parallax background
 

เยือนเย็น
ทางเลือกใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

มะเร็งนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคที่น่ากลัวต่อคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่มีสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งมาจากโรคมะเร็ง แต่ทราบหรือไม่ว่า ความจริงโรคที่กำลังคุกคามคนรุ่นใหม่อย่างมะเร็งนี้ กลับเป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นมานับตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณแล้ว

ความข้อนี้ทำให้เกิดข้อน่าฉงนใจขึ้นว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ต้องใช้เวลานานเพียงใดกันแน่ เพื่อที่จะสามารถพิชิตโรคร้ายอย่างมะเร็งได้เสียที เพราะปัจจุบันแม้ว่าเทคโนโลยีจะเริ่มสามารถต่อกรกับมะเร็งได้บ้าง แต่ก็ยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่แพทย์ว่า เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามก็จำเป็นจะต้องจากโลกนี้ไปอยู่ดี ดังนั้นคำว่ามะเร็งระยะลุกลามจึงเจือด้วยความหมายแห่งความทุกข์เอาไว้ไม่น้อย

กระนั้นก็ดี การเป็นป่วยมะเร็งระยะลุกลามใช่จะทำให้ชีวิตอยู่ในความทุกข์เสมอไป เพราะถ้าอยู่ในแผนการรักษาที่ดีและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ผู้ป่วยและครอบครัวก็สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้งหนึ่งได้

โครงการที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า ‘เยือนเย็น’ มีผู้ขับเคลื่อนโครงการ คือ ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล เป็นผู้อำนวยการโครงการ

‘เยือนเย็น’ หรือแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนี้ มีหัวใจสำคัญของการรักษาอยู่ที่ ‘การสนับสนุนคุณภาพชีวิต’ ที่ดีของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้สื่อสารความปรารถนาของตนเอง รับฟังความต้องการของญาติ ขณะเดียวกันแพทย์ก็ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งและให้คำแนะนำเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

วิธีการของเยือนเย็นเป็นอย่างไร ?

ขั้นตอนเยือนเย็นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ขั้นดังนี้
ขั้นแรก – ผู้ป่วยหรือครอบครัวโทรขอคำปรึกษากับเยือนเย็น เพื่อนัดหมายการจัดประชุมครอบครัว ซึ่งเป็นโอกาสให้ทีมเยือนเย็นทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับอาการป่วยของผู้ป่วย (ไม่จำเป็นต้องเคยรักษากับคุณหมอมาก่อน)

แม้ว่าขั้นแรกจะฟังดูเป็นเพียงการนัดหมายพูดคุยธรรมดา แต่ขั้นตอนนี้เองที่สำคัญที่สุด เพราะมันเปรียบเสมือนการตั้งเข็มทิศ จัดลำดับความสำคัญของชีวิตสำหรับการเดินทางร่วมกันครั้งสุดท้ายระหว่างผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นเวลาในการปรึกษาเพื่อ ‘ตั้งเข็มทิศ’ นี้ จึงสามารถใช้ตราบเท่าที่เวลาจะอำนวยได้

“มันคือการคุยเพื่อจะได้ทราบว่า วินาทีนี้อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตจริงๆ จากนั้นจะได้วางแผนชีวิตใหม่เพื่อให้เข้ากับสิ่งที่มันเป็นอยู่ ดังนั้นกุญแจสำคัญก็คือต้องทำทั้งครอบครัว หลังจากนั้นเราจะได้วางแผน สำหรับครอบครัวนี้...” ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร กล่าว

ขั้นที่สอง – กรอกรายละเอียดต่างๆ และสมัครสมาชิก

ขั้นที่สาม – วางแผนการดูแล และวางแผนการไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยของคุณหมอ

ขั้นที่สี่ – ติดตามและปรึกษาคุณหมอได้ผ่านทางไลน์กรุ๊ปและโทรศัพท์

ในขั้นตอนที่สี่นี้จำเป็นจะต้องขยายความเพิ่มเติมอีกสักหน่อย เพราะโครงการเยือนเย็นก่อร่างขึ้นมาโดยคำนึงถึงความต้องการของตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ป่วยอยากไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ครอบครัวอาจไม่แน่ใจว่าร่างกายผู้ป่วยจะรับไหว กรณีนี้ญาติโทรปรึกษาแพทย์เพื่อการวางแผนไปเที่ยวได้เช่นกัน “ถ้าลูกบอกว่าพ่อว่าไปเที่ยวดีกว่า ไปเที่ยวญี่ปุ่นสักที ผมก็สนับสนุน อย่าไปกังวลเลย ถ้ากังวลเรื่องยาก็เอายาไปได้ กังวลเรื่อง Paper work (เอกสาร) เราก็จัดการให้ได้เช่นกัน เราเชื่อว่ามีทางออก เพื่อจะให้คนไข้ได้ในสิ่งที่เขาว่ามันคือคุณภาพชีวิตเขา”

