parallax background
 

สวดมนต์บำบัด เยียวยากายใจ

ผู้เขียน: เทียนสี หมวด: How to


 

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการสวดมนต์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นพิธีกรรมที่มีในทุกศาสนา เวลาที่เราสวดมนต์จะรู้สึกผ่อนคลาย สงบ มีสมาธิ เพราะใจจดจ่ออยู่กับบทสวดซึ่งมักจะเป็นคำที่มีความหมายดีๆ เป็นคำสอนที่ให้ข้อคิดกับชีวิต หรือก่อให้เกิดความศรัทธาในศาสนา เป็นการน้อมนำจิตใจให้ยึดเหนี่ยวกับสิ่งที่เป็นมงคล การสวดมนต์จึงมักจะถูกนำมาใช้ในการเยียวยาผู้ป่วยด้วย ไม่ว่าจะให้ผู้ป่วยสวดมนต์เอง หรือจะสวดให้ผู้ป่วยฟัง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสวดออกเสียงดังๆ ให้ได้ยินกันชัดๆ เพื่อช่วยให้เกิดสมาธิได้ดี เมื่อมีสมาธิจิตใจก็สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ลดความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆ ช่วยให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้ายที่รุมเร้าได้ หรือแม้แต่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย การได้ยินเสียงสวดมนต์ในขณะที่กำลังจะสิ้นใจ อาจช่วยให้ตายสงบและนำจิตไปสู่ภพภูมิที่ดีได้

แต่ตอนนี้มีอีกเทคนิคหนึ่งในการสวดมนต์โดยใช้เสียงแผ่วเบา จังหวะที่เนิบช้า ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่ง รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี อดีตหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำไว้ในรายการ “พบหมอรามา” ทางสถานี Rama Channel และในเว็บไซต์ห้องหนังสือธรรมาภิรมย์ ว่าการสวดมนต์แบบนี้ใช้หลักการของ Vibrational Therapy หรือ Vibrational Medicine คือการทำให้เกิดคลื่นเสียงสม่ำเสมอเข้าไปกระตุ้นการทำงานของตัวรับสัญญาณกวนที่อยู่ในบริเวณช่องปาก ทำให้เกิดการผลิตสารเคมี สารไฟฟ้า รวมทั้งสารสื่อประสาทและโปรตีนบางตัวเพื่อช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย และส่งผลในการเยียวยากายใจได้ลึกซึ้งขึ้น

จุดสำคัญอยู่ที่การสวดมนต์นั้นจะต้องก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่พอเหมาะในระยะเวลาที่นานพอ นั่นคือ ควรสวดช้าๆ เบาๆ จังหวะเนิบๆ ให้เกิดเสียงแผ่วๆ ในลำคอต่ำกว่า ๒๕ เฮิร์ตซ์ เพื่อให้คลื่นเสียงเดินทางเข้าสู่สมองซีกที่ถูกต้อง เนื่องจากตัวรับสัญญาณที่อยู่ในปากมีทั้งที่รับสัญญาณแบบแผ่ว (สวดเบาๆ ช้าๆ) กับแบบหนัก (สวดเสียงดังๆ เร็วๆ) ซึ่งเมื่อได้รับการกระตุ้นก็จะสร้างสารสื่อประสาทและสารเคมีคนละตัว ส่งผลให้เกิดการเยียวยาต่างระดับกัน กล่าวคือ หากสวดจังหวะเร็วๆ ใช้เสียงดังๆ ให้คนได้ยินชัดๆ คลื่นจะเข้าสู่สมองซีกซ้าย ซึ่งจะทำให้ได้เพียงสารแห่งความสุข ความปีติ เป็นเพียงความผ่อนคลายที่ยังไม่ถึงขั้นเยียวยา แต่หากสวดช้าๆ เบาๆ คลื่นจะวิ่งเข้าสมองซีกขวา และจะผ่านบริเวณที่คุมระบบประสาทอัตโนมัติ ตรงจุดนี้เองที่จะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีและสารสื่อประสาทมากมาย ที่ให้ประโยชน์ในการเยียวยาอย่างลึกซึ้ง

