parallax background
 

Love / Language

ผู้เขียน: ธารินทร์ เพ็ญวรรณ (นพ.) หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

เขาเป็นชาวออสเตรเลียเกษียณที่มาพบรักใหม่ในประเทศไทย

เธอคือหญิงม่ายที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว ๒ ครั้ง ลูกชายวัย ๑๐ ปี ของเธอก็เริ่มคุ้นเคยกับพ่อใหม่คนนี้แล้ว

แต่ทว่า ตอนนี้เขากำลังจะตาย ลมหายใจที่รวยรินและร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันตอกย้ำความจริงนี้แก่เธอ อย่างไม่ปราณี เมื่อผมพบกับเขาเป็นครั้งแรก เราสามารถสื่อสารกันได้แค่การกระพริบตา และคำถาม ใช่/ไม่ใช่ แบบง่ายๆ เท่านั้นเนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปที่สมองแล้ว

ทางทีมผมได้พบกับเขาครั้งแรกเมื่อคริสมานอนที่โรงพยาบาลได้เกือบสองสัปดาห์ สาเหตุที่แพทย์หลักปรึกษานั้นก็เพื่อคุมอาการไม่สุขสบายต่างๆ ปัญหาด้านจิตสังคม ร่วมกับเป็นล่ามช่วยแปลภาษาให้ด้วย

เมื่อไปถึงที่ห้องของผู้ป่วย ครอบครัวจากออสเตรเลียก็มีท่าทีระแวดระวังขึ้นมาทันที โชคดีที่คู่หูของผมวันนั้นเป็นพยาบาลที่มาจากประเทศเดียวกัน พอเธอแนะนำตัวเองไปว่าเราคือทีมพาลลิเอทีฟ แคร์ ท่าทีของครอบครัวก็เปลี่ยนไปในทันที

“พระเจ้า!! เรารอพวกคุณอยู่เลย! ขอบคุณมากที่มา” เคต พี่สาวคนโตบอก ขณะที่จับมือกับคู่หูผม

“สวัสดีครับหมอ” วิล น้องเขยยกมือไหว้ผมแล้วจับมือทักทายเบาๆ อีก ๒ คนที่อยู่ในห้องคือ ลอร์เรน น้องสาวของคริสและพี่พร ภรรยาชาวไทย

คริสมีอาการหลายอย่าง ทั้งเรื่องอาการปวดและหอบเหนื่อยจากตัวโรค ผมเริ่มวางแผนปรับยาพร้อมอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ แก่ญาติ คริสเองก็พยายามมองตามและฟังผมอย่างตั้งใจ

“เดี๋ยวผมจะปรับยาแก้ปวดที่ชื่อว่ามอร์ฟีนให้คุณนะ แล้วจะมาดูอีกทีในวันพรุ่งนี้ ถ้ายังปวดอยู่มากก็ขอยาเพิ่มได้นะครับ”

คริสมองหน้าผมแล้วกระพริบตาหนึ่งที

“เขาบอกว่าเข้าใจน่ะหมอ เราตกลงกันว่าถ้าคริสอยากบอกว่าใช่ให้กระพริบตา ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องทำอะไร” เคต อธิบายเพิ่ม

ครอบครัวดูสบายใจขึ้นมากเมื่อผมมาอธิบายถึงขั้นตอนและแผนการรักษาในขั้น ต่อๆ ไปเนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครบอกอะไรกับพวกเขาเลย ระหว่างที่คู่หูของผมคุยกับเพื่อนร่วมชาติ ผมก็อธิบายให้พี่พรฟังเป็นภาษาไทยเพิ่มเติม

ในผู้ป่วยรายนี้ อาการไม่สุขสบายทางกายนั้นคงต้องปรับยาและมาดูเป็นระยะ แต่ปัญหาอื่นที่ผมกังวลนั้นมีอีก ๒ อย่างคือผมไม่แน่ใจว่าพี่พรสามารถสื่อสารกับครอบครัวฝั่งสามีได้มากน้อยแค่ ไหน เนื่องจากสังเกตว่าเวลา วิล หรือ เคต พูดกับพร เธอจะดูไม่เข้าใจทั้งหมด คนอื่นๆ จึงต้องพยายามปรับภาษาให้ช้าและง่ายขึ้นจึงจะสื่อสารกันได้ อีกอย่างหนึ่งคือผมกังวลว่าเธอจะถูกเสียงข้างมากกลบเสียงของตัวเองไปหรือ เปล่า นี่นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะปกติเวลาชาวต่างชาติมาอยู่ที่เมืองไทยก็มักจะอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้องคนไทยของภรรยา แต่ครอบครัวนี้คนไทยกลับกลายเป็นเสียงส่วนน้อยซะอย่างงั้น

