parallax background
 

The Barbarian Invasions

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

เรมี จิราร์ด ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ หัวสังคมนิยม ชาวแคนาดา อดีตเสือผู้หญิงผู้ผ่านการใช้ชีวิตเสเพลมาอย่างโชกโชนน กำลังป่วยด้วยโรคระยะสุดท้ายและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐที่แออัดอย่างยิ่ง ดูแล้วไม่ต่างจากโรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองไทยที่เราจะเห็นผู้ป่วยนอนเรียงรายอยู่บนเตียงตามทางเดิน มีเพียงอดีตภรรยาที่แยกทางกันมา ๑๕ ปีคอยดูแล เมื่อเธอรู้ว่าชีวิตของเขาอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน จึงโทรศัพท์ไปหาลูกชาย เซบาสเตียน นักการเงินผู้ประสบความสำเร็จจากลอนดอน ให้กลับมาเพื่อดูแลพ่อในวาระสุดท้าย

เซบาสเตียนพร้อมด้วยคู่หมั้นสาวเดินทางมายังแคนาดาด้วยกัน แม้ว่าจะไม่อยากมานัก และทำทุกอย่างที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเพื่อนหมอ พาพ่อไปตรวจด้วยเครื่องสแกนทันสมัยในสหรัฐจนสามารถวินิจฉัยอาการอย่างแน่ชัดว่าพ่อคงจะอยู่ได้อีกไม่นาน จึงหาทางย้ายพ่อออกจากห้องพักรวมที่อึกทึกและแออัดไปยังห้องว่าง พร้อมกับติดต่อกลุ่มเพื่อนเก่าร่วมอุดมการณ์ของพ่อให้มาอยู่เป็นเพื่อนจนวาระสุดท้าย

ภาพยนตร์สอดแทรกบทสนทนาที่โลดโผน และถ้อยคำโตๆ วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีวงการต่างๆ ไม่ว่าเป็นเรื่องการเมือง สหภาพระบบสุขภาพ ยาเสพติด ศาสนจักรคาทอลิก ฯลฯ อยู่เป็นระยะๆ แวดล้อมเรื่องราวของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อกับลูกชาย ผ่านการดูแลเพื่อให้ผู้เป็นพ่อจากไปอย่างดีที่สุด

การได้อยู่สนทนากับเพื่อนๆ ได้คิดถึงเรื่องราวสนุกสนานที่เคยทำร่วมกัน และสิ่งดีๆ ในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ผู้เป็นพ่อผ่อนคลายและมีความสุขขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องและอาจทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจกันไม่น้อย คือการดูแลความเจ็บปวดให้กับพ่อ หลังจากปรึกษากับเพื่อนหมอที่แนะนำให้มาเข้าโครงการรักษาในอเมริกา (เพื่อใช้ยาเสพติดระงับความเจ็บปวด) แต่ถูกผู้เป็นพ่อปฏิเสธแล้ว เซบาสเตียนจึงติดต่อนาตาลี ลูกสาวของเพื่อนพ่อคนหนึ่งให้ช่วยหายาและดูแลพ่อให้รู้จักการเสพ ซึ่งดูเหมือนจะช่วยระงับความปวดอย่างได้ผล แม้จะต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากยาดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในระบบสุขภาพแคนาดา (รวมถึงในเมืองไทยเช่นกัน)

ในระหว่างนั้น ผู้พ่อจะทบทวนถึง (โดยเฉพาะความผิดพลาด) การดำเนินชีวิตของตนเองผ่านการสนทนากับผู้คนที่แวดล้อม เช่น เรื่องชีวิตคู่กับคู่หมั้นของเซบาสเตียน เรื่องความรู้สึกล้มเหลวในชีวิตของตนเองกับนาตาลี และการได้พูดสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ ได้โอบกอด บอกรักลูกชาย (และลูกสาวที่กำลังแล่นเรืออยู่ในทะเลตามความฝันของตัวเอง) ว่าตนเองภูมิใจที่มีลูกดีเช่นพวกเขาเพียงไร ตลอดจนการกล่าวคำอำลาต่อทุกคน

หลายฉากในภาพยนตร์ทำให้เราทราบตั้งแต่ต้นเรื่องว่า เรมีผู้พ่อดูเหมือนจะเป็นคนไม่นับถือศาสนา เมื่อพยาบาลคนที่เป็นเหมือนผู้ดูแลจิตวิญญาณให้ผู้ป่วย พยายามจะใช้วิธีการทางศาสนากับเขา เช่น เอาขนมปังในพิธีมิสซาให้ทาน หรือชวนคุยเรื่องพระเจ้า จึงดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากคำเสียดสี จนเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายจริงๆ ก่อนที่เขาจะย้ายออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปอยู่บ้นพักของเพื่อริมทะเลสาบ เมื่อพยาบาลบอกให้เขาอ้าแขนรับความลี้ลับ และบอกรักลูกนั่นแหละ ที่เขาได้นำไปปฏิบัติ

การที่เรมีเลือกใช้วิธีฉีดยาให้ตัวเองหลับตายไป ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันทั่วโลกถึงเรื่องการอนุญาตให้ทำการุณยฆาต และดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับในแคนาดา ดังนั้น เมื่อพยาบาลที่มาช่วยเรื่องการจัดเตรียมยาจากไป จึงบอกกับเซบาสเตียนว่า ให้ถือว่าฉันไม่เคยมาที่นี่

เรื่องราวจบลงด้วยการตายอย่างสงบของเรมี

The Barbarian Invasions หรือการรุกรานของอนารยชน ที่อาจหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บในระยะสุดท้าย นับเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุกสนาน แต่ซาบซึ้ง พร้อมๆ ไปกับการให้แง่คิดต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติมิตร บุคลากรในระบบสุขภาพ ฯลฯ ตลอดจนทัศนะการตายที่น่าสนใจ สามารถนำมากระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแสวงหาความเข้าใจร่วมกันเพื่อส่งเสริมระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยต่อไป

[seed_social]
17 เมษายน, 2561

ยายผีสาว (ภาค ๒) Ghostgirl

คราวนี้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นด้วยการให้วิญญาณของคนเป็นได้เข้ามาทำภารกิจบางอย่างในดินแดนคนตาย ด้วยการตามหาวิญญาณที่หลงทางในดินแดนนี้ขณะที่เจ้าของร่างกำลังอยู่ในภาวะโคม่า แน่นอนพวกเขามีเวลาจำกัด
20 เมษายน, 2561

ตาย-เป็น (Being Mortal)

ตายเป็น หรือตายให้เป็น ตายให้ดีนั้นทำอย่างไร คุณหมออาทูล กาวานดี ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา บอกเล่าในหนังสือ ตาย-เป็น หรือ Being Mortal ถึงกระบวนทัศน์ระบบสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยของสังคมอเมริกัน
12 ตุลาคม, 2565

บทเพลงข้างเตียง: สื่อเสียงเพื่อผู้ป่วยระยะท้ายและการจากไปอย่างสงบ

เราอยู่ในยุคที่การฟังเสียงที่ต้องการไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในวันที่ทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต ลูกหลานเพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟน สัมผัสหน้าจอแค่ไม่กี่ครั้ง