parallax background
 

ความรักของ ซิเซลี ซอนเดอร์ส (1)
รักแรกของซอนเดอร์สกับความเจ็บปวดมวลรวม

ผู้เขียน:เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ในโลกนี้ยังมีสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างโรงพยาบาลทันสมัย สถานที่ซึ่งมุ่งรักษาชีวิตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ กับบ้าน สถานที่ซึ่งบางครั้งอาจไม่พร้อมรองรับผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต สถานที่นั้นคือฮอสพิซ หรือสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเน้นการดูแลบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย เยียวยาประคับประคองให้ครอบครัวได้ใช้เวลาดูแลมิติด้านจิตใจและสังคม โดยมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรสุขภาพและอาสาสมัครคอยสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงท้ายและจากไปอย่างสงบ

ฮอสพิซเป็นระบบบริการสุขภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจากสถานการณ์สังคมซึ่งมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายมากขึ้น ต้นกำเนิดของแนวคิดนี้ต้องสืบย้อนไปถึงเรื่องราวชีวิตและความรักของผู้หญิงคนหนึ่ง ซิเซลี ซอนเดอร์ส

ฮอสพิซคืออะไร ให้บริการใดแก่ผู้ป่วยและครอบครัว เราอาจตอบคำถามนี้ได้ดีขึ้น หากรู้จักชีวิตและความรักของผู้ก่อตั้ง ซิเซลี ซอนเดอร์ส

วัยเด็กของซิเซลี ซอนเดอร์ส

ซิเซลี ซอนเดอร์ส (Cicely Mary Stode Saunders) เกิดปี ค.ศ. 1918 ที่ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่ร่ำรวย พ่อของเธอทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซอนเดอร์สเป็นพี่ใหญ่ในบรรดาพี่น้องทั้งสาม เธอเติบโตในบ้านหลังใหญ่ที่มีสนามเทนนิสและสวนดอกไม้ ถึงกระนั้น ซอนเดอร์สมีความสัมพันธ์กับแม่ที่ไม่ดีนัก

เมื่อเธออายุ 14 ปี ซอนเดอร์สถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนหญิงรอดีน เธอเป็นเด็กขี้อายและรู้สึกแปลกแยก เพราะมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เธอจึงเดินหลังค่อม จนมีอาการปวดหลังเป็นประจำจนต้องนอนราบกับพื้นวันละสี่สิบนาที

ความรู้สึกเจ็บปวดนี้ทำให้ซอนเดอร์สเข้าใจความทุกข์ของผู้ที่กำลังจนตรอก ซึ่งเป็นผลดีทางอาชีพของเธอในเวลาต่อมา ซอนเดอร์สเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในวัยเด็ก เธอไม่ชอบโรงเรียนและรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกตลอดเวลา แต่นั่นกลับเป็นสิ่งดี เพราะความรู้สึกเช่นนี้ทำให้เธอเข้าใจคนที่รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า รู้สึกว่าตนอยู่ผิดที่ผิดทาง

ซอนเดอร์สต้องการเป็นพยาบาล แต่พ่อไม่อนุญาต หากสนับสนุนให้เธอเรียนวิชาปรัชญาเศรษฐกิจการเมือง ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนน์ ออกซ์ฟอร์ด ซอนเดอร์สเกือบจะได้ทำงานเป็นเลขานุการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งอังกฤษ หากไม่เกิดสงครามเสียก่อน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซอนเดอร์สหยุดเรียนเพื่อไปเป็นอาสาสมัครกาชาดที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ในปี 1944 เธอมีศักยภาพสูงมากในการช่วยเหลือผู้คน อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นพยาบาลเพราะอาการเจ็บหลังเรื้อรัง 

ประสบการณ์จากการเป็นอาสาสมัครในครั้งนั้น ทำให้เธอกลับไปเรียนที่ออกซ์ฟอร์ดในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ ในปี 1947

รักแรกของซอนเดอร์ส กับความเจ็บปวดมวลรวม

ปี 1948 ซอนเดอร์สทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์เต็มตัวที่โรงพยาบาลอาร์ชเวย์ ลอนดอน ที่นั่นเธอได้พบผู้ลี้ภัยหนุ่มชาวยิว-โปแลนด์ ชื่อเดวิด ทาสมา (David Tasma) อดีตบริกรวัย 40 ปี ที่กำลังเผชิญความตายด้วยโรคมะเร็ง นั่นคือชายคนแรกที่ซอนเดอร์สตกหลุมรัก

