parallax background
 

ถอดบทเรียนชุมชนกรุณาผ่านวรรณกรรม The Perks of Being a Wallflowers :  เวทีชีวิตและการเติมเต็ม

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยรอยต่อของเด็กและผู้ใหญ่ จากช่วงวัยเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง พวกเขามีหน้าที่เชื่อฟังเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ภายใต้การดูแลโอบอุ้มของผู้ใหญ่ ช่วงวัยรุ่นก็เป็นช่วงวัยที่พวกเขาก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน คือ การเรียนรู้ที่จะฝึกหัด ลองผิดลองถูกกับการทำตามความต้องการของตนเอง อิสรภาพ และความรับผิดชอบของตนเอง เฉกเช่นที่ผู้ใหญ่ที่เติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ สามารถดูแลรับผิดชอบตนเอง คนรอบตัว มีสติปัญญา สุขุมหนักแน่นในอารมณ์ ความรู้สึก คุณภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ในวัยรุ่น ในผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อพวกเขาฝึกหัดที่จะเรียนรู้เรื่องสำคัญคือ การเรียนรู้ตนเอง

เรื่องราวของวรรณกรรมเล่มนี้ บอกเล่าชีวิตของกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่แวดล้อมกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ โดยมีชาร์ลีเป็นแกนกลางสำคัญของเรื่องราว หลากหลายเรื่องย่อย มุมมองและประเด็นถูกถ่ายทอดและสื่อสารผ่านสายตาของชาร์ลี ตัวเอกของเรื่องราวถูกถ่ายทอดในรูปของจดหมายที่เขาเขียนถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งก็คือ ตัวเขาเอง เรื่องราวที่ผ่านสายตาของชาร์ลีก็คือ สายตาของผู้เขียนวรรณกรรมมากกว่าสายตา มุมมองของเด็กหนุ่มอายุ ๑๕-๑๖ ปี

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการเปิดฉากชีวิตของชาร์ลี ในฐานะนักเรียนชั้นมัธยมปลาย หวาดหวั่นและกังวลต่อการปรับตัวกับชีวิตนักเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนแห่งใหม่ ชาร์ลีเพิ่งผ่านการสูญเสียเพื่อนสนิทที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พร้อมกับความเป็นตัวชาร์ลีที่อ่อนไหวกับความรู้สึก รวมถึงความรู้สึกถึงการมีบาดแผลบางอย่างในจิตใจจากการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันและมีความหมายกับชีวิตของชาร์ลี

ชาลีเป็นเด็กหนุ่มที่มองจากสายตาคนภายนอก หรือแม้แต่พี่สาวที่ดูใกล้ชิด ก็คือ คนที่ดูเพี้ยน คิด นึก รู้สึกหรือทำอะไรแตกต่างจากภาพมาตรฐานของเด็กวัยรุ่นทั่วไป ขณะที่คนอ่านจะพบว่าบางส่วนในตัวเราสมัยเมื่อวัยรุ่นก็มีอะไรมากมายที่คล้ายคลึงชีวิตของชาร์ลี เช่น ความสับสนในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความกังวลต่อชีวิต ต่อสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญ ต้องปรับตัว ความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง รวมถึงการลองผิดลองถูก รวมถึงการทดลองทำอะไรหลายอย่างเพื่อค้นหาตนเอง การค้นหาว่าเราคือใคร เราเติบโตมาอย่างไร ผู้เขียนวรรณกรรมเล่มนี้ สื่อสารชีวิตของวัยรุ่นที่จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก้าวผ่านจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว เรื่องราว Coming-of-Age ของเพื่อน 3 คน ชาร์ลี แพทริก และแซม ที่ผสมปนเปด้วยการออกเดทครั้งแรก สื่อผ่านชีวิตของชาลีที่ต้องเจอปัญหาชีวิต เผชิญการสูญเสีย การคบเพื่อนใหม่ พบมิตรภาพ มีความรักแต่ก็สับสนกับการแสดงออก สื่อสาร และแวดล้อมไปกับวัฒนธรรมของยุคสมัยผ่านหนังสือสำคัญ เช่น หนังสืออ่านนอกเวลา สมัยมัธยม เทป แผ่นเสียง เซ็กส์ และยาเสพติดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การได้อ่านชีวิตของชาร์ลีจึงเหมือนการได้ท่องเวลาสมัยเมื่อเราเป็นวัยรุ่น พร้อมกับการได้เรียนรู้ว่า ชาร์ลีผ่านและเติบโตบททดสอบชีวิตมาได้อย่างไร

ความนิยมและความดีงามในหนังสือเล่มนี้กลายเป็นที่มาให้เกิดความสนใจและได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์อินดี้เรื่องเยี่ยมที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์มากมาย นักแสดงเอ็มม่า วัตสัน ซึ่งโด่งดังจากภาพยนตร์ชุดแฮรี พอตเตอร์ ก็เลือกรับเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะชื่นชอบในเรื่องราว เธอแสดงในบทของแซม ตัวเอกอีกคนในเรื่อง นักแสดงที่รับบทสำคัญถ่ายทอดความเป็นตัวละครราวกับเดินออกมาจากหนังสือ ผู้เขียนจำได้ว่าครั้งแรกที่รู้จักเรื่องนี้โดยเข้ารับชมภาพยนตร์นี้โดยบังเอิญ และเหมือนถูกสะกดไปกับเรื่องราวพร้อมกับได้ทบทวนชีวิตวัยรุ่นของตนเองไปพร้อมกัน หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสอ่านหนังสือเรื่องนี้ก็รับรู้ถึงความประทับใจในภาพชีวิต มิติเรื่องราวในอีกแบบที่ถ่ายทอดบางแง่มุมที่ภาพยนตร์เลือกตัดทอน หรือสื่อสารได้ไม่เท่าหนังสือ

การเขียนบทความนี้ ทำให้ผู้เขียนได้อ่านเรื่องนี้อีกครั้งเป็นรอบที่สาม และรับรู้มิติใหม่ในมุมมองเรื่องชุมชนกรุณาซึ่งจะนำเสนอเป็นแก่นเนื้อหาของบทความนี้

ย้อนชีวิตสมัยวัยรุ่น พวกเราแต่ละคนพอจดจำได้มั้ยว่า เราผ่านชีวิตความเป็นวัยรุ่นมาอย่างไร ชีวิตการเป็นนักเรียนมัธยมปลายมีหน้าตาอย่างไร เราได้เรียนรู้อะไรบ้างกับชีวิตช่วงนี้ เราจัดการตัวเองอย่างไรกับเรื่องความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนๆ กับผู้ใหญ่ที่แวดล้อมชีวิตขณะนั้น เราดูแล รับผิดชอบในเรื่องการเรียน การสอบ และการเตรียมตัวสู่อนาคตอย่างไรบ้าง

แนวคิดของ นพ.มาร์แชล โรเซนเบริก ผู้ริเริ่ม ก่อตั้งเครื่องมือการเรียนรู้และทักษะชีวิตชีวิตที่เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ (non violence communication) ชี้ว่าเบื้องหลังการกระทำทุกอย่างมีความต้องการ (needs) บางอย่างซ่อนอยู่ และเมื่อความต้องการนั้นได้รับการตอบสนองดูแล การกระทำนั้นก็นำไปสู่ความเต็มอิ่ม ความสุขสงบ พอใจในชีวิต ในสัมพันธภาพ ในบริบทรอบตัวนั้น สอดคล้องกับแนวคิดจิตบำบัดครอบครัวโดยเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดสำคัญ ซาเทียร์โมเดล ซึ่งใช้เครื่องมือสำคัญคือ อุปลักษณ์ภูเขาน้ำแข็ง ในฐานะภาพจำลองโลกภายในที่มีด้านล่างของภูเขา คือ ความปรารถนา (yearnings) ในฐานะอาหารใจ ซึ่งช่วยเติมเต็มพลังชีวิต (life energy) ให้กับตัวเรา

"เบื้องหลังการกระทำทุกอย่างมีความต้องการ (needs) บางอย่างซ่อนอยู่"

