parallax background
 

ผู้ป่วยข้างถนน คนชายขอบของวงการสาธารณสุข

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ปัจจุบันวงการสาธารณสุขไทยในมิติของการตายดีรุดหน้าไปอย่างมาก ทั้งการรักษาแบบประคับประคองที่เริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง หรือข่าวใหญ่เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 ที่มีชาวไทยตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงด้วยวิธีการการุณยฆาต (Mercy Killing) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็เป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงให้กับสังคมไทยทำความรู้จักกับประเด็นละเอียดอ่อนอย่างความตายด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องสิทธิในการตายหรือคุณภาพในการตายดีจะเริ่มถูกพูดถึงเพียงใด แต่ดูเหมือนว่ามันก็ถูกพูดถึงเพียงแค่โลกของคนกลุ่มใหญ่เท่านั้น เพราะในทัศนะของคนชายขอบอย่างคนเร่ร่อนและผู้ป่วยข้างถนนแล้ว คำว่า ‘ตายดี’ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากถ้อยคำในห้วงฝันคำหนึ่งเท่านั้น

ความเจ็บป่วยของ “คนไร้บ้าน” และ “ผู้ป่วยข้างถนน”

ในโลกของคนที่มีแผ่นฟ้าเป็นเพดานและมีดวงดาวเป็นดั่งดวงไฟ โรคภัยไข้เจ็บที่คุกคามชีวิตของคนไร้บ้านและผู้ป่วยข้างถนนสามารถแบ่งออกได้หลักๆ คือ โรคภัยไข้เจ็บทางกายและโรคภัยไข้เจ็บทางใจ

โรคทางกาย
นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าทีมโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า ส่วนใหญ่คนไร้บ้านจะล้มป่วยลงด้วยโรคหลักๆ คือ เอชไอวี วัณโรค โรคตับและแผลติดเชื้อเพราะขาดสุขอนามัยที่ดี คนเร่ร่อนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจกระบวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยสวัสดิการต่างๆ ได้

“เช่น ผู้ติดเชื้อ HIVหรือผู้เป็นวัณโรค ไม่รู้ว่าจะพาตัวเองไปรักษาอย่างไร นอกจากนี้ยังติดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น “เขามีบัตรสามสิบบาทก็จริง แต่ตัวเขาเป็นคนอุดรฯ ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถใช้บัตรสามสิบบาทในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้ หรือที่พบระยะหลังก็คือ โรคตับ แผลพุพอง แผลติดเชื้อ แผลเน่า แล้วไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือไม่ก็เข้ารับการรักษาแล้ว แต่ไม่ดีขึ้นเนื่องจากดูแลไม่ดี และเหมือนกับว่าตัวผู้ป่วยเองก็ไม่อยากดูแลตัวเองด้วย”

โรคทางใจ
โรคทางใจหรืออาการทางจิตก็เป็นอีกหนึ่ง ‘ภัยไข้เจ็บ’ ของผู้ป่วยไร้บ้านด้วยเช่นกัน นายสิทธิพล กล่าวต่อไปว่า “ผู้ป่วยทางจิตเวชจำนวนมากใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนะครับ ...ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท หรือ Schizophrenia จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของเขา เพราะเขาเห็นภาพหลอน หูแว่ว ไม่อยู่กับความเป็นจริง”

คนไร้บ้านกับผู้ป่วยข้างถนน(ที่เป็นจิตเวช)ต่างกันอย่างไร ?

คนไร้บ้านกับผู้ป่วยข้างถนนที่เป็นจิตเวช แม้จะเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกัน แต่ ผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชออกมาจากบ้านเพราะมีอาการทางจิตเป็นสาเหตุสำคัญ ส่วนคนไร้บ้านส่วนใหญ่ ออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนเพราะมีความขัดแย้งกับญาติพี่น้องเป็นแรงขับ

“โฮมเลสกับผู้ป่วยข้างถนนที่เป็นจิตเวชเป็นคนละกลุ่มกัน มันไม่มีความทับซ้อนกันมากขนาดนั้น โฮมเลส เขาออกมาจากบ้านเพราะ ทะเลาะกับที่บ้าน ในเก้าสิบเปอร์เซ็นต์คือมีปัญหากับที่บ้าน

“แต่ผู้ป่วยข้างถนนที่เป็นจิตเวชเป็นกลุ่มที่ออกจากบ้านด้วยอาการ เบลอ หลงลืม ในเวลาที่ไม่มีคนดูแล”

งานศพของผู้ป่วยข้างถนน
‘การตายดี’ ความหมายของคำๆ นี้ ส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นภาพการจากไปอย่างสงบ การใช้วาระสุดท้ายภายในบ้านหรือสถานที่ๆ รายล้อมไปด้วยบุคคลอันเป็นที่รัก แต่สำหรับความตายของผู้ป่วยข้างถนนหรือคนไร้บ้านแล้ว ลมหายใจสุดท้ายหมดไปริมทางเท้า หรือบางครั้งบางคราวก็หมดลมหายใจกลางถนน

“ส่วนมากก็เสียชีวิตข้างถนน ... ใช่ ก็หมดลมข้างถนนเลย อุบัติเหตุมีอยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยมากครับ นอกจากเขาเมาหรือว่าอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจริงๆ ผมเคยเจอเคสนึง เขาอยู่แถวทางจะไปกองสลาก ที่มันจะมีโซนเป็นเกาะกลาง แล้วรถก็พุ่งมาชนเสียชีวิต” นายสิทธิพลกล่าว

เมื่อผู้ป่วยข้างถนนเสียชีวิตแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?
ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายศพ ทีมงานผู้ป่วยข้างถนนดำเนินขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง. ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน เป็นผู้ประสานงานนำศพส่งโรงพยาบาล สอง. หาทางติดต่อไปยังญาติของผู้ตาย เพื่อเซ็นรับรองและนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อญาติได้ ศพจะถูกส่งไปที่วัดเพื่อทำการฝัง
“การที่จะเอาศพออกจากโรงพยาบาล ต้องมีญาติแสดงความเป็นญาติ โรงพยาบาลจึงจะอนุญาตให้นำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ถ้าไม่มีญาติจะให้ปอเต็กตึ๊งมารับไปฝังและไม่มีใครจัดงานอะไรให้”

มีญาติปฏิเสธที่จะเซ็นรับหรือเปล่า ?
“เรายังไม่เจอนะ ส่วนมากก็ตามญาติได้ แต่ว่าในกรณีที่ตามญาติไม่เจอก็เยอะอยู่นะครับ แล้วเราก็ต้องนำไปฝังเอง”

ช่องว่างของโครงการผู้ป่วยข้างถนน
ปัจจุบันโครงการผู้ป่วยข้างถนนรับหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานระหว่าง ผู้ป่วยไร้บ้าน ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตและเจ็บป่วยทางกาย เมื่อทีมงานประเมินเคสว่าเป็นผู้ป่วยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการประสานงานไปยังตำรวจเพื่อนำส่งไปยังโรงพยาบาลต่อไป

แต่ปัญหาประการหนึ่งมีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีมาตรการนำส่งผู้ป่วยไร้บ้าน หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอง บางครั้งก็ปฏิเสธที่จะรับรักษาผู้ป่วยไร้บ้าน

“ขั้นตอนในการดำเนินการบางครั้ง ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ หรือว่ายังไม่ตรงต่อโจทย์ของความเป็นผู้ป่วย อย่างเช่นว่า ผู้ป่วยถูกใส่กุญแจมือ ให้ผู้ป่วยนั่งอยู่หลังกระบะระหว่างทางไปโรงพยาบาล โรงพยาบาลบางแห่งก็ยังปฏิเสธการรักษาให้ผู้ป่วยด้วย”

อย่างไรก็ดี นอกจากอุปสรรคในการส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแล้ว การขาดความรู้ในเรื่องอาการทางจิตก็เป็นช่องว่างของภาคประชาชนกับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน เช่น ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจว่า แท้จริงแล้วผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตไม่ต่างไปจากคนปกติทั่วไป เพราะสามารถใช้ทักษะชีวิตบางอย่าง เช่น การซื้อสินค้าได้

