เรื่องราวของคุณกอเตย ปัญชดา ผ่องนพคุณ ที่ใช้สมุดเบาใจในการเตรียมพร้อมสู่การตายดีทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง พร้อมกับส่งต่อให้คนในชุมชน และพยายามก้าวสู่การเป็นกระบวนกรชุมชน เพื่อสร้างชุมชนกรุณาและการอยู่ดีตายดีขึ้นในชุมชนพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรม Happy Death Day ของ Peaceful Death ทำให้ได้รู้จักกับสมุดเบาใจ ซึ่งคุณกอเตยเริ่มใช้สมุดเบาใจกับตนเอง และเห็นว่าเครื่องมือดังกล่าวมีประโยชน์ เพราะนอกจากจะเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงเจตจำนงค์ให้ผู้อื่นรับรู้ทางเลือกในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า ยังเป็นการพิจารณาใคร่ครวญตนเองไปด้วย ส่งผลให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ จึงเริ่มหันกลับมาดูแลตนเอง หลังจากได้ใช้สมุดเบาใจกับตัวเองแล้ว คุณกอเตยได้ส่งต่อให้กับคนรอบข้างด้วย โดยเริ่มจากคนในครอบครัว
เริ่มแรกคุณกอเตยนำสมุดเบาใจมาใช้กับพ่อและแม่ของตน โดยจุดที่ยากที่สุดเมื่อนำมาใช้กับคนรอบข้างคือการเริ่มต้น เพราะมีความกลัวว่าจะคุยเรื่องความตายให้คนใกล้ตัวเข้าใจไม่ได้ ซึ่งคุณกอเตยใช้วิธีการพูดถึงจุดประสงค์ของสมุดเบาใจอย่างตรงไปตรงมา และใช้การพูดคุยเป็นหัวข้อในแต่ละวัน แล้วแทรกข้อมูลหรือคำถามเกี่ยวกับการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าเข้าไป ผลปรากฏว่าพ่อและแม่ตอบรับต่อการทำสมุดเบาใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หลังจากทำสมุดเบาใจก็ไม่มีเรื่องให้ห่วงอีกต่อไป เพราะได้วางแผนและแสดงเจตจำนงค์ของตนเองในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว พร้อมกันนั้นสมุดเบาใจยังเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วยหรือเมื่อเผชิญอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เช่นในสมุดจะมีการเขียนและลงลายมือชื่อของผู้ป่วย นัยหนึ่งเสมือนเป็นการยืนยันความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์สามารถใช้ข้อความในสมุดเล่มนี้ดูแลรักษาผู้ป่วยได้ ในกรณีของคุณกอเตยได้ใช้ข้อความในสมุดของคุณพ่อ ทำตามความต้องการของพ่อให้ตรงมากที่สุด โดยทำทุกอย่างทันที ไม่มีคำว่าไว้ก่อน ซึ่งทำให้มีเวลาจัดสรรและเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์วันสุดท้ายของชีวิตที่จะมาถึงได้โดยที่ไม่ชุกระหุกจนเกินไป และบางคำถามในสมุดเบาใจช่วยให้รับรู้เรื่องราวบางเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือไม่เคยคิดหาคำตอบกับเรื่องนั้นๆอย่างจริงจัง กล่าวได้ว่าสมุดเบาใจถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเรื่องของจิตใจได้ทั้งกับตัวผู้ป่วยและผู้ดูแล