ทางออกของความเจ็บปวด

ความทุกข์ทรมานส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นหนีไม่พ้นอาการปวดมะเร็ง แต่ทางออกของความทุกข์ทรมานนี้สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ยาที่ฟังดูแล้วอาจอึดอัดใจอย่าง ‘มอร์ฟีน’ เพราะโดยทั่วไปเมื่อเราได้ยินคำว่ามอร์ฟีน คนส่วนใหญ่มักจะสะท้อนมันออกมาในแง่ลบและภาพของยาเสพติด

แต่ความจริงแล้ว มอร์ฟีนในทางการแพทย์ มอร์ฟีนคือทางออกอันดับต้นๆ ของความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็ง และถ้าใช้มันไปในทางที่ถูกต้อง การเสียชีวิตจากการใช้มอร์ฟีนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่าใช้มอร์ฟีนแบบฉีด จนหายปวดแล้วยังให้เยอะขึ้นไปอีก ขนาดเขาหลับแล้วยังให้ยาต่ออีก สุดท้ายเขาก็จะหยุดหายใจแล้วเขาก็เสียชีวิต เพราะมัน Over Dose ดังนั้นการฉีดยาทำให้เสียชีวิตได้แน่นอน แม้แต่ตอนหลับก็ยังฉีดยาได้ แต่ถ้าเป็นประเภทกินไม่มีทาง Over Dose ได้เลยนะ เพราะเราไม่สามารถกินทั้งที่ยังหลับได้ ก็ต้องตื่นก่อน ถ้ากินมากไปก็หลับเท่านั้นเอง

“เวลาที่เราพูดถึงการเสพติดมอร์ฟีนนี่หมายถึง คนใช้ยามีสุขภาพดีอยู่แล้วแต่ไปเสพ พอรู้สึกดีจากฤทธิ์ยาก็เลยอยากได้อีก ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องใช้เลย แต่คนที่ปวดอยู่ เขาไม่ได้รู้สึกดีนะ เพราะเราให้ยาเขาเพื่อหายจากความเจ็บปวดทางร่างกาย เขาอยากได้ยาอีกเพราะมีความเจ็บปวดทางกายภาพ ไม่ใช่เหตุผลทางจิตใจที่ต้องการเสพติด” ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูรกล่าว

ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังรักษาได้ควรทำอย่างไร ?

ถ้าเป็นคนไข้ที่มีโอกาสหายหรือยังไม่ถึงขั้นมะเร็งระยะลุกลาม ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร ให้คำตอบในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ตัวผู้ป่วยสมควรสู้กับโรคมะเร็งนี้ให้ถึงที่สุดก่อน

“ถ้ามีผลเป็นมะเร็งแล้ววิเคราะห์ดูแล้วมันมีโอกาสหายได้ แต่คนไข้กลัว ผมจะแนะนำว่า จริงๆ ไม่ต้องกังวลนะ ผมจะส่งไปหาคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้หายได้ ผมจะชวนไปรักษา เพราะถ้าเขายังมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกนาน มันก็น่าเสียดายโอกาส แต่ถ้าเขาไม่อยากรักษา ทางเราก็บริการรักษาต่อเองไม่ต้องไปที่อื่นก็ได้”

เมื่อมีคนในบ้านป่วยเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร ?

เมื่อมีคนในครอบครัวป่วยลงด้วยโรคร้ายแรง ส่วนใหญ่แล้วคนในครอบครัวมักจะเลือกปกปิดความจริง เพราะต้องการทำให้ผู้ป่วยยังมี ‘กำลังใจ’ ที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไป แต่ทราบหรือไม่ว่า ความจริงแล้วการปกปิดความจริงนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิตไปเช่นกัน

“ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้ความจริงแล้วเขาต้องการที่จะรู้ ก็สมควรบอกเขานะ อันนี้เป็นประเด็นนะครับ หลายครอบครัวไม่ยอมบอก เพราะกลัวทรุด ... แต่การได้รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นอะไร มันจะทำให้มีการวางแผนชีวิตใหม่ ถ้าญาติไม่ให้รู้ก็แสดงว่าตัดโอกาสคนไข้

“เราไม่อยากให้เขามีอิสระในการเลือกเส้นทางของชีวิตหรือ? ถ้าต้องการก็ควรให้เขามีโอกาสที่จะวางแผน ใช่ มันเศร้าแน่นอน แต่ทุกคนต้องเศร้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันจะมีกระบวนการเยียวยาของมันเอง แล้วทุกอย่างก็จะไปต่อ ก็จะเดินต่อได้”

โครงการเยือนเย็นเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?

เดิมที ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร เป็นนักศึกษามหา’ลัย John Hopkins (สหรัฐอเมริกา) และศึกษาเรื่องมะเร็งในเด็กโดยตรง หลังจากสำเร็จการศึกษาก็เดินทางกลับมาที่ไทยด้วยเป้าหมายหลักๆ คือ

“การรักษามะเร็งที่เด็กทุกคน สามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกและดีได้”

คุณหมอรักษามะเร็งในเด็กระยะหนึ่ง จนกระทั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษามะเร็งในเด็ก ดังนั้นครอบครัวเด็กที่มีปัญหาด้านการเงินจึงสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้

อย่างไรก็ตามปัญหาอีกประการคือ การช่วยให้ผู้ปกครองยอมรับธรรมชาติของมะเร็งในเด็ก ว่าถึงจุดหนึ่ง เด็กก็ต้องเสียชีวิตจากมะเร็ง แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่คาดหวังปาฏิหาริย์ มีความหวังที่ไม่เป็นจริง ส่วนใหญ่พร้อมจะต่อสู้กับโรคร้ายเต็มที่ แม้ว่าในท้ายที่สุดผลการรักษาจะทำให้เกิดความผิดหวังเพียงใดก็ตาม

“พ่อแม่เด็กก็พูดว่า ‘ถ้ารู้แบบนี้ น่าจะพาลูกไปเที่ยวนะ’ ผมก็เลยอ้าว ... เริ่มรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า การรักษาตลอดไปไม่ใช่คำตอบที่ดี ... เขาเข้าสู่ขั้นตอนรักษาเพื่อหายป่วยแล้วกลับไปใช้ชีวิต งั้นถ้าเราคุยเรื่องการใช่ชีวิตก่อน ว่าเขาอยากทำอะไร อยากไปที่ไหน

“ผมไปคุยกับเด็กว่า ‘รู้ว่าอยากหายนะ แต่ถ้าสมมุติว่าหายเสร็จแล้วอยากทำอะไร?’ เขาบอกทันที อยากไปทะเล แต่พ่อกับแม่แย้งทันทีว่าเขาเป็นมะเร็งอยู่นะ เราก็ต้องชวนคุยใหม่ว่า จริงที่เขาเป็นมะเร็งอยู่ แต่เรารู้ว่าถ้ารักษาก่อนแล้วค่อยไป พอถึงตอนนั้นเราไม่รู้ว่าน้องจะยังไปไหวอยู่หรือเปล่านะ แต่ตอนนี้น้องทำได้ทุกอย่าง ก็ไปก่อนซะเลยดีไหมครับ? ถ้ามีปัญหาอะไรแล้วโทร.หาผมได้ทันทีเลย...

“ผลปรากฏออกมาว่า ลูกสนุกมากเลยมีความสุข แม่หรือผู้ปกครองเขาก็เริ่มคิดว่า เราควรทำอะไรต่อให้ลูกมีความสุข เพราะสามปีที่ผ่านมาลูกไม่เคยยิ้มเลย แต่วิธีนี้ยอดเยี่ยม ... จากนั้นเราก็ค้นพบว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้มันกลายเป็นเรื่องสำคัญและมีคนตั้งชื่อให้กระบวนการพวกนี้อยู่แล้วว่า Palliative care (การดูแลแบบประคับประคอง)”

จากนั้นเป็นต้นมา ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร ก็เปลี่ยนจากดูแลมะเร็งระยะลุกลามในเด็ก มาเป็นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามสำหรับผู้ใหญ่แทน ซึ่งมีทั้งจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่า และความซับซ้อนของโรคที่มากกว่า นั่นเองจึงเป็นที่มาของโครงการเยือนเย็น อีกหนึ่งแพทย์ทางเลือกที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

สามารถติดต่อคุณหมอได้ช่องทางไหนบ้าง ?

ปัจจุบันคุณหมออิศรางค์ให้บริการปรึกษาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้าน ดังรายละเอียดข้างต้น โดยไม่จำเป็นต้องเคยรับการรักษากับคุณหมอมาก่อน ได้ทาง เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม Line ID yyen2018 หรือโทร 080-776-6712

เอกสารอ้างอิง : https://voicetv.co.th/read/B1oOZIbUG
https://www.cancer.org/cancer/cancer-basics/history-of-cancer/what-is-cancer.html
บุคคลสำคัญ : ศ.นพ.ดร. อิศรางค์ นุชประยูร

18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา – จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย
20 เมษายน, 2561

พระเอทีเอ็ม

ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักได้รับการดูแลมิติทางกายจากสถานพยาบาลหรือครอบครัว การกินอาหาร ได้รับยาที่เหมาะสม พักผ่อนในบรรยากาศแวดล้อมที่เกื้อกูล อาจช่วยบรรเทาความทุกข์กายได้บ้าง
13 เมษายน, 2561

โมงยามที่เปี่ยมชีวิตชีวา

วิลโก จอห์นสัน เป็นนักร้องและมือกีตาร์ชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดขบวนการพังค์ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา