รีวิวหนังสือ “คุยเป็นยา ศิลปะการสื่อสารเพื่อการเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว”

โดย: GARUDA หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ถึงแม้ว่า การสื่อสารเพื่อการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการดูแลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงระยะสุดท้ายของผู้ป่วยรวมถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แต่การสื่อสารก็เป็นสิ่งที่ผู้สื่อสารไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยต่างมีความกังวลเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยทางการแพทย์  ช่วงเวลาใดที่เหมาะสมต่อการสื่อสาร การแจ้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยและครอบครัว อุปสรรคสำคัญคือการขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะการสื่อสารสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง หนังสือคุยเป็นยา ศิลปะการสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว ของผู้เขียน ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ จากสำนักพิมพ์ Peaceful Death จึงเป็นคำตอบที่ได้เสนอทั้งทักษะและศิลปะการสื่อสารที่มาจากหัวใจของผู้สื่อสาร โดยผู้เขียนได้ศึกษาและรวบรวมแนวทางการสื่อสารของอาสาสมัครและกลุ่มผู้ทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยและครอบครัวในระยะสุดท้าย

เนื้อหาของหนังสือได้เสนอแนวทางการสื่อสารให้สอดคล้องกับแนวคิดของอลิซาเบธ คูเบอร์ ลอส (Elisabeth Kubler Ross) จิตแพทย์ผู้ทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ได้สรุปปฏิกิริยาผู้ป่วยเมื่อได้รับการแจ้งข่าวร้ายไว้ 5 ระยะ ได้แก่ ระยะปฏิเสธ ระยะโกรธ ระยะต่อรอง ระยะซึมเศร้า และระยะยอมรับ นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการสื่อสารคือผู้สื่อสารควรทำความเข้าใจผู้รับสารหรือผู้ป่วย โดยนำแนวคิดการวิเคราะห์บุคคลตามแบบจำลองภูเขาน้ำแข็งของสาเทียร์ (Satir) เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม ความรู้สึก การรับรู้ ความคาดหวัง และความปรารถนาลึกๆของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้การสื่อสารสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย รวมถึงการใส่ใจต่อญาติและบริบทแวดล้อม เพื่อให้การสื่อสารบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายการดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยตลอดวาระสุดท้าย ดังนั้นหนังสือคุยเป็นยาได้รวมหลักการสื่อสารของการดูแบบประคับประคอง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการฟัง ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการวิเคราะห์บริบท และทักษะการประเมินตนเองของผู้สื่อสาร

การสื่อสารข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับผลการวินิจฉัยไม่ใช่จุดสุดสิ้นสุดของการรักษา แต่ความจริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารที่ไม่เพียงให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการของโรคและแนวทางการรักษา แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเคารพและยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยด้วย

ผู้เขียนได้เสนอหลักการพื้นฐานของผู้สื่อสารไว้ 10 ข้อ ได้แก่

  1. มีความเชื่อ/ศรัทธาว่าทุกสิ่งจะผ่านไปได้
  2. มีความเคารพและยอมรับความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย
  3. เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้สื่อสาร
  4. ให้ผู้ป่วยตัดสินใจด้วยตนเอง
  5. ไม่เร่งรัด ด่วนสรุปและโจนสู่เป้าหมาย
  6. การให้ความเข้าใจ
  7. การอยู่ความเป็นปัจจุบันของผู้ป่วย
  8. การให้ความเท่าเทียม
  9. การยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น และ
  10. ความสามารถในการประเมินตนเองได้

ทั้งสิบข้อนี้เป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารบรรลุผลสำเร็จ ทั้งนี้หลักการข้อที่สิบความสามารถในการประเมินตนเองหมายถึงผู้สื่อสารควรมีความสามารถในการตระหนักถึงบริบทของสถานการณ์ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยขณะนั้นว่า พร้อมจะเปิดรับต่อข่าวสารหรือไม่ รวมถึงตระหนักว่า สิ่งที่ตนเองกระทำมาจากความต้องการของตนเองหรือผู้ป่วย ไม่เช่นนั้นแล้วการจัดการทั้งหมดที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การยัดเยียดความคิดและเป็นความก้าวร้าวต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งไม่ใช่ความกรุณา

นอกจากหลักการทั้งสิบข้อข้างต้น ผู้เขียนได้สรุปบุคลิกภาพของผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่มีสภาพจิตใจเปราะบางไว้ 2 ประเภทคือ หนึ่งคือ กลุ่มผู้ป่วยสายแข็ง เป็นกลุ่มที่มักมั่นใจในตนเอง ไม่ยอมรับความอ่อนแอ และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากใคร เก็บความรู้สึก เพราะกลัวเสียหน้าและเสียศักดิ์ศรีจึงเป็นกลุ่มที่กล้ำกลืนฝืนทนรับความกดดัน ความทุกข์ และความเจ็บปวด กลุ่มนี้ผู้สื่อสารควรใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการใคร่ครวญมากกว่าการให้คำแนะนำ รวมถึงชวนคุยถึงเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จในอดีตเพื่อการเปิดใจผู้ป่วย

