parallax background
 

ความหวังของคนกำลังสูงวัย: (1)
ภาพรวมและข้อเสนอเชิงแนวคิด

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

สังคมไทยเริ่มตื่นตัวและมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการพัฒนามนุษย์ เริ่มขยับตัวหามาตรการรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับตัวในระดับโครงสร้างของสังคม และไม่อาจทำเพียงแค่ภาครัฐ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

จากการศึกษาของ ศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (Ageing Business & Care Development Centre: ABCD Centre) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นพบศักยภาพและส่วนที่ยังขาดหายไป จึงจัดประชุม “ความหวังของคนกำลังสูงวัย: เตรียมความพร้อมประเทศไทยก่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ” เพื่อนำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติแก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชน เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยต่อไป

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานประชุมว่า ภาวะสูงวัยของโลกกำลังขยายตัว มนุษย์จะมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวกว่าเดิม มีงานวิจัยบอกว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีและยังสุขภาพแข็งแรง จะมีอายุถึง 90 ปี ส่วนผู้ที่เกิดหลังปี ค.ศ. 2010 อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะมีอายุ 100 ปี ทำให้การนิยามเรื่องความสูงวัยอาจต้องปรับเปลี่ยนจาก 60 ปีเป็น 80 ปีในอนาคต ประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีลูก ทำให้ขาดคนวัยแรงงานเข้าสู่สังคม คนอายุ 60 จึงยังไม่อาจเกษียณได้

กล่าวเฉพาะสังคมไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ (Super Age Society) ในเวลาไม่เกินสิบปี จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาและการทำงาน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะการศึกษาแบบเดิมที่เรียนจบมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 20 ปีต้นๆ แล้วนำความรู้ไปทำงานต่ออีก 40 ปี ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต เนื่องจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของความรู้ในปัจจุบันรวดเร็วมาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษามาเป็นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) และผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน สามารถเรียนได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยภาคเอกชนจะต้องช่วยสร้างกลไก นวัตกรรม และธุรกิจที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขตามวัย ไม่อาจรอให้รัฐดำเนินการทุกเรื่องได้

ยุทธศาสตร์อายุวัฒนะ

แม้ว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยอาจจะทำให้หลายคนเกิดความตระหนกตกใจ แต่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มองว่าปัญหาทุกชนิดจะทำให้มนุษย์เข้มแข็งกว่าเดิม แต่ต้องเริ่มด้วยใจที่ทำเพื่อผู้อื่นเป็นตัวนำ แล้ววางกรอบความคิดที่มีพลัง จะเป็นรากฐานในการต่อเติมเกิดเป็นนวัตกรรมต่างๆ เหมือนต้นไม้ที่มีรากและลำต้นแข็งแรง ทำให้เกิดกิ่งก้านและผลที่สมบูรณ์ นพ.ประเวศเสนอว่า การวางยุทธศาสตร์อายุวัฒนะที่สง่างามของประเทศไทย (Thailand Graceful Aging Strategy) จะต้องอาศัยหลักคิด 5 ประการคือ

หนึ่ง สัมมาทิฏฐิประเทศไทย (คิดชอบ) สังคมไทยควรมีความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ความเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกัน ถ้ามีความเป็นธรรม ผู้คนจะรักกันและรักส่วนรวม แต่ถ้าขาดความเป็นธรรม จะเกิดความปั่นป่วนและรุนแรง

สอง สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ต้องมีโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นรากฐานของสังคม ต้องได้รับการพัฒนา 8 ด้านอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย การทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกัน จะช่วยให้โครงสร้างของสังคมมั่นคง

สาม ต้องมียุทธศาสตร์ฐานความรู้ (Knowledge-Based) แสวงหาความรู้ที่จะทำให้สังคมสูงวัยเข้มแข็งจากทั่วโลก ไม่ว่าความรู้เชิงเทคนิคหรือเชิงระบบ แล้วกระจายไปทั่วประเทศเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ครอบครัวและชุมชนมีความรู้ในการดูแลกัน ฝ่ายนโยบายมีความรู้ในการออกแบบนโยบายที่ถูกต้อง โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าว

สี่ มีระบบบริการที่ดี คือ ทั่วถึง (Equity) มีคุณภาพ (Quality) และมีความเป็นไปได้ทางการเงิน (Efficiency) ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง การดูแลโดยครอบครัว การดูแลโดยชุมชน การเยี่ยมบ้าน และผนวกเรื่องการดูแลในโรงพยาบาลในรูปแบบต่างๆ ของรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยจนเกิดระบบบริการที่สมบูรณ์

ห้า ต้องพัฒนาเป็นสังคมเข้มแข็งและมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ต่างคนต่างอยู่ เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning through Action) เต็มประเทศ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในด้านจิตใจและสังคม

‘Design the Life, Define the Country’

ต่อมา ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ จากสำนักงาน ป.ย.ป. บรรยายพิเศษเรื่อง ‘Design the Life, Define the Country’ ว่า สังคมไทยต้องยอมรับว่าตัวเองแก่ เพราะเข้าสู่สังคมสูงอายุมานานเป็นสิบปีแล้ว แต่สังคมผู้สูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะผู้สูงอายุ ลูกหลาน หรือรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของทุกคน จากการศึกษาเรื่องโครงสร้างครัวเรือนไทยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรูปแบบครัวเรือนปกติเป็นครอบครัวขยาย หนึ่งคนหา ห้าคนกิน และมีพฤติกรรมกินเหลือ กินฟุ่มเฟือย ทำให้หนี้ครัวเรือนสูง แต่ที่สำคัญคือจำนวนคนหาที่ลดลงจาก 67 คนในปี 2010 เหลือแค่ 55 คน ในปี 2040 แต่ยังมีคนกิน 100 คนเท่ากัน จึงต้องเปลี่ยนวิธีการหาและพฤติกรรมการกินเสียใหม่ เป็น ‘หาให้ได้ กินให้เป็นและมีประสิทธิภาพ และมีเก็บออม เพื่อจะแบ่งปัน’

หนึ่ง คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ เพราะเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน จึงต้องมีการยกระดับทักษะ มีระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาวัยทำงานหรือสูงอายุ ปรับเปลี่ยนวิธีเรียนวิชาต่างๆ ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และต้องออกจากกับดักอาชีพรายได้ต่ำ เช่น อาชีพบริการและเกษตรกรรมแบบเดิม

สอง ต้องกินให้เป็น มีประสิทธิภาพ ไม่กินทิ้งกินขว้าง และใช้เทคโนโลยีช่วยในเรื่องการบริโภค

สาม ต้องมีการเก็บออมในระดับที่สูงกว่าปัจจุบัน และสี่ ต้องแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกันพัฒนาชุมชน และสังคม ด้วยจิตอาสา

หลักการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสังคมสูงวัยในศตวรรษที่ 21 แต่จากการศึกษา พบว่ารอยต่อที่ขาดหายไปของประเทศไทย การวิจัยเรื่องผู้สูงอายุในเชิงระบบที่จะช่วยทำให้เห็นสถานการณ์ในภาพกว้าง ความเข้าใจต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้สูงอายุ และธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย จึงต้องศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป และสร้างระบบนิเวศเชิงธุรกิจเพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทย

ทางออกของประเทศคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคน เริ่มจากตัวเอง ขยับคนละนิด กำหนดชีวิต ปรับทิศประเทศไทย

อ่านบทความตอน 2 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการสำหรับภาครัฐ ชุมชน และธุรกิจ ได้ที่นี่

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

หมออย่าบอกแม่นะครับว่าเป็นมะเร็ง

ฉันรู้สึกประหลาดใจที่เห็นผู้ชายร่างใหญ่พูดไปร้องไห้ไป ผิดกับภาพลักษณ์ของเขาในครั้งแรกที่พบกันที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นวันที่ฉันได้รับปรึกษาให้ช่วยดูแลครอบครัวของเขาที่มีแม่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
4 เมษายน, 2561

การน้อมนำความตายในชีวิตประจำวันจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

มองทุกอย่างเป็นเครื่องเตือนใจว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เช่น ของหายเป็นสัญญาณเตือนว่าอีกหน่อยอาจจะเจอหนักกว่านี้ และเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณพร้อมหรือยัง ถ้าแค่นี้คุณยังไม่ผ่าน แล้วถ้าเจอกับความตายจะสอบผ่านได้หรือไม่
20 เมษายน, 2561

วันปีใหม่

ช่วงเวลาของปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองของคนส่วนมากทั้งโลก เป็นช่วงเวลาแห่งรอยยิ้ม ความสุขและหยุดพักจากการงาน แต่สำหรับงานรักษาพยาบาลนั้นเรื่องราวของคนไข้และผู้ดูแลนั้นไม่มีคำว่าหยุดพัก