“พอชาวบ้านไม่คิดว่าผู้ป่วยเป็นผู้ป่วย เขาก็จะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องช่วยอะไร ให้เขาใช้ชีวิตเร่ร่อนของเขาไปได้ อันนี้เป็นเรื่องทัศนคตินะครับ ส่วนเรื่องของการให้ความช่วยเหลืออย่างอื่น เช่น การพาไปโรงพยาบาล

“มันมีระบบแบบที่เจอผู้ป่วยแล้วแจ้งเสร็จได้เลย ถ้าให้นึกเห็นภาพหน่อยก็คือ ถ้าเราเจอผู้ป่วยฉุกเฉิน เรารู้เลยต้องโทร1669. แล้วมันจะไปตามระบบ แต่ยังไม่มีระบบที่คล้ายกันนี้สำหรับให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน หรือผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ”

จุดเริ่มต้นของโครงการผู้ป่วยข้างถนน
ก่อนที่โครงการผู้ป่วยข้างถนนจะเริ่มต้นขึ้นนั้น ทีมงานชุดเดียวกันนี้เป็นทีมงานของมูลนิธิกระจกเงาโครงการตามหาคนหายมาก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากทำโครงการตามหาคนหายจนมีข้อมูลที่มากพอจะเห็นภาพรวม ก็ปรากฏว่าคนหายส่วนหนึ่งเป็นคนหายที่มีอาการป่วยทางจิตประกอบอยู่ด้วย

นายสิทธิพล ชูประจงหัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนกล่าวว่า

“... ก็มีข้อมูลชุดนึงว่า มันจะมีคนจำนวนนึงที่หายออกจากบ้านเป็นผู้ป่วยจิตเวช แล้วมาเร่ร่อนอยู่ข้างถนน เดินเร่ร่อนไป เร่ร่อนมา เราก็เลยคิดทำโครงการนี้ขึ้นมานะครับ เพื่อที่จะสร้างกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงการดูแลปัญหาต่างๆ ที่เราคิดว่าจะจัดการแก้ไขปัญหานี้ยังไงให้เป็นไปตามนโยบาย

“ดังนั้น ในช่วงแรกเราก็เลยเน้นไปที่ผู้ป่วยจิตเวช แต่พอทำไปทำมาก็ครบหมด มีทั้งผู้ป่วยทางกายและผู้ป่วยจิตเวชด้วย”

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้เกิดโครงการผู้ป่วยข้างถนนขึ้น กลับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอีกเหตุการณ์หนึ่ง นายสิทธิพล เล่าว่า มันคือเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยข้างถนนรายหนึ่ง ตั้งท้องและต้องคลอดลูกออกมาด้วยตัวเองข้างถนน

“ใช่... คลอดด้วยตัวเอง มันก็เป็นเรื่องนึงที่รู้สึกติดอยู่ในใจว่า คนมันไม่ควรมาตกอยู่ในสภาพแบบนี้ คนควรที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาล ทั้งแม่และเด็กควรที่จะได้รับการดูแลที่มีคุณภาพที่ดี ก็คืออยู่ในโรงพยาบาล ทำไมมันถึงกลายเป็นว่า คนๆ หนึ่งถึงต้องมาคลอดลูกที่ข้างถนน”

จากนั้นเป็นต้นมาโครงการผู้ป่วยข้างถนนก็เริ่มต้นขึ้น

ปัจจุบันโครงการผู้ป่วยข้างถนนยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของโครงการสามารถติดตามได้ที่เพจเฟสบุ๊ค ‘โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา’ หรือ @HumanOnStreet หรือหากพบผู้ป่วยข้างถนนสามารถติดต่อโครงการได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 096-078-4650

เอกสารอ้างอิง : https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2267800
บุคคลสำคัญ : นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน)

12 เมษายน, 2561

เราควรจะบอกหรือไม่ เกี่ยวกับความจริงของอาการป่วย

พระไพศาล วิสาโล : ในสังคมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การบอกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สังคมตะวันออกเรามักต้องดูคนรอบข้างด้วย
18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว
9 พฤษภาคม, 2561

เงาสะท้อน

ผมไม่จำเป็นต้องต่อสู้ เพราะยิ่งสู้มากเท่าไหร่ก็เป็นการต่อสู้กับตัวเองทั้งสิ้น และไม่จำเป็นต้องหนีเพราะหนีเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพ้น เหมือนเงาตามติดตัวไปทุกที่