ภายลังจากที่ใช้สมุดเบาใจกับครอบครัวของตนเองแล้วได้ผลเป็นอย่างดี คุณกอเตยมีความตั้งใจที่จะนำสมุดเบาใจเข้าถึงคนรอบข้างให้มากที่สุด จึงเริ่มสนใจเรื่องกระบวนกร โดยมีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ และต้องการทำงานกับชุมชน เพื่อเป็นการตอบแทนชุมชน จากการที่ครอบครัวของคุณกอเตยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในครั้งที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งปอดแล้วต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ได้รับการช่วยเหลือเช่นการเข้ามาดูแลติดตามอาการให้ที่บ้านเดือนละ 2 ครั้ง การให้ยืมเครื่องผลิตออกซิเจน หรือในกรณีฉุกเฉินเจ้าหน้าที่ก็มาถึงบ้านภายใน 15 นาที ตลอดจนการชวนสวดมนต์ เป็นต้น เมื่อมาถึงจุดที่สามารถตอบแทนชุมชนคืนได้ คุณกอเตยได้เข้าอบรมเพิ่มพูนทักษะเพื่อที่จะนำมาใช้กับชุมชนได้อย่างถูกต้อง เมื่อเริ่มทำกระบวนกร คุณกอเตยเห็นความแตกต่างระหว่างกระบวนกรที่ใช้แนวทางของตนเองกับกระบวนกรที่ผ่านการอบรมมา ความแตกต่างที่สำคัญนั้นคือ “ทักษะการรับฟัง” จากที่เคยสื่อสารโดยการพูดเรื่องที่ตนเองเตรียมมาให้คนอื่นรับรู้ ก็เปลี่ยนมาสู่การรับฟังคนรอบข้างโดยไม่ตัดสิน นอกจากจะเป็นเรื่องความแตกต่างดังกล่าวที่ทำให้ได้เรียนรู้แนวทางของกระบวนกรแล้ว การรับฟังยังเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติในการใช้ชีวิตของคุณกอเตยด้วยคือ เปิดกว้าง และไม่คิดถึงผู้อื่นในแง่ลบอีกต่อไป
เมื่อมีองค์ความรู้และทิศทางของกระบวนกร คุณกอเตยเริ่มต้นทำกระบวนกรชุมชนโรงเรียนดอกลำดวน ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุระหว่าง 60-80 ปี เมื่อพูดถึงเรื่องความตาย ส่วนมากทุกคนในโรงเรียนนี้จะไม่กลัวตาย เพียงแต่จะไม่พร้อมตาย เพราะยังมีความห่วงคนข้างหลังอยู่ ความห่วงจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยังไม่ได้คิดที่จะวางแผนสุขภาพล่วงหน้า ทั้งนี้คุณกอเตยจึงใช้เครื่องมือสมุดเบาใจ รวมถึงไพ่ไขชีวิต และไพ่ฤดูฝน ในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า ซึ่งได้รับการตอบรับและความร่วมมือเป็นอย่างดี จากการเปิดรับของคนในชุมชน ผ่านภาพความเบาใจของทุกคน การอยู่ดีมีสุข และการตายดีที่ชัดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนกรุณาสามารถเกิดขึ้นได้จริงในชุมชนพันท้ายนรสิงห์ โดยคุณกอเตยมุ่งหวังให้ชุมชนมีความแข็งแกร่ง ช่วยเหลือกันและกัน มีความกรุณา เบิกบานในชุมชนอย่างแพร่กระจายมากขึ้น รวมถึงพยายามขยายความกรุณาไปสู่ชุมชนรอบข้างอีกด้วย
สุดท้ายนี้คุณกอเตยให้คำแนะนำถึงการเขียนสมุดเบาใจและการสร้างชุมชนกรุณาไว้ว่าให้เชื่อมันที่จะเขียนลงไป ไม่ต้องกลัวว่าเขียนแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตได้ เพราะคนเราสามารถเปลี่ยนได้ทุกวัน ที่สำคัญเมื่อเขียนเสร็จแล้ว จำเป็นต้องสื่อสารให้คนรอบข้างที่จะดูแลเรารับรู้ด้วย และเราสามารถแผ่ความกรุณาให้กับคนรอบข้างของเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนใหญ่ เพียงแค่คนรอบตัวเรา ก็สามารถสร้างชุมชนกรุณาขึ้นได้แล้ว
วันที่ออกอากาศ: 1 พฤศจิกายน 2563
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง