ผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้ายในบ้านพักคนชรา:
ช่องว่างและปัญหาที่ตกหล่นไปจากสังคม
ผู้เขียน: ปองกมล สุรัตน์ หมวด: ชุมชนกรุณา
ปี 2015 องค์การอนามัยโลกประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีสุขภาวะ (Healthy ageing) ตามกรอบแนวคิดการเป็นผู้สูงอายุที่มีสมรรถภาพทางกายและใจ (Intrinsic capacity) และคงความสามารถในการใช้ชีวิตในแบบที่ตนให้คุณค่าได้ตลอดชีวิต การเข้าสู่สังคมสูงวัยกลายเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกเตรียมแผนรับมือ เมื่อประชากรสูงอายุมีจำนวนมากทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนไปในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสุขภาพ สำหรับประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ใน พ.ศ. 2564 นี้ ซึ่งหมายถึงไทยจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
ในมิติสุขภาพ หลายประเทศมีการกำหนดนโยบายสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในแต่ละช่วงอายุโดยเฉพาะ โดยมุ่งประเด็นความครอบคลุม (Coverage) การเข้าถึง (Accessibility) และคุณภาพการบริการ (Quality of care) เมื่อสังคมโลกมีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมแผนระยะยาวสำหรับผู้สูงวัยที่อายุขัยยาวขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น ผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังหรือป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล บ้าน หรือสถานดูแลผู้สูงอายุที่คิดค่าบริการ ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้มีทีมสุขภาพหรือครอบครัวคอยดูแล แต่มีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงการดูแลระยะท้าย (End of Life Care) ที่เหมาะสม และหลายคนเสียชีวิตโดยไม่ได้ใกล้ชิดลูกหลานในวาระสุดท้าย ก็คือผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังหรือป่วยระยะท้ายในสถานสงเคราะห์
กราฟแสดงจำนวนผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
โดยในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์
และอีก 10 ปีต่อมาจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
ที่มา: thaitgri.org/?p=38427
ในประเทศไทย ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ บ้านพักคนชรา เป็นพื้นที่เล็กๆในสังคม แต่เป็นโลกทั้งใบและอาจเป็นโลกใบสุดท้ายของผู้สูงอายุหลายคน พื้นที่แห่งนี้มีจำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไร้ญาติ ลูกหลานปฏิเสธการดูแล บางส่วนสมัครใจมาเพราะไม่อยากเป็นภาระ หรือต้องการสังคมเพื่อนร่วมวัย โดยมีลูกหลานมาเยี่ยมเป็นบางครั้ง หรือบางรายแทบไม่มาเยี่ยมเลย ดังนั้น หน้าที่การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จึงตกเป็นของเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชรา และถูกส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่าย
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจสถานการณ์ทางสุขภาพของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังและป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนอนติดเตียง ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แต่ไม่ค่อยเป็นกลุ่มคนที่สังคมพูดถึง โดยยกกรณีบ้านพักคนชราบางแค เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มาเป็นตัวอย่าง
สถานการณ์ผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังและป่วยระยะท้ายในบ้านพักคนชราบางแค
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เดิมชื่อว่า สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ก่อตั้งขึ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งการพักอาศัยจะแบ่งตามสภาพความแข็งแรงของผู้สูงอายุ ได้แก่ 1) กลุ่มแข็งแรง ช่วยเหลือตนเองได้ 2) กลุ่มช่วยเหลือตนเองโดยอาศัยอุปกรณ์ และ 3) กลุ่มป่วยติดเตียง มีโรคเรื้อรัง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย ซึ่งจะพักอยู่อาคารพยาบาล
