parallax background
 

แด่ผู้สูญเสียผู้เป็นที่รัก

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

น้ำตาของผู้เป็นแม่เมื่อเห็นร่างอันไร้วิญญาณของบุตรชาย และคำพูดของภรรยาที่สูญเสียสามีว่า “ไม่อยากหายใจ” ในกรณีการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อาสาสมัครนักดำน้ำที่เสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าในถ้ำหลวง บ่งบอกว่าการสูญเสียผู้เป็นที่รักนั้นเจ็บปวดแสนสาหัส

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีพ่อแม่ภรรยาและลูกๆ ของผู้สูญเสียอีกมากมายจากกรณีเครื่องบินทหารตกที่แม่ฮ่องสอน กรณีเรือนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มที่ภูเก็ต กรณีน้ำท่วมใหญ่และคลื่นความร้อนที่ประเทศญี่ปุ่น เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียแบบปัจจุบันทันด่วน ร้ายแรง และคาดไม่ถึง

ภารกิจที่หนักหนาที่สุดในชีวิตของผู้สูญเสีย คือการกู้คืนสุขภาพกายใจให้กลับมาเป็นปกติสุข การก้าวผ่านความเจ็บปวดจากความสูญเสียคนรักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การสูญเสียครั้งสำคัญอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ขณะที่บางคนไม่สามารถก้าวผ่านได้เลยตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หากทั้งผู้สูญเสียและคนใกล้ชิดรับรู้และเปิดรับกระบวนการความโศกเศร้าและการเยียวยาด้วยความกรุณาทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง

เมื่อความเจ็บปวดไล่ล่าคุณ
การสูญเสียคนรักเป็นเรื่องสะเทือนใจใหญ่หลวง แม้แต่คนที่อยู่ในวิชาชีพที่คลุกคลีกับความเจ็บป่วยและความตายอย่างแพทย์หรือพยาบาลยังทำใจยากเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง ในหนังสือ “ความรักอยู่รอบตัวเรา ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู” เล่าถึงพยาบาลดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่กรีดเสียงร้องกลางวอร์ดและหมดสติลง หลังจากรับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่ามารดาของเธอหัวใจวายและเสียชีวิต

ส่วนพยาบาลอีกคนไม่มีกระจิตกระใจทำงาน หลังจากผู้เป็นพ่อที่เคยสั่งเสียไว้ว่าขอตายที่บ้านกลับต้องมาเสียชีวิตในสภาพทุกข์ทรมานจากการ “ยื้อชีวิตเต็มอัตรา” ที่โรงพยาบาลจากการตัดสินใจของเธอ ซึ่งภาพความเจ็บปวดของพ่อยังตราตรึงอยู่ในใจเธอ

ทว่าสังคมสมัยใหม่เรียกร้องให้ผู้คนเข้มแข็งอดทนและห้ามแสดงความโศกเศร้า น้ำตาเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ ผู้สูญเสียจึงมักเก็บซ่อนความรู้สึกเจ็บปวดหรือเปราะบางไว้ในภายในแบบ “หน้าชื่นอกตรม” หรือหลีกหนีด้วยการหันไปทำสิ่งอื่น “ทำตัวให้ยุ่งๆเข้าไว้” หรือ “ไม่คิดถึง เดี๋ยวก็ลืมไปเอง” ส่วนคนใกล้ชิดหรือสังคมก็มักจะใช้วิธียกคำพระมาสั่งสอนว่า “ความตายเป็นเรื่องธรรมดา” “คนเราเกิดมาต้องตาย” “ร้องไห้ทำไม เขาไปดีแล้ว” “เธอควรภูมิใจ เขาตายแบบฮีโร่นะ” หรือไม่ก็ใช้วิธีกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนความสนใจ “ไปเที่ยวกันเถอะ” หรือ “ไปซื้อของกันเถอะ”

แม้จะเป็นวิธีเผชิญความสูญเสียแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่เมตตาต่อตนเอง มิหนำซ้ำยังทำร้ายตัวเองอีกด้วย ส่วนคนรอบข้างหรือสังคมที่ใช้วิธีกดดัน กลบเกลื่อน หรือเบี่ยงเบนประเด็นจนผู้สูญเสียคนรักไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงความโศกเศร้าก็เป็นชุมชนที่ไม่กรุณาต่อผู้สูญเสียเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใดการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลและสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เพราะความเจ็บปวดยังคงซ่อนตัวอยู่ในใจเรา ไม่สูญหายไปไหน

ศ.ดร.สตีเวน ซี.ฮาเยส นักจิตวิทยาชื่อดังบอกว่าหากเราไม่ยอมรับความเจ็บปวด ท้ายที่สุดความเจ็บปวดที่ถูกปฏิเสธหรือหลงลืมจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา เพราะความทรงจำของมนุษย์ไม่มีปุ่มลบทิ้งเหมือนคอมพิวเตอร์ และความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้นไม่เหมือนการแตะของร้อนแล้วชักมือกลับก็หาย ความเจ็บปวดจะยังคงอยู่ในใจเรา และพร้อมจะเผยตัวออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับเรานัก...ราวกับเด็กน้อยที่อาละวาดสุดกำลังเพราะถูกทอดทิ้งไม่ใส่ใจ...บ้างติดยาเสพติด บ้างซึมเศร้า บ้างฆ่าตัวตาย

“แทนที่จะยอมรับว่าความสูญเสียเป็นความรู้สึกไม่สะดวกสบายอย่างหนึ่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายในชีวิตของเรา แทนที่จะโอบรับและเรียนรู้ในฐานะเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิต เรากลับปฏิบัติต่อมันราวกับเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่ง เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทำให้ความเจ็บปวดเป็นพลังด้านลบต่อชีวิตของเรา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นวงจรอุบาทว์จากนรก”

ดังเช่นกรณีของเขา ในที่ประชุมของภาควิชา การปะทะอารมณ์ของเหล่าเพื่อนศาสตราจารย์กระตุ้นให้เขาเกิดภาวะตื่นตระหนกจนเขาอ้าปากค้างนิ่งงันพูดไม่ออกและอับอาย ภาวะดังกล่าวเกิดถี่ขึ้นและเข้มข้นขึ้นจนคืนหนึ่งเขาคิดว่าตัวเองหัวใจล้มเหลวแต่หมอบอกว่าเป็นแค่ภาวะตื่นตระหนก ต่อมาเขาค้นพบว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการซุกซ่อนความเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็กไว้อย่างมิดชิดและหลงลืมไปแล้ว และความเจ็บปวดหันกลับมาเล่นงานเขาเสียย่ำแย่ในอีก 30 ปีต่อมา

แปรความสูญเสียเป็นความรัก
ประสบการณ์ตรงจากการถูกความเจ็บปวดในวัยเด็กเล่นงานถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ ดร.ฮาเยสและคณะใช้เวลา 30 กว่าปีพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตวิทยา (Psychological Flexible) หรือจิตใจที่ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถพยากรณ์สภาพทางจิตใจและสิ่งที่สำคัญของคนๆ หนึ่งได้ผ่านวิธีการการรับมือกับความเจ็บปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการรับมือความเจ็บปวดสำคัญในชีวิตคือการเขียนแผนที่ชีวิตของแต่ละคนนั้นเอง เช่น เราจะเป็นพ่อแม่หรือลูกอย่างไร เราจะเป็นคนทำงานแบบไหน หรือเราจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายหรือไม่

“ในความสูญเสียมีแง่มุมที่หอมหวานซ่อนอยู่ หากคุณเปิดใจรับความเจ็บปวด ก็เท่ากับคุณได้เปิดรับความรื่นรมย์ในชีวิตแล้ว” ดร. ฮาเยสเขียนไว้ในบทนำบทความเรื่อง “จากความสูญเสียสู่ความรัก” (From Loss to Love) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Psychology Today ฉบับเดือนกรกฎาคม 2018

พี่สาวที่สูญเสียน้องของเธอจากยาเสพติด รู้สึกโกรธและเสียใจมาก เธอโทษตัวเองว่าถ้าเธอกลับบ้านทัน น้องสาวจะไม่ตาย เธอไม่อยากให้โลกจดจำว่าน้องสาวเธอตายเพราะติดยา เพราะแท้จริงแล้วน้องสาวเธอเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีพลัง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง เธออยากให้โลกรู้จักตัวตนที่แท้จริงของน้องสาวเธอ และต่อมาเธอก็ตระหนักได้ว่าเธอสามารถส่งต่อคุณสมบัติของน้องสาวผ่านการกระทำของตัวเธอได้ เรียกได้ว่าการเรียนรู้จากความสูญเสียทำให้เธอก้าวผ่านและเติบโต

เช่นเดียวกับดร.ฮาเยสที่แม้จะไม่ตระหนักรู้ในตอนแรกว่าสิ่งใดนำพาให้เขาทุ่มเทจนเป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อย้อนกลับไปค้นหาและฟังเสียงความเจ็บปวดในวัยเด็ก จึงพบว่าความเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัวนำทางให้ก้าวเดินสู่วิชาชีพนี้เพื่อที่จะช่วยเหลือพ่อแม่ของตัวเอง

สิ่งสำคัญคือการค้นหาสาสน์สำคัญ ขุมทรัพย์ หรือของขวัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเจ็บปวดให้เจอ เมื่อมองลึกเข้าไปในความเจ็บปวดเราอาจพบความเข้มแข็งและสิ่งล้ำค่าในตัวเราและในผู้จากไป ซึ่งจะกระตุ้นเราให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย ดังนั้นการเปิดใจรับความเจ็บปวดก็เท่ากับเปิดใจความรับความรื่นรมย์ในชีวิตนั่นเอง

“จิตใจที่ยืดหยุ่นคือการที่ผู้คนสามารถหันเข้าหาความเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรียนรู้จากบทเรียนนั้นว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่า โดยใช้ความสูญเสียเป็นสิ่งกระตุ้นความเติบโตและสร้างสรรค์ชีวิตที่รุ่มรวยและมีความหมาย” ดร.ฮาเยสกล่าว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง “โอบรับความเจ็บปวด วิธีรับมือเมื่อคนรักตายจาก”
กดลิงค์: https://peacefuldeath.co/โอบรับความเจ็บปวด/

อกสารอ้างอิง
From Loss to Love, Steven C. Hayes Ph.D., www.psychologytoday.com
Psychological flexibility: How love turns pain into purpose, Steven C.Hayes Ph.D.,TedTalk
ความรักอยู่รอบตัวเรา ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู, โครงการความตายพูดได้ เครือข่ายพุทธิกา

บุคคลสำคัญ
Steven C. Hayes Ph.D/ สตีเวน ซี.ฮาเยส (ดร.)

[seed_social]
24 มกราคม, 2561

แมวมอง มองแมว

อยากลองเป็นแมวดูบ้าง ระหว่างที่กำลังจินตนาการตามที่คิด ก็เผลอหลับไปเมื่อลืมตาขึ้นอีกที ก็มีความรู้สึกแปลกๆ แบบบอกไม่ถูก เรากลายเป็นแมวไปแล้วจริงๆ
22 พฤศจิกายน, 2560

ความผิดปกติ…ที่เป็นปกติ

ย้อนไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในขณะที่หลายคนกำลังดูโทรทัศน์อยู่ พลันภาพจากจอโทรทัศน์ก็เปลี่ยนเป็นสีดำ ตัดภาพมามีผู้ประกาศข่าวใส่ชุดสีดำนั่งหน้าตรง
13 เมษายน, 2561

ส่งบุญ ด้วยใจเมตตา

หลังกลับจากไปสอนผู้สูงอายุที่เทศบาลไทรโยง บ่ายแก่ๆ ฉันนั่งทำชาร์ตผู้ป่วยจำหน่าย ได้ยินเสียงเทปบทสวดมนต์ที่คุ้นเคย ทำให้นึกถึงคุณยายผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ในใจคิดว่าเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