parallax background
 

forOldy ชีวิตนี้เพื่อคุณตาคุณยาย

ผู้เขียน: เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คนเรามักจะตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขหลักสองหน่วยไว้ในใจ ... ฉันอยากมีอายุถึงแค่นี้ ไม่อยากลำบาก ไม่อยากเป็นภาระใคร ไม่อยากนอนเฉย ๆ อยู่บนเตียง ... แต่ในความเป็นจริง เรากำหนดอายุขัยให้ตัวเองได้ด้วยหรือ เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงวันที่เรานึกได้ว่า ... ฉันกำลังอยู่ในวัยชรา ร่างกายฉันเสื่อมถอยและต้องการความช่วยเหลือ ... วันนั้นเราจะดูแลตัวเองอย่างไร หรือหากคนที่เรารักกำลังอยู่ในสภาวะนี้ เราจะดูแลเขาอย่างไร

ยังไม่รวมถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาติดๆ คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่ากายภาพบำบัด ฯลฯ ที่นับวันราคาจะสูงขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทวีความกดดันในวาระท้ายของชีวิต

“คนในชุมชนที่พี่ดูแล วันแรกที่เขานอนติดเตียง เขาก็ไม่มีข้าวกินแล้ว และเขาก็ต้องนอนในที่ร้อน ๆ สุขภาพจิตก็แย่ เพราะลูกหลานไม่ว่าง ตอนเช้าก็แค่หิ้วแกงมาให้ถุงหนึ่ง เขาอยู่กันได้ไม่เกินเดือนหนึ่งก็ตาย บางคนนั่ง ๆ อยู่ที่บ้าน คว่ำตายไปเลยก็มี” คุณนุช-อรนุช เลิศกุลดิลก ผู้ก่อตั้ง โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy เล่าประสบการณ์จากชุมชนเมืองให้ฟัง

ด้วยพื้นฐานที่คุณอรนุชทำงานภาคราชการมาก่อน ทำให้เธอได้คลุกคลีกับชาวบ้านในชุมชนแออัดหลายแห่ง พบความยากลำบากในการใช้ชีวิตและปัญหาความยากจนที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณอรนุชมุ่งหน้าทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในเมืองมากว่า 10 ปี และเกิดเป็นโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy ภายใต้มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนประเทศไทย โดยมี “ร้านคุณตาคุณยาย” เป็นกิจการเพื่อสังคมที่หล่อเลี้ยงโครงการไปด้วย

“ตอนแรกคนในครอบครัวบอกว่าพี่เป็นคนเพี้ยน แต่ตอนนี้เขามาช่วยพี่ทำหมดแล้ว เขายอมรับแล้ว” คุณอรนุชเล่าถึงช่วงเริ่มต้นของการทำงานที่เธอต้องฝ่าฟันในวันที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ ซึ่งต่างจากภาพในวันนี้ที่เราเดินเข้าไปในร้านคุณตาคุณยายและเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุมากมายหลายชนิด อุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์มือสองสภาพดีที่ได้รับบริจาค ผ่านการตรวจสภาพและทำความสะอาดเรียบร้อยก่อนจะให้เช่า ภายในร้านมีทั้งอุปกรณ์ช่วยเดินแบบต่างๆ รถเข็น เก้าอี้นั่งอาบน้ำ เก้าอี้นั่งถ่าย เครื่องดูดเสมหะ เครื่องผลิตออกซิเจน เตียงผู้ป่วย ที่นอนลม และยังมีผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์น่ารักมากมายที่เป็นฝีมือผู้สูงอายุอีกด้วย

อุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุที่มักจะมีคนขอเช่าเป็นประจำคือ รถเข็น และ เตียง มีอัตราค่าเช่าเบื้องต้นคือ
1. รถเข็น: 5 วันแรก ราคา 100 บาท/วัน หลังจากนั้น ราคา 50 บาท/วัน
2. เตียงผู้ป่วย: มี 2 ประเภทคือ
2.2 เตียงใหม่ เดือนแรก 1,000 บาท เดือนต่อไป 800 บาท/เดือน
2.1 เตียงมือสอง เดือนแรก 1,000 บาท เดือนต่อไป 500 บาท/เดือน

แต่ด้วยแนวโน้มในสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน เตียงและรถเข็นจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ใดที่สนใจบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าว สามารถส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการได้ผ่านร้านคุณตาคุณยาย ทางร้านยินดีและยังเปิดรับบริจาคอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนอุปกรณ์ไม่ได้มีสาเหตุจากจำนวนที่ไม่เพียงพออย่างเดียว เพราะอีกความท้าทายที่คุณอรนุชต้องรับมือก็คือ ผู้เช่าที่ไม่นำอุปกรณ์มาคืน ทำให้ทีมงานต้องคอยติดตามผู้เช่าบางรายที่นานวันเข้าก็เงียบหาย บางครั้งต้องรับภาระในการนำอุปกรณ์กลับมาด้วยตัวเองอีกด้วย

“เคยมีคนติดต่อมาว่าเขาประสบอุบัติเหตุแล้วขาดถังออกซิเจน ไม่มีเงินเลย ช่วยเขาหน่อยนะ พี่เลยขอให้ลูกเขาเขียนจดหมายมาหา เขาก็ทำนะแล้วก็มาขอเครื่องไป วันดีคืนดีเราโทรไปถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าหายแล้ว กลับบ้านนอกแล้ว พี่เลยถามว่าแล้วถังออกซิเจนล่ะ เขาบอกว่าถังออกซิเจนอยู่ห้องเช่า พี่ถามว่าห้องเช่าอยู่ไหน เขาบอกว่าลูกชายอยู่ ให้ติดต่อลูกชาย พอลูกเขาส่งมาคืนก็ลืมคืนที่ครอบอีก พี่ก็ต้องจ้างมอเตอร์ไซค์ไปเอาที่ครอบอีก นี่คือเขาไม่ได้จ่ายสักบาทเลยนะ ไม่มีมัดจำด้วย” คุณอรนุชเล่า

เรื่องที่เธอเล่าบอกเราให้รับรู้ว่า คนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้อื่นก็ต้องการการดูแลเช่นเดียวกัน และก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความรับผิดชอบและการนึกถึงใจเขาใจเรา แม้เราอาจจะไม่ได้ทำงานช่วยเหลือผู้อื่นโดยตรง แต่เราก็สามารถหล่อเลี้ยงน้ำใจได้ผ่านการเห็นคุณค่าและรับรู้ความเมตตากรุณาที่มีต่อของกัน เพียงเท่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งช่วยดูแลสังคมแล้ว

สำหรับคุณอรนุช แม้เธอจะเผชิญกับอุปสรรคและปัญหารายวัน เธอก็ยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อผู้สูงวัยต่อไป โดยงานอีกส่วนหนึ่งของโครงการที่เป็นหัวใจสำคัญคือ จัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเมือง

“พี่ทำเพื่อสร้างระบบและกลไกให้เกิดการดูแลกันเองในชุมชน ให้ผู้สูงอายุในชุมชนเมืองได้รับการดูแลจากคนในชุมชนของตนเอง โดยใช้กลไกอาสาสมัคร” คุณอรนุชบอกเป้าหมายของการทำโครงการให้เราฟัง โดยอาสาสมัครที่เธอพูดถึงนี้ มีทั้งคนจากนอกชุมชนที่สละเวลาเดินทางมา และอาสาสมัครอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผู้สูงวัยในชุมชนนั้นๆ ที่พร้อมจะดูแลเพื่อนๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกันนั่นเอง

ตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้ครั้งแรกกับผู้สูงวัยในชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ผ่านมา 10 ปี ปัจจุบันนี้ forOldy เข้าไปจัดกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทั้งหมด 9 แห่งรอบกรุงเทพฯ ได้แก่
1. ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ เขตสาทร
2. ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาทร
3. ชุมชนบ้านเอื้ออาทร เขตสาทร
4. ชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม
5. ชุมชนวัดลุ่มเจริญศรัทธา เขตสายไหม
6. ชุมชนนวมินทร์ 88 เขตคันนายาว
7. ชุมชนตรอกต้นโพธิ์ เขตดุสิต
8. ชุมชนสิริสาสน์ เขตดุสิต
9. ชุมชนสินทรัพย์ เขตดุสิต

ในแต่ละชุมชนนั้น โครงการจะเปิดรับผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปให้มาเป็นสมัครสมาชิก ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 รุ่นแล้ว มีสมาชิกผู้สูงวัยรวม 267 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ปี

สมาชิกของโครงการจะนัดประชุมกันทุก 2 เดือน ทุกๆ เดือนจะบริจาคเงินคนละ 20 บาทเข้าสู่กองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนอุ่นใจ” กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับลูกหลานของผู้สูงวัยที่เป็นสมาชิกเพื่อจัดพิธีศพ จึงเป็นการช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถจากไปอย่างสงบใจและสบายใจได้ว่าไม่ทิ้งภาระไว้ข้างหลัง ดังแนวคิดของโครงการที่ว่า “สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบาย จากไปอย่างสงบ” ตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน ก็มีผู้สูงวัยที่ได้รับการสนับสนุนแล้วร่วม 50 คน

นอกจากนี้ ในกลุ่มสมาชิกก็ยังมีผู้สูงอายุบางคนที่สุขภาพดีทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครประจำชุมชนในการแวะเวียนเยี่ยมเพื่อนๆ ที่สูงอายุในชุมชนของตนเอง โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมงในการเดินเยี่ยมและบันทึกลงในใบเยี่ยม เพื่อเก็บข้อมูลให้ชัดเจนว่าอาสาสมัครคนไหน ไปเยี่ยมใครบ้าง สุขภาพเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง แล้วอาสาสมัครจะนำมารายงานในที่ประชุมกับโครงการเพื่อหาทางดูแลรักษากันต่อไป

สำหรับชุมชนนวมินทร์ 88 จะพิเศษตรงที่มี “ศูนย์เพลินวัย” เพราะเป็นบริเวณที่ตั้งของร้านคุณตาคุณยายด้วย ศูนย์นี้เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศอบอุ่น เปิดให้ผู้สูงวัยในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเรียนโยคะสำหรับผู้สูงอายุที่จัดเดือนละครั้ง ทำงานฝีมือเพื่อขายระดมทุน หรือจะแค่แวะมานั่งพูดคุยคลายเหงาก็ยังได้ ถือว่าเป็น Co-working space ที่เหมาะกับผู้สูงอายุเลยทีเดียว

เรียกได้ว่า ร้านคุณตาคุณยาย และโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy ที่คุณอรนุชและทีมงานกำลังทำนี้เป็นการสร้างระบบการดูแลผู้สูงวัยในทุกๆ มิติ ทั้งบริการอุปกรณ์ที่ดูแลสุขภาพร่างกาย อาสาสมัครที่เยี่ยมเยียนดูแลจิตใจจากเพื่อนบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน และกองทุนอุ่นใจที่สนับสนุนให้ผู้สูงวัยเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิตให้จากไปด้วยใจที่สงบสบายอีกด้วย

เมื่อเราถามคุณอรนุชว่าเธอทำงานมากมายผ่านความท้าทายสารพัดเช่นนี้ เธอมีอะไรเป็นกำลังใจบ้าง “รอยยิ้มผู้สูงอายุ” คุณอรนุชตอบทันทีแล้วเสริมว่า “พี่ชอบสบตาเขานะ” นี่คงเป็นสิ่งเล็กๆ ที่มีค่าทางใจสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่อุทิศทั้งชีวิตและลมหายใจเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถกำหนดอายุขัยของเราและคนที่เรารักได้ แต่เราสามารถดูแลชีวิตช่วงสุดท้ายให้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพได้ และสามารถเตรียมพร้อมสำหรับการลาจากให้กับตัวเราและคนที่เรารัก รวมถึงสามารถแบ่งปันอุปกรณ์ แรงกายและแรงใจเพื่อสนับสนุนให้คนอื่นๆ ในสังคมมีช่วงเวลาสุดท้ายที่ดีได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจรับบริการหรือต้องการสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ 02-5191933 ในเวลา 9.00-16.00 น. สามารถติดต่อรับบริการเช่าอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุได้ทาง LINE: foroldyshop และรู้จักกับ forOldy ร้านคุณตาคุณยายเพิ่มเติมได้ที่ www.foroldy.com [ทำลิงค์ให้ด้วย] หรือ Facebook: forOldy หากสนใจเข้าชมร้านคุณตาคุณยาย พบกันได้ที่ 53/1 ซอยรามอินทรา 58 แยก 3-13 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. 10230

บุคคลสำคัญ: คุณอรนุช เลิศกุลดิลก

แหล่งอ้างอิง: http://foroldy.com/ และ https://www.facebook.com/forOldy/

19 เมษายน, 2561

สัตว์โลกสอนธรรม แด่เพื่อนสี่ขา…ด้วยรัก

หลายๆ คนอาจจะเคยมีสัตว์เลี้ยงที่ดูแลกันจนวันสุดท้ายที่เขาจากไป หลายคนอาจจะเสียใจ เศร้าใจ หรือตั้งปณิธานว่าจะไม่เลี้ยงอีก แต่หลายคนก็นำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นบทเรียน หรือยิ่งกว่านั้นได้เรียนรู้ธรรมะแบบไม่รู้ตัว
25 เมษายน, 2561

สุขหรือทุกข์กับสิ่งที่เรามี

เรื่องราวของคนบ้าที่หอบข้าวของพะรุงพะรังที่พบเจอทำให้ได้กลับมาคิดทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราสะสมข้าวของเหล่านี้ไปเพื่ออะไร ?
20 เมษายน, 2561

ปันรักให้สัตว์โลก

เชื่อว่าทุกคนคงต้องการความรักความใส่ใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะมาจากคนที่อยู่แวดล้อมเรา หรือจากสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ สัตว์เองก็มีความต้องการความรักไม่ต่างจากเราเช่นกัน ไม่ว่าจะจากคนที่เลี้ยง หรือสัตว์ด้วยกันเอง