parallax background
 

พรุ่งนี้ตาย หรือจะตายเมื่อไหร่ดี

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

Die Tomorrow เป็นผลงานหนังสารคดีของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่สื่อสารเรื่องความตายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้แทรกแฝงอยู่ในบางฉากของเรื่อง และไม่ได้มีความบันเทิงแอบซ่อนอยู่ในฉากใด แต่หนังชวนให้ขบคิดและระลึกถึงความตายได้ตลอดเรื่องอย่างเนียนๆ

เพื่อให้เล่าถึงหนังเรื่องนี้ได้เข้าใจง่ายขึ้น อาจแบ่งหนังเป็นสองส่วน คือส่วนของการสัมภาษณ์ความเห็น ที่นำเสนอการโต้ตอบของคำถามและคำตอบอย่างตรงไปตรงมา อีกส่วนหนึ่งคือฉากชีวิตผู้คนที่กำลังจะตายและตายไปแล้ว โดยหนังทั้งสองส่วนจะถูกสลับตัดฉับผ่านไปมาและร้อยเรียงด้วยข้อเท็จจริงและ “ตัวเลข”

ส่วนที่เสนอบทสนทนาความคิดเรื่องความตาย เด็กชายที่พูดจาฉะฉานเปรียบการตายว่าคือ “การหายวับไปเลย” และอีกหลายข้อความที่เด็กสื่อสารออกมาอย่างฉลาด แต่ยังคงจับนัยยะได้ว่าความตายนั้นยังอยู่ไกลตัวเด็ก ขณะที่ความคิดของชายชราวัย ๑๐๔ ปีมองความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นชะตากรรม และเป็นความหวังที่อยากจะตาย (เสียที) จริงๆ ยังมีข้อความจากเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ร้องไห้เมื่อต้องพูดถึงเรื่องความตาย ก็อาจสะท้อนได้ถึงความไม่เข้าใจและความกลัวที่ปะปนอลวนอยู่ในน้ำเสียงของเด็กน้อย

อีกส่วนหนึ่งของหนังคือแต่ละฉากของชีวิตที่สะท้อนถึงเรื่องการตายอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาที่อีกฝ่ายหนึ่งป่วย คู่พี่น้องที่เพิ่งกลับมาพบกัน คู่รักที่อีกฝ่ายหนึ่งกระโดดตึกตาย กลุ่มเพื่อนที่เพิ่งเรียนจบและเต็มไปด้วยความฝัน รวมถึงชีวิตและความตายในวงการมายา ซึ่งหากจะเล่าเรื่องราวทั้งหมด หนังอินดี้ (หนังนอกกระแส) เรื่องนี้จะขายไม่ออก ในที่นี้จึงจะเลือกเฉพาะตอนที่ประทับใจมาเป็นตัวอย่างบางส่วน

เรื่องของคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายภรรยาป่วย ต้องอาศัยสายออกซิเจนตลอดเวลา แต่เธอยังคงปฏิบัติต่อสามีอย่างเป็นปกติ คือการตัดเล็บงมือและเท้าให้ รวมถึงบทสนทนาที่พูดถึงความตายอยู่เสมอ ความเจ็บป่วยทำให้เธอพูดถึงความตายจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สามีของเธอก็จะขัดทุกครั้ง ราวกับว่าจะไม่ยอมให้เธอตาย รวมถึงการต้องเดินทางไปต่างประเทศของสามีที่เธอถามไถ่ดูแลและมองว่าเป็นการซักซ้อมการอยู่คนเดียวของสามีเมื่อชีวิตไม่มีเธอแล้ว มีฉากตอนท้ายเรื่องฉายภาพภรรยาอีกครั้ง โดยเธอนอนอ่านหนังสือแบบไม่มีสายออกซิเจน เป็นภาพเธอคนเดียว เธอคงหายป่วย แต่...สามีของเธอล่ะไปไหน? ยังไม่กลับจากต่างประเทศ หรือตาย?

ตอนนี้นอกจากบทสนทนาที่พยายามพูดถึงความตายให้เป็นเรื่องปกติแล้ว หนังยังใช้ “เสียงของลมหายใจ” ในการสื่อสาร เนื่องจากภรรยาใส่สายออกซิเจนตลอดเวลา ในช่วงหนึ่งของฉากซึ่งสามีเธอผละไป ภาพเธอนั่งนิ่งๆ และ “หายใจ” ด้วยเสียงลมหายใจเข้าออกที่ชัดเจนเป็นจังหวะ ทอดเวลายาวนานนั้น ได้ช่วยเตือนสติเราให้ระลึกรู้ถึงการมีอยู่ของชีวิต...จนต้องสูดลมหายใจเป็นจังหวะตามเธอ

นอกจากสองส่วนของหนังที่เล่าไปข้างต้น หนังยังนำเสนอข้อเท็จจริงเป็นสถิติตัวเลขของการฆ่าตัวตาย และจำนวนคนตายทั่วโลกในทุกๆ วัน เราพบว่าการฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนยิงที่หัวจะตายเร็วที่สุดไม่เกิน ๒ นาที ส่วนการเลือกวิธีตายด้วยการกระโดดให้รถชนจะใช้เวลานานประมาณ ๒๐ นาที กว่าจะตาย และเมื่อเวลาเคลื่อนไปทุก ๒ วินาที ทั่วโลกจะมีคนตาย ๑ คน หนังยังบอกอะไรมากกว่านั้น หากสังเกตตัวเลขที่มุมบนซ้ายมือของจอหนังตั้งแต่เริ่มเรื่อง เพราะเขาแสดงตัวเลขจับเวลาเอาไว้ เมื่อหนังจบในเวลา ๗๐ นาที ตัวเลขจะแสดงว่าระหว่างนั้นมีคนตายไปแล้วกว่า ๘,๐๐๐ คน

ความตายเป็นความจริงของชีวิตที่มีความหมายยิ่ง เราใช้ชีวิตแต่ละวันไปตามวิถี บางคนมีความฝันถึงอนาคตที่สดใส วางแผนชีวิตว่าจะทำอะไรบ้าง บางคนเลือกให้โชคชะตานำทางชีวิต ไม่วางแผน ไม่ขวนขวาย และอาจมีบางคนที่ใช้ชีวิตอย่างผัดวันประกันพรุ่ง คอยให้พรุ่งนี้มาถึงแล้วจึงลงมือทำ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีความฝัน มีเป้าหมาย มีชีวิตแบบไหน เราต่างมีชีวิต และเป็นชีวิตที่มีจุดสิ้นสุด ระยะทางของชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ระหว่างทางนั้น หากเราได้ระลึกอยู่เสมอว่าเราทุกคนต้องตาย ก็จะดึงสติให้เราอยู่กับความจริงแท้ของชีวิต หนังเรื่องนี้มีส่วนช่วยอย่างมากด้วยการจุดประกายให้เราเกิดมรณานุสสติ ถ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ ควรไปดู เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าพรุ่งนี้เราจะตายหรือยัง?


[seed_social]
31 มกราคม, 2561

มุมมองความตาย ในซีรีส์ญี่ปุ่น “ยอดหญิงยอดเชฟ”

ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดหญิงยอดเชฟ” เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนชื่นชอบ หลายฉากมีบทสนทนาที่สะท้อนระบบคุณค่าและความหมายของชีวิต ตัวเอกซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวคือ เมโกะ เป็นคนที่รักการทำอาหาร มีความสุขกับการทำอาหาร
25 พฤษภาคม, 2561

ชีวิต . ความกลัว . ลมหายใจ

ในวันที่อากาศร้อนๆ และมีฟ้าใสๆ เป็นช่วงที่เหมาะกับการพักร้อนและไปทะเล เราเลือกกิจกรรมหนึ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน คือการเรียนดำน้ำลึก หรือ Scuba Diving โลกใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตแปลกตา และมีสีสันมากมาย ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกัน...
5 เมษายน, 2561

บูโต การเดินทาง “ระหว่าง” รอยต่อ

บูโต (Butoh) หรือระบำแห่งความมืด (Dance of Darkness) เป็นการแสดง avant-garde ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น จัดแสดงต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี 1959