parallax background
 

มุมมองความตาย ในซีรีส์ญี่ปุ่น
“ยอดหญิงยอดเชฟ”

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดหญิงยอดเชฟ” เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนชื่นชอบ หลายฉากมีบทสนทนาที่สะท้อนระบบคุณค่าและความหมายของชีวิต ตัวเอกซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวคือ เมโกะ เป็นคนที่รักการทำอาหาร มีความสุขกับการทำอาหาร การเห็นผู้คนมีความสุขกับการรับประทานอาหารฝีมือของเธออย่างเอร็ดอร่อย รวมถึงแต่ละตัวละครก็มีบุคลิกตัวตนความคิดความเชื่อปมปัญหาของตนเอง

เรื่องราวเริ่มตั้งแต่นางเอกยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อย เติบโตเป็นสาวน้อยพบรักกับพระเอก แต่งงานแล้วมาใช้ชีวิตร่วมกับฝั่งครอบครัวของพระเอกถูกกลั่นแกล้งจากพี่สาวสามี เผชิญความขัดแย้งในครอบครัวจนกระทั่งคลี่คลายมีลูกสาวลูกชายรวม ๓ คน ลูกแต่ละคนก็มีบุคลิกตัวตนต่างๆ กันไป

เมื่อลูกๆ เติบโตขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรื่องราวๆ ค่อยๆ สะท้อนภาพผลกระทบของสงครามที่มีต่อชีวิตชาวญี่ปุ่น ต่างต้องปรับตัวดิ้นรนไปตามสภาพ หลายคนสูญเสียบ้าน สมาชิกในครอบครัว พร้อมกับการสิ้นสุดสงครามโลก ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคของการปรับตัว

บทความนี้ต้องการนำเสนอแง่มุมการรับมือกับความตายจากตัวเอกของเรื่อง การจากไปของคัทสึโอะ ลูกชายคนเล็กของเมโกะ ซีรีส์จะค่อยๆ พาผู้ชมให้เห็นชีวิตของลูกๆ ทั้งสามคนที่ค่อยๆ เติบโต ความผูกพันระหว่างแม่ลูก ในฐานะสมาชิกครอบครัว ทำให้ผู้ชมค่อยๆ รู้สึกผูกพันไปกับตัวเอกและครอบครัวของเธอ โดยเฉพาะหากผู้ชมติดตามตั้งแต่ต้นก็จะเห็นความคล้ายคลึงระหว่างเมโกะกับคัทสึโอะ คือ ชอบทำอาหาร มีความสุขกับการได้กินอาหารอร่อยๆ หน้าตาที่ยิ้มแย้มเบิกบานยามได้กินอาหารหรือขนม สะท้อนความสุขความพอใจของตัวละครทั้งสอง

แล้วมาวันหนึ่ง ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ค่อยๆ เข้ามาเยือนครอบครัวของเมโกะ เริ่มต้นจากเพื่อนสนิทของเมโกะ คือเกนตะ ถูกหมายเกณฑ์ให้ไปเข้าร่วมกองทัพ ส่วนหนึ่งของจิตใจเธอรู้สึกหวาดกลัว กังวลกับสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า

  • จะมีชีวิตรอดกลับมาไหม?
  • จะต้องไปเจออะไร? จะต้องไปฆ่าใคร? หรือถูกใครฆ่า?

ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ครอบครัวต้องเสียสละสมาชิกชาย คัทสึโอะเลือกรับผิดชอบหน้าที่ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น โดยสมัครเป็นพ่อครัวในกองทัพเรือ ขณะนั้นเมืองสำคัญหลายแห่งของญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิด บ้านเรือนเสียหายวอดวาย แต่ละครอบครัวแตกกระจายเพื่อเอาชีวิตรอดไปตามเส้นทางที่มีอยู่ เมโกะกับลูกชายคนโตต้องไปอาศัยกับป้าซึ่งมักมีเรื่องปะทะกันเสมอ แล้ววันหนึ่ง เมโกะก็ได้รับจดหมายจากกองทัพแจ้งข่าวการเสียชีวิตของคัทสึโอะ เมโกะปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถทนไหว ความเสียใจ เจ็บปวดทำให้เมโกะแทบเสียสติ แต่การตระหนักรู้ว่าตนเองยังมีสมาชิกครอบครัวที่รอคอยอยู่ ทำให้เมโกะกลับมาตั้งหลักและรอคอยด้วยความหวังว่า ข่าวนี้อาจไม่เป็นความจริง ลูกชายอาจยังมีชีวิตอยู่และจะกลับมาในที่สุด

ความหวังเป็นสิ่งที่มอบพลังให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปท่ามกลางความยากลำบากและความทุกข์ที่รุมเร้า ด้านหนึ่งของความหวังอาจดูคล้ายการหลอกลวงตนเอง แต่ความแตกต่างคือการหลอกลวงเป็นการปฏิเสธ บิดเบือนความจริง โดยหวังผลว่าการบิดเบือนนั้นจะเป็นความจริง แต่การมีความหวังคือการเลือกที่จะทำให้ชีวิตมีพลังกับสิ่งที่เป็นไปได้ในทิศทางที่ตนปรารถนา ความหวังนี้เองทำให้เมโกะมีพลังและมองเห็นคุณค่าของชีวิตที่ยังเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในครอบครัว

แล้ววันหนึ่ง เพื่อนของคัทสึโอะได้นำบันทึกก่อนเสียชีวิตของเขามามอบให้เมโกะ ความหวังสูญสลายไป ลูกชายของเธอไม่กลับมาแน่นอน มีเพียงบันทึกก่อนเสียชีวิตเป็นตัวแทนการรำลึกถึง ในบันทึก คัทสึโอะบอกเล่าถึงความฝัน ความปรารถนาที่อยากกินอาหารอร่อยๆ จากฝีมือแม่ของตน แต่ไม่สามารถรับประทานได้ ความฝันดังกล่าวราวกับเป็นลางบอกเหตุให้กับเจ้าตัวว่าจะต้องเผชิญอะไรต่อไป เมโกะอ่านบันทึก รับรู้ความฝันความปรารถนาของลูกชาย และยอมรับความจริงในที่สุดว่า ถึงเวลายุติความคาดหวังนี้และจัดงานศพให้กับลูกชาย เพื่อเป็นการอำลาและไว้อาลัยต่อการจากไป รวมถึงเป็นโอกาสเติมเต็มความฝัน ความปรารถนาของลูกชายคนเล็ก

ในการจัดงานศพ หลายคนอาจนึกถึงพิธีกรรมงานศพ แต่คุณค่าความหมายของงานศพคือการได้สื่อสารและยอมรับความจริงว่าความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิต พิธีกรรมทางศาสนาหรือการแสดงความเคารพ เพื่อน้อมนำจิตใจเข้าสู่สิ่งสูงสุด เช่น ธรรมะ พระเจ้า ตามความเชื่อทางศาสนา รวมถึงสื่อสารถึง “การไว้อาลัย” แก่ผู้จากไป และการยอมรับความจริงของผู้ที่ยังอยู่ การไว้อาลัยคือการสะท้อนความเสียใจ ความผิดหวัง อาจรวมถึงความเจ็บปวดจากภาวะที่เผชิญคือ การมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่ปรารถนาให้เกิดขึ้น และช่องว่างนี้คือพื้นที่ว่างเปล่าในหัวใจที่เป็นเสมือนสุญญากาศ ต้องการการรับรู้ การมองเห็น และการแสดงออก

ความทุกข์ของผู้คนจำนวนมากคือ การละเลยพื้นที่ในจิตใจอันเนื่องจากช่องว่างดังกล่าว หลายคนเก็บกักความเสียใจ ความผิดหวังไว้ในส่วนลึก ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ผลกระทบที่ตามมาคือ ความรู้สึกอัดแน่นอยู่ในใจ เนื่องจากไม่เคยได้รับการดูแล ใส่ใจ หรือทำความเข้าใจ การไว้อาลัยจึงเป็นเสมือนการให้ตนเองมีพื้นที่ มีโอกาสได้ชำระสะสาง ตระหนักรู้ตัว และทำให้เรื่องราวหรือความรู้สึกที่ตกค้างได้รับการคลี่คลาย ไม่เป็นภาระถ่วงรั้งจิตใจอีกต่อไป

เมโกะตัดสินใจจัดงานศพเพื่อเป็นการไว้อาลัยและปลดปล่อยความเจ็บปวดจากการสูญเสียให้คลี่คลายไป สิ่งที่น่าทึ่งและน่าประหลาดใจคือ งานศพที่เมโกะจัดให้ลูกชายของตนโดยการสนับสนุนของครอบครัวและเพื่อนๆ คือการหาวัตถุดิบซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในภาวะหลังสงคราม เพื่อมาประกอบอาหารตามเมนูต่างๆ ที่คัทสึโอะนึกถึงและบันทึกไว้ รวมถึงเมนูอื่นๆ ที่เมโกะมั่นใจว่าลูกชายจะชอบ

งานศพที่เมโกะจัดให้ลูกชายคือการร่วมรับประทานอาหารต่างๆ ที่คัทสึโอะอยากกิน มีครอบครัวและเพื่อนที่คุ้นเคยล้อมรอบโต๊ะกินข้าว และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งตักแบ่งอาหารสำหรับคัทสึโอะโดยเฉพาะ ทุกคนต่างกล่าวเริ่มต้น “รับประทานนะครับ/นะคะ” พร้อมกับหัวเราะทั้งน้ำตา กล่าวขอบคุณและรำลึกถึงคัทสึโอะ ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงวิญญาณของคัทสึโอะที่รับรู้เหตุการณ์ ร่วมมีความสุข ความยินดีกับคนในครอบครัว ได้ร่วมรับประทานและกล่าวขอบคุณสำหรับอาหาร

เมโกะจัดงานศพให้ลูกชายผ่านกิจกรรมการร่วมรับประทานอาหาร ราวกับการเฉลิมฉลอง แต่ในจิตใจ ความรู้สึกคือการได้รำลึกถึงความสุขและการมีช่วงเวลาที่ดีๆ ร่วมกัน พวกเขามีความสุข และพวกเขาก็มีความเสียใจ เจ็บปวดกับการสูญเสีย ความน่าสนใจคือ ความรู้สึกมีความสุขและความเจ็บปวด เสียใจ คือสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีเพียงความรู้สึกข้างใดข้างหนึ่ง ในความสุขเราก็มีความเสียใจได้ ในความเจ็บปวดก็มีความรัก ความอาลัยได้ หลายคนมีความทุกข์เพราะเข้าใจว่า เมื่อมีความเสียใจ เราไม่ควรมีความสุข ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งเราเสียใจกับสิ่งที่คนพิเศษทำบางสิ่งที่เราไม่ยินดี แต่ในความเสียใจ เราก็ยังรักและชื่นชมบางแง่มุมของอีกฝ่ายได้

รักและเกลียด โกรธและกลัว ฯลฯ ความรู้สึกใดๆ ที่แม้จะตรงข้ามกัน แต่ทั้งหมดคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจ และอยู่ด้วยกันได้ภายในตัวเรา ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง การเลือกข้างหนึ่งและตัดทิ้งอีกข้างหนึ่งคือต้นเหตุของความทุกข์ สงครามในจิตใจ เพราะอีกข้างก็ต้องการการใส่ใจ การมองเห็นเช่นกัน

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้ร่วมรับประทานอาหารจานนี้ด้วยกันครับ

ที่มาภาพ : http://program.thaipbs.or.th/BonAppetit/episodes/49698

[seed_social]
17 พฤษภาคม, 2561

Patch adam: ความขัดแย้ง อารมณ์ขัน ความตาย รีวิวจาก ภาพยนตร์ “Patch Adam คุณหมออิ๊อ่ะ คนไข้ฮาเฮ”

ช่วงปี ค.ศ. 1996 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉาย นำแสดงโดยโรบิน วิลเลียม นำเสนอเค้าโครงเรื่องราวในชีวิตจริงของนายแพทย์แพท อดัม หลังจากนั้น อย่างน้อยในเมืองไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกใช้ในฐานะสื่อการสอนถึงการเรียนรู้ระบบการแพทย์ที่ต้องการมิติความเป็นมนุษย์
16 กุมภาพันธ์, 2561

ว่าง

พอเราได้เห็นชื่องาน “ว่าง” ทำให้ฉุกคิดและนึกอยากไปค้นหาความหมายบางอย่าง... ยิ่งได้เห็นรายชื่อแขกรับเชิญในงานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่าพลาดไม่ได้เลย... เราเดินทางไปมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 26 มกราคม 2561
26 ธันวาคม, 2560

คุณค่าของความตาย

สตีฟ จ๊อบส์ ไม่เพียงแต่เป็นผู้บริหารองค์กรคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง (แม้จะลาออกจากตำแหน่งซีอีโอไปแล้ว) แต่ยังถือเป็นครุทางจิตวิญญาณสำหรับคนร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย