parallax background
 

SKT ลมหายใจเพื่อการเยียวยา

ผู้เขียน: วันอาทิตย์ หมวด: How to


 

จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีอาการปวดหัวบ่อยสักเท่าไร แต่ในระยะที่อายุย่างเข้า ๕๐ ปี รู้สึกตัวว่าไม่สามารถจะนอนดึกเกินเวลาสี่ทุ่มต่อเนื่องได้หลายๆ วัน เพราะจะมีอาการปวดหัวในวันรุ่งขึ้น หรือรู้สึกมึนๆ ตั้งแต่เข้านอนแล้วปวดหัวไปจนถึงเช้า หากอาการหนักมากจะต้องตื่นมาทานยาพาราเซตามอล จนรู้สึกกังวลกับผลเสียของยา ต้องเก็บมาคิดว่าน่าจะมีการรักษาทางเลือกในการบรรเทาอาการปวดหัวบ้าง

กระทั่งวันหนึ่ง ในไลน์กลุ่มเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัย ลงวิธีการดูแลสุขภาพด้วยสมาธิบำบัด SKT รู้สึกสนใจ เลยโทรไปคุย จึงรู้ว่าเธอฝึกฝนสมาธิบำบัด SKT  และได้ถ่ายทอดความรู้ ร่วมฝึกกับสมาชิกในครอบครัวมาระยะหนึ่งแล้ว 

สมาธิบำบัด SKT เป็นเทคนิคการดูแลรักษาสุขภาพซึ่งผสมผสานสมาธิ โยคะ ชี่กง การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด การปฏิบัติสมาธิด้วยเทคนิคการหายใจ และการควบคุมประสาทสัมผัสทางหูและตา รวม ๗ เทคนิค สำหรับการป้องกันรักษาสุขภาพในคนทั่วไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และเบาหวาน ควรฝึกเทคนิค ๑-๓ ข้าพเจ้ารับฟังพร้อมดูภาพการฝึกของอาจารย์สมพร ผู้ค้นคิดเทคนิค

สมัยแรกๆ ที่เธอฝึกฝนเองจากการดูคลิปในยูทูบ เธออุตสาหะปฏิบัติท่าที่ ๑-๓ ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะท่าที่ ๑ เพราะเธอคุ้นเคยกับการทำสมาธิยาวนานเป็นชั่วโมงอยู่แล้ว “แต่มันไม่ได้ผลอะไร การปฏิบัติต่อเนื่องทั้งวัน เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะเทคนิคนี้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ภายใต้กฎ คือให้เลือกทำเพียงท่าใดท่าหนึ่งในแต่ละวัน หรือต่อเนื่องกันหลายวัน โดยแต่ละวัน ให้ทำจนครบรอบภายในเวลาประมาณ ๑๒-๑๗ นาที นับเป็นหนึ่งครั้ง สามารถทำโดยเว้น ๖ ชั่วโมงในหนึ่งวัน” 

นั่นเป็นบทเรียนจากการลองผิดลองถูก ก่อนหน้าที่เธอจะไปเข้าอบรมอย่างจริงจัง และปัจจุบัน เธอสอนพี่น้องให้ทำ SKT ทุกคน ซึ่งได้ผลดีต่อสุขภาพอย่างน่าพอใจ เช่น พี่ชายของเธอมีปัญหาไขมันในเลือดสูงถึง ๓๐๐ กว่า เมื่อฝึก SKT ท่าที่ ๑-๓ ภายใน ๑ เดือน ระดับไขมันฯ ลดลงมาเหลือ ๒๐๐ กว่า หรือพี่สาวฝึก SKT ต่อเนื่องช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณ หลัง และไหล่ได้ 

 

เทคนิคแรก “นั่งผ่อนคลาย ประสานกายประสานจิต” 