ในสองกลุ่มแรกไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพมากเท่ากลุ่มสุดท้าย ที่เป็นกลุ่มต้องการการดูแลเป็นพิเศษ บางรายเป็นผู้สูงอายุที่ตรวจพบมะเร็งภายหลังย้ายมาอยู่ หรือเป็นผู้สูงอายุป่วยระยะท้ายที่โรงพยาบาลรักษาไม่ได้แล้วและไร้ญาติ หรือญาติไม่รับดูแลก็จะถูกส่งมาที่บ้านพักคนชรา และใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในที่แห่งนี้ โดยผู้ดูแลหลักจะเป็นพี่เลี้ยงประจำตึก มีหน้าที่ป้อนยา ให้อาหารปั่นทางสายยาง เช็ดตัว เปลี่ยนแพมเพิส ดูแลสุขภาพโดยรวมไปจนผู้สูงอายุถึงวาระสุดท้ายและหมดลมหายใจ แต่ถ้าผู้สูงอายุอาการวิกฤตเกินกำลังของหน่วยพยาบาล ก็จะถูกส่งไปโรงพยาบาลเครือข่าย
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ที่มา: banbangkhae.go.th
ช่องว่างของการดูแลผู้สูงอายุป่วยเรื้อรังและป่วยระยะท้ายในบ้านพักคนชรา
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กรมกิจการผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรามานานหลายปี และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราบางแค พบว่าการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังในบ้านพักคนชรา มีปัญหาหรืออุปสรรคหลักที่สำคัญคือ
1) ผู้สูงอายุขาดการพูดคุยหรือวางแผนเรื่องเตรียมตัวตาย
ลาร์ส ทอร์นสแตม (Lars Tornstam) นักสังคมวิทยาชาวสวีเดน ผู้เสนอทฤษฎีภาวะธรรมทัศน์ของผู้สูงอายุ (Gerotranscendence Theory) กล่าวว่าผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่สามารถเข้าใจและยอมรับปรากฏการณ์ของชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะ ภาวะนี้เริ่มตั้งแต่ผู้ใหญ่ตอนต้นและมีพัฒนาการที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนเข้าสู่สูงอายุ แตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตและอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรม กล่าวคือผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตที่ผ่านมาด้วยดีจะเริ่มคิดเรื่องการเตรียมตัวตาย เข้าใจธรรมชาติชีวิต และยอมรับความตายได้มากขึ้นกว่าวัยที่ผ่านมา หรือเป็นวัยที่กลัวตายน้อยลง
ถ้านำหลักทฤษฎีมามองผู้สูงอายุในสังคมจะพบว่า ผู้สูงอายุหลายคนสามารถยอมรับความตาย ปล่อยวางชีวิตบั้นปลาย สนใจเรื่องศาสนา หรือทำงานการกุศลเพื่อผู้อื่น แต่บางรายยังทอดอาลัยในชีวิต ไม่สามารถละวาง และกลัวความตาย ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา รวมทั้งวัฒนธรรมที่มองว่าความตายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล เช่นที่คุณศิรินุช อันตรเสน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค (ตำแหน่งขณะสัมภาษณ์) กล่าวว่า “(ผู้สูงอายุ)ไม่ค่อยคุยเรื่องความตายหรอกค่ะ (ส่ายหน้า) แค่ชวนคุยเรื่องพินัยกรรมยังกลัวเลย เพราะมีบางคนยกสมบัติให้ลูกแล้วลูกทิ้ง เขาก็เอามาเล่าต่อๆกัน เลยกลัวกันไปหมด เปลี่ยนความเชื่อยากด้วย คิดว่าทำแล้วจะถูกทอดทิ้ง”
แม้วัยชราจะเป็นวัยที่มีแนวโน้มยอมรับความตายได้ แต่ในสังคมไทย ผู้สูงอายุหลายคนมองว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล ทำให้ไม่ได้พูดคุยและไม่ได้เตรียมตัวเองให้ดีเท่าที่ควร ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราจำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงจะคุยเรื่องความตายและการจัดการทรัพย์สินก่อนตาย นอกจากนี้หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ และหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุของกรมอนามัยและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังไม่มีเนื้อหาการเตรียมตัวตายที่ชัดเจน ทั้งที่การเตรียมตัวตายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม บ้านพักคนชราบางแคได้เริ่มจัดกิจกรรมพูดคุยเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบให้กับผู้สูงอายุที่เข้ามาเรียนหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุและผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัครชุมชน โดยประสานกับกลุ่ม Peaceful Death จัดกิจกรรมใคร่ครวญชีวิต ทำสมุดเบาใจ (เอกสารที่ระบุว่าอยากให้รักษาแบบไหนหรือให้ใครทำอะไรในช่วงท้ายของชีวิต) และ Care Club ซึ่งเป็นกิจกรรมเยียวยาผู้ที่ดูแลผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่บ้านบางแคและกลุ่ม Peaceful death
ร่วมประชุมแผนงานอบรมการเตรียมตัวตาย ให้กับผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่บ้านบางแค
2) เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเครียดและเหนื่อยล้า
การดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง เช่น มะเร็งระยะท้าย อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นงานค่อนข้างหนัก ต้องใช้กำลังกายและใจ คอยผลัดเวรดูแล 24 ชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงเครียดและเหนื่อยล้าจากภาระงานเหล่านี้ ส่งผลให้ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้ายได้ไม่ดีเท่าที่ควร และแม้เจ้าหน้าที่จะผ่านอบรมการดูแลผู้สูงอายุมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้คุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และขาดความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้าย ทำให้ดูแลได้เพียงความสุขสบายกายเบื้องต้นเท่านั้น แต่การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องเข้าใจผู้สูงอายุทั้งมิติกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
3) ขาดทีมสุขภาพเฉพาะทาง ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ดูแลในระยะท้าย
ภารกิจของบ้านพักคนชราในสังคมไทยเน้นไปที่การให้ที่พัก เสริมสร้างการเรียนรู้ คุณภาพชีวิตและสวัสดิการผู้สูงอายุ หากเป็นด้านสุขภาพจะดูแลโรคทั่วไปที่รบกวนสุขภาพ และส่งต่อโรงพยาบาล บุคลากรส่วนใหญ่ทำงานเพื่อให้คนชรามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยอาจไม่ได้มีพื้นที่ให้กับส่วนงานการดูแลก่อนตาย หรือการเตรียมตัวตาย กิจกรรมทางจิตวิญญาณจำกัดอยู่ที่การทำบุญตักบาตร ซึ่งที่จริงการดูแลเรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องศาสนา ความเชื่อ ความหวัง สิ่งที่มีความหมายในชีวิต สัมพันธภาพที่ดี ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตนเองได้ สะสางเรื่องที่ต้องทำ และพบเห็นสิ่งดีๆหรือแง่มุมเชิงบวก
ในกรณีบ้านพักคนชราบางแค มีพยาบาลประจำศูนย์อยู่จำนวนน้อยมาก ขาดทีมสุขภาพที่ดูแลผู้สูงอายุระยะท้าย เมื่อถึงเวลาวิกฤต ผู้สูงอายุจะถูกส่งไปโรงพยาบาลโดยที่ไม่มีการวางแผนรักษาล่วงหน้าว่าในช่วงสุดท้ายผู้สูงอายุแต่ละรายต้องการอะไร นอกจากนี้ บ้านพักคนชราขาดงบประมาณและอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้าย ซึ่งเป็นปัญหาเชิงนโยบายของภาครัฐต่อการมองชีวิตองค์รวมของผู้สูงอายุ ด้วยข้อจำกัดนี้ทางบ้านพักคนชราบางแคจึงพยายามป้องกันและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองได้นานที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่จะทำได้
4) ความซับซ้อนในการกำหนดวาระสุดท้าย
การประเมินว่าผู้สูงอายุคนใดอยู่ในวาระท้ายเป็นเรื่องยากพอสมควร กรณีที่ป่วยอาการหนักอาจพอประเมินได้ว่าน่าจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน แต่ผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคทั่วไปหรือป่วยเล็กน้อย อาจเสียชีวิตฉับพลันได้จากภาวะแทรกซ้อนเพราะความชราภาพของร่างกาย ในบ้านบางแคเคยมีผู้สูงอายุกลุ่มแข็งแรงแต่เสียชีวิตฉับพลันหลังจากท้องเสียได้เพียง 1 วัน
ในประเทศอังกฤษเคยมีผู้วิจัยติดตามผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่าง 4,709 คน พบว่า ผู้สูงอายุที่อายุ 80 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเสียชีวิตแบบกระทันหันโดยไม่ได้คาดคิด (Unexpected death) และยังพบว่า ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตแบบกะทันหันมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่กับญาติ เพื่อน หรือมีผู้ดูแลอยู่ที่บ้าน การเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราจึงควรทำแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่สถานดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกต่างประสบปัญหาการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังให้เหมาะสมในวาระท้าย เนื่องจากความซับซ้อนของการกำหนดวาระสุดท้าย การดูแลเฉพาะทางแบบสหวิชาชีพที่ต้องเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ดูแลหลายๆด้านไปพร้อมกันตั้งแต่ยังสื่อสารความต้องการได้ มิใช่ทำตอนใกล้เสียชีวิต
นอกจากนี้จากผลการสังเคราะห์งานวิจัยกว่า 1,305 ชิ้นที่ศึกษาผู้สูงอายุระยะท้ายในสถานบริบาลพบปัญหาว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาทางจิตสังคม โดดเดี่ยวและซึมเศร้าจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนว่าขาดการดูแลด้านจิตวิญญาณ ดังนั้น ทีมที่เข้าไปดูแลต้องตั้งใจดูแลต่อเนื่อง และใช้ทรัพยากรหลายด้าน ทั้งคน เวลา และงบประมาณ