ความรัก การยอมรับ การใส่ใจ การมีคุณค่า ความหมาย อิสระ ความเข้าใจ การเติบโต การเรียนรู้ การให้ หรือได้ความเคารพ ความปลอดภัย มั่นคง ฯลฯ เราอาจจะเรียกว่า ความต้องการ ความปรารถนาหรืออาหารใจก็ตาม วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ความต้องการเหล่านี้ได้รับการเติมเต็มจากพ่อแม่ จากผู้ใหญ่ และวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเติมเติมให้กับตนเอง แสวงหาจากการกระทำของตนเอง จากการสัมพันธ์กับสังคมรอบตัว และหากความต้องการเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง สิ่งที่เกิดขึ้นและรับมือกับความผิดหวังนี้ก็คือ การสร้างระบบปกป้องตนเอง ผ่านการถอนตัว การกล่าวโทษคนอื่น หรือกับตนเอง เช่นเดียวกับชาร์ลีที่พร้อมวางตัวให้เป็นเหมือนไม้ประดับ เก็บงำและซุกซ่อนความเป็นตัวเอง

ชาร์ลีเข้าไปในโรงเรียนด้วยความหวาดหวั่น เครียดและกังวล แต่ที่โรงเรียน ชาร์ลีและเพื่อนๆ ได้ก้าวผ่านชีวิตวัยรุ่นมาสู่ความเป็นบุคคลที่มีความภาคภูมิใจในตนเองได้ มีความหวังกับชีวิตและอนาคตข้างหน้าก็ด้วยการได้มีชุมชนกรุณาที่แวดล้อม พวกเขาต่างส่งมอบและน้อมรับความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน

ความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน เป็นองค์ประกอบสำคัญในสายสัมพันธ์ของชุมชนกรุณา ซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือ
๑) สายสัมพันธ์ระดับลึกซึ้ง (strong tie) มิตรภาพในหมู่เพื่อนสนิท ความรัก ผูกพันกันภายในครอบครัว พี่น้อง ญาติมิตร ซึ่งมีคุณภาพมากพอจนเกิดความรัก ความใส่ใจและนำไปสู่การกระทำ การสื่อสาร การแสดงออกที่มีพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
๒) สายสัมพันธ์ระดับทั่วไป (weak tie) สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ในโรงเรียนเดียวกัน เชื้อชาติ หรือมีความเชื่อมโยงบางอย่างร่วมกัน เช่น คุณค่า อุดมการณ์ ค่านิยม ความเชื่อมโยงนี้ได้สร้างแรงกดดันจากสายสัมพันธ์ให้เกิดการเคลื่อนไหวบางอย่าง กลายเป็นค่านิยมร่วม วัฒนธรรมร่วม

สายสัมพันธ์ของชุมชนกรุณา ซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือ สายสัมพันธ์ระดับลึกซึ้ง และ สายสัมพันธ์ระดับทั่วไป

ตลอดเรื่องราวของชีวิตวัยรุ่น และชีวิตครอบครัว เราจะเห็นสายสัมพันธ์ทั้งในระดับลึกซึ้งและระดับทั่วไป คุณภาพของสายสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่อะไร ในเรื่องราวเราจะเห็นความเป็นไปในชุมชนที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมเสี่ยงมากมายของวัยรุ่น ทั้งกับเรื่องยาเสพติด เซ็กส์ สถานที่อโคจรต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตของพวกเขา แต่เมื่อเรามองผ่านสายตาของการเรียนรู้ วรรณกรรมเล่มนี้ถ่ายทอดบอกเล่าเส้นทางการเรียนรู้ การก้าวข้ามผ่านวัยของพวกเขาได้อย่างน่าสนใจและมีคุณค่าแก่การอ่านสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทุกคนที่อยากเข้าใจวัยรุ่น

ในชุมชนกรุณา เราจะพบสายสัมพันธ์ทั้งระดับลึกซึ้ง และระดับทั่วไป คุณภาพความสัมพันธ์ทั้งสองเราจะพบเรื่องของการใช้อำนาจ

การใช้อำนาจเหนือ : เราจะเห็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเหนือจากวัย เพศ อายุ ประสบการณ์ชีวิตที่มีมากกว่า ใช้ความไว้วางใจที่อีกฝ่ายมอบให้ ฝ่ายที่ใช้อำนาจเหนือกว่าใช้ประโยชน์ในลักษณะละเมิด ทำร้ายอีกฝ่าย ดังเช่น กรณีแซมและชาร์ลีที่ถูกผู้ใหญ่ละเมิดทางเพศเมื่อวัยเด็ก กรณีใช้อำนาจของความเป็นเพศชายทำร้ายฝ่ายหญิง กรณีแฟนหนุ่มที่ทำร้ายพี่สาวของชาร์ลีในความสัมพันธ์หนุ่มสาว การไม่ซื่อสัตย์ในความสัมพันธ์ของรักในวัยรุ่น หรือตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างแพทริกกับแบรด แฟนหนุ่มในเรื่องวัฒนธรรมรักต่างเพศกับรักร่วมเพศ

การใช้อำนาจร่วม : กรณีความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของชาร์ลี แซมและแพทริกที่ต่างร่วมกันดูแลสุข ทุกข์ ทำหน้าที่ของเพื่อนแท้ รักและปรารถนาดีต่อกัน การทำงานของจิตแพทย์ที่มีกับชาร์ลี บิลในฐานะครูกับชาร์ลีที่สนับสนุนให้เกียรติและเคารพอีกฝ่าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะมีสถานะเป็นผู้อ่อนด้อยกว่า

ตลอดเรื่องราว เราจะเห็นบทบาทของผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเหนือของตนทั้งในลักษณะกัลยาณมิตร ดังเช่นบิลที่พยายามสนับสนุนลูกศิษย์ให้รักการอ่าน พ่อแม่ที่พยายามใส่ใจดูแลลูก บทบาทของครอบครัว ญาติที่ส่งต่อค่านิยม ความคาดหวังต่อวัยรุ่น เยาวชน บทบาทของผู้ใหญ่ที่ข่มเหงละเมิดความปลอดภัย ความไว้วางใจต่อเด็กจนมีผลรุนแรงกลายเป็นบาดแผลชีวิตและส่งต่อผลกระทบ กรณีครอบครัวของแบรด อคติต่อเพศที่สามทำให้ลูกชาย คือ แบรดมีชีวิตที่ช่อนเร้น ทุกข์ทรมานกับการยอมรับตนเอง กรณีของชาร์ลีเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีอาการของความเจ็บป่วยทางจิตใจ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าชาร์ลีอาจมีอาการของความซึมเศร้าซุกซ่อนอยู่ ภายใต้ท่าทีที่ดูอ่อนไหว ชาร์ลี็มีความรุนแรง แต่ในเรื่องราวชาร์ลีได้ก้าวข้ามวัยมาสู่การมีวุมิภาวะ มองเห็นคุณค่าและยอมรับตนเอง ยอมรับอดีต การกระทำของคนรอบตัวโดยเฉพาะกับญาติที่เป็นคนละเมิดทำร้ายและเป็นคนที่ชาร์ลีรัก และผูกพัน ชาร์ลีเติบโตปลอดภัยกับบททดสอบชีวิตที่เข้ามาได้ เนื่องด้วยการมีชุมชนกรุณาคอยโอบอุ้ม

เป็นวัยรุ่นมันยาก และพวกเขาก็ต้องการชุมชนกรุณาช่วยประคอง

อ้างอิง
- คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง (แปล) Stephen Chbosky (เขียน) จดหมายรักจากนายไม้ประดับ
- พรเลิศ อิฐฐ์, วิโรจน์ ภัทรทีปกร (แปล) Charles Duhigg (เขียน) สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1%
- ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ (แปล) มาร์แชล โรเซลเบริคส์ (เขียน) สื่อสารอย่างสันติ

[seed_social]
22 กันยายน, 2560

ใครอ่านข้อความนี้ต้องตาย

คุณอ่านไปแล้ว อย่าทำเป็นไม่เห็น เพราะถ้าคุณอ่านมาถึงประโยคนี้ มันก็สายเกินไปแล้ว จากนี้ไปเตรียมตัวได้เลย “คุณ ต้อง ตาย” เพราะนี่คือข้อความต้องคำสาป
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
20 เมษายน, 2561

ปันรักให้สัตว์โลก

เชื่อว่าทุกคนคงต้องการความรักความใส่ใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะมาจากคนที่อยู่แวดล้อมเรา หรือจากสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ สัตว์เองก็มีความต้องการความรักไม่ต่างจากเราเช่นกัน ไม่ว่าจะจากคนที่เลี้ยง หรือสัตว์ด้วยกันเอง