สุขาวดีเป็นนิกายหนึ่งของพุทธมหายานขับเน้นความศรัทธาให้แนบสนิทกับอมิตภพุทธเจ้า หากสัตว์โลกได้เอ่ยนาม “อมิตภะ 10 ครั้ง” ด้วยศรัทธาอย่างไม่คลอนแคลนสงสัย บุคคลนั้นไม่ว่าเป็นใครจะได้ไปเกิดในดินแดนสุขาวดีของอมิตาภะ ความงามของดินแดนสุขาวดีที่มีพระอมิตาภะเทศนาสั่งสอนเหล่าโพธิสัตว์ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันวิจิตร และสรรพสิ่งต่าง ส่งเสียงเป็นธรรมะสร้างประสบการณ์สุนทรียะที่ให้เกิดความปรารถนาจะไปเกิดในสุขาวดี การตายดีจากมุมมองนิกายสุขาวดีคือตายแล้วไปเกิดในดินแดนสุขาวดีนั่นเอง ถึงแม้ว่า การปฏิบัติแบบสุขาวดีง่ายและเปิดกว้างต่อทุกผู้คน แต่หัวใจของสุขาวดีก็ไม่ได้แยกขาดจากโพธิจิต กล่าวคือเมื่อได้เกิดในสุขาวดีและบรรลุธรรมแล้ว หน้าที่คือการกลับมาสู่โลกเพื่อช่วยสรรพสัตว์สู่สุขาวดี โดยแท้จริงแล้วสุขาวดีคือโลกนี้ การมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มีความทุกข์เพียงไร ทั้งช่วงมีชีวิตและตายมีองค์อมิตภะช่วยจัดการให้บริสุทธ์เสนอ จงเอ่ยนามอย่างศรัทธาถึง “อมิตภะ” เถิด
สุขาวดีไม่ใช่ศาสนาแบบเทวนิยม
นิกายสุขาวดีหรือนิกายวิสุทธิภูมิหรือโจโดตามภาษาญี่ปุ่น โดยหลักฐานไม่ปรากฎว่าเกิดในอินเดีย เมื่อเกิดในจีนแล้ว ได้แพร่ขยายไปสู่ญี่ปุ่นและเกาหลี การเกิดขึ้นของนิกายสุขาวดีเชื่อกันว่า เป็นการเติบโตของพุทธศาสนา ที่พยายามหาวิธีช่วย ทุกผู้คนในสังคม (คนบาปหรือคนชายขอบที่อยู่นอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม) และสรรพสัตว์ใหัถึงการหลุดพ้น ถ้าหากว่า สัตว์ทั้งหลายเอ่ยนามของ “อมิตาภะ” หรือ “อมิตาพุทธ” ด้วยความศัทธา 10 ครั้ง ด้วยศรัทธาอย่างไม่คลอนแคลนสงสัยใดๆ ก็จะได้ไปเกิดในแดนสุขาวดีเพื่อรอการหลุดพ้น ถึงแม้ว่า นิกายสุขาวดีเน้นความศรัทธาต่อพระอมิตภพุทธเจ้าซึ่งดูเหมือนว่าจะคล้ายกับเทวนิยมที่เชื่อในพระเจ้า (GOD) แต่พระอมิตภพุทธเจ้าไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษใด นี่เป็นจุดต่างจากเทวนิยม
การตายดีคือการได้ไปอยู่ในสุขาวดี
สุขาวดีเป็นดินแดนที่ประทับขององค์อมิตภพุทธเจ้าเพื่อเทศนาสั่งสอนโพธิสัตว์และเป็นดินแดนที่จะรอไปสู่นิพพาน ในสุขาวดีฝ่ายทิเบตอธิบายว่า สภาพแวดล้อมและสรรพสิ่งในสุขาวดีต่างส่งเสียงเป็นธรรมะ นกร้องเป็นธรรมะ ใบไม้ไหวเป็น ธรรมะ เสียงน้ำไหลลมพัดต่างเป็นเสียงของธรรมะ การตายดีตามมุมองสุขาวดีคือตายแล้วได้ไปเกิดในดินแดนสุขาวดี โดยการเกิดในสุขาวดีมีเงื่อนไขดังนี้
- เอ่ยนามของ “อมิตาภะ” 10 ครั้ง ด้วยศรัทธาที่แนบสนิทอยู่กับพระอมิตภะพุทธเจ้า
- มีความตั้งใจจะไปเกิดในดินแดนสุขาวดี เมื่อเห็นรูปภาพสุขาวดีแล้วรู้สึกประทับใจและตั้งเป็นเป้าหมาย
- ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้า ไม่ว่าจะทำบุญกุศลใดขอให้ไปเกิดในสุขาวดี
- ทำความคุ้นเคยกับโพธิจิตเมื่อได้เกิดในสุขาวดีแล้ว บรรลุธรรมแล้ว หน้าที่คืดการกลับมาสู่โลก เพื่อมาบอก สรรพสัตว์ และช่วยสรรพสัตว์ไปยังดินแดนสุขาวดี
นิกายสุขาวดีไม่มีการฝึกสมาธิ ภาวนา และไม่มีความเชื่อโชคลาง มีเพียงการสวดนามถึงอมิตภะด้วยความศรัทธามั่น ด้วยการปฏิบัติที่ง่ายไม่ซับซ้อนของสุขาวดีจึงเข้าถึงและเปิดรับผู้คนทุกชนชั้นในสังคมได้ง่าย ไม่ว่าคนบาปหรือคนชายขอบ
ผู้ปฏิบัติสุขาวดีต้องเชื่ออย่างสุดใจว่า ทุกอย่างในชีวิตพระอมิตภะจะจัดการให้ แม้ว่าชีวิตจะยากลำบากเพียงไร หรือมีความทุกข์อย่างไรอมิตภะช่วยชำระให้ชีวิตบริสุทธิ์ได้ ในช่วงเวลาแห่งการตายแม้จะมีทุกข์ทรมานและเจ็บปวด หากเอ่ยนามถึงพระอมิตภะอย่างศรัทธาครบ 10 ครั้ง เมื่อตายจะได้ไปเกิดในดินแดนสุขาวดี โดยมีพระอมิตภะและเหล่าโพธิสัตว์จะลงมารับดวงวิญญาณของผู้ตายไปยังสุขาวดี โดยการจัดวางให้ผู้ตายนอนตะแคงขวา หันศรีษะไปทางทิศเหนือและหัน หน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศของสุขาวดีแล้วอมิตภะพุทธเจ้าจะใช้เชือกห้าสีรับดวงวิญญาณไป
การมีชีวิตที่ดีและการตายดีที่แนบสนิทกับโพธิจิต
เมื่อสุขาวดีเป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายานจึงเน้นย้ำโพธิจิต หรือจิตที่มีความกรุณาลงมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ ดังนั้นเมื่อบุคคลได้ไปเกิดสุขาวดีแล้วและบรรลุธรรมแล้ว หน้าที่คือการกลับมาสู่โลกเพื่อมาบอกสรรพสัตว์เพื่อช่วยสรรพสัตว์ไปสู่สุขาวดี หากกล่าวให้ถึงที่สุด โลกนี้คือสุขาวดีแต่เริ่ม การใช้ชีวิตบนโลกนี้คือการอยู่ในสุขาวดีที่อมิตาภะจัดการทุกอย่างให้ เพราะเป็นหน้าที่ของพระอมิตภะจะรับใช้และทำให้สัตว์โลกบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม สุขาวดีไม่ได้บอกให้คนทำชั่วและไม่ต้องรับกรรม การรับกรรมนั้นยังมีตามปกติตามที่บุคคลนั้นทำมา แต่การสวดถึงพระอมิตาภะอย่างศัทธา แม้บุคคลนั้นตกนรกก็จะไม่เสียใจ ตราบใดที่ยังสวดถึงอมิตภะอย่างศัทธาก็จะได้ไปเกิดในสุขาวดี อีกด้านหนึ่ง นิกายสุขาวดีดูเหมือนว่าไม่สนใจเรื่องความตาย เพราะทุกอย่างพระอมิตภะจัดการให้ ไม่ว่าจะเป็นนรกหรือแดนสุขาวดีก็ไปได้หมด จากมุมมองนี้ ความเปิดกว้างและการเปิดรับทุกคนของสุขาวดี คือการมอบความไว้วางใจอย่างถึงที่สุดให้สรรพสัตว์ทั้งในช่วงมีชีวิตและเมื่อตายไปแล้ว
สรุป
สุขาวดีเปิดกว้างและช่วยเหลือทุกสรรพสัตว์ไม่มียกเว้น เพียงเอ่ยนาม “อมิตภะ” ด้วยศรัทธาอันแนบสนิท นอกจากนี้ สุขาวดีมอบความไว้วางใจทั้งหมดให้กับการมีชีวิตและการตายไปพร้อมกัน ถือเป็นความกล้าหาญและเปิดรับชีวิตอย่างถึงที่สุด ด้วยมุมมองเช่นนี้ของสุขาวดีจึงดูเหมือนว่ามีความสอดคล้องกับมุมมองพุทธวัชรยานที่ว่า สัตว์โลกมีพุทธภาวะอยู่แล้วแต่เดิม การอยู่ดีตายดีจากมุมมองสุขาวดีจึงกลับมาที่ความกล้าหาญของความไว้วางใจต่อชีวิตบนพื้นฐานของความศรัทธาต่ออมิตภะ และความงามของดินแดนสุขาวดีเป็นเครื่องมือสร้างความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้ไปเกิดในสุขาวดีซึ่งคือการอยู่บนโลกใบนี้ การช่วยเหลือผู้ใกล้ตายให้จากไปอย่างสงบจากมุมมองสุขาวดี คือในช่วงสุดท้ายของชีวิตให้ตั้งจิตมั่นอย่างศรัทธาไม่โอนเอนถึงอมิตภะและขอให้ไปเกิดในสุขาวดี กล่าวกันว่า สุขาวดีนั้นปฏิบัติง่ายแต่เข้าถึงยากต่างจากนิกายเซน ที่ฝึกยากแต่เข้าถึงง่าย จึงมีอาจารย์เซนบางท่านในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้เปลี่ยนมาฝึกสุขาวดีด้วยการเอ่ยนามอมิตภะอย่างศรัทธา ไม่มีข้อสงสัยหรือตั้งคำถามใด เพื่อให้จิตได้แนบสนิทกับพระอมิตภพุทธเจ้า
เรียบเรียงส่วนหนึ่งของคำบรรยายจากห้องเรียน “สุนทรียะกับความตาย”
กับ ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา (อ.ดอน)
วันที่ 31 ตุลาคม 2563
เวลา 9:00 - 16:30 น.
[seed_social]