธิบายเช่นนี้เพราะว่าในช่วงขณะตายเป็นช่วงที่คุณลักษณะของพุทธเจ้าทั้งห้า ตรีกาย เทพต่างในพุทธเกษตรได้สำแดงตัว และสลายลงสู่ความว่าง นี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้เป็นช่วงบรรลุพุทธภาวะ หรืออย่างน้อยไปเกิดในสุขาวดี สุนทรียะแบบวัชรยานเกี่ยวข้องกับการรับรู้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรงต่อคุณลักษณะของพุทธเจ้าหรือเทวะต่างๆในบาร์โดแล้วสลายนิมิตลงสู่ความว่าง รวมถึงช่วยให้บุคคลมีทัศนคติของการเปิดรับความตายได้อย่างเข้าใจในความหมายและความงดงามในฐานะชั่วขณะแห่งการหลุดพ้น นอกจากนี้ มุมมองการตายดีของพุทธวัชรยานแบบทิเบตสัมพันธ์อยู่กับการมีชีวิตที่ดี ถ้าหากว่าขณะมีชีวิตบุคคลได้ฝึกสร้างนิมิตถึงพุทธเจ้าและเทวะได้อย่างคุ้นชินนั่นย่อมนำไปสู่การหลุดพ้นและตายดี และความรู้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้งสี่และอาการร่างกายในบาร์แห่งการตายช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อสื่อสารกับผู้ใกล้ตายให้วางใจในธรรมชาติของจิตว่าง หรือช่วยนำทองเล็น หรือตั้งจิตอย่างไม่โอนเอนถึงอมิตาภะ ขอไปเกิดในสุขาวดีโดยพลัน

บทสวดของสายชางปะการ์จู

“ จิตนี้ว่างกระจ่างใส ไร้ความเจ็บไข้

ในความว่าง ความตายก็ไม่มีอยู่

พุทธภาวะเป็นเพียงชื่อขาน ไม่มีสิ่งใดให้ลุถึงอีกครั้ง

ไม่มีผู้ใดท่องอยู่ในสังสาร

ดังนั้น สังสารก็มิได้ดำรงอยู่

ความแน่แท้แห่งความไร้ตายของกายและใจได้ลุถึงไว้แล้ว

ไม่มีความพลาดผิดใดๆถูกสร้างขึ้น เกี่ยวกับสังสารและนิพพาน

ขอข้าฯจงเยียวยาความป่วยไข้แห่งกรรม กิเลส และมายา!

ขอข้าฯจงถึงตรีกาย ณ บัดนี้พลัน! ”

 

เรียบเรียงส่วนหนึ่งของคำบรรยายจากห้องเรียน “สุนทรียะกับความตาย”
กับ ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา (อ.ดอน)
วันที่ 31 ตุลาคม 2563
เวลา 9:00 - 16:30 น.

[seed_social]

10 มกราคม, 2561

กอด…เพิ่มพลัง สู้โรค

แปดปีก่อน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ของการกอดในงานเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายโรงพยาบาล
22 พฤศจิกายน, 2560

จดหมายถึงก้อนเมฆ

ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป หนูไม่มีแรงใจอยากจะทำอะไรเลยค่ะ มองไปทางไหนก็เซ็งสุดๆ เฮ้อออ! ขนาดนั่งเขียนจดหมายอยู่นี่ก็ยังไม่อยากเขียนเลยค่ะ ยิ่งฝนตกพรำๆ แบบนี้
2 มกราคม, 2561

ยอมรับความตาย ยอมรับความจริง

หลายๆ คนที่เคยเลี้ยงหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยมาบ้าง ไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือมาก ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความรู้สึกหรือการตัดสินใจของเจ้าของทั้งสิ้น เริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่า “ป่วย”