ซอนเดอร์สในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ผู้ดูแลทาสมาอย่างใกล้ชิด เป็นประจักษ์พยานรับรู้ความปวด ความเหงา ความสิ้นหวังของทาสมา การดูแลครั้งนั้นส่งผลต่อตัวเธออย่างลึกซึ้ง ทั้งสองใช้เวลากว่าสองเดือนอยู่ร่วมกันก่อนที่ทาสมาจะจากไปพร้อมกับความรัก

ซอนเดอร์สเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันตระหนักว่าเราไม่เพียงต้องการการดูแลความปวดทางกายเท่านั้น แต่ยังต้องการการดูแลที่ครอบคลุมการเยียวยาความเจ็บปวดในทุกๆ ด้าน ฉันเข้าใจว่าผู้ป่วยต้องการพื้นที่สำหรับเป็นตัวของตัวเอง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ​ควรได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม” การดูแลครั้งนั้นทำให้เธอเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ความเจ็บปวดมวลรวม (Total Pain)

ประสบการณ์การดูแลเดวิด ทาสมา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ความลึกซึ้งที่เข้มข้นทำให้เธอมีความคิดที่จะสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยที่ครอบคลุมไม่เฉพาะมิติทางกายภาพ​เท่านั้น แต่ยังดูแลสนับสนุนมิติทางอารมณ์จิตใจด้วย

 

เมื่อทาสมาจากไป เขาให้เงิน 500 ปอนด์แก่ซอนเดอร์ส เพื่อเป็นทุนตั้งต้นให้เธอทำสิ่งที่ปรารถนา ทาสมากล่าวว่า “ฉันจะเป็นหน้าต่างบานหนึ่งในบ้านของเธอ” (I’ll be a window in your home) เพื่อให้เธอสร้างสรรค์อะไรก็ตามที่ช่วยสนับสนุนการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย 

ความรักของซอนเดอร์สและทาสมาในครั้งนั้น เป็นประกายแรกที่ผลักดันให้เกิดเซนต์คริสโตเฟอร์ลอนดอน ซึ่งเป็นฮอสพิซสมัยใหม่แห่งแรกของโลกในเวลาต่อมา

แนวคิดความเจ็บปวดมวลรวม

ก่อนที่จะติดตามความรักของซอนเดอร์สในตอนต่อไป เรามาทำความเข้าใจแนวคิด “ความเจ็บปวดมวลรวม” (Total Pain Concept) บางคนแปลเป็นภาษาไทยว่า ความเจ็บปวดองค์รวม หรือ ผลรวมความเจ็บปวด

ก่อนหน้าที่ซอนเดอร์สจะเสนอแนวคิดนี้ การแพทย์สมัยใหม่เข้าใจว่า ความเจ็บปวดคือความรู้สึกทุกข์ทรมานทางกายซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท และสามารถระงับบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด 

แต่สิ่งที่ซอนเดอร์สสังเกตพบในระหว่างการดูแลทาสมาด้วยความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง คือ ในระหว่างที่ผู้ป่วยเจ็บปวดทางกาย ยังมีความเจ็บปวดรูปแบบอื่นที่ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กัน ในลักษณะทับซ้อน ผสมผสาน ซอนเดอร์สจึงเริ่มพัฒนาแนวคิดความเจ็บปวดมวลรวมนับจากนั้น

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้เข้าใจแนวคิดความเจ็บปวดมวลรวมได้ดีขึ้น คือ

เมื่อแพทย์ถามเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยหญิงคนหนึ่ง ตอนแรกเธอบรรยายว่า ความปวดค่อยๆ เริ่มต้นจากหลังของเธอเป็นอันดับแรก แต่แล้วผู้ป่วยก็กลับไปเล่าเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสามีและลูก เธอร่ำไห้ว่าสามีเธอเพิ่งถูกไล่ออกและเริ่มขาดเงิน ทำให้เธอรู้สึกผิดและร้องไห้เมื่อต้องจ่ายเงินค่ารักษา เธอบ่นว่าเธอรู้ตัวดีว่าไม่ควรโทษโชคชะตาฟ้าดิน แต่เธอก็รู้สึกน้อยใจว่าไม่มีใครเข้าใจเธอเลย

จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าว ความกังวลใจ ความทุกข์ด้านสังคม ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ปรากฏขึ้นมาพร้อมๆ กับอาการปวดหลังในลักษณะซ้อนทับเป็นชั้นๆ (Layer) การทำความเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วยเพื่อที่จะดูแลได้ดีขึ้น จึงต้องตระหนักถึงธรรมชาติของความเจ็บปวดที่มีลักษณะเป็นผลรวมแห่งความทุกข์ 