๑. หากนั่งให้หงายฝ่ามือทั้งสองข้างวางบนหัวเข่า หากนอนให้วางแขนหงายมือไว้ข้างตัว หรือคว่ำฝ่ามือไว้ที่หน้าท้อง
๒. ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ ช้าๆ นับ ๑-๕ กลั้นหายใจนับ ๑-๓ ช้าๆ แล้วเป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ ๑-๕ อีกครั้ง ถือว่าครบ ๑ รอบ ทำซ้ำแบบนี้ทั้งหมด ๓๐-๔๐ รอบ แล้วค่อยลืมตาขึ้นช้าๆ
๓. ทุกเทคนิคให้ปฏิบัติวันละ ๓ ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร ๓๐ นาที

ท่านี้จะช่วยลดความดันโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี 

 

เทคนิคที่ ๒ “ยืนผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต”

๑. เริ่มจากยืนตรงในท่าที่สบาย เข่าตึง ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ ช้าๆ นับ ๑-๕ กลั้นหายใจนับ ๑-๓ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ นับ ๑-๕ อีกครั้ง ทำแบบนี้ ๕ รอบ

๒. ค่อยๆ ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะฝ่ามือประกบกัน แขนตึงแนบใบหู สูดลมหายใจเข้าทางจมูก ลึกๆ ช้าๆ นับ ๑-๕ กลั้นหายใจนับ ๑-๓ ช้าๆ แล้วเป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ เบาๆ พร้อมกับนับ ๑-๕ อีกครั้ง ถือว่าครบ ๑ รอบ 

ให้ฝึกหายใจในท่าชูแขนเหนือศีรษะเช่นนี้รวม ๓๐ รอบ แล้วค่อยลืมตาขึ้นช้าๆ ค่อยๆ แยกฝ่ามือออกจากกัน พร้อมกับหายใจปกติ ๓๐ รอบ ค่อยๆ ลดมือลงในท่าหงายฝ่ามือ หายใจเข้าออก ๑ รอบลดลง ๑ จังหวะ จนกระทั่งฝ่ามือลดลงมาถึงต้นขา ขยับเท้ามาชิดกัน ยืนปกติ

สำหรับคนที่ไม่ค่อยบริหารช่วงไหล่ จะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อตึงเจ็บมาก จนทนไม่ได้ อนุโลมให้ลดแขนลงมาตั้งเหนือศรีษะ โดยมือยังคงประกบกัน ไม่แยกจากกัน เมื่อทำท่านี้ทุก ๑-๔ รอบการหายใจ ซึ่งความเจ็บปวดนี้ จะหายไปทันทีเมื่อปล่อยแขนลง และหากไม่เกร็งแขนให้ประกบแนบใบหู จะไม่ได้รับประโยชน์จากท่านี้ 

ท่านี้ มีความเจ็บปวดจากการยกแขนเหนือศรีษะในระยะแรกๆของการฝึก ซึ่งเป็นการดีท็อกซ์ เมื่อฝึกต่อเนื่องจะลดการเจ็บปวดลง ช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี และควบคุมการทำงานของไขสันหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

เทคนิคที่ ๓ “นั่งยืด-เหยียดผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต” 

๑. นั่งบนพื้นราบในท่าที่สบาย เหยียดขา เข่าตึง หลังตรง เท้าชิด คว่ำฝ่ามือบนต้นขาทั้งสองข้าง ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ ช้าๆ นับ ๑-๕ กลั้นหายใจนับ ๑-๓ ช้าๆ แล้วเป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ นับ ๑-๕ อีกครั้ง ทำ ๓ รอบ

ควรใช้เบาะนุ่มๆ เสริมรองนั่ง เพราะการทำต่อเนื่องกัน ทำให้มีอาการเจ็บที่ก้นกบได้ และให้

๒. หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ พร้อมกับค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า แขนตึง ผลักฝ่ามือทั้งสองข้างไปด้านหน้าจนปลายมือจรดนิ้วเท้า หยุดหายใจชั่วครู่

ขอให้ปลายมือจรดนิ้วเท้าเท่านั้น ไม่ควรเลยออกไป คนที่ฝึกโยคะมักจะยืดปลายมือเกินปลายนิ้วเท้า เป็นความเคยชินอีกแบบหนึ่ง

๓.หายใจออกช้าๆ พร้อมกับค่อยๆ ดึงตัวและแขน เอนไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด ค้างไว้สักครู่ นับเป็น ๑ รอบ ทำซ้ำในขั้น ๒-๓ รวม ๓๐ รอบ แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น

ท่านี้จะช่วยลดไขมันหน้าท้อง ลดพุง และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี 

เคล็ดลับของ SKT อยู่ที่การกลั้นหายใจ การจดจ่อ และเมื่อทำสม่ำเสมอ การหายใจเข้าออกจะยาวขึ้นๆ แต่มีข้อควรระวัง เช่น ไม่ควรทำระหว่างหิว หรืออิ่มเกินไป และให้สังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หากไม่เป็นผลดี เช่น แน่น อึดอัด หรือบาดเจ็บ ก็ควรหยุดพัก 

แต่ถึงแม้จะยอมรับว่า ในปัจจุบันความรู้หรือเทคนิคซึ่งเป็นทางเลือกของการดูแลสุขภาพ หรือป้องกันโรคไม่ติดต่อ โดยไม่ต้องพึ่งยาแพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่รับรู้ข้อมูลความรู้จะนำมาปฏิบัติหรือฝึกฝนในทันที เพราะคนจำนวนมากไม่ค่อยตระหนักเรื่องการป้องกันหรือรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง แต่จะคุ้นชินกับการไปหาหมอมากกว่า 

สำหรับข้าพเจ้าที่ต้องการป้องกันอาการปวดมึนหัว เพื่อนแนะนำให้ฝึกท่าที่ ๑ และ ๒ รวมกัน เพื่อนรู้นิสัยว่า ข้าพเจ้าชอบนอนอ่านหนังสือมากกว่าออกกำลังกาย เหมือนหมีในถ้ำ สุดท้าย เพื่อให้ข้าพเจ้า “ซื้อ” SKT เธอยินดีที่จะมาช่วยเป็นวิทยากรอบรมผู้สนใจกลุ่มเล็กๆ ในละแวกบ้านข้าพเจ้า เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มฝึก เธอยืนยันว่าช่วยรักษาอาการปวดเข่า ภูมิแพ้ และความดันโลหิตสูงได้จริง ทำให้ข้าพเจ้าคิดในใจ “เราคงต้องเป็นหมีทิ้งหนังสือ เดินออกจากถ้ำมารับแสงแดดยามเช้ากับเพื่อนบ้านแล้วสินะ”


อ้างอิง

https://www.gotoknow.org/posts/439655
- สำนักการแพทย์ทางเลือก http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=61

SKT เป็นตัวย่อของชื่ออาจารย์ รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี-เตรียมชัยศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคนิคดังกล่าวโดยศึกษาเรื่องระบบประสาทของมนุษย์ และการเชื่อมโยงกับการปฏิบัติสมาธิ ในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจารย์สมพร และลูกศิษย์ให้การอบรมเทคนิคในหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และมีโรงพยาบาลหลายแห่งฝึกอบรมให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังปฏิบัติ ซึ่งช่วยบรรเทาโรค และอาการเจ็บป่วยต่างๆ

[seed_social]
21 ธันวาคม, 2560

ระบบดี งานเดิน

การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในอาทิตย์อัสดงฉบับก่อนๆ ได้พูดถึงแนวคิดของการเป็นหุ้นส่วน วิธีการสร้างทีม วิธีการสร้างสัมพันธภาพในแนวราบ
25 เมษายน, 2561

สวดมนต์บำบัด เยียวยากายใจ

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการสวดมนต์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นพิธีกรรมที่มีในทุกศาสนา เวลาที่เราสวดมนต์จะรู้สึกผ่อนคลาย สงบ มีสมาธิ เพราะใจจดจ่ออยู่กับบทสวดซึ่งมักจะเป็นคำที่มีความหมายดีๆ
16 พฤษภาคม, 2561

ลายเกร็ง ผ่อนคลายสไตล์ชีวจิต

ผู้เขียนเคยกล่าวถึงวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยลมหายใจมาแล้วในฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นวิธีการผ่อนคลายความเครียดทางใจ แต่เวลาที่ใจเราเครียดร่างกายก็เครียดตามไปด้วย หากเราลองสังเกตและรับรู้ร่างกายเวลาเครียด