parallax background
 

ตำราเล่มใหญ่คือคนไข้

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

“พี่ทำงานแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งการ” ระยะเวลายาวนานที่พี่เกื้อ หรือคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ได้พบคนไข้และญาติจำนวนมากซึ่งมีความต้องการต่างกัน สมัยก่อน ตอนทำงานด้านนี้ใหม่ๆ พี่เกื้อยอมรับว่ากลัว ไม่รู้จะพูดอย่างไร ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เช่น เมื่อคนไข้ขอให้ถอดท่อช่วยหายใจ ก็กลัว ไม่ใช่กลัวคนไข้ตาย แต่กลัวกฎหมาย กลัวการฟ้องร้อง

กรณีคนไข้หญิงรายหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย เดิมอยู่กรุงเทพฯ แต่ขอย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์เพื่อตามหาพ่อที่ไม่เคยพบเจอกันเลย แต่เมื่อพบกัน พ่อซึ่งเป็นนักข่าวกลับสร้างความตึงเครียดในการดูแลให้กับพยาบาล พี่เกื้อเล่าว่า ไม่มีพยาบาลคนไหนชอบคนไข้รายนี้ เพราะพ่อคนไข้ใช้ความเป็นนักข่าวร้องขอพยาบาลให้ไปดูแลลูกตนเองวันละหลายรอบ โดยเฉพาะเมื่อลูกแสดงอาการปวด ขณะที่พยาบาลมีภาระงานมาก ทำให้เครียดและกลัวการฟ้องร้อง เพื่อนๆ พยาบาลจึงไม่อยากดูแลคนไข้รายนี้

ดังนั้น พี่เกื้อจึงถูกตามมา หลังแนะนำตัวและทักทาย วันแรกที่พบกัน คนไข้ไม่ตอบและนอนหันหลังให้ พี่เกื้อไม่ละความพยายาม ยังคงถามไถ่อาการ “ปวดไหม” “ปวดอย่างไร” ซึ่งยังคงไม่มีการตอบรับ พี่เกื้อพูดคุยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถามว่า “เอ..นี่เป็นชาวพุทธหรือเปล่าหนอ” ปรากฏว่าคนไข้พยักหน้า พี่เกื้อจึงถามต่อว่าชอบการสวดมนต์ไหม ขออนุญาตสวดมนต์ให้ฟังได้ไหม คนไข้พยักหน้ารับ พี่เกื้อจึงสวดมนต์ให้ฟัง รวมถึงบทสวดสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ (คนกลัวตายอยากต่ออายุ แต่จะต่ออายุจริงหรือไม่ ไม่เป็นไร ขอให้สวดไปก่อนเป็นกำลังใจ - พี่เกื้อว่าอย่างนั้น) และได้ “ถ่ายทอดพลัง” ด้วยการใช้นิ้วโป้งกดไล่เบาๆ ที่หน้าผากตั้งแต่หว่างคิ้วจนไรผมระหว่างสวดมนต์ด้วย และบอกคนไข้ว่าพรุ่งนี้จะมาเยี่ยมใหม่

พี่เกื้อตกใจเมื่อกลับไปเยี่ยมคนไข้ในวันรุ่งขึ้น และเพื่อนพยาบาลถามว่า “ให้ยาอะไรผิดขนานหรือเปล่า” รวมถึงบอกให้พี่เกื้อไปดูเองว่าเกิดอะไรขึ้น พี่เกื้อรู้สึกใจไม่ดีเมื่อต้องเปิดประตูห้องคนไข้ เพราะเพื่อนยังบอกอีกว่า คนไข้ไม่ขอมอร์ฟีนแต่ขอท่อออกซิเจนที่ยาวขึ้น วันนั้น พี่เกื้อพบว่าคนไข้ขอท่อออกซิเจนยาวเพื่อให้สามารถลุกเดินไปอาบน้ำเอง กินข้าวเอง คนไข้ทักพี่เกื้อว่า “นึกว่าจะไม่มาแล้ว นั่งรอตั้งแต่เช้า” “เมื่อวานได้รับพลังมา จากนอนอยู่สองอาทิตย์ วันนี้ลุกมาอาบน้ำสระผมนั่งรอคุณได้” บทสนทนาต่างๆ ค่อยดำเนินไป พี่เกื้อเริ่มรู้ว่าคนไข้เป็นใคร ทำไมต้องมารักษาตัวที่นี่ ไปรักษาที่ไหนมา มีความคับข้องใจในการรักษาจากคลินิกที่อื่นมาอย่างไร

จากเวลาที่หมอแจ้งคนไข้ว่าจะอยู่ได้อีก ๒ สัปดาห์ แต่คนไข้อยู่ต่อได้ ๘ เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พี่เกื้อได้พูดคุยกับคนไข้มากขึ้น คุยถึงเรื่องความต้องการสุดท้ายและเตรียมตัวตาย จนคนไข้สามารถสั่งไว้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เตรียมตัดชุดใส่ในวันสุดท้าย ฝากนิมนต์พระที่ตนนับถือมาสวดในงานศพ รวมถึงสั่งอาหารเลี้ยงในงาน และสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบ

กรณีข้างต้น ทำให้รู้ว่าทำไมพยาบาลจึงไม่ชอบคนไข้และไม่ดูแล และทำไมคนไข้จึงไม่เปิดใจให้ดูแล เมื่ออุปสรรคคลี่คลาย ใจทุกฝ่ายจึงเปิด คนไข้จึงเป็นเสมือนตำราที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ จนพี่เกื้อมีประสบการณ์ในการดูแลให้คนไข้จากไปอย่างสงบคนแล้วคนเล่า กลายเป็นความปีติและเกื้อหนุนหล่อเลี้ยงใจให้พี่เกื้อมีแรงกายแรงใจในการทำงานดูแลคนไข้ต่อไป

*เกื้อจิตร แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์
และวิทยากรโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

[seed_social]
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
18 เมษายน, 2561

ความฝันกับความจริง

ศิลปะมีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ โดยตัวศิลปะเองเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ได้อยู่กับตนเอง ได้ถ่ายทอดตัวตนที่อยู่ภายในออกมาเป็นผลงานภายนอกที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำไปสู่การเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง
4 เมษายน, 2561

การน้อมนำความตายในชีวิตประจำวันจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

มองทุกอย่างเป็นเครื่องเตือนใจว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เช่น ของหายเป็นสัญญาณเตือนว่าอีกหน่อยอาจจะเจอหนักกว่านี้ และเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณพร้อมหรือยัง ถ้าแค่นี้คุณยังไม่ผ่าน แล้วถ้าเจอกับความตายจะสอบผ่านได้หรือไม่