parallax background
 

ความตายจากความรุนแรงในครอบครัว

รีวิว หนังสือ “ก่อร่างสร้าง “ตน”
คู่มือสร้างภาวะการนำเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในชุมชน

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ ภาพถ่าย: ณุภัทร อาจกล้า หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

คำโปรย

“สำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว ครอบครัวคือแหล่งพักพิง ปกป้องชีวิตให้อยู่รอดและเติบโต การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ พวกเขาต้องพึ่งพิงพ่อแม่ ครอบครัว ในการอยู่รอดและเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม คือภัยคุกคามชีวิตและจิตใจในระดับเดียวกับการประสบกับความตาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวจึงเป็นผลกระทบระยะยาว”

ทุกชีวิตต่างมีพลังชีวิต (life energy) ที่ขับเคลื่อนชีวิตให้งอกเงย เติบโต ถ้าเมล็ดพืชได้รับธาตุอาหาร แสงแดด และความชื้นพอดี พลังชีวิตในเมล็ดพืชก็จะกระตุ้นการงอก การเติบโต และแพร่พันธุ์ต่อไป พลังชีวิตช่วยให้สัตว์เติบโต อยู่รอด หรือในตัวคนเรา เมื่อมีบาดแผลทางร่างกาย พลังชีวิตจะช่วยเยียวยาโดยมีกระบวนการรักษาจากภายนอกเป็นปัจจัยสนับสนุน และในกรณีที่มีบาดแผลทางจิตใจ พลังชีวิตจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เรามีกลไกภายในที่ปกป้อง รักษาบาดแผลทางจิตใจ ไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อตัวเรา ทำให้ตัวเรามีการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า “แบบแผนอยู่รอด” ซึ่งเป็นลักษณะของการมีทัศนคติ ความเชื่อ มุมมอง แบบแผนพฤติกรรมที่ปกป้องตนเองเพื่อการอยู่รอด หากว่าบาดแผลได้รับการคลี่คลาย พลังชีวิตก็จะเคลื่อนไปสู่ “แบบแผนเพื่อการเติบโต” ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีท่าทีชีวิตในเชิงสร้างสรรค์ สามารถทำประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน เนื่องจากความใส่ใจและพลังชีวิตไม่ต้องหมดเปลืองหรือเสียไปกับบาดแผลชีวิต

ความรุนแรงในครอบครัว สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกาย และที่ก่อผลกระทบระยะยาวและรุนแรง คือ ผลทางจิตใจ เพราะกระทบต่อความอยู่รอด ความมั่นคงทางจิตใจ ทำลายคุณภาพของผู้ได้รับผลกระทบ หรือ “เหยื่อ” ทั้งในระดับบุคคลและความสัมพันธ์ในครอบครัว หลายคนประสบความรุนแรงในครอบครัวที่สะเทือนขวัญ หรือ trauma กลายเป็นบาดแผลทางจิตใจที่สะสมความโกรธ ความกลัว ความคับแค้น ความเจ็บปวด ความอับอาย และส่งผลต่อชีวิต จิตใจ สัมพันธภาพในอนาคต หากว่าบาดแผลมีความรุนแรงฝังลึกและไม่ได้รับการคลี่คลาย เยียวยารักษา

นอกจากความรุนแรงในครอบครัว ยังมีความรุนแรงในชุมชน ในโรงเรียน เช่น การล้อเลียน การข่มเหงรังแก การกลั่นแกล้งทั้งทางตรงและทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผลกระทบที่เลวร้ายคือ การสร้างความอับอาย เจ็บปวดให้กับเหยื่อ สิ่งที่ยากลำบากคือ ผลกระทบความรุนแรงเช่นนี้ยากที่จะ ประเมินความเสียหาย เพราะเกิดขึ้นในจิตใจและมักถูกมองข้ามละเลยโดยความไม่ตระหนักรู้ของบุคคลในชุมชน

ผู้ที่มีบาดแผลในจิตใจ มักมีปัญหาการใช้ชีวิต สัมพันธภาพ เนื่องจากเหยื่อไม่ได้รับการคลี่คลายหรือเติมเต็มทางจิตใจเพื่อยกระดับตนเองไปเป็น “ผู้อยู่รอด” ภาวะความเป็นเหยื่อก่อให้เกิดการหาทางออก หลายคนอาจใช้การแก้แค้นคู่กรณี หลายคนใช้ยาเสพติด เหล้า การพนันเพื่อรับมือกับผลกระทบที่ยังเก็บกักอยู่ในจิตใจ และหลายคนใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว จากวิธีรับมือโดยใช้เหล้า ยาเสพติด สร้างวงจรปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซ้ำเติม

ดังนั้นการทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว จึงมีความสำคัญในฐานะการป้องกัน หรือลดผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจ เพื่อให้เหยื่อมีทางเลือกในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพิงยาเสพติดหรือเหล้าในการลดทอนบาดแผลทางจิตใจ

ซาเทียร์โมเดล (Satir model) คือ มุมมองแนวจิตบำบัดเพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของผู้รับความช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมาย ๔ ประการ คือ ๑) มีความเคารพในตนเองมากขึ้น ๒) มีความรับผิดชอบในตนเองมากขึ้น ๓) มีทางเลือกมากขึ้น ๔) เกิดภาวะที่มีความสุขสงบ ตั้งมั่นในจิตใจมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่พึงระลึกคือ การพิจารณาปัญหานี้ในเชิง “ระบบ” คือ ความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ โดยองค์ประกอบหลักคือ ตัวบุคคล (self) หมายถึง ความเป็นตัวตน ความเป็นบุคคล สัมพันธภาพของผู้คนรอบข้าง (others) คือ ผู้คนรอบตัวและสัมพันธภาพ กับผู้คนรอบตัว และบริบทสภาพแวดล้อม (contexts) บริบท สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ความเชื่อ สภาพเศรษฐกิจ สังคม

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจากบุคคล โดยมีบริบทสภาพแวดล้อมเป็นองค์ประกอบหลัก การแก้ไขปัญหานี้ นอกเหนือจากการทำงานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการคลี่คลายปัญหา ทิศทางการทำงานกับบุคคลที่เป็นเหยื่อหรือผู้รับความช่วยเหลือ จะต้องมุ่งเป้าหมาย ๔ ข้อข้างต้น

ข้อเสนอต่อคู่มือเล่มนี้คือ หนังสือตอบโจทย์สำคัญเรื่องกระบวนการทำงานภายในชุมชน เพื่อสร้างหรือพัฒนาแกนทำงานให้มีการพัฒนา ยกระดับความสามารถด้านภาวะการนำ หรือการใช้อำนาจร่วมภายในคนทำงานของชุมชนได้ดี แต่สิ่งที่สามารถพัฒนาได้เพิ่มเติมคือ การพัฒนาความสามารถในการทำงานกับเหยื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น แนวคิดซาเทียร์โมเดล เน้นการทำงานในเชิงพลังงาน และมีจุดเน้นความเชื่อสำคัญ เช่น

  • ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีรับมือกับปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหาเสียเอง
  • ระลึกถึงพ่อแม่ในฐานะบุคคลธรรมดาที่ผิดพลาดได้ ไม่ใช่บทบาทที่พึงเป็น

การพัฒนาคุณภาพของคนทำงาน แกนนำชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในแนวคิดซาเทียร์โมเดล เนื่องจาก คุณภาพของตัวบุคคล คือปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบ หากคู่มือสามารถพัฒนาแกนนำชุมชนให้ตระหนักรู้ในคุณภาพสำคัญข้อนี้ จะมีความหมายต่อการทำงานในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะหมายถึงการเติบโตภายในของคนทำงาน

กรอบคิดการทำงานเรื่องการยุติความรุนแรงในครอบครัวที่มุ่งเน้นเชิงระบบ คือ ตัวบุคคล ทั้งในฐานะผู้ก่อหรือผู้รับผลกระทบ ตัวบุคคลแวดล้อม และสภาพบริบทแวดล้อม น่าจะช่วยให้การ มองปัญหานี้มีความครอบคลุมชัดเจนขึ้น ซึ่งคู่มือมีขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ ๓ องค์ประกอบดังกล่าวอยู่แล้ว การเน้นย้ำน่าจะช่วยให้เกิดความชัดเจน รวมถึงการมองผู้กระทำความรุนแรงในฐานะเหยื่อที่เคยถูกกระทำมาก่อน ก็เป็นทัศนคติที่ทำให้เห็นว่าปัญหามีความเป็นระบบซับซ้อน ไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมของบุคคลเพียงปัจจัยเดียว

[seed_social]
13 พฤศจิกายน, 2560

มหัศจรรย์หนังสือบินของนายมอริส เลสมอร์

พ่อแม่หลายคนรู้สึกลำบากใจเมื่อต้องพูดเรื่องความตายกับเด็กๆ สำหรับหลายคนแล้ว ความตายเป็นเรื่องที่ยากจะสื่อสารกับเด็ก เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจความตายเลย
20 กุมภาพันธ์, 2561

ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า: โลกแฟนตาซีของชีวิตหลังความตาย

ฉากเปิดของภาพยนตร์แฟนตาซี แอคชั่น ดราม่า สัญชาติเกาหลี เรื่อง Along with the Gods: The two Worlds หรือ ‘ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘คิมจาฮง’ พนักงานดับเพลิงหนุ่มผู้กล้าหาญ
1 มิถุนายน, 2561

เรียนรู้ชีวิตและความตายผ่านวรรณกรรม

ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนักเขียนนวนิยายที่มักแต่งเรื่องเล่าได้สนุกและอยู่บนฐานของข้อมูล เธอเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.๒๕๕๗ และแน่นอนเธอมีผลงานนวนิยายจำนวนมาก ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล