ผู้เรียบเรียง: เอกภพ สิทธิวรรณะธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย
หลังจากซิเซลี ซอนเดอร์ เห็นความจำเป็นที่จะก่อตั้งฮอสพิซแห่งใหม่ เพื่อบริการผู้ป่วยระยะท้ายด้วยวิถีทางที่ค้นพบ เธอจึงเริ่มระดมทุนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า ระหว่างระดมทุน ซอนเดอร์สร่างแผนผังฮอสพิซอย่างประณีตไปพร้อมกัน
เธอตั้งชื่อฮอสพิซแห่งนี้ว่าเซนต์คริสโตเฟอร์ (Saint Christopher's) ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้คุ้มครองนักจาริกแสวงบุญ” สถานบริการแห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี 1961
ปี ค.ศ. 1963 พี่ชายของซอนเดอร์สพบทำเลที่เหมาะแก่การสร้างฮอสพิซที่ไซเดินแฮมซึ่งเธอเห็นดีด้วย เพราะอยู่ในท่ามกลางชุมชน มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก เธอเชื่อว่า ฮอสพิซที่ดีควรตั้งอยู่ในที่ที่ครอบครัวและเพื่อนเดินทางมาเยี่ยมได้บ่อยๆ
ในระหว่างที่กำลังสร้างฮอสพิซอยู่นั้น ซอนเดอร์สได้เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะในเดรียนแกลอรี (Drian Gallery) ลอนดอน ที่นั่น เธอพบภาพเขียน Christ Calming the Waters ผลงานของศิลปินชาวโปแลนด์ที่ชื่อ มาเรียน โบฮุชชิชโก้ (Marian Bohhusz-Szyszko) ซอนเดอร์สซื้อภาพนั้นเพื่อไปประดับในฮอสพิซ ภาพเขียนนั้นนำไปสู่การแลกเปลี่ยนจดหมายบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตซึ่งกันและกันระหว่างเธอและศิลปินชาวโปแลนด์ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาเติบโตเป็นความรักครั้งที่สามของซอนเดอร์ส ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1980 ขณะที่เธอมีอายุ 61 ปี และโบฮุชชิชโก้มีอายุ 79 ปี
สามีของเธอเสียชีวิตในปี 1995 ที่เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซนั่นเอง ในขณะที่เขามีอายุ 94 ปี
เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ สร้างเสร็จและเปิดบริการรับผู้ป่วยคนแรกในวันที่ 13 กรกฎาคม 1967 พร้อมๆ กับเป็นแผนกวิจัยและศูนย์การศึกษา ในปี 1970 กรมบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (The National Health Service - NHS) ร่วมสนับสนุนงบให้บริการ 2 ใน 3 ของฮอสพิซ ทั้งยังส่งแพทย์เข้ามาฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแล
เซนต์คริสโตเฟอร์คือสถานบริการฮอสพิซสมัยใหม่แห่งแรกที่ให้ความสำคัญกับการวิจัย นำมาสู่การยกระดับความรู้เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การวิจัยที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับการทดลองปฏิบัติจริงประสบความสำเร็จอย่างเป็นปรากฏการณ์ ความสำเร็จของสถานบริการแห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจในการปรับปรุงแนวทางการให้บริการของฮอสพิซแห่งอื่นๆ ไม่เพียงแต่ในประเทศอังกฤษเท่านั้น
แม้ซอนเดอร์สจะเป็นผู้ริเริ่มฮอสพิซสมัยใหม่จากเซนต์คริสโตเฟอร์ส แต่งานของเธอไม่หยุดอยู่เพียงสถานบริการที่เธอก่อตั้ง ซอนเดอร์สยังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเผยแพร่แนวคิดและวิถีการให้บริการผู้ป่วยระยะท้ายรูปแบบใหม่ ทั้งที่นิวยอร์ก ลอสแองเจอลิส บอสตัน เพื่อวางรากฐานให้แก่ฮอสพิซที่มาขอคำแนะนำจากเธอ
การเกิดขึ้นของเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายกิจการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพียงสามปีหลังจากซอนเดอร์สเปิดบริการที่เซนต์คริสโตเฟอร์ ก็เกิดฮอสพิซแห่งแรกในประเทศอเมริกา แคนาดา และเพียงไม่กี่ปีต่อมาก็เกิดฮอสพิซที่ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน
ซอนเดอร์สเกษียณอายุตนเองจากการเป็นแพทย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปี 1985 (ขณะอายุ 66 ปี) และลาออกจากการเป็นคณะผู้บริหารในอีก 15 ปีต่อมา เธอได้รับรางวัลทางการแพทย์มากมาย และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ดาม" (Dame : ท่านผู้หญิง) แห่งสหราชอาณาจักร ในปี 1989
"วิสัยทัศน์และงานของซอนเดอร์สเปลี่ยนวิถีการดูแลผู้ใกล้ตาย รวมถึงแนวทางการรักษาทางการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงในประเทศอังกฤษเท่านั้น หากคือทั่วทั้งโลก เธอให้แรงบันดาลใจแก่พวกเราทุกคน" ผู้อำนวยการเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซปี 2008 กล่าวในงานรำลึกในวันขอบคุณพระเจ้า
ซอนเดอร์สป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและเสียชีวิตอย่างสงบที่เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซซึ่งเธอเป็นผู้ก่อตั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม 2005 ขณะที่เธอมีอายุ 87 ปี
เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ เมื่อความรักเติบโตงอกงามเป็นบริการ
ฮอสพิซที่ซอนเดอร์สก่อตั้ง มีเสาหลักในการบริการ 3 เสา คือส่วนให้บริการ ส่วนการวิจัย และส่วนให้การศึกษา
สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ จะไม่เพียงนอนอยู่บนเตียงรอรับยาหรืออาหารเท่านั้น ที่นี่ได้จัดห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ สำหรับทำกิจกรรมสังคม กิจกรรมศิลปะ การพูดคุยกับครอบครัว กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด สามารถใช้ห้องอาบน้ำ โรงยิมสำหรับออกกำลังกาย รวมทั้งห้องแต่งหน้าทำผม บางวันผู้ป่วยสามารถเลือกเข้ากิจกรรมดนตรีบำบัด การพบกับผู้นำทางจิตวิญญาณตามศาสนาที่ตนเองเคารพ และงานเลี้ยงสังสรรค์กับครอบครัวอื่นๆ ทุกวันเสาร์
เหตุที่ผู้ป่วยมีกิจกรรมให้เลือกเข้าร่วมหลายกิจกรรม เพราะการบำบัด “ความเจ็บปวดมวลรวม” (Total Pain Concept) ที่มิใช่สาเหตุทางกาย จำเป็นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคมช่วยประคับประคองผู้ป่วยด้วย สัตว์เลี้ยง ดนตรี รวมถึงผู้ป่วยรายอื่นและครอบครัว มีบทบาทคลี่คลายความทุกข์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแพทย์และพยาบาล
นอกจากแพทย์และพยาบาลที่เป็นบุคลากรประจำแล้ว ยังมีบุคลากรสุขภาพสายงานอื่นๆ ที่ช่วยดูแลผู้ป่วย เช่น นักอาชีวบำบัด นักศิลปะบำบัด นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการสังคม เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยรายบุคคล และอาสาสมัครที่หลากหลาย การออกแบบให้ฮอสพิซมีพื้นที่ขนาดใหญ่รองรับกิจกรรมทางสังคม รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เอื้อให้เกิดความผ่อนคลาย สดชื่น เบิกบาน จึงเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบฮอสพิซ
สำหรับญาติผู้สูญเสีย เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซยังสนับสนุนการฟื้นคืนจากความโศกเศร้าสูญเสียด้วยกลไกและกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การจัดกลุ่มพูดคุยระหว่างผู้สูญเสีย การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ การจัดกิจกรรมรำลึกผู้จากไป การจัดหาเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้โศกเศร้ารายบุคคล ตลอดจนการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความโศกเศร้าสูญเสียแก่สาธารณะ
นอกจากนี้ เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ ยังมีบริการติดตามเยี่ยมบ้าน สำหรับผู้ป่วยที่เลือกจะใช้ชีวิตในช่วงท้ายที่บ้าน โดยจะจัดหาบุคลากรสุขภาพและอาสาสมัครที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจากไปอย่างสงบ
นอกจากการให้บริการแล้ว เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซยังมีแผนกสื่อสารให้ความรู้แก่บุคลากร ผู้ดูแล และผู้สนใจงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มีการจัดคอร์สและโปรแกรมการฝึกอบรมหลากหลายหลักสูตร เช่น การเผชิญความตายอย่างสงบ การสนทนาเกี่ยวกับสุขภาพในระยะท้าย การสร้างความร่วมมือในทีมดูแลสุขภาพ การอบรมเพื่อเป็นผู้ฝึกอบรม (Training for Trainer) การประเมินผู้ป่วยระยะท้าย การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในเด็ก การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า เป็นต้น
ตั้งแต่แรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซผ่านกาลเวลามาแล้ว 50 ปี หากแต่สถานบริการแห่งนี้ดูเหมือนมิได้แก่ตัวลงเลย ยิ่งเวลาล่วงผ่านไป ยิ่งเต็มไปด้วยพลังเยาว์วัย มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายในทุกๆ ด้านอย่างถึงที่สุด นับว่าความรักของซอนเดอร์สที่มีต่อผู้ป่วยทุกคน ได้เติบใหญ่เป็นแนวคิดและระบบการดูแลที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งโลก
ดูเหมือนคำกล่าวของซอนเดอร์สเมื่อแรกตั้งฮอสพิซแห่งนี้ จะยังคงสะท้อนก้องอยู่ในอิฐทุกก้อนของเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ
เอกสารประกอบ
Daryanani, Danesh. (2017). The Singapore Hospice and Palliative Care Story: The Movement that Refused to Die. Singapore Hospice Council.
อ่านเรื่องราวและบริการของเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซได้ที่ www.stchristophers.org.uk
ติดตามเรื่องราวย้อนหลังของความรักของซิเซลี ซอนเดอร์ส ตอนที่ 1
และ ซิเซลี ซอนเดอร์ส ตอนที่ 2