parallax background
 

ความหวังของคนกำลังสูงวัย: (2)
ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการสำหรับภาครัฐ
ชุมชน และธุรกิจ

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

หลังจากการพูดถึงแนวคิดการเตรียมความพร้อมของสังคมสูงวัยในช่วงเช้า [อ่านบทความได้ที่นี่] ช่วงบ่ายเป็นผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายและปฏิบัติการ เรื่องการเตรียมความพร้อมของภาครัฐและประชาชน กับการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจ

การเตรียมความพร้อมของภาครัฐและประชาชน

ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ นำเสนอ “ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือนท้องถิ่น และในสถานบริการ” ว่าผู้สูงอายุมีความกังวลอยู่สามเรื่อง คือการเป็นภาระของครอบครัวหรือเพื่อน ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และสูญเสียความสามารถทางกายภาพ และจากการสำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในรอบสิบปีที่ผ่านมา พบว่ามีงานวิจัยที่เป็นต้นแบบปฏิบัติการทางสังคมและการดูแลผู้สูงวัยอยู่จำนวนหนึ่ง จำแนกออกเป็น 4 ด้าน คือ

หนึ่ง พื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับทุกคน ผู้สูงวัยควรมีพื้นที่พบปะพูดคุยกัน นอกจากการอยู่ตามศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้า สอง บริการผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ที่ครอบคลุมการดูแลทางด้านสุขภาพ สังคม และจิตวิญญาณ สาม การสร้างความมั่นคงทางด้านการเงิน และ สี่ การเรียนรู้และการปรับตัวให้ทันโลก

จากต้นแบบต่างๆ ดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอหลายประการ ที่น่าสนใจคือ การพัฒนาตลาดสดในชุมชนเพื่อให้คนไม่ต้องไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า การมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุใกล้บ้าน พัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ พัฒนา รพ.สต.ให้เป็นที่พักฟื้นร่างกายหลังรับการรักษาจากโรงพยาบาลใหญ่จนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปรับแก้กฎหมายการจ้างงาน ขยายอายุการทำงาน และมหาวิทยาลัยรองรับผู้สูงอายุเพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ทางด้าน ผศ.ดร.นลนี ตันธุวนิตย์ ผู้สังเคราะห์งานวิจัยเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในระดับครัวเรือน ชุมชน และท้องถิ่นในรอบสิบปีที่ผ่านมา พบว่าการกล่าวอ้างวัฒนธรรมกตัญญูทำให้ผู้คนฝากความหวังไว้กับครัวเรือน แต่ครัวเรือนมีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุได้โดยลำพัง เพราะผู้ดูแลส่วนใหญ่จะเป็นลูกสาวคนโต มีการศึกษาและทักษะน้อยที่สุด เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ จึงต้องอยู่บ้านดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะขาดทักษะและความรู้ในการดูแล มีปัญหาสุขภาพ ต้องการคนดูแลเช่นกัน การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องอาศัยชุมชน เช่น อาสาสมัคร เครือญาติและเพื่อนบ้าน องค์กรและสถาบันชุมชนต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน ตลอดจนชุมชนเสมือนในโลกยุคใหม่เข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม การดูแลโดยองค์กรต่างๆ ในระดับท้องถิ่น เช่น รพ.สต. อบต. โรงพยาบาลจังหวัด จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

มีข้อเสนอว่า ควรมีการช่วยเหลือผู้ดูแลด้านรายได้ที่ขาดไปเนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ควรมีการศึกษากระบวนการปฏิบัติงานของชุมชนเสมือน และสนับสนุนการทำงานในระดับเครือขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายฐานข้อมูลสุขภาพ

แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระสังคมและต้องพึ่งตัวเอง มาเป็นผู้สูงอายุต้องมีสิทธิพลเมืองที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างมีศักดิ์ศรี

