คุณพีรดา พีรศิลป์ บรรณาธิการอิสระ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและรังไข่ คุณออย ไอรีล ไตรสารศรี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ผู้ก่อตั้ง Art for Cancer วิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย ร่วมกันจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายผู้ป่วยมะเร็ง โดยเริ่มจากการรณรงค์เรื่องมะเร็งเต้านมทางเฟซบุ๊ก และจัดกิจกรรมระดมทุนให้มูลนิธิต่างๆ เป็นจุดเริ่มของการเปิดเฟซบุ๊กนิทรรศการ และร่วมกับชมรมผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทยติดต่อหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ
“นิทรรศการ “Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก” เกิดจากการที่เราเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 2 ครั้ง เราอยากจะทำให้คนตระหนักและรับรู้ถึงภัยของมะเร็งเต้านมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ใครๆ ก็เป็นได้ เพราะผู้ป่วยทุกคนบอกเสมอว่าไม่คิดว่าตัวเองเป็น เราไม่อยากให้ทุกคนเป็น แต่เราต้องตระหนักและเฝ้าระวังมัน อยากให้ไปตรวจเร็วเพื่อป้องกันไว้ก่อน เรารักษาให้หายได้” คุณออยกล่าว
การจัดนิทรรศภาพถ่ายดังกล่าวเกิดจากคุณพีรดาครบรอบการรักษามะเร็งรังไข่ เมื่อได้ร่วมงานกับคุณออย จึงเห็นแนวทางการสนับสนุนกิจกรรม โดยให้ความสำคัญเรื่องการตระหนักรู้ ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถึง 3 ครั้งภายใน 17 ปี แต่ยังมีแรงบันดาลใจและมีมุมมองในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและส่งต่อสิ่งดีๆ ให้สังคม ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ป่วย แต่รวมถึงผู้หญิงและคนที่ขาดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ทั้งสองเห็นว่าเรื่องราวของเธอเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนในสังคม ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของ Art for Cancer ที่สนับสนุนให้คนในสังคม ศิลปิน จิตอาสา ร่วมมือกันผ่านการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ใช้ศิลปะภาพถ่ายเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ทำได้ แม้แต่ตัวผู้ป่วยเอง ไม่ว่าจะด้วยการถ่ายภาพ หรือบอกเล่าเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยมะเร็งลุกขึ้น ให้ทุกคนมีพื้นที่ส่งต่อเรื่องราวของตัวเองให้กับสังคม
“การใช้ศิลปะในการสื่อสารมีเสน่ห์ตรงที่ไม่มีถ้อยคำ แต่เป็นภาพ สามารถสร้างการสื่อสารเรื่องราว ผู้หญิงคนแรกในประเทศไทยที่กล้านำเสนอเรื่องราวการเป็นมะเร็งของตนเองเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งในประเทศไทยยังมีไม่มากเท่ากับในต่างประเทศ การนำเสนอต้องอาศัยความกล้าและเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่การบังคับ จึงจะถ่ายถอดเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งออกมาได้ พี่หลินมีความตั้งใจที่ดีและนำเสนอความเป็นตัวของตัวเอง ภาพเต้านมหรือภาพเต้าที่ตัดไปแล้วอาจไม่ชินตา แต่ทุกคนดูด้วยความชื่นชม ความงามที่ถ่ายทอด มุมมองของช่างภาพ มันเป็นความฝันหนึ่งของออยที่เห็นผู้ป่วยมะเร็งกล้าลุกขึ้นมาทำและเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ”
คุณพีรดากล่าวว่า บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ได้มีความใกล้ชิดกับคนป่วย จะมองโรคมะเร็งในแง่ร้ายจนเกินไป มะเร็งเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง แต่เมื่อเรายังไม่ได้เป็น อย่ากลัวจนเกินไป สาเหตุส่วนหนึ่งของความกลัวเนื่องจากสื่อต่างๆ ส่งข้อมูลออกไปว่า เป็นแล้วต้องตาย แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ในฐานะผู้ป่วยที่ได้รับความเจ็บปวดความทรมานจากการรักษา นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอดทนเพื่อที่จะผ่านไปให้ได้ ร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าคุณไม่ไหวก็ต้องพัก เราต้องกล้าบอกตัวเองว่าเราเหนื่อย แต่พอหายเหนื่อยเราต้องสู้ต่อ อย่ายอมแพ้ต่อการรักษา ถ้าสุดท้ายเราสู้โรคไม่ไหว เราจะตายอย่างมีความสุข จะไม่ยอมตายอย่างทุกข์ทรมาน เพราะชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว คงไม่อยากให้ความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้น
“เราขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ชีวิตตัวเองเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือ เพราะเมื่อก่อนเราใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป บ้าทำงาน กินอาหารไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย แล้ววันหนึ่งเราคือคนที่เจอแจ๊กพ็อตเป็นโรคนี้ จึงต้องต่อสู้กับมันอย่างกล้าหาญเพื่อจะผ่านไปให้ได้ และเราอยากให้คนอื่นรู้สึกแบบนี้เช่นกัน”
พีระดาเป็นโรคมะเร็งถึง 3 ครั้ง ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เธอรู้สึกว่าชีวิตไม่แน่นอน เหมือนความตายมาเตือน ไม่ได้บอกว่าความตายสวยงาม แต่การเป็นมะเร็งทำให้พบว่า “ความตายไม่น่ากลัว แต่การอยู่แบบใช้ชีวิตไปวันวัน แบบไม่เกิดประโยชน์ให้ตัวเองมีความสุข น่ากลัวกว่า”
“เคยเห็นคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วไม่อยากมีชีวิตอยู่ เรามองเข้าไปในแววตาของเขา มันน่ากลัว การอยู่โดยไม่ได้เห็นอะไรในอนาคต แล้วไม่อยากอยู่ น่ากลัวกว่า เราเลยมองตัวเองว่าเรามีสติ เราทำอะไรได้เราออกมาทำ เราเลยลุกขึ้นมาขี่มอเตอร์ไซค์และออกไปท่องเที่ยว คนรู้จักพี่จากการเป็นมะเร็งแล้วขี่มอเตอร์ไซค์ และเราใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้คนอื่นๆ”
คุณพีรดาจึงเป็นนางแบบที่ถ่ายทอดเรื่องราว มอบพลังความเข้มแข็งให้ผู้ป่วย คนทั่วไป ญาติผู้ป่วย และคนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง มีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคกับโรคร้ายผ่านภาพของตน แม้จะไม่มีเต้านมแล้ว แต่ยังมีตัวตนที่ต้องดำรงอยู่ด้วยความเป็นตัวเองต่อไป อย่ามองแค่สิ่งที่สูญเสีย ต้องกลับมาตั้งหลักว่าตัวเองยังมีคุณค่า การทำกิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นความตั้งใจที่จะทำให้คนอื่นย้อนกลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องคุณค่าที่เงินซื้อไม่ได้
นิทรรศการภาพถ่าย “Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก” จัดแสดงที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 16 – 30 ตุลาคม 2563 เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) 10:00-18:00 น.
วันที่ออกอากาศ: 25 ตุลาคม 2563
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