ร่วมพูดคุยเรื่องชุมชนกรุณาในที่ทำงานกับคุณวิชญา โมฬีชาติ นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนใจเรื่องการเตรียมตัวตายจากการที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องประคับประคองตนเองและครอบครัวให้ผ่านการสูญเสียอันยิ่งใหญ่นั้นมาได้ เป็นเสมือนแรงผลักดันให้เรียนรู้เรื่องความตายมากขึ้น และใช้องค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่และช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรของตนเอง จนเกิด “HR corner” พื้นที่ดูแลจิตใจบุคลากร ถือเป็นชุมชนกรุณาในที่ทำงานแห่งแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
HR corner ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีบุคลากร 2,300 คน ทำหน้าที่ดูแลประชาชนทั่วทั้งจังหวัด แต่ไม่เพียงพอต่อการดูแลคนไข้ที่เข้ารับบริการ จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงในการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว นำความทุกข์ใจ ความเครียดและภาวะหมดไฟมาให้บุคลากรทางการแพทย์ จนอาจส่งผลเสียกับงานหรือคนไข้ได้ และเมื่อสำรวจพื้นที่พักใจในโรงพยาบาล บุคลากรกว่าครึ่งหนึ่งตอบว่าไม่มี ส่วนมากจะใช้ห้องน้ำหรือระเบียงเพื่อผ่อนคลายความเครียด
คุณวิชญาเห็นว่าทุกคนล้วนมีความทุกข์และต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ แต่หลายคนไม่กล้าเปิดเผยว่าตนเองเข้ารับคำปรึกษาในแผนกจิตเวช จึงหาช่องทางทำให้บุคลากรสบายใจในการเข้ามาขอคำปรึกษา คุณวิชญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาบุคลากร จึงมีมติร่วมกันสร้างพื้นที่ดูแลจิตใจให้บุคลากรโรงพยาบาล เกิดเป็น HR corner เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้องค์ความรู้เรื่องการดูแลหัวใจผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะบำบัด หรือสุนทรียสนทนา การชวนพูดคุยหัวข้อต่างๆ เช่น เรื่องชีวิตและความตาย เป็นต้น และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรับฟังปัญหาต่างๆ ป้องกันปัญหาและบำบัดสุขภาพจิต ช่วยให้บุคลาการมองปัญหาในมุมใหม่ และทำให้ผู้บริหารเห็นปัญหาที่บุคลากรประสบและนำไปปรับปรุงแก้ไขในเชิงระบบหรือโครงสร้าง เพื่อให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
HR corner ใช้วิธีรับสมัครจิตอาสาจากคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรเข้ามาทำงาน โดยคุณวิชญาจะอบรมอาสาสมัครเพื่อสร้างทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้ง HR corner ยังรับจิตอาสาจากภายนอกที่เป็นข้าราชการเกษียณด้วย ที่ผ่านมาจะเข้ามาสอนทำเข็มกลัดหรือปักผ้า ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายขึ้น
สำหรับการใช้บริการ บุคลากรสามารถลงชื่อและเวลาที่จะทำกิจกรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรจะจัดกิจกรรมให้ตามประสงค์ในแบบกลุ่ม ส่วนผู้ที่มีปัญหาหนักหน่วงสามารถลงชื่อเพื่อรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาได้ โดยเบื้องต้นจะสอบถามว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องใด ถ้าเป็นเรื่องงานหรือเรื่องภายในแผนก อาจให้หัวหน้างานหรือผู้บริหารเข้าร่วมรับฟังด้วย เพราะจะช่วยแก้ปัญหาของผู้รับบริการได้ตรงจุด แต่หากเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน คุณวิชญาจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้วยตนเอง
นอกจากชุมชนกรุณาในที่ทำงานแล้ว คุณวิชญายังนำเรื่องการเตรียมตัวตายและเครื่องมือของ Peaceful Death เช่น เกมไพ่ไขชีวิต ไพ่ฤดูฝน ไพ่ Care Club และสมุดเบาใจ เป็นต้น เข้าสู่ชุมชน แต่การทำเรื่องดังกล่าวกับชุมชนเป็นเรื่องยาก เพราะชุมชนแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น ความเชื่อของชุมชนภาคเหนือที่มีปฏิทินระบุวันทำกิจกรรมต่างๆ ว่า วันไหนทำบุญ วันไหนห้ามเผา หากละเมิดอาจไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน และคนในชุมชนเชื่อว่าอาจทำให้เกิดอาเพศได้ คณะทำงานจึงต้องเปิดพื้นที่รับฟังความคิดความเชื่อของชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด การทำงานร่วมกับชุมชนค่อนข้างจะประสบผลสำเร็จ เพราะคุณวิชญาทำงานขับเคลื่อนในเชิงโครงสร้างด้วย มีการนำเครื่องมือของชุมชนกรุณาเข้าสู่ระบบสาธารณสุขและฝ่ายบริหารของท้องถิ่น เพื่อให้บุคลากรทุกระดับชั้นรู้จัก จึงง่ายต่อการทำงาน และยังทำให้เกิดกระบวนกรชุมชนที่รู้จักสุนทรียสนทนา พร้อมรับฟังผู้อื่นด้วยความเข้าใจ
การทำงานด้านนี้ เป็นเสมือนการทำความเข้าใจชีวิตและความตาย ผ่านชีวิตของเพื่อนมนุษย์ และยังทำให้องค์กรเกิดเครือข่ายที่เป็นมิตรและใกล้ชิดกันมากขึ้น ส่วนเรื่องความแตกต่างในการทำชุนชนกรุณา ระหว่างที่ทำงานและในชุมชน คือเรื่องสถานที่ทำงาน HR corner จะมีสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ของตนเอง ส่วนการทำงานในชุมชนจะเป็นลักษณะการเยี่ยมบ้าน ทำให้ต้องเคลื่อนไปตามสถานที่ต่างๆ และต้องยืมสถานที่ทำกิจกรรม
ในอนาคต คุณวิชญามีแผนจะจัดตั้งชุมชนกรุณาออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น ในปัจจุบันมีเยาวชนที่ยังไม่เข้าใจตนเองและมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อเกื้อกูลและช่วยตอบปัญหาบางอย่างได้ จึงมีแผนที่จะเปิดชุมชนกรุณาใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังจะขยายการทำงานร่วมกับเทพศิริ สตูดิโอ ให้คนทำงานศิลปะได้เรียนรู้เรื่องชุมชนกรุณา และสามารถนำเสนอเครื่องมือต่างๆ แสดงออกมาเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจได้ด้วย
วันที่ออกอากาศ: 10 มกราคม 2564
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง