เพราะทุกชีวิตมีปลายทาง

เรื่อง: ปรัชญานันต์ ทองกลม หมวด: ชุมชนกรุณา


 

กิจกรรม “ชีวิตคือดอกไม้ที่งดงาม” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอดอนมดแดง โดยมีนักศึกษา กศน. แตกต่างหลากหลายวัย เริ่มตั้งแต่เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ถึงคุณตาอายุ 72 ปี เป็นผู้เข้าร่วม จึงถือเป็นความแปลกใหม่ในการนำพากลุ่มคนต่างวัยร่วมเดินทางไปด้วยกัน เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ว่าอยู่ในวัยใด ก็คงต้องไปถึง...ในสักวัน

ทีมผู้จัดกิจกรรมจึงเริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อมจากเกมต่างๆ เพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้นำกิจกรรมกับผู้เข้าร่วม และระหว่างผู้เข้าร่วมด้วยกันเอง ซึ่งความสนุกสนาน ความผ่อนคลาย และการได้ช่วยเหลือกันในขณะที่เล่นเกม ได้ทำให้เกิดเป็นช่วงโอกาสของการปฏิสัมพันธ์ จนเกิดความรู้สึกวางใจเพิ่มขึ้น ลดระดับชั้นของกำแพงใจลง และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ แก่กันและกัน และเสียงหัวเราะครึกครื้นที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม เป็นดั่งเสียงสัญญาณที่ดีที่ทำให้แน่ใจว่าผู้ร่วมเดินทางของขบวนรถเรียนรู้คันนี้ พร้อมที่จะออกเดินทางร่วมกันแล้ว

ทุกชีวิตมีปลายทางเดียวกันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรื่องราวระหว่างทางนั้น เราสามารถสร้างสรรค์ได้แตกต่างกัน กิจกรรม “เรื่องเล่าของอาจารย์กบ” ได้เริ่มขึ้นด้วยบรรยากาศของวงสนทนาที่นิ่งสงบ เรื่องราวในดินแดนหลังความตาย ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเหตุการณ์ในความฝันในวันหนึ่ง คำถามจากพญายมบาลเป็นจุดสำคัญของเรื่องเล่า สิ่งนี้ได้กลายเป็นความทรงจำที่ถูกถอดถอนออกไปได้ยาก “คุณเคยทำความดีอะไรมาบ้าง” อาจารย์กบนำคำถามที่คิดคำนึงกับตนเองหลังจากสะดุ้งตื่นในวันนั้น ถามไปยังผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน บางส่วนของผู้เข้าร่วมอาจรู้สึกเคอะเขินกับคำถามนี้ จะไม่คุ้นชินสักเท่าไหร่กับการต้องมาสาธยายคุณความดีของตัวเองให้คนอื่นฟัง ในขณะที่บางส่วนยังคงไม่เข้าใจกระจ่างนักกับคำถาม แล้วอะไรคือ “ความดี” ที่ว่านั้น...นั่นสินะ

ผู้นำกิจกรรมได้นำ “ไพ่รุ้ง” เข้ามาให้ผู้เข้าร่วมได้เลือกไพ่ที่ตรงกับตัวเองมากที่สุด เพื่อช่วยเจือจางความเขินอายและคลี่คลายความข้องใจลง คำสั้นๆ ที่ปรากฏ เป็นเพียงกุญแจเล็กๆ ที่ช่วยไขเข้าไปในจักรวาลคำตอบของผู้คน หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนคำตอบนี้ในวงสนทนา ความหมายของ “ความดี” ที่ว่ากลับหลากหลาย บางคนนึกถึงความรู้สึกที่เป็นสุข บางคนนึกถึงพฤติกรรมในลู่ทางของศีลธรรม บางคนนึกถึงการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะ “เล็กน้อย” หรือ “ยิ่งใหญ่” แต่เป็นเพียง  “สิ่งเดียว” ที่เราพอจะนำติดตัวไปในโลกหลังความตายได้...ตามเรื่องเล่าของอาจารย์กบ

แล้วเราจะใช้ชีวิตด้วยความดีอย่างไรต่อไปในช่วงเวลาที่มีอยู่ --- การทบทวนเส้นทางของชีวิตที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง รวมถึงการสร้างหมุดหมายใหม่ให้กับการเดินทางต่อ จึงได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านกิจกรรม “แผนที่ชีวิต”

ผู้นำกิจกรรมได้ให้ผู้เข้าร่วมทบทวนถึงการเดินทางของชีวิตตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน และล่วงเลยไปถึงอนาคต เพื่อค้นหาพื้นที่ปลอดภัย บุคคลที่ทำให้อุ่นใจ และศักยภาพของตนเอง ที่ซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบของประสบการณ์ที่ผ่านมา วาดออกมาเป็นแผนที่ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน

แน่แท้ว่า แผนที่ชีวิตของคุณตาวัย 72 ย่อมเป็นเส้นทางที่ยาวกว่าแผนที่ชีวิตของหนุ่มน้อยวัย 15 แต่นั่นไม่สามารถเทียบอะไรกันได้ เมื่อสิ่งที่สำคัญกว่าคือเราพบอะไร และเข้าใจอะไรจากแผนที่ของตนเอง โดยหลังจากนั้น เส้นทางในอดีต เส้นทางปัจจุบัน และเส้นทางในอนาคต ของผู้เข้าร่วมได้ถูกแลกเปลี่ยนในวงสนทนา

ผู้เข้าร่วมที่เป็นวัยผู้ใหญ่ล้วนมีเป้าหมายในชีวิตอนาคตที่คล้ายกัน คือการต้องการเห็นลูกหลาน และครอบครัวมีความสุข จากการงานที่มั่นคง และการมีสุขภาพที่แข็งแรง ในขณะที่ผู้เข้าร่วมที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น กลับติดขัดกับการวาดแผนที่ชีวิตของตนเอง --- จะวาดได้อย่างไร หากยังรู้สึกไม่ปลอดภัยมากพอจะกล่าวถึงอดีต สำทับกับอนาคตของตนเองที่มองไม่เห็นความหวัง มีเพียงแต่ภาระก้อนโตตั้งตรงหน้าในปัจจุบัน เด็กหนุ่มต้องลางานที่สร้างรายได้รายวันของพวกเขาเพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ในขณะที่รายจ่ายในครอบครัวยังคงมีเช่นเดิม เพื่อมาเป็นค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค และอีกหลายอย่างเพื่อพยุงให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ สิ่งนี้เป็นเสมือนโจทย์ที่ผู้นำกิจกรรมได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกันกับการมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย กระบวนการกลุ่มสนับสนุน (support group) จึงได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆ แสดงความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมรับฟังโดยไม่ตัดสินในสิ่งที่อีกฝ่ายถ่ายทอด ร่วมให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นศักยภาพ และได้แสดงให้รู้ถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีคุณค่าและมีความหวัง

“พ่อก็ไปมาหลายที่ เหนือ ใต้ ออก ตก ตอนนี้ก็ได้กลับมาอยู่บ้าน สุดท้ายชีวิตพ่อก็ไม่ต้องการอะไรมาก บั้นปลายชีวิตก็อยากอยู่กับครอบครัวก็พอ” คุณตาวัย 72 ปี ได้แสดงแผนที่ชีวิตของตัวเองแก่ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ บ้าง เรื่องราวภายใต้เส้นทางคดเคี้ยวยาวไกล เต็มไปด้วยความสนุกจากการผจญภัยในวัยหนุ่ม ความน่ากลัวจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิต รู้สึกตื่นเต้นกับความรัก มีความผิดหวังจากการงาน จนมาถึงความสุขสงบที่ตั้งเป้าหมายไว้ในบั้นปลาย ซึ่งไม่มีสิ่งใดมากมายนอกจากการได้กลับมาอยู่กับครอบครัวที่ตนรัก นี่คงเป็นชีวิตที่มีความหมายของคุณตา ชีวิตที่พบบ้านที่ปลอดภัย มีลูกหลานให้อุ่นใจ และเห็นคุณค่าความดีงามในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา

คำบอกเล่าสุดท้ายจากผู้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต น่าจะเป็นการสรุปกิจกรรมที่ดีที่สุดในวันนี้ ซึ่งไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือคนชรา ทุกชีวิตย่อมมีปลายทางด้วยกันทั้งนั้น แต่การสร้างระหว่างทางให้มีความหมาย มีคุณค่า และน่าจดจำก็เป็นสิ่งที่ทำให้ “การมีชีวิตอยู่” ไม่สูญเปล่า

25 มีนาคม, 2562

ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย: ช่องว่างและแนวทางเติมเต็ม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มเห็นความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งทำให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในฐานะที่พึ่งทางใจหรือจิตวิญญาณของผู้ป่วยชาวพุทธ
20 มกราคม, 2562

กว่าจะมาเป็นชุมชนไอซียู…I SEE YOU

เหตุใดชุมชนนี้จึงก่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องความเจ็บป่วยและความตาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าอภิรมย์นัก
17 พฤศจิกายน, 2561

forOldy ชีวิตนี้เพื่อคุณตาคุณยาย

โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy และร้านคุณตาคุณยาย สร้างระบบที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ผ่านกิจการให้เช่าอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ งานอาสาสมัคร และกองทุนที่เอื้อต่อการจากไปด้วยใจสงบ