พอเดินออกมาจากห้องพี่พรก็ตามออกมาและยืนยันความกังวลของผมด้วยตัวเอง

“หมอ...ฉันมีเรื่องอยากขอร้องหมอหน่อย หมอช่วยเป็นล่ามคุยกับทางนั้นได้ไหม? ภาษาอังกฤษฉันไม่ค่อยดี”

“ได้ครับ พี่พรอยากบอกอะไรกับพวกเค้าเหรอครับ?” เธอนิ่งไปพักหนึ่งก่อนที่จะบอกต่อ

“เป็นความผิดของฉันหรือเปล่าหมอ?”

“ครับ?”

“ที่พาเค้ามาโรงพยาบาลสาย...จนเป็นถึงขนาดนี้…”

พี่พรมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด เท่าที่ฟัง เธอคงกังวลว่าตนพาสามีมาโรงพยาบาลสายจนมะเร็งเป็นถึงขั้นลุกลาม

“พี่พรครับ...ผมเข้าใจนะว่าพี่รู้สึกเครียดและรู้สึกผิดกับสามี แต่พี่พรไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองนะครับ โรคพวกนี้ บางทีมันไม่ได้ตรวจพบง่ายๆ ในระยะแรกเริ่ม” ผมทิ้งช่วงไปครู่หนึ่งจึงค่อยบอกต่อ “และตอนนี้พี่ก็มาดูแลเขาเป็นอย่างดี ผมเห็นได้ว่าเขารับรู้ได้และทางพี่น้องคริสก็บอกกับผมเองว่าพี่พรดูแลน้องของพวกเขาดีมาก”

พี่พรดูสีหน้าคลายกังวลลงเล็กน้อย แต่ยังไม่ทั้งหมด

“งั้นหมอช่วยบอกแทนฉันหน่อยได้ไหม? บอกกับพวกเขาว่าฉันขอโทษ...ขอโทษที่ทุกอย่างออกมาเป็นแบบนี้”

“ได้ครับ....แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นปมในใจของพี่พรและผมว่าทุกๆ คนน่าจะอยากได้ยินจากตัวพี่เอง ถ้าพี่ต้องการ ผมก็จะเป็นล่ามแปลให้ แต่ถ้าพี่อยากพูดด้วยตัวเองก็ทำได้เหมือนกัน พี่คิดว่าไงครับ?”

พี่พรเงียบไปพักหนึ่งก่อนที่จะบอกว่า “งั้นฉันบอกเองหมอ”

วันถัดมา ผมไปปรับยาให้คริส ดูพี่พรยังมีสีหน้ากังวลเหมือนเดิม ทางครอบครัวออสเตรเลียก็ถามตอบกับผมหลายอย่างและพยายามถามความเห็นร่วมในการ ตัดสินใจกับพี่พรด้วย เธอฟังไม่เข้าใจในหลายๆ ประเด็น ผมจึงเป็นล่ามแปลให้เหมือนเดิม ดูเหมือนว่าผมจะกังวลเกินไปเรื่องที่ว่าพี่พรจะโดนเสียงข้างมากกลบ เพราะพวกเขาเคารพการตัดสินใจและเสียงของพี่พรเป็นอย่างดี

เมื่อผมออกจากห้อง เคตก็เดินตามผมออกมา เธอบอกถึงความกังวลของเธอให้ผมฟัง

“หมอ...พรเค้าจะไหวรึเปล่านะ พวกฉันมาช่วงกลางวันแล้วกลับไปที่พักช่วงเย็น แต่พรกลับอยู่เฝ้าคริสตลอด ๒๔ ชม. เลย ไม่รู้ได้นอนบ้างหรือเปล่า พวกฉันกังวลมาก อยากให้เขาพักและคิดถึงสุขภาพของตัวเองบ้าง แค่นี้พวกเราก็ซาบซึ้งกับเธอมากแล้ว”

“เขารู้สึกผิดหลายๆ อย่างน่ะ แล้วเมื่อวานพรคุยกับพวกคุณรึยังนะ?”

“รู้สึกผิด? เรื่องอะไรล่ะ??? แล้วเมื่อวานก็ไม่เห็นเขาพูดถึงอะไรนี่?”

