parallax background
 

DI(E)ALOGUE…เรียงร้อยมรณา

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

‘ชีวิต’ เป็นผู้กำหนดความตาย…จริงหรือ?

ใช่ ‘ความตาย’ หรือไม่ที่เป็นผู้ชักเชิดหุ่นชีวิตของทุกผู้ทุกนามให้โยกตัวไหวกายเริงระบำไปในโลกมายา คอยกำกับชีวิตผู้คนอยู่ทุกฝีก้าว แนบชิดทุกลมหายใจ หากกลับร่ายมนต์ให้เจ้าของชีวิตคิดว่าตนสามารถรื่นเริงราวกับมีชีวิตอยู่ได้ชั่วนิรันดร์ ด้วยคาถาสั้นๆ ว่า – จงลืม!

ว่ากันว่า…เมื่อยังพาใจกลับบ้านที่แท้จริงไม่ได้…เรามักดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการนามว่า “ความคิด”

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง DI(E)ALOGUE - เรียงร้อยมรณา คุณมโน วงเวียน ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย กล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า “‘รื่นรมย์’ กับการใช้ชีวิตที่เหลือ ด้วยการออกจากความคิด เมื่อเห็นความจริง เราจึงเป็นอิสระ เป็น Houseless ได้ แต่อย่าเป็น Homeless ใจไร้บ้าน ใจป่วยจึงส่งผลต่อกายป่วย”

ทุกครั้งที่ความตายมาเคาะประตูอยู่ตรงหน้า ความคิดมากมายล้วนประดังประเดเข้ามาโดยไม่สามารถจัดลำดับก่อนหลังได้เลยว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไปดี แม้อยากจะหนีไปให้ไกลสุดขอบฟ้า ดำดิ่งสู่ใต้ท้องทะเลลึกก็ไม่สามารถกระทำได้ ด้วยความจริงที่มหาบุรุษผู้ตื่นรู้…ตรัสว่า

ไม่มีสถานที่ใดที่ความตายมิอาจย่างกรายไปถึง…ไม่ว่าจะเป็นในห้วงนภากาศ ในมหาสมุทร หรือแม้แต่ในยามที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา…

บางคนตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางคนก็ตอนคลอด บางคนก็ในเวลาที่คลานได้ บางคนก็เมื่อเดินได้ บางคนในยามชรา บางคนเมื่อโต จากไปทีละคน…เหมือนผลไม้ที่ร่วงหล่นสู่พื้นดิน

‘ความคิด’ ไม่เพียงแต่บงการให้เราเสกสรรปั้นเรื่องคิดนานัปการ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความตาย’ ตั้งแต่เริ่มก่อตัวเป็นเพียงเสียงกระซิบเล็กๆ ในหัวใจ หากยังประกาศกร้าวต่อสาธารณชนถึงความมี ‘ตัวตน’ ซึ่งล่อลวงให้เราสำคัญว่ามีอยู่จริง ความคิดที่จะเอาชนะความตายจึงมักวนเวียนกับมนุษย์เราทุกยุคทุกสมัย…อย่างน้อยก็เพื่อชะลอไว้ ด้วยความคิดที่ว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่ฉันจะตาย ยังไม่ถึงเวลา” และนี่คือ ‘อัตตา’ ที่ประหัตประหารเราให้ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เวียนวนไม่รู้จบสิ้นอยู่ใน ‘กรง’ ที่ยากต่อการมองเห็น

แล้วใครล่ะที่ทำให้เรา ‘ตื่น’ ขึ้นมารับรู้ความจริงว่า ‘ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง’ ถ้าไม่ใช่ ‘ความตาย’

คุณภูดิส ศิริพันธุ์ เจ้าของร้านกาแฟอดีตนักกิจกรรม ติดกับคำว่า ‘ต้องเป็นคนดี’ เมื่อป่วยหนัก คิดฆ่าตัวตายหลายครั้งจนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราทำอะไรเพื่อตัวเราเอง และครอบครัวจริงๆ บ้างหรือยัง?” กำแพงความคิดที่สร้างขึ้นด้วยตัวเองทลายลงด้วยความตายที่คืบคลานเข้ามาในชีวิต พร้อมหยิบยื่นการเติบโตทางจิตวิญญาณเป็นข้อแลกเปลี่ยน

ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย กระทั่งผู้ตาย ล้วนได้รับบทเรียนที่แตกต่างกันออกไป แม้ ‘ความตาย’ ไม่เคยให้ชีวิตใครกลับคืนมาดังที่

คุณศุภสุดา ด้วงทองอยู่ นักศึกษาผู้สูญเสียคนใกล้ชิด กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ แต่อาจจุดประกายให้ผู้อยู่ข้างหลังฉุกคิดถึงเรื่องความตายในแง่ของการเกิดว่า ‘ถ้าวันหนึ่งฉันต้องตาย แล้วฉันเกิดมาทำไม?’ หากเพื่อรู้แจ้งในที่สุดแห่ง ‘ทุกข์’ คือคำตอบของการเกิด เราทำหน้าที่ศึกษาจนถึง ‘ความรู้แจ้ง’ นั้นแล้วหรือยัง หรือจะรอให้ ‘ขณะจิตสุดท้าย’ มาทวงถามก่อนที่สติสัมปชัญญะการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสจะสิ้นสุดลงด้วยคำตอบว่า - ยัง!

ความเจ็บป่วยไล่เลียงไปจบลงที่ความตาย เป็นสิ่งที่เรียก ‘สติ’ เรากลับมาอยู่กับตัวมากกว่าความเป็นอยู่ตามปกติ ทั้งๆ ที่เราต่างรู้กันดีว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ… เพราะร่างกายนี้เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่เคลื่อนไหวทำงานไปตามหน้าที่ของมัน แม้แต่จิตใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ เป็นสิ่งที่เกิดดับไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไป เป็นเพียงความรู้ที่เกิดจากการอ่าน การฟัง แต่ไม่ใช่เกิดจากความ ‘รู้สึก’ ตัวจริงๆ

คุณธีรภาพ พรประดิษฐ์ นักแสดงละครใบ้ผู้เคยมีประสบการณ์ป่วยด้วยเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองจนทำให้ความทรงจำบางช่วงของชีวิต…หายไป กล่าวถึงบทเรียนสำคัญครั้งนั้นว่า “เมื่อก่อนผมยังคิดว่าร่างกายเป็นของผม ดูแล ประคับประคอง ออกกำลังกาย พอถึงเวลา ใครเอาไปไหนก็ไม่รู้ มันรู้สึกเลยว่า…ไม่ใช่ของเรา”

“ความเจ็บปวดมันบีบคั้นเรามาก เพราะเรา ‘คิด’ เยอะมากว่าจะทำยังไง จึงกลับไป ‘จับความรู้สึก’ ด้วยการสังเกต” คือบทสัมภาษณ์ของคุณประสาท ประเทศรัตน์ อดีตนักดนตรีอาชีพที่ประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกหลังเคลื่อนจนต้องนอนบนเตียงเฉยๆ ด้วยความเจ็บปวดทรมาน

ไม่ใช่แต่การ ‘เฝ้าดู’ อาการปวดของตัวผู้ป่วยเองจะทำให้ ‘เห็น’ ความรู้สึกตนชัดเจนขึ้น แม้แต่ผู้ดูแลผู้ป่วย ก็สามารถ ‘ฝึกสติ-รู้สึกตัว’ ได้เช่นกัน คุณสวนีย์ อุทุมมา ผู้ดูแลญาติที่ป่วยเรื้อรัง ระบายความรู้สึกถึงการที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ตนไม่ชอบว่า “เมื่อรู้ตัว เราจะเห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนเปลี่ยนมวลของความไม่พอใจ การจัดการมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ” ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยเรียนรู้การฝึกสติ หากเมื่อนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีใครอยากดูแล เธอในฐานะหลานสาวจำต้องแบกรับภาระนี้ กระทำไปด้วยอาการหงุดหงิด กระฟัดกระเฟียด เพราะความไม่รู้สึกตัว จนท้ายสุดเธอยอมรับว่า ‘สอบตก!’

“ผู้ป่วยไม่ได้ทนกับความปวด แต่ ‘เห็น’ ความปวด เรียนรู้กับความปวด แล้วจึงอยู่กับความปวด…เราจะเกลียดหรือรักใครได้มากแค่ไหนกันแน่ แล้วเราอยู่ตรงไหนกันแน่ ในเมื่อเคยเห็นแล้วว่าเรามันไม่มี… ความ ‘จางคลาย’ เราจะรู้สึกได้เอง” คุณนิลชา เฟื่องฟูเกียรติ ผู้ปฏิบัติธรรม มีโอกาสดูแลผู้ป่วยท่านหนึ่งจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตกล่าวทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจ

เป็นไปได้ไหม ที่ความเจ็บปวดทำให้เราดำรงสติมั่นอยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นความรู้สึกสดๆ ที่เกิดขึ้นมาชั่วขณะของปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นความลับหนึ่งของการภาวนาบนความเจ็บปวด และเมื่อถึงที่สุดของความเจ็บปวด จึงนำมาซึ่งการ ‘ถอนตัวตน’ ในที่สุด

การได้ใกล้ชิดความตาย ทั้งหมดนี้สอนให้เราทุกคนกลับมาทบทวนชีวิตที่เหลืออยู่ กระตุกให้เราครุ่นคิดเพื่อหาคำตอบเฉพาะตัวเราเองว่า - ความ ‘ตั้งใจ’ ที่จะมีชีวิตอยู่ กับ ความ ‘อยาก’ ที่จะอยู่ มีลมหายใจไปวันๆ เราเลือกสิ่งใด? เส้นทาง ท่วงท่าลีลา ความหนักเบาของจังหวะการย่างก้าวของชีวิต ตัวเราเป็นผู้กำหนด หากระยะเวลาต่างหากที่เว้นว่างไว้ ดังที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล สอนว่า ‘พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อนกัน’

เพราะความตายคือสัจธรรมบทสุดท้ายของการมีชีวิตที่สะท้อนเรื่องราวด้านในของคนเราออกมาอย่างชัดเจน ไม่มีอะไรสามารถปกปิดได้เลยแม้แต่น้อย ชัดเจนเสียยิ่งกว่าการมีชีวิตอยู่ทุกวันด้วยซ้ำ เป็นความจริงที่มองเห็นได้ ทั้งจาก ‘ตาเนื้อ’ และ ‘ตาใน’ จับต้องได้ และให้คุณค่ามากต่อการ ‘ตื่นรู้’ ของผู้กำลังอยู่ในชั่วขณะจิตสุดท้ายและผู้ที่ยังคงอยู่เบื้องหลังเพื่อ...พิจารณา

“ต่อไปนี้เราจะอยู่…เพื่อที่จะตายยังไงมากกว่า” เป็นคำพูดสั้นๆ ของคุณสุธารัตน์ สินนอง นักทำละครหุ่น ผู้สูญเสียมารดาในวันที่เธอยังไม่ได้เตรียมใจ คงต้องยอมรับว่า…ทุกชีวิตล้วนเป็น ‘หนี้ทุกข์’ ที่มาในรูปแบบของความเจ็บป่วยและความตายกันถ้วนหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความตาย’ เป็นมหรสพทางวิญญาณที่ ‘ทุกคน’ สามารถศึกษาสัมผัสได้โดยตรง เพราะเป็นเรื่องจริงของชีวิตเหมือนเรื่องอื่นๆ ดังที่

คุณนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ หรือคุณเต๋อ ผู้กำกับภาพยนตร์ DIE TOMORROW กล่าวว่า “ความตายมัน ‘moving’ ตลอดเวลา”
โดยไม่ต้องมีข้อความกำกับว่า
‘โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม’

ติดตามชมคลิปวิดีโอ DI(E)ALOGUE…เรียงร้อยมรณา ได้ที่นี่
https://www.youtube.com/playlist?list=PLcDb3ouWunUfFgEjII32PQ_Nl6A2hidM-

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

นำร่อง ๗ โรงพยาบาล หนุนระบบดูแล “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย”

กรมการแพทย์จับมือโรงพยาบาลในสังกัด ตั้ง “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ครอบคลุม ๔ มิติ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย เริ่มนำร่อง ๗ โรงพยาบาลใหญ่
13 เมษายน, 2561

เมื่อพระจอมเกล้าฯ สวรรคต : การเตรียมตัวตายอย่างสงบแบบไทยๆ

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จริงๆ สำหรับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แต่หายนภัยใหญ่หลวงที่เกิดจากธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์เองในครั้งนี้ น่าจะช่วยทำให้พวกเราเกิดอนุสติ
5 เมษายน, 2561

ความล่าช้าของกฎกระทรวง ฯ มาตรา ๑๒

เพื่อคลายความกังวลในเรื่องดังกล่าวจึงขอชี้แจงว่า ผู้ป่วยสามารถทำหนังสือ Living Will และมีผลตามกฎหมายแล้วตามพระราชบัญญัติได้ ไม่จำเป็นต้องรอกฎกระทรวง