parallax background
 

แด่ผู้สูญเสียผู้เป็นที่รัก

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

น้ำตาของผู้เป็นแม่เมื่อเห็นร่างอันไร้วิญญาณของบุตรชาย และคำพูดของภรรยาที่สูญเสียสามีว่า “ไม่อยากหายใจ” ในกรณีการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อาสาสมัครนักดำน้ำที่เสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าในถ้ำหลวง บ่งบอกว่าการสูญเสียผู้เป็นที่รักนั้นเจ็บปวดแสนสาหัส

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีพ่อแม่ภรรยาและลูกๆ ของผู้สูญเสียอีกมากมายจากกรณีเครื่องบินทหารตกที่แม่ฮ่องสอน กรณีเรือนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มที่ภูเก็ต กรณีน้ำท่วมใหญ่และคลื่นความร้อนที่ประเทศญี่ปุ่น เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียแบบปัจจุบันทันด่วน ร้ายแรง และคาดไม่ถึง

ภารกิจที่หนักหนาที่สุดในชีวิตของผู้สูญเสีย คือการกู้คืนสุขภาพกายใจให้กลับมาเป็นปกติสุข การก้าวผ่านความเจ็บปวดจากความสูญเสียคนรักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การสูญเสียครั้งสำคัญอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ขณะที่บางคนไม่สามารถก้าวผ่านได้เลยตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หากทั้งผู้สูญเสียและคนใกล้ชิดรับรู้และเปิดรับกระบวนการความโศกเศร้าและการเยียวยาด้วยความกรุณาทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง

เมื่อความเจ็บปวดไล่ล่าคุณ
การสูญเสียคนรักเป็นเรื่องสะเทือนใจใหญ่หลวง แม้แต่คนที่อยู่ในวิชาชีพที่คลุกคลีกับความเจ็บป่วยและความตายอย่างแพทย์หรือพยาบาลยังทำใจยากเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง ในหนังสือ “ความรักอยู่รอบตัวเรา ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู” เล่าถึงพยาบาลดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่กรีดเสียงร้องกลางวอร์ดและหมดสติลง หลังจากรับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่ามารดาของเธอหัวใจวายและเสียชีวิต

ส่วนพยาบาลอีกคนไม่มีกระจิตกระใจทำงาน หลังจากผู้เป็นพ่อที่เคยสั่งเสียไว้ว่าขอตายที่บ้านกลับต้องมาเสียชีวิตในสภาพทุกข์ทรมานจากการ “ยื้อชีวิตเต็มอัตรา” ที่โรงพยาบาลจากการตัดสินใจของเธอ ซึ่งภาพความเจ็บปวดของพ่อยังตราตรึงอยู่ในใจเธอ

ทว่าสังคมสมัยใหม่เรียกร้องให้ผู้คนเข้มแข็งอดทนและห้ามแสดงความโศกเศร้า น้ำตาเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ ผู้สูญเสียจึงมักเก็บซ่อนความรู้สึกเจ็บปวดหรือเปราะบางไว้ในภายในแบบ “หน้าชื่นอกตรม” หรือหลีกหนีด้วยการหันไปทำสิ่งอื่น “ทำตัวให้ยุ่งๆเข้าไว้” หรือ “ไม่คิดถึง เดี๋ยวก็ลืมไปเอง” ส่วนคนใกล้ชิดหรือสังคมก็มักจะใช้วิธียกคำพระมาสั่งสอนว่า “ความตายเป็นเรื่องธรรมดา” “คนเราเกิดมาต้องตาย” “ร้องไห้ทำไม เขาไปดีแล้ว” “เธอควรภูมิใจ เขาตายแบบฮีโร่นะ” หรือไม่ก็ใช้วิธีกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนความสนใจ “ไปเที่ยวกันเถอะ” หรือ “ไปซื้อของกันเถอะ”

แม้จะเป็นวิธีเผชิญความสูญเสียแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่เมตตาต่อตนเอง มิหนำซ้ำยังทำร้ายตัวเองอีกด้วย ส่วนคนรอบข้างหรือสังคมที่ใช้วิธีกดดัน กลบเกลื่อน หรือเบี่ยงเบนประเด็นจนผู้สูญเสียคนรักไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงความโศกเศร้าก็เป็นชุมชนที่ไม่กรุณาต่อผู้สูญเสียเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใดการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลและสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เพราะความเจ็บปวดยังคงซ่อนตัวอยู่ในใจเรา ไม่สูญหายไปไหน

ศ.ดร.สตีเวน ซี.ฮาเยส นักจิตวิทยาชื่อดังบอกว่าหากเราไม่ยอมรับความเจ็บปวด ท้ายที่สุดความเจ็บปวดที่ถูกปฏิเสธหรือหลงลืมจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา เพราะความทรงจำของมนุษย์ไม่มีปุ่มลบทิ้งเหมือนคอมพิวเตอร์ และความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้นไม่เหมือนการแตะของร้อนแล้วชักมือกลับก็หาย ความเจ็บปวดจะยังคงอยู่ในใจเรา และพร้อมจะเผยตัวออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับเรานัก...ราวกับเด็กน้อยที่อาละวาดสุดกำลังเพราะถูกทอดทิ้งไม่ใส่ใจ...บ้างติดยาเสพติด บ้างซึมเศร้า บ้างฆ่าตัวตาย

“แทนที่จะยอมรับว่าความสูญเสียเป็นความรู้สึกไม่สะดวกสบายอย่างหนึ่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายในชีวิตของเรา แทนที่จะโอบรับและเรียนรู้ในฐานะเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิต เรากลับปฏิบัติต่อมันราวกับเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่ง เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทำให้ความเจ็บปวดเป็นพลังด้านลบต่อชีวิตของเรา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นวงจรอุบาทว์จากนรก”

