parallax background
 

มรณานุสติ กระจกส่องชีวิตในมิติพระพุทธศาสนา

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

สำหรับคนที่อยู่ในทางธรรมหรือฝึกปฏิบัติภาวนาบ่อยๆ การเจริญภาวนาแบบมรณานุสติ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไป (อย่างผู้เขียน) คำว่ามรณานุสตินี้ฟังดูน่ากลัวไม่น้อย ก็ถ้าจับเอาคำว่ามรณะที่แปลว่าตาย บวกกับคำว่าสติที่เป็นว่าระลึกรู้มารวมกัน เห็นทีว่าความหมายมันจะหนีจาก ‘การระลึกถึงความตาย’ ไปได้ไม่ไกลนัก

แล้วคนธรรมดาๆ (อย่างผู้เขียน) ก็ไม่มั่นใจว่าจะอยากระลึกถึงความตายเท่าไหร่นัก แต่...ดูเหมือนว่ากฏธรรมชาติที่ว่า เรายิ่งวิ่งหนีสิ่งใด สิ่งนั้นจะยิ่งเกิดขึ้นกับตัวเรา นั้นจะเป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง

ก็เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้รับคำเชิญจากบรรณาธิการให้เข้าร่วมเจริญภาวนามรณานุสติ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวกิจกรรมต่างๆ ออกมา ในห้วงคิดแรกยอมรับว่าลังเลจะไม่ไปอยู่แล้วเชียว แต่นิสัยชอบท้าทายความคิดตัวเองกลับบังคับให้ผู้เขียนตอบ ‘ตกลง’ ไปเสียอย่างนั้น

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่สวนโมกข์กรุงเทพ เวลาบ่ายโมงตรง ผู้เขียนไปก่อนเวลาเล็กน้อย หลังจากลงทะเบียนกับประชาสัมพันธ์ ก็ตรงไปยังห้องที่มีชื่อว่า ‘นิพพานชิมลอง’ ที่เขากำหนดเอาไว้ทันที

กล่าวตามตรง แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นผู้ก้าวเท้าเข้าไปสู่ห้อง ‘นิพพานชิมลอง’ แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศที่สงบเงียบสงบแห่งนี้นั้น มันดูเหมือนเป็นฝ่ายก้าวเข้ามาสู่หัวใจของผู้เขียนเสียมากกว่า ไม่กี่อึดใจเท่าไหร่ วิทยากรก็ประจำตำแหน่งพร้อมเริ่มต้นการภาวนา

แรกเริ่ม
เมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้น วิทยากรบอกกับผู้เขียนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ ว่า “แต่ละคนจะต้องมีคู่เป็นของตนเอง” นับว่าเป็นโชคดีไม่น้อยที่หลอกเพื่อนมาด้วยคนหนึ่งครับ กิจกรรมแรกไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่ต้องพิจารณาศพแบบที่กังวล ยิ่งกว่านั้นมันกลับทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกที่อยู่ก้นบึ้งหัวใจของเพื่อนและตัวผู้เขียนเองอีกด้วย ในกิจกรรมนี้ เราต่างก็ต้องตอบให้กับคำถามเดิมซ้ำๆ เป็นเวลา 3 นาที ฟังดูเหมือนเรื่องน่าเบื่อ แต่ทุกครั้งที่ตอบ เราจะไม่สามารถใช้คำตอบเดิมได้ ดังนั้นคำถามจึงเหมือนกับความพยายามขุดคำตอบที่แท้จริงที่สุด (คำตอบที่ลึกที่สุดในก้นบึ้งหัวใจ) ออกมา

คำถามที่ว่าก็คือ ‘ถ้าคุณเหลือชีวิตเพียงแค่ 3 วันสุดท้าย คุณปรารถนาจะทำสิ่งใด?’

ความประหลาดใจก็มาเยือนผู้เขียนเมื่อจบกิจกรรมนี้เอง หนึ่งบทเรียนที่ผู้เขียนค้นพบก็คือ แท้ที่จริงแล้วชีวิตของคนเรา (อย่างน้อยก็ชีวิตของผู้เขียน) นี้ได้ทำในสิ่งที่ปรารถนาน้อยเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่อมาผู้เข้าร่วมภาวนาทุกคนจะได้รับหินธรรมดาๆ สามก้อน วิทยากรสั่งให้เราทุกคนแทนคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต 3 คนลงไปในหิน 3 ก้อนนี้ วิทยากรถามว่าเราอยากจะมอบสิ่งใดให้หินต่างๆ ที่เราแทนคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตเราลงไป

วิทยากรให้เวลาเราเพียงเล็กน้อย ก่อนจะดำเนินขั้นตอนถัดไปแบบที่ไม่มีใครในห้องนั้นคาดคิด

ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกเก็บหินออกไปหนึ่งก้อน หรือหมายความอีกนัยน์หนึ่งว่า คนสำคัญที่สุดในชีวิตคนหนึ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ถูกพรากจากไปเสียแล้ว วิทยากรกล่าวในงานกิจกรรมว่า ‘ความจริงแล้วเราไม่มีทางรู้หรอกว่า ความตายจะมาเยือนคนที่เรารัก วันไหน เมื่อไหร่ และจะไม่รู้ว่าใครด้วยใช่ไหม’

แม้ว่าผู้เขียนจะรู้สึกหัวใจถูกโยกไปมาตั้งแต่กิจกรรมแรก แต่คำพูดนี้เรียกน้ำอุ่นรื้นออกมาจากดวงตาของผู้เขียนทันที ไม่ใช่เพราะเพียงแค่สิ่งที่วิทยากรพูดหรอกครับ แต่การที่ได้ตกผลึกว่า เราเองก็มีบางสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้กับคนที่สำคัญที่สุด แต่โลกแห่งความไม่แน่นอนนี้กลับสามารถพรากเขาจากเราไปได้ทุกเมื่อ ต่างหากที่มันสะท้อนไปมาในจิตใจ

กระนั้นก็ดีพอหันไปมองเพื่อนที่หลอกมันมาด้วยกันก็พบว่า ผู้เขียนยังกลั้นใจเก่งกว่าเป็นไหนๆ ก็เพื่อนของผู้เขียนนั้น...บ่อน้ำตาแตกไปตั้งนานแล้ว

คุยกับวิทยากร
“มรณานุสติก็คือการเจริญสติที่ระลึกถึงความตาย” วิทยากรกล่าวกับผู้เขียน “ที่เราทำกันวันนี้คือการออกแบบในเชิงประยุกต์ การระลึกถึงความตายมันก็ระลึกได้หลายวิธีการ หลายอุบายใช่ไหมครับ เช่น การไปพิจารณาการผ่าศพคนตาย คนตายอยู่ตรงหน้า แล้วเราก็ลองน้อมเข้ามาว่า เราเห็นอะไรในตัวเอง เราเห็นอะไรไหมมีคนตายอยู่ข้างหน้า แค่นี้ก็คือการเจริญมรณานุสติได้แล้ว

“บางคนก็เห็นว่า ศพถลุงลงมา เอ้อ เราอยู่ใต้หน้ากาก พอผ่าออกมาเมื่อกี้เราเห็นเขาหล่อมากเลย แต่พออยู่ข้างใน ไม่เห็นมีอะไรเลยที่หน้าพิศมัย แล้วจิตจะคลายความกำหนัด ปลงสังเวช มันเกิดเป็นอารมณ์เบื่อหน่ายในการยึดถือตัวตน

“การเจริญมรณานุสติไม่ใช่ว่า ทำให้เราเศร้าโศก ไม่ใช่เรื่องที่คุยแล้วเป็นอัปมงคล แต่มันเป็นมงคลของชีวิต มันทำให้จิตเกิดปัญญาคลายความกำหนัด ความหลง ความยึดมั่นถือมั่นก็ค่อยๆ คลาย เกิดความเบื่อหน่าย

“แต่ที่นี่เราไม่มีศพถูกไหม พี่ก็เลยใช้คำว่า ‘ความตายออกแบบได้’ อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับความตาย เรามาคุยกันมีตั้งหลายเรื่อง วันนี้พี่ก็คุยว่าสมมติว่าเราจะตายวันหนึ่ง สมมติว่าคนสำคัญของเราจะตายวันนึง เราจะทำอย่างไร”

ความตายออกแบบได้ยังไม่จบ
นอกจากกิจกรรม ‘หินแทนคนสำคัญ’ กับ ‘คำถามขุดใจ’ (ผู้เขียนตั้งชื่อขึ้นมาเอง) ที่เริ่มต้นขึ้นในครึ่งแรกแล้ว ในช่วงท้ายเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เช่น การทดลองเป็นคนใกล้หมดลมหายใจในท่านอน วิธีเข้าสู่สภาวะไร้ลมหายใจแบบผู้ป่วยระยะสุดท้าย

และในท้ายที่สุดวิทยากรจะปิดท้ายโดยแบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อเล่นเกมและสรุปบทเรียนออกมาเป็นความรู้จากพุทธศาสนาต่างๆ

กิจกรรมสิ้นสุดลงเท่านั้น แต่ความสงสัยของผู้เขียนยังไม่จบลง ผู้อ่านอาจไม่นึกแปลกใจ แต่ผู้เขียนกลับทนที่จะเก็บความขัดแย้งนี้ให้อยู่ในใจต่อไปไม่ไหว ความขัดแย้งนี้คืออะไรน่ะหรือ ก็ผู้อ่านไม่สงสัยเหมือนกันหรือครับว่า

ทำไมการพิจารณาสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิตอย่างความตาย มันถึงส่งผลกับชีวิตได้ ?

วิทยากรเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบ “จำได้ไหมที่พี่พูดถึงเรื่องโทสะ (ในกิจกรรมหินแทนคนสำคัญ) ว่ามักเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวแรงกว่าคนไกลตัว เนื่องจากว่าเรามีระยะเกรงใจให้คนนอกบ้าน คนในบ้านมันเป็นระยะเคยชิน

“เราจะโพล่งได้เยอะ แต่ถ้าเราสำรวม สังวร สำนึกเอาไว้ (หรือนึกถึงกิจกรรมในวันนี้ได้) อย่างน้อยระดับความคิดก็ช่วยให้เราถอยออกมาจากระดับที่เราเคยถลำไปกับความเคยชิน ก็สำรวมไปด้วย อาจจะวจีกรรม กรณีนี้ก็แตะเรื่องการใช้ชีวิตกับเรื่องความสัมพันธ์แล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ”

ความสงสัยของผู้เขียนยังไม่หมดไปง่ายๆ เนื่องจากตั้งแต่เกิดมาผู้เขียนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่า พุทธศาสนานี้จะทำให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจ พอได้มาเข้าร่วมการเจริญภาวนามรณานุสติ ผู้เขียนก็เลยอดถามออกไปไม่ได้ว่า

การเจริญมรณานุสติจะช่วยให้คนเราตายอย่างสงบได้ไหมครับ ?

“ต้องถามกลับว่า เขาคนนั้นเจริญมรณานุสติอย่างไร” วิทยากรตอบ “ต้องมานิยามต้องมาคลี่ ก่อนตอบต้องถามก่อนว่าเขาทำอะไรบ้าง แล้วบางทีเขาไม่ต้องมาถามเราแล้วถ้าเขาภาวนาถึงจุดๆหนึ่ง เขาจะแน่ใจได้เอง”

เคยเจอเคสเรื่องผู้ป่วยที่ปฏิบัติธรรมแล้ว จากโลกนี้ไปอย่างสงบบ้างไหมครับ ?

“เยอะแยะ อย่างผู้ป่วยมะเร็งสองเตียง เคยเจอเหมือนกัน เป็นมะเร็งระยะเท่ากันอยู่ติดกันสองเตียง คนหนึ่งหน้าตาผ่องใส ไม่ต้องรับมอร์ฟีน อีกคนรับมอร์ฟีนยังโอดโอยอยู่ มันสะท้อนถึงต้นทุนภายในมากๆ

“ฝรั่งก็มีนะ พี่เคยอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นคนออสซี่ เป็นคนต่างชาติที่เคยฝึกกับพระฝรั่งสายหลวงพ่อชา แต่เขาบอกว่าอาการเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายทำให้เขาลืมภาวนา

“กระทั่งเราไปเตือนเขา เขาบอกว่าขอบคุณมากที่เราไปเตือนเขา ทำให้เขากลับมาแยกกายแยกจิตได้อีกครั้งนึง มันก็สะท้อนอย่างนึงว่า บางสิ่งที่มอร์ฟีนเอาไม่อยู่ แต่ธรรมมะโอรสจัดการอยู่”

สรุปบทเรียน
การได้เข้าร่วมเจริญมรนานุสติในครั้งนี้ของผู้เขียนทำให้ ผู้เขียนมองอะไรหลายๆ อย่าง เปลี่ยนไปจริงๆ อย่างน้อยที่สุดก็ได้มองเข้ามาในเรื่องที่เคยไม่ได้มองเลย อย่างเช่นเรื่องความสำคัญของคนใกล้ตัว

กระนั้นก็ดี แม้ว่าดูเผินๆ มรณานุสติจะดูเหมือนเป็นเพียงมิติเล็กๆ ในพระพุทธศาสนา แต่ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าได้สอดแทรกและเน้นย้ำถึงเรื่องเกี่ยวกับความตายต่อสานุศิษย์ของพระองค์อยู่เสมอๆ เช่น มีพุทธพจน์ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“รีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ว่าพรุ่งนี้ความตายจะมาเยือนหรือไม่” (อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺ?า มรณํ สุเว) แม้กระทั่งปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ก็ยังตรัสเอาไว้ว่า

“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” (วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ) ในปัจฉิมโอวาทนี้ ท่อนที่ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ก็ดูเหมือนจะเป็นการย้ำเตือนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ร่างกายของมนุษย์ทุกคนสักวันหนึ่งก็หนีความตายไปไม่พ้น เช่นกัน

ความตายออกแบบได้
นั่นคือชื่อของกิจกรรมการเจริญมรณานุสติ ณ สวนโมกข์กรุงเทพ โดยมีวิทยากรคือ ครูดล หรือ ธนวัชร์ เกตน์วิมุต (ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา) ปัจจุบันกิจกรรมนี้ยังคงเปิดรับประชาชนทั่วไปเข้าร่วม ในทุกๆ วันเสาร์แรกของเดือน กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น – 17.00 น แต่ข้อสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมก็คือ ทุกคนจำเป็นจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็ปไซต์ของสวนโมกข์กรุงเทพเสียก่อน (www.bia.or.th)

เอกสารอ้างอิง : https://www.visalo.org/article/D_MoranaSati.htm
บุคคลสำคัญ : ครูดล หรือ ธนวัชร์ เกตน์วิมุต (ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา)

19 เมษายน, 2561

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน
21 ธันวาคม, 2560

ดูแลผู้ดูแล

จิตอาสาคนหนึ่งเขียนในใบประเมินว่า “แนวทางการเป็นจิตอาสาเทียบเคียงกับมรรคมีองค์แปดสัมพันธ์กันได้ดีมาก เห็นภาพชัดเจน” จริงๆ แล้วอยากบอกว่า มรรคมีองค์แปดของพระพุทธองค์ใช้ได้กับทุกอาชีพทุกสถานการณ์
19 เมษายน, 2561

เคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้

"วันนั้น พระอาจารย์จะไปยื่นหนังสือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตะโกนเรียกก็ไม่มีใครตอบ อาตมาเข้าไปในบ้านก็พบผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถามดูก็พบว่าเขาถูกรถชน รักษาก็ไม่หาย"