parallax background
 

เรียนรู้ชีวิตและความตาย
ผ่านวรรณกรรม

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนักเขียนนวนิยายที่มักแต่งเรื่องเล่าได้สนุกและอยู่บนฐานของข้อมูล เธอเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.๒๕๕๗ และแน่นอนเธอมีผลงานนวนิยายจำนวนมาก ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เธอถ่ายทอดหลังเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ วิถีความตายอย่างสงบ กับพระไพศาล วิสาโล จึงมีเนื้อหาของการอบรมสอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องของนวนิยายด้วย

เรื่องเริ่มต้นที่ “ความตาย” อย่างกะทันหันของชายวัยเกษียณหมาดๆ ชื่อ อาทิจจ์ ซึ่งมีภรรยาชื่อ จันทร มีลูกทั้งหมด ๓ คน คือ พอเพลิน ลูกสาวคนโต พอพงศ์ และพอพล ลูกชายอีกสองคน เกือบทั้งเรื่องของนวนิยายจึงเป็นความทุกข์ระทมของจันทร ที่ไม่อาจทำใจให้ยอมรับกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ จันทรยึดลูกชายคนกลางที่ยังคงอยู่กับแม่ไว้เป็นหลัก พอพงศ์ทั้งมีรูปร่างหน้าตาและนิสัยเหมือนพ่อ ทำให้จันทรยิ่งไขว่คว้าและอยากเก็บลูกชายไว้ทดแทนความรักความอบอุ่นที่เสียไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเมื่อพอพงศ์เกิดพึงใจในผู้หญิงม่ายที่อายุมากกว่า และพาเข้ามาอยู่ร่วมบ้าน จึงทำให้จันทรเป็นทุกข์ถึงขั้นเพ้อและขาดสติ

ในมุมความคิดของจันทร เธอคือผู้สูญเสียและถูกกระทำ เธอคิดว่าลูกสะใภ้ชื่อยาหยี มาแย่งชิงและครอบครองทุกอย่างที่เคยเป็นของเธอ ยาหยีพยายามทำทุกอย่างเพื่อชนะใจจันทร ทั้งงานบ้าน ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน แต่จันทรยังคงแต่งนิยายเรื่องแม่ผัวลูกสะใภ้ในหัวอย่างฟุ้งซ่าน เพราะเธอเองก็ถูกเกลียดชังจากแม่ผัว – แม่ของอาทิจจ์มาก่อน ในอดีตเมื่อจันทรแต่งงานและตั้งท้องลูกคนแรก กลับถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำถามจากแม่ผัวว่าท้องกับใคร และเธอนำปมฝังใจนั้นมาใช้กับลูกสะใภ้เช่นกันเมื่อยาหยีตั้งครรภ์ นอกจากนี้จันทรยังมีปมปัญหาคาใจอีกหลายปม ทั้งเรื่องในอดีตครั้งเธอท้องลูกแฝด คือพอพลและพอพันธุ์ แต่พอพันธุ์เกิดมาไม่สมบูรณ์และอยู่ได้เพียงไม่กี่วันก็จากไป จันทรกล่าวโทษตนเอง และยังมีห่วงลูกสาวคนโตที่แยกไปมีครอบครัว แต่ดูเหมือนมีปัญหาบางอย่างที่เธอไม่เคยได้รู้ ลูกชายคนเล็กที่ทำงานต่างประเทศได้เห็นหน้านานๆ ครั้ง รวมถึงปมใหญ่ที่จันทรคลางแคลงใจเรื่องของอาทิจจ์ที่นอกใจเธอ แม้เธอไม่อาจรู้ชัด แต่ก็สงสัยว่าสามีหลงผู้หญิงคราวลูกที่เป็นเลขาฯ ถึงกับมีลูกด้วยกัน

ปมในใจจันทรค่อยๆ คลี่คลายทีละเรื่อง โดยแต่ละเรื่องเป็นสิ่งที่จันทรคิดไปเอง ปรุงแต่งเอาเอง โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในวันที่จันทรได้พบพระอาจารย์ที่อาทิจจ์เคยมาปฏิบัติธรรมด้วยโดยเธอไม่รู้มาก่อน เธอจึงได้เริ่มใช้ธรรมะเข้ามาไตร่ตรองชีวิตและเริ่มเห็นทุกข์ของคนที่เธอรักรอบๆ ตัว ลูกสาวคนโต – พอเพลิน มีปัญหากับสามี อยากเล่าอยากระบายกับแม่ แต่ไม่อาจเข้าถึงแม่ เพราะหลังสูญเสียพ่อ แม่เสียศูนย์อย่างรุนแรง ซึ่งภายหลัง พอเพลินเข้มแข็งขึ้น สามารถจัดการปัญหาตนเองได้ จนสามารถช่วยเหลือแม่ได้ในที่สุด ส่วนปมแม่ผัวลูกสะใภ้ ถูกคลี่อย่างช้าๆ ในตอนที่ยาหยีมีปัญหาคลอดก่อนกำหนด หลานของจันทรมีโอกาสไม่รอด เธอผูกปมนี้เป็นปมของเธอในอดีต จันทรตั้งชื่อหลานว่าพอพันธุ์ทดแทนลูกแฝดอีกคนที่เธอสูญเสียไป และเกือบทึกทักให้เป็นลูกตนเอง จนกระทั่งภายหลังเธอได้ปฏิบัติธรรม จึงเห็นทุกข์ของผู้อื่น เธอเห็นทุกข์ของยาหยี และค่อยๆ เลิกต่อต้านลูกสะใภ้ในที่สุด ส่วนพอพล ที่ทำให้แม่ทุกข์ใจและห่างเหินที่สุด แม้ว่ากลับมาเยี่ยมบ้าน แต่ก็พาเพื่อนรู้ใจเพศเดียวกันมาด้วย แม้ว่าตอนหลังพอพลจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพร้อมคนรักของเขา แต่จันทรทำใจยอมรับได้เนื่องเพราะได้ผ่านคอร์สเรียนรู้ความตายกับพระอาจารย์มาแล้ว เธอได้ทดลองสูญเสียแล้วในกิจกรรมของรัก ๗ อย่าง

ปมใหญ่ที่สุดของชีวิตจันทรคือการนอกใจของสามี แม้ว่าสิ่งที่เธอคิดจะเป็นความจริง แต่คู่กรณีนั้นไม่ใช่ เธอคิดว่าสามีนอกใจกับเลขาฯ ที่เป็นหญิงสาวคราวลูก แต่จริงๆ แล้ว หญิงสาวคนนั้นเป็นลูกของสามีจริงๆ กับเพื่อนผู้หญิงอีกคนของสามี ที่ทั้งสองคนต่างผิดพลาดและเก็บงำความลับนั้นไว้ จนทั้งคู่ตายจากไป จันทรมีโอกาสได้อโหสิกรรมให้กับลักษณา ผู้หญิงอีกคนของสามีเธอ จันทรเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง และถึงที่สุด เธอจัดการทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สมบัติให้ลูกและหลาน รวมถึงลูกของสามีกับผู้หญิงอีกคนด้วย

ชีวิตของจันทร แม้เป็นเรื่องแต่ง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นจริงได้ในชีวิตของหลายๆ คน ตัวละครทุกคนต่างมีปัญหาของตนเอง ทุกคนต่างมีปมในใจ ขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีที่จะใช้แก้ไขและคลี่คลายปมเหล่านั้น ซึ่งก็คือการเรียนรู้ชีวิต มีสติยอมรับกับความทุกข์และความสูญเสีย เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในทุกขณะของชีวิต โดยเฉพาะ “ความตาย” ที่เราไม่อาจรู้ได้ว่า ระหว่าง “พรุ่งนี้” กับ “ความตาย” อะไรจะมาถึงก่อนกัน การเตรียมตัวพร้อมรับความตายจึงเป็นประเด็นสำคัญของชีวิตทุกชีวิต

ภาพโดย จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ออสการ์กับหญิงเสื้อชมพู

ผมรู้จักออสการ์ เด็กชายตัวน้อยอายุ ๑๐ ขวบ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตประมาณ ๑๒ วันเอง ย้อนนึกดู ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง ๑๒ วันก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
3 เมษายน, 2561

มรณานุสติในงานศิลปะ

Memento Mori หรือ “มรณานุสติ” เป็นหัวข้อเก่าแก่ยาวนานในงานศิลปะตะวันตก ทว่าศิลปะที่เตือนให้ระลึกถึงความตายเป็นศิลปะที่ขัดแย้งกับตัวเอง
31 มกราคม, 2561

มุมมองความตาย ในซีรีส์ญี่ปุ่น “ยอดหญิงยอดเชฟ”

ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดหญิงยอดเชฟ” เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนชื่นชอบ หลายฉากมีบทสนทนาที่สะท้อนระบบคุณค่าและความหมายของชีวิต ตัวเอกซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวคือ เมโกะ เป็นคนที่รักการทำอาหาร มีความสุขกับการทำอาหาร