ต่อมาภายหลัง จึงมีการให้คำนิยามความเจ็บปวดมวลรวม (Total Pain) ว่าหมายถึง ผลรวมจากอาการทางกายซึ่งเป็นผลจากโรค ความบีบคั้นคับแค้นใจ ปัญหาด้านอารมณ์และสังคม ความเจ็บปวดมวลรวม เป็นแนวคิดที่ซอนเดอร์สใช้ในการออกแบบพื้นที่ ระบบบริการและวิถีปฏิบัติในเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ

 

การเข้าใจความเจ็บปวดมวลรวมของผู้ป่วย ไม่สามารถวัดได้จากตัวเลขกระแสไฟฟ้าจากสารเคมีในสมองเท่านั้น หากแต่ต้องทำความเข้าใจผ่านการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล จนกระทั่งผู้ป่วยมีอิสระที่จะสามารถเล่าระบายความทุกข์ในชีวิตที่อาจเกี่ยวกับอาการของโรค การรับฟังอย่างลึกซึ้งจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากต่อการทำความเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วย หลายครั้งที่การทำความเข้าใจและความกรุณาในระหว่างการสร้างความสัมพันธ์อาจช่วยเยียวยาความทุกข์ในชั่วขณะนั้นเอง

 

ความเข้าใจความรู้สึกทุกข์ทรมานพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจภาพรวมชีวิตของผู้ป่วยยังช่วยให้ผู้ดูแลสามารถประสานความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับปัญหาของผู้ป่วยในแต่ละกรณี ความเข้าใจเรื่องความเจ็บปวดมวลรวม นำมาสู่แนวคิดการออกแบบฮอสพิซให้มีความเป็นส่วนตัว มีบรรยากาศที่สบาย เหมาะแก่การเปิดใจเล่าความทุกข์และการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้ครอบครัวได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแล สร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ให้การสนับสนุนทางอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ด้วยความกรุณาเอื้ออาทร

 

แนวคิดความเจ็บปวดมวลรวม ได้รับพิสูจน์ว่ามีประโยชน์และใช้ได้ผลในเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ จนปัจจุบัน แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในฮอสพิซอื่นๆ และพัฒนาเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั่วโลก

เราจะกล่าวได้ว่า “การเข้าใจความทุกข์ของคนคนหนึ่งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออีกชื่อหนึ่งของความรัก”


 

เอกสารประกอบ

Danesh Daryanani. (2017). The Modern Hospice Movement. ใน The Singapore Hospice and Palliative Care Story. (น. 16–25).

Archives of Dame Cicely Saunders (1918-2005): Cataloguing the papers of the modern hospice pioneer. (ม.ป.ป.). สืบค้น 12 สิงหาคม 2017, จาก https://cicelysaundersarchive.wordpress.com/tag/david-tasma/

“‘Total pain’: the work of Cicely Saunders and the maturing of a concept”. End of life studies, 25 กันยายน 2014. http://endoflifestudies.academicblogs.co.uk/total-pain-the-work-of-cicely-saunders-and-the-maturing-of-a-concept/.

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

บทเรียนจากการจากไปของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

ในสังคมไทย พระอาจารย์ชื่อดังหลายๆ รูป มักถูกยื้อชีวิต ยืดความตายในระยะท้ายของชีวิต หลายรูปจากไปท่ามกลางความไม่สงบ เนื่องจากท่านสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูง อีกทั้งผู้ดูแลที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาก็มักต้องการให้ท่านมีชีวิตอยู่ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
6 กุมภาพันธ์, 2561

การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจะเป็นบาปไหม?

การใช้สิทธิที่จะตายไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการเลือกตายด้วยการุณยฆาตเสมอไป คนที่รู้ตัวว่ารักษาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นโรคที่หายยาก และอายุก็มากแล้ว ถึงรอดตายไปวันนี้อีกไม่นานก็ต้องเจออีก
20 เมษายน, 2561

ดูแลใจด้วยงานศิลปะ

งานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นงานหนักและต่อเนื่อง ต้องอาศัยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและเวลา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นผู้ดูแลทั้งที่เป็นบุคลากรสุขภาพหรือเป็นญาติผู้ป่วย ต่างต้องเหนื่อยล้า ประสบภาวะเครียด ท้อแท้ หงุดหงิดรำคาญใจ