สรุปประเด็นสำคัญจากเวที Death and the City การดูแลการตายในมหานคร วันที่ 11 กันยายน 2564
โดย: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
หมวด: ชุมชนกรุณา
สรุปประเด็นสำคัญจากเวที Death and the City การดูแลการตายในมหานคร วันที่ 11 กันยายน 2564
1. งานศึกษาการดูแลการตายของคนจนเมือง โดย ดร.ประชาธิป กะทา และทีม ศึกษาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน พื้นที่ศึกษาคือชุมชนย่านเก่า 2 ชุมชน สัมภาษณ์ผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้าน อาสาสมัคร แกนนำชุมชน ชุมชนละไม่ต่ำกว่า 10 คน ระยะเวลาศึกษามากกว่า 6 เดือน
2. ผู้ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ศึกษา มองว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเรื่องที่ควรสงวนให้รับรู้และดูแลเฉพาะในครอบครัว บทบาทการดูแลผู้ป่วยใกล้ตายควรเป็นหน้าที่ของลูกหลาน เพื่อแสดงความกตัญญู หากแสวงหาความช่วยเหลือจากคนนอกครอบครัว จะถูกชุมชนมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่กตัญญู แต่ภาระด้านศีลธรรมนี้ก็ส่งผลให้ผู้ดูแลประสบความเครียด เจ็บป่วย ไม่ได้พักผ่อน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายถึงหนึ่งในสามคือผู้สูงอายุ ผู้ดูแลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดังนั้น ภาระด้านศีลธรรมและเพศสภาพ จึงเป็นอุปสรรคของคุณภาพชีวิตผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย
3. การปกปิดการตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากความคิดเกี่ยวกับการตายดีที่จำกัด เช่น การตายดีคือการดูแลจากลูกหลานครอบครัวเท่านั้น การตายที่ดีควรเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ใช่ในบ้านที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การตายดีมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับเงื่อนไขและความพร้อมของครอบครัว ดังนั้น จึงมีจำเป็นที่ต้องส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับการตายดีที่หลากหลาย ยืดหยุ่น ตามบริบทและความพร้อมของครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ครอบครัวเปิดรับการดูแลช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รักการดูแลที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
4. งานศึกษายังพบว่า แทบทุกครอบครัวในพื้นที่ศึกษา ไม่มีการพูดคุย สื่อสาร วางแผนการดูแลล่วงหน้า ทำให้ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือการดูแลช่วงสุดท้ายเลย มีเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่มีการวางแผนเตรียมตัวเพราะครอบครัวนั้นมีสมาชิกที่ทำงานในแวดวงสุขภาพ
5. ในชุมชน เรายังพบว่ามีคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ด้านการรักษาพยาบาล เช่น คนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ทำให้เข้าไม่ถึง สิทธิ์ประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือสิทธิ์คนพิการ การเข้าถึงสิทธิ์การรักษา จะเป็นประตูด่านแรกและเป็นด่านสำคัญในการได้รับบริการสุขภาพ และความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่ใช่ทางการ คนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ดังกล่าว จะยิ่งประสบปัญหาคุณภาพชีวิตที่หนักมากขึ้น
6. ระบบบริการสุขภาพใน กทม. ไม่ได้มีหน้างานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อันเกิดจากศูนย์สาธารณสุข การไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรคน งบประมาณ และแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านอย่างเพียงพอ ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากบริการภาครัฐมีความจำกัด ภาระการดูแลเกือบทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่ครอบครัว พูดอย่างหนึ่งคือ การที่กรุงเทพขาดระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ส่งผลในแง่ลบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรง
7. นอกจากจะไม่มีระบบบริการปฐมภูมิ ยังพบว่า ชุมชนและระบบสุขภาพขาดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชน (ไม่รู้ว่าใครป่วยระยะท้ายบ้าง ไม่รู้ว่าครอบครัวต้องการความช่วยเหลือใด) อันเนื่องจากค่านิยมปกปิดการตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จึงจำเป็นยิ่งที่ระบบสุขภาพและระบบชุมชนต้องออกแบบวิธีการรู้สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายในชุมชน เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรได้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยในชุมชน
8. อย่างไรก็ตาม ในชุมชนยังพอจะมีการดูแลช่วยเหลือกันตามธรรมชาติ เช่น การส่งข้าวส่งน้ำ การมาเยี่ยมโดยเพื่อนบ้านที่ไว้วางใจ การบริการรับส่งผู้ป่วยในราคาถูก คำถามคือ ระบบสุขภาพและชุมชนจะเสริมความเข้มแข็งความช่วยเหลือตามธรรมชาตินี้ให้มากขึ้นอย่างไร ข้อเสนอหนึ่งคือการพัฒนาโมเดลจ่ายค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามภาระงาน การพัฒนาศักยภาพของเพื่อนบ้านให้มีทักษะการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว ผ่านการสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือกัน หรือวัฒนธรรมแห่งความกรุณา เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือและการดูแลให้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะภาระของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมต่อการดูแลยังชุมชนและระบบสุขภาพด้วย
9. การเสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วยกันเองในชุมชน เป็นไปได้ยากมาก หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความไว้วางใจจากรัฐบาลที่จะส่งต่อทรัพยากร กำลังคน ความรู้ และข้อมูลมาให้ชุมชนร่วมจัดการ ดังนั้น การดูแลการตายดีในชุมชนเมืองจึงจำเป็นต้องผลักดันนโยบายการดูแลจากรัฐบาลด้วย กล่าวคือ การทำให้ศูนย์สาธารณสุขในชุมชนเมืองเข้มแข็ง มีกำลังคนที่เพียงพอ รวมทั้งควรจะมีบริการเยี่ยมบ้านจากแพทย์แบบประคับประคอง การมีบริการฮอซพิซสำหรับครอบครัวที่ไม่มีผู้ดูแลหรือบ้านที่ไม่พร้อมดูแลช่วงเสียชีวิต
10. ในคนจนเมือง การวางแผนเตรียมตัวสู่การตายดี เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากชีวิต เพราะคนจนเมืองยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาพที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น การทำให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาระบบดูแลแบบประคับประคองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยกัน หนึ่งในนโยบายสนับสนุนคุณภาพชีวิตและคุณภาพการตายที่ดีคือการเสริมความเข้มแข็งของระบบการดูแลแบบประคับประคองให้สามารถบริการคนเมืองได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง ในทุกพื้นที่
11. ในเวทีเสวนานี้ พูดคุยกันเยอะเรื่องการดูแลการตายของผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่ป่วยระยะท้าย แต่ยังขาดการพูดถึงการตายในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเช่นกัน เช่น การตายด้วยอุบัติเหตุ การตายด้วยฆาตกรรมหรือความรุนแรง การตายของผู้ป่วยจิตเวช การตายของผู้ที่ต้องการจบชีวิตตนเองแม้ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ฯลฯ ซึ่งควรมีการเสวนาในประเด็นดังกล่าวกันต่อไป
12. ท่านสามารถติดตามชมเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/tpWB6xxK3ow ส่วนคำถามอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ตอบในเวทีนี้ ทาง Peaceful Death จะจัดกิจกรรมตอบคำถามเก็บตกในวันที่ 20 กันยายน เวลา 19.00 - 20.00 น.
[seed_social]