ส่วน ผศ.นฤตย์ นิ่มสมบุญ ผู้รวบรวมงานวิจัยความรู้ด้านผู้สูงอายุในประเทศไทยระหว่างปี 2551-2561 จำนวน 1,424 รายการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในมิติด้านสุขภาพเรื่องการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค แต่เรื่องสุขภาพจิต การเตรียมตัวก่อนตาย อุบัติเหตุ และระบบการดูแลในกลุ่มต่างๆ ในเชิงระบบ รวมถึงงานวิจัยในมิติการดูแลด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มีน้อยมาก จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

ต่อมา รศ.ดร.นฤมล นิราทร กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่องความพร้อมของแรงงานนอกระบบเรื่องสุขภาพ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคง ของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างอายุ 45-60 ปี เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ พบว่าแม้จะมีสภาพการทำงานค่อนข้างเสี่ยง แต่กลับมีการเตรียมความพร้อมเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกัน เช่น การตรวจสุขภาพ ค่อนข้างต่ำ

แต่กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีลักษณะพิเศษทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนึ่ง คือ การมี ‘วิน’ เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน จึงมีศักยภาพสูงในการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ และประเด็นสำคัญที่สุดคือ การมีรายได้สูงกว่าแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ จึงไม่ค่อยคิดถึงการเปลี่ยนอาชีพ

ส่วนเรื่องความความมั่นคง มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่ยังคงติดต่อและต้องการกลับไปอยู่ในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง และมีการออมเงินกับกองทุนชุมชน

จึงมีข้อเสนอว่า ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพมากกว่าเดิม ให้ความรู้และบังคับใช้กฎหมายเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับบทบาทของวินและสมาคม ตลอดจนทำให้องค์กรการเงินในชุมชนเข้มแข็งและมั่นคง

การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจ

มาทางฝั่งการเตรียมพร้อมด้านธุรกิจ ผศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล กล่าวถึงเรื่อง “ความพึงพอใจในความเสี่ยงของผู้บริโภควัยสูงอายุ” ว่า ความเชื่อเดิมของคนส่วนใหญ่เรื่องการทำงานจนถึง 60 ปีแล้วเอาเงินสะสมไปฝากออมทรัพย์ ค่อยๆ ใช้ไปอีก 20 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี เป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีงานวิจัยว่ามนุษย์จะมีอายุยืนถึง 100 ปี ลำพังการเก็บเงินเอาไว้เฉยๆ จึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคต

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ชอบความเสี่ยง คือ หนึ่ง คิดว่าตัวเองเหลือเวลาน้อย การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือการลงทุน น่าจะเสี่ยงและมีประโยชน์น้อย สอง การป้อนข้อมูลตัวเลขเยอะๆ ทำให้ผู้สูงวัยต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากเกินไป สาม ผู้สูงวัยไม่ได้ห่วงตัวเองเป็นหลัก แต่ห่วงคนที่รัก และสี่ ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับความคุ้นเคย การให้คนรู้จักยืมเงินย่อมง่ายกว่าการให้คนที่ไม่รู้จักยืม จากความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมดังกล่าว หากต้องการโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการยอมรับความเสี่ยง ลำพังการมีคนแนะนำการลงทุนให้ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้ผู้สูงวัยตระหนักรู้ด้วยว่าคนแนะนำจะช่วยเหลือและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ควรมีการออกผลิตภัณฑ์โดยองค์กรที่ผู้สูงวัยรู้จัก หรือให้ประโยชน์ไปตกอยู่กับคนที่ผู้สูงวัยรัก จึงจะทำให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการยอมรับความเสี่ยงน้อยมาเป็นความเสี่ยงปานกลางได้

ทางด้าน ดร.อรุณี ตันวิสุทธิ์ ประมวลภาพ “สถานการณ์ตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทย” ให้เห็นว่า เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีอำนาจซื้อค่อนข้างสูง ใส่ใจเรื่องสุขภาพ มีเวลาว่าง มีเวลาใช้ชีวิต เริ่มให้รางวัลตัวเองหลังจากทำเพื่อคนอื่นมานาน และจากการจัดงานมหกรรมสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพในปี 2016-2018 พบว่าตลาดผู้สูงอายุมีมูลค่าเพิ่มจาก 3 พันล้านบาทมาเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่สูง

แนวคิดด้านการตลาดแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้น 60-69 ปี ช่วงกลาง 70-79 ปี และช่วงปลาย 80-89 ปี โดยแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมแตกต่างกัน จากการเก็บข้อมูลของคณะวิจัยนาน 8 เดือน พบว่าสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันอาจแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม คือ อาหารเพื่อสุขภาพ มีการผลิตสินค้าที่ทำให้ผู้สูงวัยดูดี เช่น ผ้าอนามัยสำหรับผู้สูงวัย ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบ้านเดี่ยว คอนโด ที่ออกแบบให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย เช่น มีประกันสุขภาพ ดูแลเรื่องพินัยกรรม มีบริการขนส่งสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น Go Momma มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและธนาคารพาณิชย์เฉพาะผู้สูงอายุ และที่น่าสนใจคือมีบ้านพักคนชรา สำหรับผู้สูงวัยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย

ดร.อรุณี เสนอกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับผู้สูงวัยว่า นอกเหนือจากการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ การใช้งานเหมาะสม ปลอดภัยและง่ายต่อความใช้งาน มีราคาที่คุ้มค่าแล้ว สิ่งสำคัญคือการวางเป้าหมายผลิตสินค้าขายผู้สูงอายุทั่วโลก ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย

ธุรกิจสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมสุขภาพในประเทศไทย

ปิดท้ายด้วยงานวิจัย “สำรวจธุรกิจสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมสุขภาพในประเทศไทย” โดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ พบว่าในขณะที่โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Global Health Tech) ตามไปด้วย จึงเกิดคำถามว่า สังคมไทยจะนำสองแนวโน้มดังกล่าวให้ไปด้วยกันและมาช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างไร

จากการสัมภาษณ์ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (Health Tech Startup) จำนวน 14 กลุ่มในประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีกลุ่มผู้ผลิตอยู่มากมาย แต่กลุ่มผู้ใช้มีอยู่สองกลุ่มหลัก คือ กลุ่ม B2B (Business-to-Business) คือการนำผลิตภัณฑ์จากธุรกิจไปยังโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการที่ดูแลผู้สูงอายุ และ B2C (Business-to-Consumer) คือการเชื่อมโยงโดยตรงกับผู้สูงอายุ โดยแนวโน้มที่พบในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านสุขภาพมีอยู่ 4 เรื่อง คือ

หนึ่ง ผู้สูงอายุเริ่มมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพง่ายขึ้น สอง มีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนเข้ามาทำหน้าที่แทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ในบางส่วน เช่น การอ่านฟิล์มเอกซเรย์ ทำให้แพทย์มีเวลาอยู่กับคนไข้มากขึ้น สาม การบูรณาการข้อมูลเป็น Big Data ช่วยให้พยากรณ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและนำไปสู่การป้องกันได้ และ สี่ ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้เกิดตลาดงานขนาดใหญ่สำหรับผู้สูงวัยเกิน 60

จากแนวโน้มดังกล่าว นำมาสู่นวัตกรรมและโอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพหลายอย่าง ได้แก่ หนึ่ง กิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเลี้ยงหลาน แต่อยากออกไปพบปะพูดคุย มีสตาร์ทอัพหลายแห่งพยายามนำผู้สูงอายุมาคุยกัน ในลักษณะเป็นชมรมหรือกิจกรรมต่างๆ

สอง การเงิน ผู้สูงอายุหลายคนอาจไม่เคยเก็บเงิน ทำให้การจัดการเรื่องการเงินสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นตลาดที่ใหญ่มากในอนาคต

สาม Hard / Soft Technology ใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้าแต่มีราคาถูกลงไปเรื่อยๆ

สี่ การป้องกันปัญหาสุขภาพก่อนป่วย (Preventive and Mobile Healthcare) อาจมีเทคโนโลยีที่ตรวจสอบอาการเพื่อป้องกันล่วงหน้า หรือการให้หมอมาหาผู้สูงอายุที่บ้าน แทนการให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านไปโรงพยาบาลแต่เช้ามืด เพื่อไปรับยาและพบหมอ มีสตาร์ทอัพบางแห่งเสนอเรื่องการไปเจาะเลือดผู้สูงอายุให้ถึงบ้าน ซึ่งง่ายกว่าการผู้สูงอายุอดข้าวอดน้ำแล้วมาเจาะเลือดโรงพยาบาล

ห้า เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR / VR) ในอนาคต ผู้ป่วยอาจไม่ต้องไปพบหมอโดยตรง แต่พบกันผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน ซึ่งช่วยให้แพทย์ให้คำปรึกษาผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น และผู้สูงอายุเข้าถึงการดูแลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ยังมีช่องว่างระหว่างสตาร์ทอัพ เทคโนโลยี และความต้องการที่เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย คือ

หนึ่ง บริการเคลื่อนที่อย่างเช่นเรื่องการเจาะเลือดที่บ้าน ยังไม่มีคนไปเจาะเลือดให้ที่บ้านอย่างเพียงพอ
สอง ผู้สูงอายุยังเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยมากๆ ลำบาก จึงต้องออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น
และสาม ผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ใช้จริงๆ เช่น ลูกซื้อนาฬิกาจีพีเอสให้คุณพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ใส่ แต่คุณพ่อทำหาย ผู้ใช้อาจไม่ชอบสิ่งที่ลูกอยากให้ จึงต้องพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร

เพื่อจะลดช่องว่างดังกล่าว ศ.ดร.นภดล มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่

หนึ่ง การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อนุญาตให้มีการส่งยาทางไปรษณีย์ แม้จะมีข้อกังวลเรื่องการส่งยาผิด แต่ควรจะออกแบบระบบควบคุมเพื่อก้าวไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสะดวกสบายขึ้น

สอง แก้ไขกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ ที่ซับซ้อน ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และขัดขวางการเติบโตของสตาร์ทอัพ

สาม รัฐบาลควรเป็นผู้เก็บข้อมูลด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นข้อมูลกลาง แทนการให้สตาร์ทอัพแต่ละแห่งไปเก็บข้อมูลกันเอง เพราะซ้ำซ้อน แล้วให้ธุรกิจเข้ามาใช้ข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

สี่ แก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัยตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี

ห้า มีมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดอย่างคล่องตัว เช่น นโยบายภาษี เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ขณะที่ภาพของสังคมสูงวัยอาจดูเป็นเงาทะมึน สร้างความวิตกกังวลแก่สังคมไทย แต่การที่เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากสามารถผนวกสองเรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกัน และส่งเสริมให้ภาคประชาชน สตาร์ทอัพ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเรื่องการดูแลสุขภาพ สังคมสูงวัยยังมีทางออกเสมอ

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

“ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ

การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มนุษย์ทุกยุคสมัยยังพยายามคิดค้นและสรรหาร้อยแปดวิธีมาเพื่อยับยั้งหรือบรรเทา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
17 เมษายน, 2561

เตรียมพร้อมทั้งสองมือ

มือข้างหนึ่งของเด็กน้อยหยิบปากกาเมจิกสีเหลือง อีกมือหนึ่งหยิบทีละด้ามที่กองอยู่ตรงหน้า ส่งมาให้เราถือไว้ ถ้าพูดได้คงบอกว่าช่วยถือไว้ก่อน
4 เมษายน, 2561

พินัยกรรมชีวิตที่ให้สิทธิเราตายอย่างสงบ

เมื่อยังเด็ก ฉันเคยเชื่อว่าไม่มีใครหนีความตายได้พ้น ยกเว้นตัวฉัน นั่นคือความเขลาในวัยเยาว์ มาตอนนี้ คนที่ฉันเห็นในกระจกช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเด็กหญิงผู้ไม่ประสีประสาคนนั้น