ประเภทที่สองคือ กลุ่มสายอ่อน เป็นกลุ่มที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าตัดสินใจ มีภาวะพึ่งพิงสูง มีความคาดหวังสูง แต่เมื่อผิดหวังมักโทษผู้อื่น การสัมพันธ์กับกลุ่มนี้ควรใช้คำถามสำรวจความรู้สึกที่แท้จริง และกระตุ้นให้เลือกหรือตัดสินใจด้วยตนเอง  นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้สื่อสารควรพิจารณาเพิ่มคือ บริบทที่ผู้ป่วยเติมโตมา เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อ และประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจากวัฒนธรรมคนจีนมักหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงความตาย ผู้สื่อสารจึงควรเริ่มด้วยการพูดถึงความคิด ความปรารถนาในชีวิต เพื่อนำไปสู่การวางแผนเรื่องความตาย เป็นต้น โดยสรุปช่วงแรกของหนังสือผู้เขียนให้มุมมอง หลักการ แนวทางทำความเข้าใจผู้ป่วยทั้งบุคลิกภาพและบริบทของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนเนื้อหาด้านทักษะการสื่อสาร ผู้เขียนให้แนวทางเกี่ยวกับวิธีการพูด ภาษาท่าทาง การรู้ถึงช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสาร โดยทักษะพื้นฐานสำคัญคือ ทักษะการฟังและการสังเกต ทั้งภาษาพูด ภาษากายและท่าทาง เพื่อสืบค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย ทั้งนี้หลักการที่อยู่เบื้องหลังการฟังคือ การให้ความเข้าใจ (Empathy) ซึ่งเป็นทักษะการฟังที่เคารพและใส่ใจความรู้สึกของผู้พูดโดยไม่ตัดสิน นอกจากนี้ ทักษะการตั้งคำถามปลายเปิด เป็นอีกเทคนิคสำคัญที่ใช้สำรวจและสืบค้นความคิด ความรู้สึก และความปรารถนาของผู้ป่วยและญาติ  รวมถึงทักษะการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับความตายจากประสบการณ์จริงของผู้ดูแลนำมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและวางแผนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยได้ กล่าวได้ว่า ทักษะการสื่อสารทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยเพื่อนำมาใช้วางแผนการดูแลแบบประคับประคองได้อย่างเหมาะสม

นอกเหนือจากการมีทักษะการสื่อสารที่ดี การตระหนักถึงบริบทของการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญมากเช่นเดียวกัน ผู้เขียนได้รวบรวมแนวทางการสื่อสารในแต่ละช่วงเวลาต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการสื่อสารกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 5 ช่วง ได้แก่ การสื่อสารช่วงรอผล การสื่อสารหลังรู้ผลวินิจฉัย การสื่อสาระหว่างดูแลแบบประคับประคอง การสื่อสารในช่วงสุดท้ายของชีวิต และการสื่อสารกับญาติหลังผู้ป่วยเสียชีวิต นอกจากการตระหนักถึงการสื่อสารให้เหมาะสมกับช่วงเวลาแล้ว ผู้เขียนได้รวบรวมคำพูดที่ผู้ป่วยไม่อยากฟัง หรือคำพูดที่ไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยอย่างแท้จริง เช่น “ทำใจนะ” “สู้” “เดี๋ยวก็หาย” หรือ “ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องตกใจนะ โชคดีนะที่เจอเร็ว” เป็นต้น

โดยสรุป ผู้เขียนได้ให้แนวคิดการสื่อสารสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง ที่เน้นสามองค์ประกอบสำคัญได้แก่ ผู้สื่อสารคือกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้รับสารคือผู้ป่วยและญาติ และบริบทของสถานการณ์ ณ ขณะนั้น กล่าวได้ว่า หนังสือคุยเป็นยา ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว ได้เสนอองค์ประกอบการสื่อสารอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแนวคิดการให้คำปรึกษาครอบครัวของ เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir, 1916-1988) ที่เน้นความสัมพันธ์เชิงระบบครอบครัวที่ประกอบด้วย ฉัน (I)  ผู้อื่น (Others) และบริบท (Context) ของสถานการณ์ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มองการสื่อสารเป็น “ยา” ที่จะเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ นั่นเพราะว่าหัวใจของการสื่อสารคือการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้รักษา ผู้ป่วย และบริบท ที่ล้วนเกี่ยวข้องกันและไม่อาจแยกขาดกันได้ กล่าวคือทั้งสามองค์ประกอบเป็นเหมือนระบบครอบครัวที่ช่วยให้การดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้ายประสบความสำเร็จ

ผู้สนใจดูรายละเอียดการสั่งซื้อหนังสือ ได้ที่นี่

บุคคลสำคัญ: อลิซาเบธ คูเบอร์ ลอส (Elisabeth Kubler Ross), เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir)

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

อานิสงส์ของการเตรียมตัวตาย

บ้านมีอาชีพขายโลงศพ เวลาขายโลง ลูกค้ามักจะขอให้ทำพิธีบรรจุศพใส่โลงด้วย ตอนเด็กๆ จะตามพ่อไปบ่อยมากทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล เพราะคนจีนมีประเพณีว่าพอมีคนใกล้ตาย จะไปจองโลงศพและเตรียมตัวเสื้อผ้าแต่งให้ศพไว้
28 กุมภาพันธ์, 2561

เพราะรักไม่ใช่หน้าที่

วันตรุษจีน ลูกทั้งสี่คนนำซองอั่งเปามาให้แม่ พอช่วงบ่าย แม่โวยวายเพราะหาซองไม่เจอ และคิดว่าต้องมีคนแกล้งขโมยไป ในที่สุดก็พบซองในช่องฟรีซตู้เย็น ทุกคนหัวเราะชอบใจ แต่ภายใต้ความขำขันนั้นต่างก็เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไป
13 เมษายน, 2561

อนุสติจากการตายของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์

มาร์กาเร็ต แธชเชอร์  ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นสตรีที่ต่อสู้จนประสบความสำเร็จในทางการเมือง