parallax background
 

โรงเรียนสัปเหร่อ

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ไม่รู้ว่าบ้านเรามีหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เยอรมนี แดนเบียร์ไส้กรอกอร่อย มีโรงเรียนสัปเหร่อ แห่งเดียวของยุโรป โดยชาวเยอรมันเข้าฝึกหัดการเป็นสัปเหร่อ เนื่องจากว่า ธุรกิจความตายกำลังได้รับความนิยมในยุโรป ทวีปที่มีคนชราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักสูตรการฝึกวิชาสัปเหร่อ มีขึ้นเมื่อสามปีก่อนที่เมืองมึนแนส์สตัดต์

ในแคว้นบาวาเรีย นักเรียนที่เข้ารับการฝึกวิชาสัปเหร่อ จะต้องเริ่มต้นหลักสูตรด้วยการเรียนรู้วิธีขุดหลุมศพ และเรียนรู้วิธีในการปลอบโยนความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัวผู้ตาย รวมทั้งวิธีการโบกปูนซีเมนต์ปิดหลุมให้เหมาะสม ตลอดจนวิธีการจัดเตรียมร่างของผู้เสียชีวิต ก่อนเข้าพิธีฝังศพ แม้กระทั่งการฝึกเขียนแจ้งการตาย

โรซินา เอ็คเคิร์ต ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของโรงเรียนสัปเหร่อ บอกว่า บ่อยครั้งที่มีชาวต่างชาติติดต่อมายังโรงเรียนเพื่อมาดูงาน โดยมีกลุ่มคนจากจีนและรัสเซียเดินทางมาดูวิธีการฝึกสัปเหร่อของเรา บางคนถึงกับประหลาดใจเกี่ยวกับวิธีฝึก ลิซ่า มาเกร่า วัย ๒๖ ปี ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕๒๕ สัปเหร่อฝึกหัดของโรงเรียนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล และเมื่อมีคนตาย เธอได้เห็นพิธีศพ ทำให้เธอมีความสนใจในเรื่องนี้

ด้าน วิลเฮล์ม ลอเทนบัช ครูฝึก ซึ่งเดินทางจากเมืองฮันโนเวอร์ มาสอนวิชาสัปเหร่อในเมืองมึนแนส์สตัดต์ กล่าวยอมรับว่า ธุรกิจความตายของเขาเป็นมรดกตกทอดจากพ่อสู่ลูก เนื่องจากบริษัทของเขาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๙ และเขาก็หวังว่า สักวันหนึ่งลูกชายของเขาจะรับช่วงต่อ ทั้งนี้ พิธีศพในเยอรมนีต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยมีการประเมินว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับงานศพเฉลี่ยรายละระหว่าง ๒,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ยูโร หรือราว ๘๑,๐๐๐ ถึง ๒๐๗,๐๐๐ บาท ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสถิติในเยอรมนีระบุว่า อัตราการเกิด ๘.๑ ต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน เมื่อเทียบกับอัตราการตาย ๑๐.๔ ต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ และมีแนวโน้มที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีคนแก่มากขึ้น

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนสัปเหร่อ ยังมีห้องทำความสะอาด ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีชำระล้าง และการดองศพ เพื่อเก็บรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเปื่อยได้เป็นเวลาหลายวัน ซึ่งมาเกร่าบอกว่า ตอนแรกอาจจะมีความรู้สึกแปลกๆ สักหน่อย แต่พอทำตามขั้นตอนไปสักระยะ จะคุ้นเคยกับมัน รวมทั้งผู้ฝึกการเป็นสัปเหร่อ ต้องอยู่และเรียนรู้กับศพคนตาย

อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนยังมีโบสถ์ที่เพียบพร้อมไปด้วยม้านั่งและอุปกรณ์สำหรับจัดงานศพ ส่วนภายในห้องสมุดของโรงเรียนมีหนังสือเฉพาะทางให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่พจนานุกรมบริการด้านพิธีศพไปจนถึง จิตวิทยาความโศกเศร้า และหนังสือด้านการตลาดที่เกี่ยวกับความตาย ซึ่งมาเกร่า กล่าวทิ้งท้ายว่า หลักสำคัญของสิ่งที่เรียนวิชาสัปเหร่อคือ การรู้ที่จะแสดงความเห็นใจ และรักษาระยะห่างเอาไว้

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

พระ(สงฆ์)ดี มีอยู่จริง

ระยะเวลาราว ๒ ปีที่เครือข่ายพุทธิกาดำเนินโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมุ่งสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมกับบุคลากรสุขภาพและจิตอาสา
17 เมษายน, 2561

นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายฯ จี้ สปสช. ผลักดัน Palliative Care เข้าไปอยู่ในระบบ ๓๐ บาท

เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
18 เมษายน, 2561

พลัดพราก…แต่ไม่พรากรัก

เพราะความป่วยและความตายไม่จำกัดว่าจะเป็นกับใคร อายุเท่าใด สมควรหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยด้วยโรคระยะสุดท้ายคือเด็ก ความทุกข์ทรมานมิได้เกิดกับผู้ป่วยตัวน้อยเท่านั้น หากยังแผ่ลามไปถึงครอบครัว คือพ่อแม่ด้วย