อาจารย์สมพรอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเริ่มสวดมนต์แผ่วๆ คลื่นจะวิ่งเข้าสู่สมองซีกขวาทำให้สมองอ่อนโยน ผ่อนคลายลง และช่วยยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้คนกระวนกระวาย ทุรนทุราย ไม่สุขสบายให้ค่อยๆ ลดลง และเมื่อสวดไปสักระยะหนึ่งประมาณ ๑๒ นาที คลื่นจะเข้าไปยังสมองส่วนกรองสัญญาณ ที่ทางการแพทย์เรียกว่าทาลามัส ซึ่งบริเวณนี้จะมีสารสื่อประสาทที่กันไม่ให้สมองชัก กันไม่ให้คนก้าวร้าว คิดฟุ้งซ่าน ทั้งยังช่วยเยียวยาแผล การสวดมนต์เป็นประจำจึงช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย เมื่อมาถึงจุดนี้สารเคมีในสมองบริเวณทาลามัสจะถูกหลั่งออกมาเป็นพรวน คือ ถ้าได้ตัวหนึ่งก็จะได้ตัวอื่นๆ ตามมาอีกหลายตัว และเมื่อสวดนานกว่า ๑๒ นาที (ราว ๑๕ นาที) คลื่นจะวิ่งเข้าพิทูอิตารี (ต่อมใต้สมอง) เข้าไฮโปทาลามัส (ศูนย์กลางที่ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ) และเข้าไพเนียล แกรนด์ (นาฬิกาชีวิต) หากสวดมนต์ได้นานพอจนคลื่นวิ่งมาถึงบริเวณนี้ จะได้สารต้านอนุมูลอิสระ และเริ่มได้ยาแรงๆ ที่จะช่วยเยียวยากายใจ จากนั้นคลื่นจึงจะย้อนกลับเข้าไปที่สมองส่วนหน้า

สารสื่อประสาทที่เปรียบเสมือนยาแรงๆ นั้นได้แก่ เอนโดรฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขหรือสารปีติ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น เบาสบายเหมือนได้ออกกำลังกาย และยังมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวดอย่างแรงช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี ซีโรโทนิน มีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ช่วยการเรียนรู้ ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น เมลาโทนิน ซึ่งเปรียบเสมือนยาอายุวัฒนะ เพราะช่วยยืดอายุการทำงานของเซลล์ประสาท เซลล์ร่างกายให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น และยังช่วยให้นอนหลับ เพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้เซลล์สดชื่นขึ้น รวมถึงโดปามีน มีฤทธิ์ลดความก้าวร้าวและอาการจากโรคพาร์กินสัน

ปริมาณของซีโรโทนินยังมีความสัมพันธ์ต่อการกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น อะซิติลโคลีน ช่วยในกระบวนการเรียนรู้และความจำ ช่วยขยายเส้นเลือดทำให้ความดันลดลง และยังช่วยลดปริมาณอาร์กินิน วาโซเปรสซิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความก้าวร้าว ความสมดุลของน้ำ นอกจากนี้ ซีโรโทนินยังช่วยลดปริมาณของสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต ส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานน้อยลง ร่างกายจึงรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง และไม่เครียด ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การสวดมนต์จึงสามารถช่วยบำบัดอาการของโรคเบาหวาน ความดัน โรคมะเร็ง โรคเครียด โรคซึมเศร้า เส้นเลือดในสมองตีบ และอาการนอนไม่หลับได้

อย่างไรก็ตาม การจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีและสารสื่อประสาทที่เป็นประโยชน์ต่อการเยียวยาดังกล่าวนั้น จะต้องสวดมนต์อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจารย์สมพรได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ

• เลือกช่วงเวลาที่ร่างกายผ่อนคลาย ไม่ควรสวดหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ อาจสวดช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือก่อนเข้านอนตอนค่ำ
• เลือกสถานที่สงบเงียบ ไม่มีเสียงดังรบกวน เนื่องจากประสาทสัมผัสของคนเรานั้นรับรู้ได้ไวและอ่อนไหวมาก หากมีเสียงดังอื่นๆ รบกวน จะทำให้สัญญาณคลื่นสมองสับสนและเปลี่ยนไป การหลั่งสารสื่อประสาทก็จะสับสนตามไปด้วย และร่างกายจะสร้างสารซีโรโทนินได้ไม่มากพอ ทำให้ไม่มีผลในการเยียวยา
• เลือกบทสวดมนต์สั้นๆ ที่เราชอบหรือศรัทธาจากศาสนาใดก็ได้ อาจเลือกคำบางคำจากบทสวดสัก ๒-๓ พยางค์ สวดวนไปวนมาในจังหวะเนิบช้า เบาๆ ให้ได้ยินคนเดียวแบบเสียงแผ่วๆ เป็นลมอยู่ในลำคอ ไม่ต้องสวดบทยาวๆ แบบที่เคยสวดปกติตามศรัทธาของศาสนา การเปล่งเสียงพอให้ตัวเราได้ยินจะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนวิ่งเข้าหูส่วนกลาง จะช่วยให้ผู้สูงอายุไม่หน้ามืดไม่เวียนศีรษะ ไม่ล้มง่าย และสมองเสื่อมช้าลงด้วย นอกจากนี้ การสวดมนต์เบาๆ ยังกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น เลือดเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ปอดจะขยายตัวขับเสมหะออก และหัวใจดีขึ้นด้วย
• สวดนาน ๑๒-๑๕ นาที ต่อรอบ หากต้องการได้สารต้านอนุมูลอิสระด้วย ให้หลับตาขณะสวด
• ไม่คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องอื่นขณะสวด เพื่อตัดสิ่งเร้าที่จะรบกวนคลื่นสมองให้สับสน
• สำหรับผู้ที่แข็งแรงดีและต้องการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไปให้สวดวันละ ๑ รอบ หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องการผลในการเยียวยาที่เข้มข้นกว่าปกติให้สวดวันละ ๒ รอบ เช้า-เย็น

บางคนอาจมีคำถามว่าหากไม่สวดเอง แต่ใช้วิธีฟังพระสวดหรือฟังคนอื่นสวด หรือฟังจากซีดี จากสื่ออื่นๆ จะให้ผลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร อาจารย์สมพรกล่าวว่าให้ผลแตกต่างกัน เพราะการฟังเสียงคนอื่นสวดสัญญาณจะเข้าทางหู ซึ่งจะไปถึงแค่ระดับที่ทำให้เกิดสารที่ช่วยให้สมองผ่อนคลาย แต่ไม่ถึงระดับที่จะเยียวยา แต่หากสวดเองจะเกิดการสั่นสะเทือนที่ท่อระหว่างช่องปากกับที่หูที่เรียกว่า Eustachian Tube หูจะได้ออกกำลัง อวัยวะภายในก็ได้ออกกำลัง และกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่ช่วยในการเยียวยาดังกล่าวมาแล้วได้

สำหรับผู้เขียนเลือกสวดบท โอม มณี ปัทเม หุม ซึ่งอาจารย์บัวตั๋น เธียรอารมณ์ เคยสอนให้สวดบทนี้วนไปวนมาตอนไปเรียนการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ เพราะให้ความรู้สึกสงบดี จึงชอบบทนี้ คุณล่ะคะ ลองเลือกสักบทสั้นๆ ที่รู้สึกว่าตัวเราเชื่อมโยงหรือศรัทธากับบทสวดนั้นมาสวดกัน เพื่อดูแลสุขภาพหรือเยียวยากายใจดูสักระยะ แล้วคุณจะพบความเปลี่ยนแปลงเหมือนที่คนนับแสนเคยสวดแล้วได้ผล จากการติดตามทำวิจัยของอาจารย์สมพรมาหลายปี และหากปิดท้ายด้วยการทำสมาธิภาวนาร่วมด้วย จะช่วยให้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ ลองดูนะคะ

[seed_social]
13 มีนาคม, 2561

๑๕ วิธีฟื้นชีวีให้มีพลัง

เชื่อว่าทุกคนคงเคยประสบกับช่วงเวลาที่พลังชีวิตหดหาย ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เครียด ท้อ เบื่อ เซ็ง หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่ายหายยาก พาลคนทั้งโลก หากเป็นหนักก็อาจหมดกำลังใจ ไร้พลังสร้างสรรค์ รู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า
19 เมษายน, 2561

สนทนาเรื่องความตายด้วยเกม “เดาใจฉันหน่อยสิ”

ถ้าเช้าวันหนึ่ง เธอพบฉันนอนยิ้ม หลับตาพริ้มอยู่ แต่ปรากฏว่าฉันหยุดหายใจไปแล้ว แม้ตัวยังอุ่นอยู่ เดาใจฉันซิว่า ฉันอยากให้เธอพาฉันไปโรงพยาบาล หรือฉันอยากจะหลับตายไปตอนนั้นเลย
26 ธันวาคม, 2560

SKT ลมหายใจเพื่อการเยียวยา

จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีอาการปวดหัวบ่อยสักเท่าไร แต่ในระยะที่อายุย่างเข้า ๕๐ ปี รู้สึกตัวว่าไม่สามารถจะนอนดึกเกินเวลาสี่ทุ่มต่อเนื่องได้หลายๆ วัน