ดังเช่นกรณีของเขา ในที่ประชุมของภาควิชา การปะทะอารมณ์ของเหล่าเพื่อนศาสตราจารย์กระตุ้นให้เขาเกิดภาวะตื่นตระหนกจนเขาอ้าปากค้างนิ่งงันพูดไม่ออกและอับอาย ภาวะดังกล่าวเกิดถี่ขึ้นและเข้มข้นขึ้นจนคืนหนึ่งเขาคิดว่าตัวเองหัวใจล้มเหลวแต่หมอบอกว่าเป็นแค่ภาวะตื่นตระหนก ต่อมาเขาค้นพบว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการซุกซ่อนความเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็กไว้อย่างมิดชิดและหลงลืมไปแล้ว และความเจ็บปวดหันกลับมาเล่นงานเขาเสียย่ำแย่ในอีก 30 ปีต่อมา

แปรความสูญเสียเป็นความรัก
ประสบการณ์ตรงจากการถูกความเจ็บปวดในวัยเด็กเล่นงานถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ ดร.ฮาเยสและคณะใช้เวลา 30 กว่าปีพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตวิทยา (Psychological Flexible) หรือจิตใจที่ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถพยากรณ์สภาพทางจิตใจและสิ่งที่สำคัญของคนๆ หนึ่งได้ผ่านวิธีการการรับมือกับความเจ็บปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการรับมือความเจ็บปวดสำคัญในชีวิตคือการเขียนแผนที่ชีวิตของแต่ละคนนั้นเอง เช่น เราจะเป็นพ่อแม่หรือลูกอย่างไร เราจะเป็นคนทำงานแบบไหน หรือเราจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายหรือไม่

“ในความสูญเสียมีแง่มุมที่หอมหวานซ่อนอยู่ หากคุณเปิดใจรับความเจ็บปวด ก็เท่ากับคุณได้เปิดรับความรื่นรมย์ในชีวิตแล้ว” ดร. ฮาเยสเขียนไว้ในบทนำบทความเรื่อง “จากความสูญเสียสู่ความรัก” (From Loss to Love) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Psychology Today ฉบับเดือนกรกฎาคม 2018

พี่สาวที่สูญเสียน้องของเธอจากยาเสพติด รู้สึกโกรธและเสียใจมาก เธอโทษตัวเองว่าถ้าเธอกลับบ้านทัน น้องสาวจะไม่ตาย เธอไม่อยากให้โลกจดจำว่าน้องสาวเธอตายเพราะติดยา เพราะแท้จริงแล้วน้องสาวเธอเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีพลัง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง เธออยากให้โลกรู้จักตัวตนที่แท้จริงของน้องสาวเธอ และต่อมาเธอก็ตระหนักได้ว่าเธอสามารถส่งต่อคุณสมบัติของน้องสาวผ่านการกระทำของตัวเธอได้ เรียกได้ว่าการเรียนรู้จากความสูญเสียทำให้เธอก้าวผ่านและเติบโต

เช่นเดียวกับดร.ฮาเยสที่แม้จะไม่ตระหนักรู้ในตอนแรกว่าสิ่งใดนำพาให้เขาทุ่มเทจนเป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อย้อนกลับไปค้นหาและฟังเสียงความเจ็บปวดในวัยเด็ก จึงพบว่าความเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัวนำทางให้ก้าวเดินสู่วิชาชีพนี้เพื่อที่จะช่วยเหลือพ่อแม่ของตัวเอง

สิ่งสำคัญคือการค้นหาสาสน์สำคัญ ขุมทรัพย์ หรือของขวัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเจ็บปวดให้เจอ เมื่อมองลึกเข้าไปในความเจ็บปวดเราอาจพบความเข้มแข็งและสิ่งล้ำค่าในตัวเราและในผู้จากไป ซึ่งจะกระตุ้นเราให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย ดังนั้นการเปิดใจรับความเจ็บปวดก็เท่ากับเปิดใจความรับความรื่นรมย์ในชีวิตนั่นเอง

“จิตใจที่ยืดหยุ่นคือการที่ผู้คนสามารถหันเข้าหาความเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรียนรู้จากบทเรียนนั้นว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่า โดยใช้ความสูญเสียเป็นสิ่งกระตุ้นความเติบโตและสร้างสรรค์ชีวิตที่รุ่มรวยและมีความหมาย” ดร.ฮาเยสกล่าว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง “โอบรับความเจ็บปวด วิธีรับมือเมื่อคนรักตายจาก”
กดลิงค์: https://peacefuldeath.co/โอบรับความเจ็บปวด/

อกสารอ้างอิง
From Loss to Love, Steven C. Hayes Ph.D., www.psychologytoday.com
Psychological flexibility: How love turns pain into purpose, Steven C.Hayes Ph.D.,TedTalk
ความรักอยู่รอบตัวเรา ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู, โครงการความตายพูดได้ เครือข่ายพุทธิกา

บุคคลสำคัญ
Steven C. Hayes Ph.D/ สตีเวน ซี.ฮาเยส (ดร.)

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ลมหายใจคลายเครียด

คุณเคยสังเกตไหมคะว่าเวลาที่เผชิญกับปัญหา สิ่งที่ทำให้เราทุกข์และเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายนั้นส่วนใหญ่มาจากความคิดฟุ้งซ่านของเราเอง
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
11 มกราคม, 2561

ค่อยๆ ว่ากันไป

เคยรู้สึกบ้างไหมว่า มีบางช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้าอย่างไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัว จบเรื่องนี้มีอีกเรื่องหนึ่งตามมาอย่างติดๆ โดยไม่ทันหายใจ แถมไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่ามันมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าชีวิตไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอะไรได้เลย