ดูเหมือนว่าพี่พรจะยังไม่ได้บอกความกังวลของตัวเองให้คนอื่นฟัง ขืนปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ ผมจึงคิดว่าคงต้องจัดประชุมในครอบครัวสักที ผมเข้าไปในห้องอีกครั้งแล้วอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่าอยากนัดคุยกับครอบครัว ทั้งหมด ทุกคนพยักหน้ารับทราบและเดินไปอีกห้องหนึ่ง พี่พรดูสีหน้าตื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่วิลก็โอบไหล่เธอไว้อย่างอ่อนโยนและชวนกันไปที่ห้องประชุม

เมื่อทุกคนมากันครบ ผมจึงอธิบายให้พี่พรฟังสั้นๆ ว่าที่เรียกมาก็เพราะจะเป็นล่ามบอกถึงความในใจ ของพี่พรให้ทุกคนรับทราบ เธอจึงแลดูตื่นน้อยลง

“ฉันขอโทษ...ขอโทษที่พาเขามาโรงพยาบาลสาย....ตอนนั้นเขาบอกว่าปวดขา...ถ้าฉันเร่งให้เขาไปตั้งแต่ตอนนั้นก็คง...ฉันขอโทษ...ขอโทษจริงๆ ....ฉัน เสียใจ....ที่เค้าต้องกลายเป็นแบบนี้....I…am…sorry.....” พี่พรพูดเสียงขาดๆ ปนก้อนสะอื้น นัยน์ตาแดงก่ำ เมื่อทางครอบครัวออสเตรเลียรับทราบทุกคนก็ตกใจและพากันปลอบประโลมเธอทันที

“เธอช่วยเขาได้มากแล้วนะพร เธอดูแลเขา อยู่ด้วยกันกับเขาทั้งตอนที่เขาสบายดีและตอนที่เขาป่วย แค่นี้พวกฉันก็รู้สึกขอบคุณเธอมากแล้ว และฉันมั่นใจว่า คริสเองก็รับรู้ได้เช่นกัน”

“เขาเป็นคนอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่เจ็บหนักจริงๆ ก็จะไม่ไปหาหมอหรอก ต่อให้คริสอยู่ในออสเตรเลีย ฉันก็เชื่อว่าจะไม่ต่างกัน”

“ใช่ แล้วรู้ไหมว่า คริสเคยบอกอะไรให้ฉันฟัง? เขาบอกว่า ช่วงเวลา ๖ ปีที่เขาอยู่ในไทย อยู่กับเธอ เป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุดในชีวิต”

ได้ยินถึงตรงนี้พี่พรก็ปล่อยโฮออกมาทันที น้ำตาแห่งความอัดอั้นตันใจพรั่งพรูออกมาไม่หยุดหย่อน เธอคงแบกรับความรู้สึกนี้มาตลอด โดยที่ไม่ได้คุยกับใครเลย

ถึงตรงนี้ก็หมดหน้าที่ล่ามอย่างผมแล้ว พวกเขากอดและกุมมือกันเงียบๆ อยู่พักใหญ่โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหรือวจี ใดๆ ใช้เพียงแค่อ้อมกอดและการสัมผัสเท่านั้นก็เพียงพอที่จะสื่อความในใจของกัน และกันได้

มีคำพังเพยภาษาอังกฤษอันหนึ่งที่ว่า Elephant in the room ซึ่งหมายถึงเวลาที่มีเรื่องบางอย่างปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ทุกคนรับรู้ถึงมันได้ แต่ไม่มีใครพูดถึงสิ่งนั้น อาจจะเพราะไม่อยากคุย อยากหลีกเลี่ยง หรืออะไรก็ตามแต่

แต่สำหรับครอบครัวนี้ ช้างที่ว่านั้นเป็นช้างสัญชาติออสเตรเลีย และต้องการควาญช้างที่คุยภาษาช้างได้ ก็เท่านั้นเอง

ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/578120

[seed_social]
28 กันยายน, 2560

ท่องโลกกว้างกับสล็อต

ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีอารมณ์ฉุนเฉียว ขี้โมโห ถึงขั้นลงไม้ลงมือเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี บางคนเคยอารมณ์ดี
19 เมษายน, 2561

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
19 เมษายน, 2561

จะนำทางสามีตอนใกล้สิ้นลมอย่างไรดี

นับตั้งแต่หมอบอกว่าสามีป่วยเป็นมะเร็ง เธอและสามีไม่เคยอยู่ห่างกันเลย เธอจะคอยดูแลและให้กำลังใจมาตลอด จนผ่านไปปีกว่า หมอบอกว่าสามีเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว แม้จะรู้ว่าต้องเตรียมใจรับกับสภาพดังกล่าว