parallax background
 

โตเกียว 8.0 วันโลกแตก
(Tokyo Magnitude 8.0)

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล ทำให้นึกถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายๆ แห่ง ล่าสุดคือสึนามิที่ญี่ปุ่น ท่ามกลางความเลวร้ายของภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และต่อเนื่องด้วยปัญหากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล แต่สิ่งที่ทั่วโลกกำลังชื่นชมสังคมและคนญี่ปุ่นคือ ภาวะที่ยังคงรักษาสติและตั้งมั่นอยู่ในระเบียบวินัย แตกต่างกับหลายประเทศที่เกิดภาวะจลาจล จี้ปล้น ทำร้ายกันยามเกิดภาวะภัยพิบัติ แอนิเมชั่นเรื่อง Tokyo Magnitude 8.0 นำเสนอให้เห็นว่า ท่ามกลางภัยพิบัติ สิ่งดีงามยังคงเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญเราเรียนรู้และเติบโตท่ามกลางภัยพิบัติและการสูญเสียได้

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยฉากชีวิตของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่และลูกสองคน กับชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกนัก สองคนพี่น้องออกเดินทางไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งซึ่งอยู่นอกเมือง อารมณ์ที่หงุดหงิดกับสภาพรอบตัว มิไร ตัวเอกของเรื่องนึกสบถในใจว่า ขอให้โลกแตกๆ ไปซะ แล้วสิ่งที่เกิดตามมาคือ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย และที่สำคัญน้องชายติดอยู่ในอาคารที่กำลังถล่ม และนั่นคือ ฉากเปิดเรื่องราวของการเดินทางที่มี มิไร น้องชาย และมาริ หญิงสาวคนที่ผ่านพบร่วมเดินทางเพื่อกลับบ้านบนเส้นทางที่น่าหวาดหวั่น

“อย่าสูญเสียความหวัง” ดูจะเป็นแก่นสำคัญของเรื่องราว ตัวละครพกพาความหวังในช่วงการเดินทางกลับบ้านว่า พ่อแม่ของตนยังมีชีวิตและรอคอยตนอยู่ ขณะที่ในเส้นทาง พวกเขาต้องเอาตัวรอด ต่อสู้กับความหวาดหวั่นต่อภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาฟเตอร์ช็อค โรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการสูญเสียของผู้คนที่ผ่านพบ แต่พวกเขายังยืนหยัดช่วยเหลือและดูแลใส่ใจกัน แม้ว่าภัยพิบัติจะรุนแรงสาหัสและโหดร้ายเพียงใด แต่การที่ได้ระลึก ได้รับรู้ ได้สัมผัสว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ยังคงมีน้ำใจ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจจากคนอื่น คือน้ำทิพย์ที่ปลอบประโลมใจท่ามกลางความทุกข์ยากขมขื่น

ญี่ปุ่นใช้สื่อการ์ตูนในการหล่อหลอมเยาวชนและเป็นสื่อบันเทิงสำคัญ ตัวละครเอก คือ มิไร เป็นเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยต่อต้าน มองโลกแง่ลบ ทุกอย่างรอบตัวดูขวางหูขวางตาไปหมด แต่ท่ามกลางภัยพิบัติ เธอได้ค้นพบและเรียนรู้ถึงการเสียสละ ความรัก และที่สำคัญคือ เธอได้เรียนรู้ถึงการสูญเสีย การปล่อยวาง การมีและใช้ชีวิต แอนิเมชั่นยังเชื่อมโยงประเด็นทางจิตวิทยาถึงคุณธรรม ความกล้าหาญและความเสียสละ มาริเป็นแม่ม่าย เธอมีแม่และลูกสาวตัวน้อยที่รอคอยอยู่ แต่เธอเลือกที่จะดูแลรับผิดชอบมิไรกับน้องชาย ในใจของมาริคงมีความขัดแย้งที่เสียงหนึ่งเรียกร้องให้มาริกลับไปหาแม่กับลูกสาว แต่อีกเสียงคือ ความเมตตากรุณาที่มีต่อเด็กน้อยสองคนที่ต้องการการปกป้องช่วยเหลือ การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในความเป็นแม่ และคุณธรรม ทำให้มาริเลือกหนทางดังกล่าว

ในภัยพิบัติ การสูญเสียสร้างความเจ็บปวดและเป็นบาดแผลรุนแรงในจิตใจของผู้ที่มีชีวิต เหยื่อผู้สูญเสียมักเกิดความรู้สึกผิดในใจ ความโกรธ ความเศร้า รวมถึงความปวดร้าว เหยื่อหลายคนเกิดภาวะซึมเศร้า เกิดอาการจิตหลอน สูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิต แอนิเมชั่นช่วยให้คนดูเห็นวิธีการรับมือกับความทุกข์ของตัวเอก คือการยอมรับ การร้องไห้ไว้อาลัยกับความสูญเสีย แต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป และผู้ที่ยังอยู่รับผิดชอบต่อผู้จากไปด้วยการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์และมีคุณค่า มิไรได้พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเลือกและใช้ชีวิตด้วยสายตาของคนที่ได้เรียนรู้ถึงความรัก มีน้ำใจต่อคนอื่น

“ฉันจะเดินหน้าต่อไป เพราะ (คนที่ฉันรักและรักฉัน) กำลังเฝ้าคอยดูฉันอยู่”

ประเด็นความตายในเรื่อง เป็นความตายที่ไม่มีสัญญาณเตือน เกิดโดยไม่คาดคิด เพียงไม่กี่นาที ความตายก็พรากสิ่งที่เรารัก คนที่เรารักให้สูญหายไป ไม่มีโอกาสบอกลา ที่สำคัญไม่มีโอกาสให้ใครได้เตรียมตัวนัก ท่ามกลางภัยพิบัติ มิไรได้พบว่าผู้คนมากมายต่างสูญเสียบุคคล สัตว์เลี้ยง ทรัพย์สินอันเป็นที่รัก และสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ สิ่งสำคัญมากกว่าคือ วิธีการรับมือกับการสูญเสีย บางคนรับมือผ่านความโกรธแค้น ความโศกเศร้าอาลัย บางคนรับมือด้วยการยอมรับและสู้ชีวิตต่อไป

สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ ระบบการจัดการและการรับมือภัยพิบัติ ภาพสังคมญี่ปุ่นคือ การมีวินัย การช่วยเหลือ รวมถึงการลุกขึ้นมาทำหน้าที่อาสาสมัคร แม้อาสาสมัครหลายคนเพิ่งผ่านการสูญเสีย แต่พวกเขาเลือกลุกขึ้นทำสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อคนอื่น แทนการวางตัวเองเป็นเหยื่อ หรือยอมจำนน ภายใต้ภัยพิบัติ การมีสติ วินัย ความรับผิดชอบและการช่วยเหลือแบ่งปันเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่เพียงการเตรียมแต่ด้านกายภาพ

ในส่วนของสังคมไทยซึ่งภัยพิบัติมีโอกาสเกิดขึ้น การพร้อมรับวิกฤตการณ์ใดๆ นอกเหลือจากการเตรียมทางด้านระบบ ด้านกายภาพ สิ่งสำคัญมากๆ คือ คุณภาพของประชาชน สำนึกเพื่อส่วนรวมของคนในสังคม แอนิเมชั่นได้รับความนิยมมากในแง่เนื้อหารวมถึงการเดินเรื่องที่น่าติดตาม สาระที่สะท้อนความสำคัญต่อการเสียสละ การช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก ลำบากเป็นเรื่องที่ควรรับชม การรับมือภัยพิบัตินอกเหนือจากการเตรียมรับมือด้านกายภาพ เทคโนโลยี ที่สำคัญมากๆ ด้วยคือ การเตรียมพร้อมด้านจิตใจ การรับมือกับผลกระทบที่มีต่อจิตใจ

บนเส้นทางความทุกข์ยาก การสูญเสีย การตายจากไป การเรียนรู้และการเติบโตเกิดได้เสมอ

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

โอกาสสุดท้ายเพื่อการร่ำลา (Departures – Okuribito)

ภาพบรรยากาศแสงอาทิตย์ลาลับ ท้องฟ้าสีแดงฉาน นกร่ำร้องกระพือปีกบินเป็นทิวแถวกลับไปนอนรัง ยังคงมัดตรึงใจผู้เขียนอยู่ทุกครา ราวกับเป็นเสียงเตือนบอกเราว่า หมดเวลาแล้วสำหรับวันนี้
18 เมษายน, 2561

Source code เวียนว่ายตายเกิดใน ๘ นาที

โควเตอร์ สตีเวนส์ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้ว สภาพแวดล้อมที่ปรากฏ ผู้คนตรงหน้าล้วนแล้วแต่แปลกไป โควเตอร์รู้สึกเหมือนถูกจับโยนลงไปในวงล้อมที่ตัวเขาแทบไม่รู้อะไรเลย จากนั้นสำนึกที่เกิดขึ้นทำให้พบว่าเขาอยู่ในร่างของชายแปลกหน้า
1 ตุลาคม, 2561

ถอดบทเรียนชุมชนกรุณาผ่านวรรณกรรม The Perks of Being a Wallflowers : เวทีชีวิตและการเติมเต็ม

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยรอยต่อของเด็กและผู้ใหญ่ จากช่วงวัยเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง พวกเขามีหน้าที่เชื่อฟังเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ภายใต้การดูแลโอบอุ้มของผู้ใหญ่ ช่วงวัยรุ่นก็เป็นช่วงวัยที่พวกเขาก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน