parallax background
 

“โอบรับความเจ็บปวด”
วิธีรับมือเมื่อคนรักตายจาก

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

กระบวนการความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรักนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว หรือ “ถูกต้อง” เพราะความโศกเศร้าเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคล บางคนวันนี้ดูดีขึ้น แต่วันต่อมากลับแย่ลง เหมือนลูกตุ้มหรือตุ๊กตาล้มลุกที่เหวี่ยงไปมา บางคนใช้เวลาฟื้นคืนสภาพจิตใจเพียงไม่กี่วัน แต่บางคนใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี

ดร.สตีเวน ฮาเยสและทีมงานได้เก็บข้อมูลและพัฒนาวิธีการรับมือความเจ็บปวดจากความตายของคนที่รัก โดยพบว่าวิธีการส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ในประเพณีทางสังคมต่างๆ ที่ยอมรับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้เป็นอารมณ์ที่สังคมยุคนี้พิจารณาว่าเป็นอารมณ์ด้านลบ เช่น ความโศกเศร้าเสียใจ ความเจ็บปวด ความโกรธ จากนั้นมองหาหรือเรียนรู้คุณค่าสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้อารมณ์นั้นๆ มิใช่มองอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นศัตรูที่ต้องสะกัดกั้นไว้ภายใน

“เปิดรับอารมณ์ มองไปที่ความคิด เมื่อมองเห็นสิ่งที่สำคัญ อ้าแขนรับ และลงมือทำ” คือขั้นตอนที่จะช่วยนำทางให้ผู้สูญเสียก้าวเดินต่อไปหรือได้ชีวิตกลับคืนมา ขั้นตอนเหล่านี้ ผู้สูญเสียต้องฝึกฝนด้วยตัวเอง ขอเพียงคนใกล้ชิดหรือชุมชนรับรู้และเคารพในหลักการนี้โดยไม่เพิกเฉย กดดัน เบี่ยงเบนอารมณ์หรือความเจ็บปวดนั้น ก็จะช่วยให้ผู้สูญเสียก้าวพ้นความเจ็บปวดได้ และแปรความเจ็บปวดเป็นความรักได้อีกด้วย

รายละเอียดวิธีรับมือความสูญเสีย เมื่อคนรักตายจาก มีดังต่อไปนี้

1.รับรู้ความสูญเสีย
ก่อนการเยียวยาใดๆ จะเกิดขึ้น จะต้องรับรู้เสียก่อนว่ามีบาดแผลที่ต้องการการเยียวยา นั่นคือรับรู้ความสูญเสียโดยนึกถึงประสบการณ์ดีๆ ก่อนการสูญเสีย และตระหนักรู้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว แน่นอนว่ามันเจ็บปวดมาก บางครั้งแทบทนไม่ได้ บางคนว่า “ไม่อยากหายใจ” บ้างว่า “อยากตายเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป”

2.โอบรับความรู้สึกสูญเสีย
คุณอาจรู้สึกผิด เจ็บปวด เศร้า ช็อค โกรธ กระวนกระวาย ขมขื่น สิ้นหวัง ซึมเศร้า หรือรวมกันทั้งหมด เฝ้าดูและลองแยกแยะอารมณ์ต่างๆ ออกมา และดูว่าเมื่อเวลาผ่านไป คุณสามารถสัมผัสกับอารมณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้นหรือไม่

3.ขยายกรอบมุมมอง
มองดูว่ามีสิ่งอื่นใดอยู่ในอารมณ์ ความคิด หรือความทรงจำอันเจ็บปวดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่คาดไม่ถึง ดูเกินจริง หรือไปกันไม่ได้ เช่น อิสรภาพ ความผ่อนคลาย เสียงหัวเราะ ความภูมิใจ

4.เตรียมพร้อมรับอารมณ์ที่ล้นทะลัก
ขั้นตอนนี้จะเหมือนการโต้คลื่น อารมณ์ของคุณจะขึ้นๆ ลงๆ พุ่งชน หรือถูกน็อค ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นๆ ของความโศกเศร้า อารมณ์ของคุณจะกลับไปกลับมา แต่มันจะไม่ทำร้ายคุณ ให้วัดความก้าวหน้าเป็นวันหรือสัปดาห์ ไม่ใช่ในชั่วโมงนั้นหรือในวันที่ยากลำบากนั้น

5.ระวังความคิดที่ไร้ประโยชน์
ชีวิตฉันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว, โลกนี้ไม่ยุติธรรมเลย, ถ้าฉันไม่บอกให้เขาไปที่นั่น เขาคงไม่ตาย, มันเป็นความผิดของฉันเอง, ฉันน่าจะเป็นคนตายเสียเอง, ฉันจะไม่ให้อภัยตัวเองเลย, ความคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความโศกเศร้า สิ่งสำคัญคือการรับรู้และมองความคิดอย่างผู้สังเกต โดยไม่เป็นส่วนหนึ่ง หรือ “จม” ไปกับความคิดนั้น ไม่ปล่อยให้ควบคุมหรือบงการให้ทำอะไรบ้างอย่าง เช่น ทำร้ายตัวเอง หรือไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

6.เชื่อมโยงกับเรื่องสำคัญ
ในชีวิตนี้ยังมีผู้คนและกิจกรรมที่สำคัญและมีความหมายเสมอ ความสูญเสียจะช่วยระบุว่าอะไรสำคัญและเป็นโอกาสพาเราไปสู่การมีชีวิตมีความหมายในที่สุด จากนั้นตัดสินใจทำสิ่งที่สามารถทำได้ ให้ทำให้เป็นขั้นตอนและรูปธรรม เพื่อสามารถนำไปลงมือทำได้

7.ให้คำมั่นสัญญา
หลังจากระบุได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง เป้าหมายและคุณค่าที่เราค้นพบจะเป็นผู้นำทางพฤติกรรม อาจหมายถึงการช่วยเหลือผู้อื่น การกลับไปทำงาน หรือเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ ขณะลงมือทำขอให้ปฏิบัติต่อตัวเองอย่างเมตตากรุณา

การก้าวผ่านความสูญเสียไม่ได้มาเป็นลำดับขั้นตอน บางทีเราอาจวนเวียนอยู่กับความคิดเชิงลบเดิมๆ จนรู้สึกหงุดหงิดรำคาญตัวเองว่าทำไมไปไม่พ้นเสียที สิ่งสำคัญอยู่ที่การเมตตาตัวเอง และมองความเจ็บปวดเป็นมิตรที่เราอยากโอบอุ้มและเข้าใจ จากนั้นเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เมื่อติดหล่มหรือกับดักความคิดก็ย้อนกลับมาหาหลักยึดดังหลักการข้างต้น รวมทั้งมองหาเพื่อนหรือชุมชนที่รับรู้และเข้าใจว่าเรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อโอบอุ้มและค้นหาขุมทรัพย์ในความเจ็บปวด ด้วยกระบวนการฝึกจิตใจให้ยืดหยุ่นต่อเรื่องยากๆ เช่นนี้ เราจะค้นพบของขวัญล้ำค่าจากความสูญเสียได้ในที่สุด

บทความต่อเนื่องจาก “แด่ผู้สูญเสียผู้เป็นที่รัก”
กดลิงค์: https://peacefuldeath.co/แด่ผู้สูญเสีย/

เอกสารอ้างอิง
From Loss to Love, Steven C. Hayes Ph.D., www.psychologytoday.com
Psychological flexibility: How love turns pain into purpose, Steven C.Hayes Ph.D.,TedTalk
ความรักอยู่รอบตัวเรา ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู, โครงการความตายพูดได้ เครือข่ายพุทธิกา

บุคคลสำคัญ
Steven C. Hayes Ph.D/ สตีเวน ซี.ฮาเยส (ดร.)

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ป่วยและพร้อมจะตาย แต่คนรอบข้างกลับทุกข์ใจ

คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ เขาคิดว่าไม่มีวิธีใดรักษาให้หายได้ มีแต่จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
18 เมษายน, 2561

การดูแลความโศกเศร้าหลังการสูญเสีย เมื่อเพื่อนสูญเสียคนที่เป็นที่รัก

ขณะเดียวกันอยากให้คุณตระหนักว่า ชีวิตของคุณก็ยังต้องก้าวเดินไปข้างหน้าเช่นกัน เมื่อหายเหนื่อยแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป วันข้างหน้าอาจไม่เลวร้ายกว่าที่คุณคิดหรือรู้สึก
25 เมษายน, 2561

Love / Language

แต่ทว่า ตอนนี้เขากำลังจะตาย ลมหายใจที่รวยรินและร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันตอกย้ำความจริงนี้แก่เธอ อย่างไม่ปราณี เมื่อผมพบกับเขาเป็นครั้งแรก เราสามารถสื่อสารกันได้แค่การกระพริบตา และคำถาม ใช่/ไม่ใช่ แบบง่ายๆ เท่านั้น