“สังฆทานต่อบุญ”...ส่งต่อแเพมเพิสจากวัดสู่ผู้ป่วยในชุมชน

เรื่อง: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คำว่าชุมชนกรุณาฟังดูเป็นนามธรรม แต่คนบ้านร้องหลอด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สามารถสร้างชุมชนกรุณาที่เป็นรูปธรรมแตะต้องได้และมีผลลัพธ์ที่น่าทึ่งอันต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีศูนย์ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตตั้งอยู่ในวัดร้องหลอด ผู้ป่วยติดเตียงในอำเภอพานเกือบหนึ่งร้อยรายจะได้รับแพมเพิสและยืมอุปกรณ์การแพทย์ไปใช้ที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้ได้มาจากสังฆทานต่อบุญหรือสังฆทานแพมเพิสซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของเจ้าอาวาสวัดร้องหลอดและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน  

ชุมชนบ้านร้องหลอดเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยสองหมู่บ้าน อยู่ห่างจากถนนหลักสายเชียงราย-พานหลายกิโลเมตร เป็นที่รูจักว่าวัดร้องหลอดมีตลาดชุมชนที่มีทั้งของกินของใช้พื้นเมือง เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยว ผักผลไม้ปลอดสารพิษ และกาแฟสด นอกจากนี้ยังมีทำเลถ่ายรูปประกอบด้วยนาข้าว สะพานไม้ และบ้านต้นไม้ที่สวยงามไม่น้อยหน้าร้านกาแฟหรือแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง

ทว่าสิ่งยังไม่เป็นที่รู้จักคือชุมชนนี้เป็นต้นแบบของสังฆทานต่อบุญที่เปลี่ยนจากถังสังฆทานบรรจุของใช้ประจำวันในถังพลาสติกสีเหลือง มาเป็นสังฆทานต่อบุญที่เต็มไปด้วยของใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วย และต่อมาขยายไปสู่สังฆทานอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยในชุมชนยืมไปใช้ที่บ้าน ซึ่งพยาบาลที่ร่วมสนทนากับเรากระซิบบอกว่าที่นี่มีอุปกรณ์การแพทย์มากกว่าโรงพยาบาลเสียอีก

กว่าจะเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต 

พระครูพิศาลสังวรกุล หรือพระจรูญ คุณสังวโร เจ้าอาวาสวัดร้องหลอดเล่าแรงบันดาลใจในการทำวัดให้เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตว่าเกิดจากการเจ็บป่วยของคนในชุมชนคนหนึ่งที่เป็นพ่อครัวประจำหมู่บ้านและชอบช่วยเหลือชุมชน แต่เมื่อเขาป่วยเป็นอัมพาตกลับไร้คนดูแลและเสียชีวิตในอีกหนึ่งเดือนต่อมา อันเป็นเรื่องที่ฝังใจมานาน

ตอนปี 2556 เราทำงานโครงการบ้านชุ่มเมืองเย็นร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพสต.) ตำบลเมืองพาน เขาพากรรมการวัดไปดูวิถีชุมชนเป็นสุขที่ชุมชนวัดทุ่งบ่อแป้น จังหวัดลำปาง เราเลยอยากจะได้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตไว้ช่วยเหลือคนในชุมชน โดยให้คนในชุมชนมาช่วยเหลือดูแลกันเองและมีหมอมาช่วย ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเอาหมอมาอย่างไร แต่เราอยากได้ศูนย์บำบัดก่อน เราเลยซื้อที่ดินเพิ่มจากที่วัด ใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ฯพระครูพิศาลสังวรกุลเล่าถึงจุดเริ่มต้นการสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตในวัดร้องหลอด

ผ่านมาประมาณสิบปี ปัจจุบันมีหมอมาประจำที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยภายในวัดและในชุมชนเกินความคาดหมายเริ่มต้นที่ว่าดึงหมอมาอยู่กับเราดีกว่าเราไปหาหมอเพราะที่นี่เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาแพทย์ในเขตภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่ละมหาวิทยาลัยจะส่งนักศึกษาแพทย์มาลงชุมชนครั้งละ 5-10 คน ระยะเวลา 10-30 วัน สลับกันไป

ส่งต่อแพมเพิสทั่วเมืองพาน...อานิสงส์สังฆทานต่อบุญ 

การปรับเปลี่ยนประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะประเพณีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่วัดร้องหลอดสามารถเปลี่ยนรูปแบบการถวายสังฆทานจากของกินของใช้ประจำวันสำหรับพระ มาเป็นของใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วยได้

สังฆทานต่อบุญคือการต่อบุญให้กับคนทำบุญโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการถวายสังฆทาน จากถังเหลืองเป็นแพมเพิส กระดาษทิชชู สำลี ตอนแรกญาติโยมไม่กล้าทำ เราทำเองเลย เอาเงินที่เขาบริจาคไปซื้อของที่ห้างมาแพ็คเป็นชุด แล้วพาผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านไปมอบให้สถานีอนามัยโรงพยาบาลนับสิบครั้ง คนที่กล้าทำมีไม่มาก แต่พอเห็นคนอื่นทำก็ทำมาเรื่อย ๆ ใช้เวลาทำขั้นตอนนี้ 1-2 ปี

หลังจากมีของเยอะ เราก็นำสังฆทานแพมเพิสไปมอบให้ผู้ป่วย ตอนแรกสถานีอนามัยมารับไปเยี่ยมผู้ป่วยแต่ละเคส อีกส่วนหนึ่งพระไปเยี่ยมโยม เมื่อก่อนอาตมาไปเอง เด็กวัดขับรถให้ ไปตอนเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนอยู่บ้านและคนขับรถว่าง เยี่ยมได้วันละ 1-2 เคส จากนั้นมีคนถวายอุปกรณ์การแพทย์ ก็เลยทำเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ให้ยืม เช่น เตียง รถเข็น ถังออกซิเจน เครื่องดูดเสลด ตอนนี้มีอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) 400 กว่าคน เป็นจิตอาสาผลัดเวรกันเวรละ 3 คน มาช่วยทำเรื่องยืมอุปกรณ์ทุกวันจันทร์และศุกร์ วันเบิกจ่ายแพมเพิสจะมีจิตอาสามากหน่อย แต่ละเดือนมีผู้รับแพมเพิส 80 กว่าราย เดือนละ 30 วัน รวมกว่าสองพันชิ้นต่อเดือน 

ตอนนี้เราเปิดศูนย์ทุกตำบล ให้ยืมอุปกรณ์และแจกแพมเพิสครอบคลุมทั้งอำเภอพาน คนป่วยจะไปเบิกของที่ตำบล ถ้าไม่มีศูนย์บริเวณบ้าน ก็มาเบิกที่วัด ขอแค่เป็นคนป่วย ไม่นับว่าคนจนคนรวย มีสิทธิ์ได้เท่ากัน หากอุปกรณ์การแพทย์มีปัญหามีช่างจิตอาสาซ่อมให้ และตอนนี้มหาวิทยาลัยราชมงคลเชียงรายกำลังทำโปรแกรมเช็คอุปกรณ์ให้

สร้างคนรุ่นใหม่และผสานความร่วมมือทุกฝ่าย

ความสำเร็จมิได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดจากการวางแผนสร้างคนจากรุ่นสู่รุ่น  

ตอนแรกเราทำเรื่องเยาวชนก่อน เรามีค่ายเยาวชนทุกวันที่ 1-5 เมษายนทุกปี เป็นค่ายวัฒนธรรมไม่ใช่ค่ายสมาธิ มีฐานเรียนรู้เกือบ 10 ฐาน เด็ก ๆ จะสนุกมาก เราพาเด็กมาเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรม แล้วเด็กก็มาช่วยงานต่อ ตอนนี้เด็กเป็นกำลังสำคัญ เวลามีงานก็เรียกมาช่วยได้

ชุมนุมนี้มีสองร้อยกว่าหลังคา สองหมู่บ้าน พระต้องเป็นคนประสานระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก การประชุมเยาวชนกับผู้ใหญ่ครั้งล่าสุดมีพระเป็นตัวกลาง เพราะเราดูแลเด็กตั้งแต่เล็ก เราเป็นคล้ายพ่อบุญธรรมของเขา เราจะผลักดันคนรุ่นนี้ วันหน้าถ้าเขาเป็นผู้นำ การขับเคลื่อนจะเร็ว

ตอนนี้ทางวัดทำ 3 ศูนย์เพื่อขับเคลื่อนและดูแลคนในชุมชน คือหนึ่งศูนย์วัฒนธรรม เป็นตัวเชื่อมคนในชุมชน สอง ศูนย์บำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ดูแลเกี่ยวกับผู้ป่วย สาม ศูนย์สมาธิที่นำคนในชุมชนมาสอนสมาธิ เพื่อดูแลจิตใจตัวเองและช่วยดูแลผู้ป่วยอีกต่อหนึ่ง

ที่วัดมีตลาด ร้านกาแฟ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เรากำลังจะทำศูนย์สุขภาพให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เข้ามาแล้วสบายใจ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำเป็นที่ท่องเที่ยว แต่มีคนช่วย อาคารหลังแรกชาวบ้านเปลี่ยนเวรมาทำวันละ 15 คน ช่วยกันทำ ทุกคนเป็นเจ้าของหมด

ทำจริง ทำให้เห็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ 

ภาพที่เห็นแรกๆ คือพระอาจารย์พาเด็ก ๆ หิ้วแพมเพิสไปให้คนไข้ที่เตียงในโรงพยาบาลและที่บ้าน การลงมือทำทำให้คนก็ศรัทธา มีหลายฝ่ายมาช่วยยุพดี สุทธนู พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพาน เล่าภาพจำเกี่ยวกับพระครูพิศาลสังวรกุล เมื่อครั้งพาคนไข้ที่เลิกสุรามาที่วัดเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตั้งแต่ปี 2556

ขณะที่พระครูพิศาลสังวรกุลกล่าวว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการทำจริง ทำให้เห็น และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

เราทำให้เขาเห็น พอเขาเห็นว่ากิจกรรมนั้นได้ผลดี เขาเลยโอเค เราเน้นต่อบุญมาทำบุญกับเรา เราเอาไปต่ออย่างไร ต่อเสร็จแล้วมาบอกว่าเอาไปทำอะไร เวลาบิณบาตรพระ 4-5 รูป โยมเขาจะใส่บาตรใส่เงิน เอามารวมกันแล้วเอาไปทำกิจกรรม และบอกโยมว่าเอามาสร้างอะไร พ่วงไปถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย หลังจากนั้นโยมใส่เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ได้มาก็ทำกิจกรรม เงินค่าเช่าตลาดและขายกาแฟสดในวัดก็นำไปซื้อแพมเพิส

เพราะอาตมาเป็นคนร้องหลอด

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พระสงฆ์วัยต้นสี่สิบจะเป็นที่ยอมรับและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งตำบลที่ประกอบด้วยสองหมู่บ้าน แต่พระครูพิศาลสังวรกุลทำได้เพราะนอกจากการทุ่มเทแรงกายและใจแล้วยังเป็นคนในพื้นที่ และบวชมาตั้งแต่อายุ 13 ปีจนถึงปัจจุบัน รวม 30 พรรษา

เราเป็นคนในชุมชน บ้านอยู่ติดวัด ตอนเด็กชอบมาวัด เพราะแม่อุ้ย” (ย่า) เป็นคนเข้าวัด เป็นหัวหน้าคนถือศีลอุโบสถ ตอนเด็กบอกพ่อว่าอยากบวช เราเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดา 6 คน ชาย 3 หญิง 3 เลยได้บวชเณรตอนจบป.6 ตั้งใจว่าจะบวช 3 ปี แต่ตอนบวชเมื่อปี 2534 พ่อแม่เสียเงินค่าบวชหลายหมื่นบาท  ปัจจุบันคงหลายแสนบาท เพราะต้องแต่งชุดปอยส่างลองเต็ม เลยอยู่ให้คุ้ม ไปเรียนทางพระจบปริญญาตรีด้านพุทธศาสนา ที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา พออยู่ไปใจยังไม่อยากสึก ก็เลยอยู่ต่อ บวชเป็นพระได้สามเดือน เจ้าอาวาสหนีไปก็เลยได้เป็นเจ้าอาวาส ว่าจะอยู่ไม่นาน อยู่ไปเรื่อย ๆ ก็เห็นปัญหา เราอยู่ในชุมชนรู้ว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรก็เลยอยากจะทำกิจกรรมช่วยชุมชน 

 

ปัจจุบันบวชมา 30 ปีแล้ว เรากิจกรรมมาเรื่อย ๆ เอาเงินมาทำกิจกรรมหมด ถ้าเด็กมาเรียนศิลปะก็ซื้ออุปกรณ์ให้ เราไม่ได้เก็บเงิน ถ้าเก็บคงได้หลายล้าน พ่อแม่เป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะไม่มีใช้รักษาร่างกาย แต่เราคิดอีกอย่างว่าถ้าเราทำให้เห็น ชาวบ้านเห็นแล้วจะมาช่วยเรา ถ้าเราเอาแต่เก็บแล้วไม่ช่วยสังคม มันก็จะไม่เกิดอะไร คำว่าจิตอาสาและสามัคคีในชุมชนจะไม่เกิดถ้าต่างคนต่างเห็นแก่ตัว เราต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง เราต้องทำงานทั้งวัน ให้เขาเห็น ตอนนี้เราทำอะไรก็เลยง่าย สะดวก 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านร้องหลอดเป็นชุมชนกรุณาได้คือการมีผู้นำที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ การลงมือทำให้เห็นอย่างจริงใจและต่อเนื่อง การเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตามความรู้ความสามารถโดยไม่จำกัดวัย การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกชุมชน และที่ขาดไม่ได้คือความรักความผูกพันต่อท้องถิ่นของคนในชุมชน

[seed_social]

1 กรกฎาคม, 2565

In Loving memory บริการจัดงานรำลึกผู้วายชนม์ออนไลน์ – กิจกรรมของคนที่อยู่เพื่อผู้จากไป

“In Loving memory” คือ บริการจัดงานรำลึกผู้วายชนม์ออนไลน์ ดำเนินการโดย I SEE U Contemplative Care กลุ่มจิตอาสา
10 ธันวาคม, 2561

สรุปสถานการณ์ Hospice Care ในประเทศไทย

ฮอสพิซ (Hospice) เป็นคำเรียกสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยมีสถานที่ที่ให้บริการในความหมายแบบฮอสพิซหลากหลาย
1 ตุลาคม, 2561

ถอดบทเรียนชุมชนกรุณาผ่านวรรณกรรม The Perks of Being a Wallflowers : เวทีชีวิตและการเติมเต็ม

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยรอยต่อของเด็กและผู้ใหญ่ จากช่วงวัยเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง พวกเขามีหน้าที่เชื่อฟังเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ภายใต้การดูแลโอบอุ้มของผู้ใหญ่ ช่วงวัยรุ่นก็เป็นช่วงวัยที่พวกเขาก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน