parallax background
 

ลมหายใจคลายเครียด

ผู้เขียน: เทียนสี หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

คุณเคยสังเกตไหมคะว่าเวลาที่เผชิญกับปัญหา สิ่งที่ทำให้เราทุกข์และเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายนั้นส่วนใหญ่มาจากความคิดฟุ้งซ่านของเราเอง ยิ่งคิดยิ่งเกิดความรู้สึกทางลบต่อสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล กลัว โกรธ และหากยังไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดก็จะยิ่งคิดตอกย้ำและเชื่อว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นความจริง แถมยังปรุงแต่งต่อไปจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความคิดของเรา สุดท้ายก็ส่งผลออกมาเป็นพฤติกรรมความเครียดมากมายที่ยิ่งทำให้เราออกจากปัญหาไม่ได้เสียที เพราะมันทำให้เราเสียพลังงาน พลังกาย พลังใจ ไปกับความคิดจนขาดสติปัญญาที่จะมองเห็นและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

แล้วทราบไหมคะว่า หนทางที่จะนำเราออกจากวังวนของวงจรความคิดความรู้สึกวิตกกังวลดังกล่าวอยู่ใกล้ๆ ตัวเราแค่ปลายจมูกนี่เอง...ใช่แล้วค่ะนั่นคือ ลมหายใจ

ดร.จอห์น แมคคอนแนล ผู้เป็นนักการศึกษา นักสันติวิธี นักเขียน นักปฏิบัติที่สนใจพุทธศาสนาและการภาวนา และเป็นวิทยากรฝึกอบรมเรื่องธรรมะกับการเยียวยาความเจ็บป่วย ได้ให้คำแนะนำในการใช้ลมหายใจเข้ามาคลี่คลายภาวะเครียดและวิตกกังวลไว้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การฝึกฝนทางจิตวิญญาณเพื่อการดูแลตนเองสำหรับผู้ทำงานเยียวยา” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิกาไว้ว่า หากเราฝึกฝนการทำสมาธิด้วยการตามลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ จะช่วยให้เรารู้ทันและเข้าใจกระบวนการความคิดที่เรายึดติด เมื่อฝึกบ่อยๆ จะช่วยตัดวงจรความคิดความรู้สึกได้เร็วขึ้น ทำให้จิตนิ่ง สงบ แจ่มใส มีพลัง กลับมารับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญจะช่วยบ่มเพาะความเมตตาในใจ ก่อเกิดมุมมองทางบวกต่อปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เผชิญและรับมือกับปัญหาได้โดยไม่ทุกข์อีกต่อไป

คุณจอห์นแนะนำวิธีการฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดสติไว้ดังนี้ค่ะ
เลือกช่วงเวลาและสถานที่ที่เราจะไม่ถูกรบกวน และกำหนดเวลาว่าจะนั่งนานเท่าไรที่จะรู้สึกสบาย เช่น ๑๐ นาที นั่งในท่าที่สบาย ไม่อึดอัด แต่ควรนั่งหลังตรงโดยไม่ฝืนตัวเอง หลับตาลงเบาๆ หายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติ รับรู้ลมหายใจที่กระทบปลายจมูกเพียงเบาๆ ไม่ต้องเพ่งจ้อง หากมีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นกับกายหรือใจ เช่น ปวดเมื่อย เบื่อ เซ็ง ฯลฯ ให้รับรู้ความรู้สึกนั้นโดยไม่ต้องผลักไสหรือพยายามหยุดมัน แค่ทำใจสบายๆ ผ่อนคลาย และกลับมารับรู้ลมหายใจเช่นเดิม

เมื่อรู้ตัวว่ากำลังคิด วิตกกังวล หรือมีสิ่งรบกวนจิตใจให้รับรู้ สังเกตความเป็นไปของกระบวนการภายในใจ โดยอาจพูดในใจว่า “นี่คือความคิด” “นี่คือความรู้สึก” และปล่อยมันไป แล้วกลับมารับรู้ลมหายใจเช่นเดิม

ข้อคิดเตือนใจ
ระลึกไว้เสมอว่าธรรมชาติของจิตนั้นควบคุมไม่ได้ ฉะนั้น หากมีความคิดใดๆ เกิดขึ้นระหว่างนั่งสมาธิไม่ต้องรู้สึกผิด หรือพยายามห้ามความคิด เพียงแค่รับรู้เท่านั้น เมื่อมีสติรู้บ่อยๆ จะหลุดพ้นจากวงจรความคิดปรุงแต่งได้ในที่สุด
อย่าคาดหวังว่าจะมีจิตจดจ่อเป็นสมาธิได้ตลอดเวลา เพราะสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อฝึกฝนสม่ำเสมออย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผู้เขียนเองเคยทดลองนำวิธีการนี้มาใช้ขณะที่เริ่มหงุดหงิด ไม่พอใจและกำลังจะเพิ่มดีกรีเป็นความโกรธ พอดีระลึกถึงคำพูดของคุณจอห์นที่ว่า “แทนที่เราจะปล่อยตัวเองไปตามคำบงการของความโกรธ สู้ระลึกรู้และแปรเปลี่ยนมันมาเป็นพลังเยียวยาตัวเองจะดีกว่า” จึงเกิดสติกลับมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มจากรับรู้และยอมรับว่าเรากำลังโกรธ โดยไม่พยายามที่จะกำจัด หลีกเลี่ยง หรือบิดเบือนให้คิดไปในทางที่จะไม่โกรธ แล้วกลับมารับรู้ลมหายใจ ปล่อยวางสิ่งที่กำลังคิด หายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติ เพียงไม่นานหลังจากนั้นก็รู้สึกว่าความโกรธที่ครอบงำอยู่เมื่อสักครู่ค่อยๆ จางคลายลงไป และความสงบก็เข้ามาแทนที่ ในขณะที่สถานการณ์ตรงหน้ายังเหมือนเดิม แต่เรามองมันต่างไป คือมองเห็นสิ่งที่เป็นอยู่จริงๆ ไม่ใช่เห็นจากความคิดของเรา (ซึ่งทำให้เราโกรธและกำลังจะโต้ตอบอย่างรุนแรง) และเริ่มต้นสัมพันธ์กับสิ่งนั้นใหม่จากความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดนั้นคลี่คลายไปในทางที่ดีด้วย และเมื่อได้ทดลองใช้วิธีการนี้หลายๆ ครั้งในเวลาที่หงุดหงิดหรือวิตกกังวลก็พบว่ามันช่วยให้ความเครียดจากอารมณ์นั้นหายไปอย่างรวดเร็ว แถมจิตใจยังเบาสบาย กลับมามีสติสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นและผู้คนรอบตัวได้อย่างเป็นปกติราบรื่นขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ค่ะ

ลองฝึกฝนและนำมาใช้ในชีวิตจริงบ่อยๆ จะพบว่าเราสามารถเป็นอิสระจากความคิดความเครียดต่างๆ ได้ด้วยลมหายใจจริงๆ

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ป่วยและพร้อมจะตาย แต่คนรอบข้างกลับทุกข์ใจ

คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ เขาคิดว่าไม่มีวิธีใดรักษาให้หายได้ มีแต่จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
17 มกราคม, 2561

คืนความสุขด้วยสองมือ

ด้วยงานที่รุมเร้าเข้ามาหลายทางในเวลาที่มีจำกัด บีบคั้นให้คุณนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้จัดการหอจดหมายเหตุพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย เกิดความเครียด กังวล สมองตีบตัน ฟุ้งซ่านคิดวนเวียนถึงแต่งาน
19 เมษายน, 2561

เพื่อนฉันหายไปไหน?

เราหลายคนคงเคยผ่านช่วงเวลาความสูญเสียสัตว์ที่เราเลี้ยงมาก่อน ซึ่งแต่ละคนอาจจะยอมรับได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือมีท่าทีในการรับมือแตกต่างกัน แต่บางครั้ง เราอาจจะหลงลืมไปว่าสมาชิกในบ้านตัวอื่นๆ