ในประเทศใกล้เคียงอย่างฮ่องกง มีการประเมินว่าสถานกาณ์การตายในผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราที่ป่วยระยะท้ายยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในบ้านพักขาดทักษะการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายซึ่งเป็นปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ภาครัฐพยายามยกคุณภาพการตายดีในผู้สูงอายุกลุ่มนี้ตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา เช่น กระตุ้นให้เกิดการวางแผนสุขภาพระยะท้าย (Advance care planning) และสร้างทีมในชุมชนเพื่อทำงานนี้โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2015
5) ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราขาดการดูแลระยะท้ายจากครอบครัว ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีวาระท้ายที่ดีและตายสงบ ทั้งการสร้างบรรยากาศอบอุ่น ได้สั่งเสีย ขอโทษ ขอบคุณ และบอกรัก แต่จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราบางแค พบว่าผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่ไม่มีลูกหลานมาเยี่ยม ส่วนครอบครัวที่รับผู้สูงอายุที่ป่วยกลับไปดูแลนั้นมีน้อยมาก ในวาระสุดท้ายผู้สูงอายุจึงอยู่กับเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง ซึ่งอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ไม่ทราบความต้องการส่วนตัวของผู้สูงอายุ และไม่ได้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยในวาระท้าย (End of Life Care) มากนัก จึงไม่ได้ดูแลเรื่องทางสังคม จิตใจ และจิตวิญญาณเท่าที่ควร
ในประเทศไทยมีงานวิจัยที่ศึกษาความต้องการในระยะสุดท้ายของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง จำนวน 18 ราย โดยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าส่วนใหญ่อยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยติดต่อลูกหลานเพื่อให้ได้เจอก่อนเสียชีวิต แต่ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ครอบครัวมาดูแล เพราะมีปัญหาขัดแย้งกันหรือกลัวเป็นภาระ และต้องการให้พี่เลี้ยงดูแลแบบใกล้ชิดทั้งร่างกายและจิตใจ เสมือนดูแลญาติคนหนึ่ง
ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศอีกชิ้นหนึ่ง ผู้วิจัยศึกษาพยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์จำนวน 707 คน จากสถานดูแลผู้สูงอายุ 52 แห่ง ในรัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา พบว่าปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือการตายอย่างโดดเดี่ยวไร้ครอบครัวให้การดูแล และถูกละเลยความเป็นส่วนตัวในช่วงวาระท้าย ดังนั้น หากพิจารณาจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราและงานวิจัยที่กล่าวมาอาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราหรือสถานดูแลฯกับครอบครัว จำนวนไม่น้อยมีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกัน ทว่า ผู้สูงอายุหลายคนก็ยังรักและผูกพัน อยากให้ลูกหลานมาเยี่ยมก่อนเสียชีวิต
จะเห็นได้ว่าช่องว่างของการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังติดเตียงหรือป่วยระยะท้าย เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร การสนับสนุนทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัว การจัดสรรทรัพยากรในการดูแล การเข้าถึงการรักษาแบบประคับประคอง รวมทั้งธรรมชาติของวัยผู้สูงอายุมีแนวโน้มเสียชีวิตอย่างกระทันหันมากขึ้นตามอายุ ทำให้ผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้ายในบ้านพักคนชราไม่ได้มีคุณภาพชีวิตก่อนตายเท่าที่ควร ภาครัฐควรมองว่าบ้านพักคนชราที่คือสถานที่ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long-term care) ที่ต้องพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพื่อการอยู่ดีและตายดีควบคู่กัน
ดังนั้น ผู้เขียนขอเสนอให้ผู้บริหารนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการในสถานดูแลระยะยาว หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้
1. ส่งเสริมให้บ้านพักคนชราเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อความตาย เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยติดเตียงและมีกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งจัดกิจกรรมให้มีการคุยเรื่องความตายตามประเด็นความต้องการของผู้สูงอายุ เรียงร้อยกับเรื่องราวชีวิตแบบเข้าใจง่าย แล้วค่อยๆเพิ่มรายละเอียดการดูแลตนเองในวาระสุดท้าย
2. ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กรณีผู้สูงอายุระยะท้ายที่ยังมีลูกหลานมาเยี่ยม ควรมีการสื่อสารกับครอบครัวว่ามีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวาระท้าย แม้จะไม่สามารถรับผู้สูงอายุกลับไปอยู่ด้วยก็ตาม เช่น การมาเยี่ยมในวันสำคัญ การเช็ดตัว ป้อนยาและสัมผัสด้วยความรัก หรืออาจให้คนใกล้ชิดที่ไม่ใช่ครอบครัวแต่มีความหมายกับชีวิตมาให้กำลังใจผู้สูงอายุในช่วงสุดท้าย เช่น เพื่อนในบ้านพักคนชรา เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิด อาสาสมัคร คนในชุมชน หรือสัตว์เลี้ยง
3. เมื่อรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแลในบ้านพัก ควรมีการพูดคุยเรื่องคุณค่าความหมายของชีวิตในมุมมองของผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อวางแผนล่วงหน้า (Pre-planning) และเก็บข้อมูลต่อเนื่อง นำไปสู่การทำเอกสารแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาวาระท้าย ป้องกันการรักษาที่เกินจำเป็นในห้องฉุกเฉิน
4. จัดให้มีทีมสุขภาพที่มีความรู้เรื่องการดูแลในวาระสุดท้าย หรืออย่างน้อยควรมีการเชื่อมต่อระหว่างบ้านพักคนชรากับโรงพยาบาลที่มีศูนย์รักษาแบบประคับประคองเพื่อส่งต่อและดูแลร่วมกัน รวมทั้งอบรมเรื่องการเตรียมตัวตายในผู้สูงอายุให้กับเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โรงพยาบาล และเครือข่ายที่ทำงานด้านการเตรียมตัวตาย
5. การเสริมกำลังใจ เยียวยาพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุระยะท้าย สร้างทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าในงานว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้สูงอายุอย่างไร เพื่อให้มีกำลังในการดูแลผู้สูงอายุต่อไป
ผู้ให้ข้อมูล: สิรินุช อันตรเสน (อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ), อรอุมา อินทฉาย (นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ)
อ้างอิง
1. World Health Organization. (2015). World report on aging and Health. Luxemburg: WHO Press.
2. World Health Organization. (2017) Global strategy and action plan on ageing and health. January 10, 2019, from https://www.who.int/ageing/WHO-GSAP-2017.pdf
3. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (2559). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2562, จาก http://thaitgri.org/?p=38427
4. United Nations. (2017). Addressing the Challenges of Population Ageing in Asia and the Pacific: Implementation of The Madrid International Plan of Action on Ageing Retrieved May 21, 2019, from https://www.unescap.org/sites/default/files/publications/Addressing%20the
%20Challenges%20of%20Population%20Ageing%20in%20Asia%20and%20the%20Pacific.pdf
5. Tornstam, L. (2011). Maturing into Gerotranscendence. The Journal of Transpersonal Psychology, 43(2): 166-180.
6. Hermann, C.P. (2001) Spiritual needs of dying patients: A qualitative study. Oncology Nursing Forum. 28(1): 67-72.
7. Teggi D. (2018). Unexpected death in ill old age: An analysis of disadvantaged dying in the English old population. Social Science & Medicine. 217: 112–120.
8. Greenwood, N; et al. (2018). Experiences of older people dying in nursing homes: a narrative systematic review of qualitative studies. BMJ Open. 8: 1-13.
9. Luk, J. K. (2017). End-of-life services for older people in residential care homes in Hong Kong. Hong Kong Medical Journal. 24(1): 63-67.
10. สิริลักษณ์ โสมานุสรณ์. (2557). ความต้องการการดูแลในระยะสุดท้ายของผู้สูงอายุใน สถานสงเคราะห์คนชรา. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์. (34)1: 71-88.
11. Cagle, J. G; Unroe, K. T; Bunting, M; Bernard, B. L; & Miller, S. C. (2017). Caring for Dying Patients in the Nursing Home: Voices from Frontline Nursing Home Staff. J Pain Symptom Manage. 53(2): 198-207.